อนุช อาภาภิรม : ความมั่นคงทางพลังงานและยุทธศาสตร์ (14)

นโยบายด้านน้ำมันและพลังงานของสหรัฐสามารถจำแนกได้เป็นสามช่วงใหญ่คร่าวๆ ดังนี้คือ

ช่วงแรกแห่งความอุดมสมบูรณ์กินเวลานานราวร้อยปี ระหว่าง 1850-1950 มีความสมบูรณ์ทั้งตัวทรัพยากร การเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างความเป็นอิสระและความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นรากฐานของการปฏิบัติในช่วงหลัง

ช่วงที่สองเป็นช่วงแห่งการพึ่งพาและวิกฤติ (1951-2008) ชักนำให้สหรัฐต้องเข้าไปแทรกแซงจัดระเบียบในตะวันออกกลางมากขึ้นทุกที จนกระทั่งเป็นสงครามในมหาตะวันออกกลาง (ตั้งแต่ปากีสถาน-อัฟกานิสถาน) จนถึงโมร็อกโก

ช่วงที่สามตั้งแต่ปี 2009 สมัยประธานาธิบดีโอบามาจนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การพึ่งตนเองและการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

จะได้กล่าวเป็นลำดับไป


สหรัฐในช่วงความอุดมสมบูรณ์
ทางน้ำมันและพลังงาน

ในฐานะประเทศตลาดเสรี กิจการด้านพลังงาน เหล็กกล้าและการขนส่ง เช่น ทางรถไฟ ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนกำกับดูแลตามสถานการณ์และการเรียกร้องของภาคประชาสังคม และระบบตลาด ซึ่งเป็นมาจนถึงปัจจุบัน ก่อความสนิทสนมระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนเป็นอันมาก ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มักนำอุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงานเป็นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ

ในช่วงเวลานี้รัฐบาลสหรัฐได้มีการดำเนินนโยบายที่ควรกล่าวถึงได้แก่

 

1.การป้องกันการรวมกันผูกขาด โดยออกเป็นกฎหมายในปี 1890 เริ่มจากกรณีที่บริษัทสแตนดาร์ดออยล์ ได้มอบหมายผู้อื่นจัดการดูแลทรัพย์สินแทน เพื่อเลี่ยงกฎหมายในรัฐโอไฮโอที่ห้ามบรรรษัทหนึ่งเข้าไปถือหุ้นในอีกบริษัทหนึ่ง กฎหมายป้องกันการผูกขาด ใช้สำหรับการผูกขาดที่ปฏิบัติกันแพร่หลายในช่วงนั้น เช่น อุตสาหกรรมยาสูบ

ผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมน้ำมันก็คือ ทำให้บริษัทสแตนดาร์ดออยล์ที่ในปี 1904 ควบคุมการผลิตน้ำมันกว่าร้อยละ 90 และยอดขายร้อยละ 85 ของสหรัฐ ถูกพิพากษาในปี 1911 ให้แตกออกเป็น 90 บริษัทย่อยที่เป็นอิสระ

ซึ่งบริษัทใหญ่ที่สุด ได้แก่ สแตนดาร์ดออยล์แห่งนิวเจอร์ซีย์ (ต่อมาเป็นเป็นบริษัทแอกซอน) และสแตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก (ต่อมาเป็นบริษัทโมบิล) ในปี 1999

บริษัททั้งสองรวมตัวกันอีกเป็นบรรษัทน้ำมันเอ็กซอนโมบิล รวมความว่ากฎหมายป้องกันการรวมกันผูกขาดนี้ได้ผลอย่างจำกัด เพียงประวิงเวลาไว้เท่านั้น

 

2.การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องยนต์ใช้น้ำมันแบบมีสี่สูบได้มีการพัฒนาในยุโรปคือเยอรมนี ตั้งแต่ปี 1876 เมื่อถึงปี 1886 ก็มีการผลิตรถยนต์แบบนี้เชิงพาณิชย์ขึ้น เมื่อถึงทศวรรษ 1890 การพัฒนาเครื่องยนต์ สันดาปภายในก็สมบูรณ์ และจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการในเครื่องนี้โดยทั่วไปอะไร

แต่กว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในจะแพร่หลายในสหรัฐก็ต้องใช้เวลาพักหนึ่ง เนื่องจากการมีพื้นที่ใหญ่กว้าง การขาดถนนที่เรียบ และการขนส่งมวลชนที่พัฒนาไปมากในสหรัฐ มีทั้งรถประจำทางที่ลากโดยม้า รถรางลากโดยม้าและโดยพลังไฟฟ้า เป็นต้น

