จรัญ พงษ์จีน : แก้ไขรัฐธรรมนูญ “เอาจริง” หรือ “ละครตบตา”?

จรัญ พงษ์จีน

อาการคล้าย “ผีเข้า” แต่มิทราบว่าจะออกเมื่อไร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม มีการประชุมร่วม “รัฐสภา” เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. “ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … วาระที่ 1” ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

“3 ฝ่าย” รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-วุฒิสมาชิก ทำตัวได้กลมกลืน ไหลไปตามน้ำ อภิปรายกันพองาม แล้วลงมติ “รับหลักการ” 561 เสียง ไม่รับหลักการ 2 ราย งดออกเสียง 50 คน

ที่ประชุมยกระดับตั้งกรรมาธิการโดยพลัน 49 คน เพื่อพิจารณาในวาระ 2 ตามสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี 8 คน ส.ว. 14 คน พรรคพลังประชารัฐ 7 คน เพื่อไทย 8 คน ภูมิใจไทย 3 คน ก้าวไกล 3 คน ประชาธิปัตย์ 3 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน เสรีรวมไทย 1 คน ประชาชาติ 1 คน โดยนัดประชุมกันนัดแรกวันที่ 3 ธันวาคม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน มีการประชุมร่วมของ “รัฐสภา” จบข่าวลงที่ “หวยล็อก” ลงมติรับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ร่าง และไม่รับหลักการ 5 ร่าง

2 ร่างที่รับหลักการ ได้แก่ ร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยอมให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นเฉพาะหมวดหนึ่ง บททั่วไป และหมวดสอง หมวดพระมหากษัตริย์

2 ร่างที่รับหลักการ มีความละม้ายคล้ายเหมือน “แฝดมหัศจรรย์” มีข้อแตกต่างแค่สัดส่วน “ที่มาของ ส.ส.ร.” เพียงเล็กน้อย โดยของพรรคฝ่ายค้าน องค์ประกอบ “ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์” จำนวน 200 คนทั่วประเทศ

ขณะที่ญัตติของรัฐบาล ส.ส.ร.ส่วนแรกมาจากการเลือกตั้ง 150 คน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง อีก 50 คน มาจากการคัดเลือก โดยแบ่งเป็น 20 คนจากรัฐสภาคัดเลือก 20 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดี และ 10 คนมาจากการเลือกตั้งของนักเรียน นิสิต นักศึกษา

กับขั้นตอนการทำประชามติ ของ “ฝ่ายค้าน” เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนนำมาประกาศใช้

ของ “รัฐบาล” เมื่อร่างเสร็จแล้ว นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้วประกาศใช้

ทั้งในส่วนของกรรมาธิการ และ ส.ส.ร.ที่มาตามช่องทางแต่งตั้ง ถูกมองว่าซีกรัฐบาลได้เปรียบทุกประตู ฝ่ายค้านเหมือนตุ๊กแกตัวเดียว จะไปสู้แมงป่อง งู ตะขาบยกฝูงได้หรือ

กรรมาธิการ 49 คน แยกย่อยซอยยิก ตามสัดส่วน ฝ่ายค้านมีอยู่หยิบมือเดียว 8+3+1+1 ขณะที่อีกฟาก 8+14+7+3+3+1 ดังนั้น เนื้อหา รายละเอียดปลีกย่อยทุกเม็ด ในทางปฏิบัติ อย่าว่าแต่คนเลย หมา แมวยังเดาออก บอกถูกว่า ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ได้เปรียบ กำหนดธงและทิศทาง

สรุป 49 อรหันต์ ฝ่ายค้านมีอยู่แค่ 13 เสียง รัฐบาล+พรรคร่วม 21 เสียง ร่วมด้วยช่วยกันจาก ส.ว.อีก 14 เสียง “ลูกแกะ” กับ “ราชสีห์” ชัดๆ

ขณะที่องค์ประกอบ กรรมาธิการ เสียเปรียบเต็มประตู สามารถซื้อหวยล่วงหน้าได้เลยว่า ที่มา ส.ส.ร.ต้องใช้ตามร่างของรัฐบาลแบเบอร์ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง และ 50 คนที่มาจากการคัดเลือกของ 3 กอง

