คลี่ปม “ปริศนา” “เจ๊หน่อย” ทิ้งเพื่อไทย จับตาทิศทางตั้งพรรคใหม่?

แม้การปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) ผ่านมาเดือนกว่าแล้ว แต่พรรคพี่ใหญ่ฝ่ายค้านยังไม่เข้าที่เข้าทาง ยังติดขัดในการทำงานอยู่หลายเรื่อง

ต้องเดินหน้าไป อุดช่องโหว่ไปอยู่ตลอด

การปรับโครงสร้างครั้งนี้ของ “เพื่อไทย” เป็นการ “ปรับใหญ่”

คำว่าปรับใหญ่ในที่นี้คือ การรื้อของเก่า ก่อของใหม่

เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคหลายตำแหน่ง โดยดึงเอาคนรุ่นใหม่ทั้งคนรุ่นใหม่หน้าเก่า และคนรุ่นใหม่หน้าใหม่เข้ามานั่งตำแหน่งในคณะกรรมการชุดสำคัญนี้ของพรรคหลายตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังตั้งคณะทำงานชุดย่อย ซอยออกมาจากคณะของคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 11 คณะขึ้นมา เพื่อเอาไว้รับผิดชอบงานด้านต่างๆ ประกอบด้วย

1. คณะทำงานกิจการสภา

2. คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ

3. คณะทำงานด้านนโยบายและวิชาการ

4. คณะทำงานด้านการสื่อสารการเมือง และกองโฆษก

5. คณะทำงานด้านการพัฒนาฐานสมาชิก

6. คณะทำงานพัฒนาพื้นที่เลือกตั้ง

7. คณะทำงานบริหารและพัฒนากิจการพรรค

8. คณะทำงานด้านกฎหมาย

9. คณะทำงานด้านต่างประเทศ

10. คณะทำงานเครือข่ายและแนวร่วมกลุ่มวิชาชีพต่างๆ

และ 11. คณะกรรมการนโยบายด้านเยาวชนและคนรุ่นใหม่

ที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ “คณะกรรมการการเมือง” ที่ตั้งขึ้นมาแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ที่เดิมมี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นประธาน

โดยคณะกรรรมการการเมืองนี้ใครๆ ก็รู้ว่าคือ “ตัวจริง” หรือ “ระดับหัว” ของพรรคเพื่อไทย จะมี “นายชัยเกษม นิติสิริ” อดีตแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยนั่งหัวโต๊ะ

ขณะที่ “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรค นั่งเป็นที่ปรึกษา

และให้ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรค เป็นเลขานุการคณะ

นอกจากนี้ ยังจะมีคีย์แมนคนสำคัญๆ ตั้งแต่สมัยยุค “ไทยรักไทย” จนถึงปัจจุบันมานั่งร่วมวงแน่นห้องประชุม

“คณะกรรมการการเมือง” ที่กำลังจะปรากฏชัดในไม่ช้าของเพื่อไทยนี้จะมีเพาเวอร์ค่อนข้างมาก เพราะจะมีอำนาจทั้งในการกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนพรรค และกำหนดยุทธศาสตร์ในการเดินของพรรค

ไล่ดูชื่อชั้นของแต่ละคนที่จะเข้ามานั่งในคณะ หากไม่มากบารมี ก็มีของพกมากันทุกชื่อ

แต่ก่อนที่จะมีการขยับขับเคลื่อนทำอะไร

เรือ “เพื่อไทย” ที่เพิ่งรีโนเวตใหม่ก็ “ร้าว” เสียก่อนจะได้ออกแล่นในทะเล

ฟันเฟืองตัวสำคัญของเรือคือ “คุณหญิงสุดารัตน์” จู่ๆ ก็ส่งหนังสือลาจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยมายังพรรค

พ่วงด้วยคีย์แมนคนสนิทอีก 3 คน ประกอบด้วย “โภคิน พลกุล” “วัฒนา เมืองสุข” และ “พงศกร อรรณนพพร”

ทำเอา ส.ส.และสมาชิกพรรคงงเป็นไก่ตาแตก เพราะหนังสือลาออกมาแบบด่วนๆ ในช่วงเย็นวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เมื่อถามหาเหตุผลของการตัดสินใจลาจากบ้านหลังใหญ่ที่อยู่ร่วมชายคากันมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ครั้งก่อตั้งพรรคเป็นไทยรักไทย มาพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทยของคุณหญิงสุดารัตน์

แหล่งข่าวคนใกล้ชิดเจ้าแม่บ้านลาดปลาเค้าเล่าว่า อาการมีมาตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และยุบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค พท. ทำให้บทบาทของคุณหญิงสุดารัตน์ลดลงอย่างมาก

จากคนที่เคยเป็นผู้นั่งหัวโต๊ะเคาะทุกอย่าง “คุณหญิงหน่อย” รู้สึกว่าผู้บริหารชุดใหม่กีดกันตนเองในทุกทาง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยนายก อบจ.หาเสียง บางครั้งเป็นความต้องการของเจ้าของพื้นที่เองที่อยากให้คุณหญิงไปช่วย เพราะผู้มีตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถไปช่วยหาเสียงได้

แต่เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ไปช่วยหาเสียง กลับโดนพรรคต่อว่า ว่าทำไมถึงไม่ใช้ทีมปราศรัยที่พรรคจัดให้

และทำไมคุณหญิงสุดารัตน์ถึงไปปราศรัยในนามส่วนตัว ไม่เข้าสู่กระบวนการจัดคิวของพรรค

ทำให้บางครั้งคนในพรรคที่ประสงค์อยากให้คุณหญิงสุดารัตน์ไปรู้สึกมีความลำบากใจ และทำให้คุณหญิงสุดารัตน์รู้สึกว่าถูกกีดกันด้วย