รถยนต์ที่เดินด้วยน้ำมันในสหรัฐต้องเผชิญกับคู่แข่งมากมาย นอกจากระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวแล้ว ยังมีรถยนต์ที่เดินด้วยพลังงานอื่นได้แก่เครื่องจักรไอน้ำ (ใช้ตั้งแต่ปี 1769) และพลังไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟใหม่ได้

รถยนต์ที่ผลิตขึ้นในปี 1900 จำนวน 4,200 คัน มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่ใช้น้ำมัน กว่าหนึ่งในสี่เป็นรถพลังไฟฟ้า ที่เหลือเป็นรถที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำ

มีเหตุการณ์ใหญ่ที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐ ได้แก่ การค้นพบบ่อน้ำมันใหญ่ในเท็กซัส ปี 1901 และการผลิตปริมาณมากแบบสายพานของฟอร์ด (Henry Ford 1863-1937) กล่าวก็คือ รถยนต์ที่เรารู้จักเข้าแทนที่รถยนต์เครื่องจักรไอน้ำและรถพลังไฟฟ้าโดยกลไกในระบบตลาด มันจะถูกแทนที่ด้วยรถพลังไฟฟ้าอย่างที่กล่าวถึงในปัจจุบันก็ด้วยกลไกในระบบตลาดอีกเช่นกัน

เฮ็นรี่ ฟอร์ด เป็นนักอุตสาหกรรมและนักลงทุน เขาไม่ได้พัฒนารถยนต์และคิดการผลิตแบบสายพานขึ้น แต่เขาเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏเป็นจริง เริ่มจากการก่อสร้างโรงงานฟอร์ดไฮแลนด์ ปาร์ก ที่รัฐมิชิแกน ที่มีการออกแบบเป็นโรงงานสมัยใหม่ เมื่อถึงปลายปี 1913 เริ่มการผลิตแบบสายพานซึ่งปฏิวัติการผลิตแบบปริมาณมากของสหรัฐและของโลก

การผลิตแบบนี้มีลักษณะเด่น 3 ประการ ได้แก่

ก) การมีตัวแบบที่แน่นอน ซึ่งในที่นี้คือ “รุ่นที” (เริ่มผลิตเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1908 และได้รับความนิยมสูง) การผลิตระบบสายพานสามารถลดเวลาการผลิตลงได้ เมื่อถึงปี 1920 โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตรถยนต์ได้หนึ่งคันทุกนาที และรถยนต์ในโลกหนึ่งในสองคันเป็น “รุ่นที”

ข) การใช้หลักการจัดการที่เป็นวิทยาศาสตร์ของเทเลอร์ (Frederick Winslow Taylor 1856-1915 เสนอว่าคนงานแต่ละคนจะทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ถ้าลดเวลาการเคลื่อนไหวทางกายภาพที่ไม่จำเป็น และมอบหมายงานที่เหมาะสมแก่กำลังความสามารถของคนงาน) มีการตัดซอยงานให้ง่ายที่สุดให้ใครก็สามารถทำได้โดยไม่ยาก

ค) ระบบสายพานที่ทำให้การผลิตคืบหน้าไปในแต่ละช่วง โรงงานจึงเป็นเหมือนระบบบูรณาการทำงานของแต่ละส่วนเข้าด้วยกันแบบวางแผนไว้ก่อน (การผลิตในยุคโลกาภิวัตน์บูรณาการโรงงานทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียว)

 

เมื่อรถยนต์ได้รับความนิยมมากขึ้น ก็ได้รับการสนับสนุนจากมลรัฐต่างๆ โดยการจัดหาแรงงานเกณฑ์มา ซ่อมบำรุงต่อในปี 1916 มีการออก “กฎหมายสนับสนุนการทางของรัฐบาลกลาง” เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ และธุรกิจเอกชนคือสมาคมรถยนต์อเมริกาและกลุ่มเกษตรกรในชนบท ในการที่จะเพิ่มถนนหลวงระหว่างรัฐ

การปฏิวัติการผลิตของฟอร์ด การสนับสนุนของรัฐบาล และการเปิดให้กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่ได้ก่อผลสะเทือนที่สำคัญสามประการได้แก่