ไม่ว่าจากที่ประชุมอธิการบดี หรืออีกส่วนจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็ย่อมตกเป็นโควต้าลูกผสม จากฝั่งรัฐบาล กับวุฒิสมาชิก

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะแสดงน้ำใสใจจริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เร่งคีย์ ตีจังหวะ ตามที่ลั่นวาจาเอาไว้ทุกประการ ทั้งขั้นตอนรับร่าง และแต่งตั้งกรรมาธิการขึ้นมาร่วมพิจารณา แป๊บเดียวก้าวข้ามสู่วาระที่ 2 แล้ว

หากนับวันที่รัฐสภารับหลักการ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ตามไทม์ไลน์ในวาระ 2 และ 3 น่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนธันวาคม หรือมกราคม 2564

ก้าวถัดไป จะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ ใช้เวลาไม่มากไม่มาย 60-90 วัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ จะผ่านด่านสำคัญขั้นตอนประชามติราวๆ เดือนเมษายนปีหน้า

จากนั้นสู่จุดสำคัญคือ เลือกตั้ง แต่งตั้ง ส.ส.ร. 200 คน

ถ้าเดิมตามกรอบร่างรัฐบาล 150 คนจากเลือกตั้ง 50 คนจากคัดเลือก จะมีจุดลงตัวภายในเดือนตุลาคม 2564 ได้ ส.ส.ร.ครบครัน

ส.ส.ร.ชุดใหม่จะใช้เวลาตามกรอบราว 8 เดือน หรือ 240 วันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ และส่งเรื่องให้รัฐสภาเห็นชอบ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ มีพระราชอำนาจ 90 วัน

“นายสมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. อธิบายว่า การกำหนดกรอบเวลาในการร่างถึง 240 วัน เป็นกรอบเวลาที่ยาวพอสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยังมีเวลาเพียงพอที่จะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่ตรงกับความต้องการของประชาชน

พร้อมเปิดไทม์ไลน์ให้ดูชม โดยสรุปว่าหากนับจากจุดเริ่มต้นการแก้รัฐธรรมนูญ จากจุดสตาร์ตในการประชุมร่วมของ ส.ส. และ ส.ว.เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวในวาระที่ 1 จากนั้นตั้งกรรมาธิการวิสามัญ อาจใช้เวลา 30 ถึง 40 วัน หรือ 60 วัน และดำเนินการต่อในวาระที่ 2 และ 3 แล้วเสร็จ ทำประชามติ 2 เดือน ถึงจุดนี้รวมเวลา 4 เดือน

เมื่อลงมติแล้ว เป็นขั้นตอนตั้ง ส.ส.ร.ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน การทำงานของ ส.ส.ร. 8 เดือน แต่หากต้องทำประชามติหลังอีกครั้ง ทอดเวลาไปอีก 4 เดือน รวมเวลา 2 ปีเต็มๆ

ระยะดังกล่าวก็เปรียบเสมือนการยื้อเวลาให้รัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนเกือบครบวาระ

ขณะที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ กางไทม์ไลน์ว่า ในเดือนธันวาคม เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 น่าจะเสร็จสิ้น แต่ต้องมีการออกเสียงประชามติ จากนั้นนำร่างกฎหมายออกเสียงที่สภาเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อไร จากนั้นจึงเอาร่างไปสู่การทำประชามติ ส่วนรูปแบบจะอย่างไรแล้วแต่กรรมาธิการจะพิจารณาในวาระที่ 2-3

สรุป จากกรอบเวลา ไม่ว่าจะเหยียบคันเร่ง ทำความเร็วกี่ไมล์ต่อกิโลเมตรก็ตาม แต่ถึงที่สถานีเป้าหมายชักช้า ยึกยักสลับซับซ้อนพอๆ กับแกะสลักขอนไม้ 2 ปีเป็นอย่างต่ำ

ปลายปี 2565 น่าจะได้เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หากไม่เจออุบัติเหตุ จอดป้ายม่องเท่งซะก่อน จะมีอายุชนเพดานครบเทอมพอดิบพอดี

อยากอยู่รอดบนประเทศนี้ ต้องรู้จักคำว่า “อดทน”