ประเด็นต่อมา คือการปรับโครงสร้างคณะทำงานต่างๆ

“คุณหญิงหน่อย” รู้สึกว่ามีการปรับรายชื่อคนของตนเองออกแทบทั้งหมด เหลือแตะๆ ไว้บ้างจำนวนไม่กี่คนเท่านั้น และการสั่งการภายในพรรคไม่ได้เป็นแบบการระดมความเห็น แต่เป็นรูปแบบการสั่งการจากบนลงล่าง โดยมักจะมีการอ้างถึงคนทางไกลเสมอ ทำให้ตัวคุณหญิงและกลุ่มของคุณหญิงเองรู้สึกว่าไม่สามารถแสดงความเห็นอะไรได้มากนัก

ประเด็นที่สาม คือเรื่องการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ที่เดิมเคยมีคำสั่งให้คุณหญิงสุดารัตน์ทำหน้าที่เป็นประธานคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ซึ่งก็ได้มีการเปิดตัว ส.ก.จำนวน 20 คนไปแล้ว

จู่ๆ พรรคก็ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และเมื่อกลุ่ม กทม.ขอความชัดเจนทั้งในที่ประชุมภาคและที่ประชุมใหญ่ของพรรค ก็ได้รับคำตอบว่าให้รอหลังเลือกนายก อบจ. ก่อน เป็นต้น

นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้คุณหญิงหน่อยไม่พอใจ

ทั้งหมดนี้ต้องฟังความอีกข้างหนึ่งซึ่งก็คือฝั่งพรรคเพื่อไทย อธิบายให้ฟังทีละข้อว่า

ประเด็นแรก เรื่องว่ามีการลดความสำคัญของตัวคุณหญิงสุดารัตน์นั้นไม่เป็นความจริง เพราะในคณะกรรมการการเมือง เป็นระดับหัวของพรรคนั้น พรรคพยายามทาบทามคุณหญิงสุดารัตน์มานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาของคณะกรรมการ แต่คุณหญิงไม่ได้ตอบรับกลับมา

ส่วนเรื่องที่ว่ามีการกีดกันไม่ให้คุณหญิงสุดารัตน์ไปช่วยหาเสียงนั้นก็เป็นการเข้าใจผิด พรรคไม่เคยกีดกันในเรื่องนี้

ทั้งยังมองว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้สมัครเสียเองด้วยซ้ำ แต่พรรคคิดว่า หากคุณหญิงเข้ามาหาเสียงร่วมกับทีมของพรรคน่าจะดีมากกว่า เพราะจะได้มีการจัดคิวลงไปหาเสียงอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดตัวบุคคลลงพื้นที่ที่ชัดเจนและสามารถบริหารจัดการได้ เรื่องนี้ผู้ใหญ่ของพรรคได้พยายามติดต่อไปทางคุณหญิงหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ

ประเด็นที่สอง เรื่องโครงสร้างคณะทำงานต่างๆ ที่ว่ามีการปรับคนของคุณหญิงออกนั้นก็ไม่จริง เพราะหากไล่เรียงดู ในคณะกรรมการบริหารพรรคก็มีคนจากฟากฝั่งคุณหญิงนั่งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญหลายตำแหน่ง

ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้ง 11 คณะ ก็มีคนในฝั่งของคุณหญิงสุดารัตน์ร่วมอยู่ด้วยทุกคณะ แม้กระทั่งคณะกรรมการการเมืองก็มีคนในฝั่งคุณหญิงอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน แม้จะมีการปรับบุคลากรให้เหมาะสมกับภารกิจบ้าง

ประเด็นที่สาม เรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่ กทม.คุณหญิงดูแลอยู่นั้น พรรคมุ่งหวังที่จะให้ผ่านการเลือกตั้งนายก อบจ.ไปก่อนจริง เพราะอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ก็จะแล้วเสร็จ และการเลือกตั้งดังกล่าวมีการแข่งขันค่อนข้างสูง พรรคอยากสู้ศึกนี้ให้เต็มที่ก่อน

ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. กว่าจะเลือกกันก็ประมาณปลายปี 2564 ซึ่งยังมีเวลาอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ได้ยินเสียงกระซิบว่า สัปดาห์หน้าบ้านลาดปลาเค้าจะมีการจัดโต๊ะ-เก้าอี้ให้เจ้าตัวแถลงข่าวไขข้อข้องใจของหลายๆ คนในประเด็นการตัดสินใจลาออกนี้ด้วยตัวเอง

พร้อมกับแย้มว่า งานนี้มีตั้งพรรคใหม่แน่ๆ

แต่คำถามคือ นายทุนพรรคใหม่ที่กำลังก่อฐานขึ้นมานี้คือใคร

ช่วงนี้บ้านลาดปลาเค้าหัวบันไดไม่แห้ง มีทั้ง ส.ส.จากพรรคเก่า ว่าที่ ส.ส.พรรคใหม่ในอนาคต และผู้มากบารมีในวงการการเมือง ฯลฯ เดินเข้า-ออกบ้านอยู่บ่อยๆ

ส่วนคนใกล้ชิดที่ยังเป็น ส.ส.อยู่ คงจะตามแม่ทัพไปยังไม่ได้ เพราะถ้าลาออกจะต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส.ไปโดยปริยาย

แต่คนใกล้ชิดและทีมงานบางส่วน คงทยอยหอบเสื้อผ้าตามกันไปไม่ช้านี้ เมื่อ “เส้นทางใหม่” มีความชัดเจน