ก) การเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมที่เดิมต้องใช้แรงงานฝีมือที่ทำงานหลายอย่าง และผลิตได้จำนวนน้อย มาเป็นการผลิตที่ทำงานง่ายๆ และซ้ำๆ ใช้เวลาฝึกไม่นานก็ทำได้

ข) การดึงแรงงานไร้ฝีมือจากชนบทสู่โรงงาน เป็นการขยายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสร้างชนชั้นกลางขึ้นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งนี้เป็นไปได้เพราะความอุดมสมบูรณ์ของน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิล

ค) การนำไปสู่การผูกขาด ในอุตสาหกรรม เนื่องจากต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ มีการแบ่งงานกันทำที่ซับซ้อน การลงทุนสูงและสร้างนวัตกรรมอยู่เสมอ ในปี 1966 สามบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐได้แก่ เจเนอรัล มอเตอร์ส ฟอร์ด และไครสเลอร์ ผลิตรถยนต์มากกว่าร้อยละ 90 ของที่ผลิตในสหรัฐ

ง) การสร้างสังคมรถยนต์ ที่รถยนต์กลายเป็นของใช้สำหรับผู้คนจำนวนมาก ไม่ใช่คนรวยจำนวนน้อย เกิดการใช้และขึ้นต่อน้ำมันปิโตรเลียมมากขึ้น ในปี 1919 มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3 พันล้านแกลลอน ในปี 1929 เพิ่มเป็น 15 พันล้านแกลลอน สร้างวิถีทางของการขนส่งส่วนบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เสริมลัทธิปัจเจกชนในท่ามกลางการผูกขาด และทำให้บ้านชานเมืองขยายตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง

(ดูบทความของ Martin V. Melosi ชื่อ The Automobile and the Environment in American History ใน autolife.umd.umich.edu)

 

3.การกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นกิจกรรมที่สกปรก ไวไฟ เกิดอุบัติเหตุง่าย มีการแข่งขันกันผลิตให้มากที่สุดแบบเอาเป็นเอาตาย

ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นก็มีเสียงบ่นมาตั้งแต่เริ่มเกิดใหม่ว่าก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวเมืองและมลพิษในอากาศ เกิดการเรียกร้องให้จัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเท่าที่จะดีได้ นั่นคือ ถ้าหากไม่มีการกำกับดูแลและการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ปัญหาก็จะเลวร้ายกว่านี้เป็นอันมาก

ในช่วงแรกที่ยังมีน้ำมันอุดมสมบูรณ์ การผลิตน้ำมันในสหรัฐเป็นแบบล้นเกิน และอย่างมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือการ “รวยเร็ว” โดยไม่คำนึงถึงการสูญเปล่าและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในบริเวณบ่อน้ำมันเป็นอันมาก ดังที่ปรากฏในรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟิลาเดลเฟียและเท็กซัส เป็นต้น

เทคนิคการขุดเจาะและการเก็บน้ำมันก็ไม่ได้คุณภาพ เกิดมลพิษทั้งในน้ำ บนดินและในอากาศ นอกจากนี้ ยังเกิดไฟไหม้ใหญ่ในบริเวณบ่อน้ำมันหลายแห่ง

การขุดเจาะน้ำมันแบบทิ้งขว้างก่อให้เกิดการเสียเปล่าเป็นอันมาก ในปี 1902 “วารสารนักลงทุนน้ำมัน” ได้ประเมินว่ามีน้ำมันที่บ่อสปินเดิลท็อปในเท็กซัสที่ได้ค้นพบในเดือนมกราคม 1901 โดยมีน้ำมันพวยพุ่งออกมานั้นได้ก่อการสูญเปล่าถึงราว 10 ล้านบาร์เรล

ทั้งยังปรากฏว่านักสนับสนุนการลงทุนด้านน้ำมันที่ต้องการทำให้นักลงทุนประทับใจ ก็จัดให้มีการเปิดบ่อน้ำมันให้พวยพุ่งออกมาสูงถึง 125 ฟุต

มลพิษเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะที่ แม้มีความรุนแรง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทน้ำมันและรัฐบาลของรัฐต่างๆ เท่าที่ควร

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บางรัฐเริ่มออกกฎหมายอนุรักษ์น้ำมัน ควบคุมการผลิต และแม้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเริ่มกังวลกับแนวโน้มที่น้ำมันจะร่อยหรอหมดไป แต่ก็ยังไม่สนใจปัญหาน้ำมันสูญเปล่าเต็มที่ เช่นเดียวกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม

ความพยายามของรัฐบาลกลางในการออกกฎหมายควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม มักถูกคัดค้านจากรัฐบาลในมลรัฐต่างๆ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลกลางสหรัฐจึงได้ออกกฎหมายมลพิษน้ำมัน (1924) ขึ้น เน้นการรั่วไหลและการทิ้งน้ำมันลงในชายฝั่งและน่านน้ำสหรัฐ ซึ่งก่อมลพิษรุนแรงต่อชายหาด การประมง และอื่นๆ ซึ่งเป็นมลพิษที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐในช่วงนั้น

ความตื่นตัวเรื่องมลพิษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (และมักตามหลังเหตุการณ์) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลกลางสหรัฐออกกฎหมายควบคุมมลพิษหลายฉบับซึ่งมีส่วนเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมน้ำมันและรถยนต์ ได้แก่ กฎหมายมลพิษทางอากาศ ที่มีการควบคุมอย่างแท้จริง (1963) กฎหมายน้ำสะอาด (1972) กฎหมายมลพิษน้ำมัน (1990)

ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ก่อมลพิษได้มาก มีนักวิชาการบางคนกล่าวว่า หนึ่งในสามของมลพิษจากรถยนต์ เกิดขึ้นก่อนที่จะนำมาขายและขับจริง นั่นคือประมาณว่าการผลิตรถยนต์หนึ่งคัน ได้ก่อของเสียถึง 29 ตัน และอากาศที่เป็นมลพิษ 1,207 ลูกบาศก์หลา ซึ่งเกิดจากการขุดสกัดแร่เหล็ก บอกไซต์ น้ำมัน ทองแดง ตะกั่ว และวัตถุดิบอื่น เพื่อผลิตเหล็กกล้า อะลูมิเนียม พลาสติก กระจก ยาง เป็นต้น ในการประกอบเป็นรถยนต์ ในราวปี 1980 อุตสาหกรรมในหลายประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้ซื้อเหล็กและเหล็กกล้ารายใหญ่ (ร้อยละ 30) ตะกั่วสำหรับผลิตแบตเตอรี่ (ร้อยละ 46) อะลูมิเนียม (ร้อยละ 23) และพลาตินัม (ร้อยละ 41)

มลพิษจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สำคัญเป็นมลพิษทางอากาศในเมือง ซึ่งเสริมมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นคือถ่านหินที่ใช้มาก่อนหน้านั้น (ในสหรัฐกว่าน้ำมันจะเข้าแทนที่ถ่านหินในฐานะเป็นเชื้อเพลิงหลักก็เมื่อถึงปี 1950)

มลพิษทางอากาศเหล่านี้ ได้แก่ การเกิดหมอกควัน (Smog) ซึ่งเกิดขึ้นจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหินตามอาคารบ้านเรือนและโรงงาน และจากการเผาใหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ มลพิษทางอากาศในเมืองนี้มีความรุนแรงถึงชีวิต มลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงของสหรัฐเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 1948 ที่เมืองโดโนรา รัฐเพนซิลเวเนีย โดยหมอกควันจากโรงงานเหล็กกล้าปกคลุมพื้นดินในเมืองนี้ยาวนานหกวัน มีผู้เสียชีวิต 19 คน และเกือบร้อยละ 43 ของชาวเมืองพากันเจ็บป่วย สำหรับมลพิษจากรถยนต์พบได้ในนครลอสแองเจลิสที่มีประชากรมากและใช้รถยนต์สูง ที่เกิดหมอกควันคลุมเมืองอยู่เสมอในทศวรรษ 1940 ผู้คนรู้สึกเคืองตา และน้ำตาไหล

มีความพยายามในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและหมอกควันอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น การกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ให้ปล่อยไอเสียให้น้อย การเลิกใช้การเติมสารตะกั่วเพื่อเพิ่ม ออกเทนในเชื้อเพลิง (เริ่มใช้เมื่อ 1926) และอื่นๆ

แต่รายงาน “สถานะอากาศปี 2016” ของสมาคมปอดแห่งอเมริกัน พบว่า กว่าห้าในสิบคนของประชากรอเมริกันต้องอาศัยในพื้นที่ที่มีระดับมลพิษสูงอันก่ออันตรายในการหายใจเข้าไป


ความเปลี่ยนแปลงและการต่อเนื่อง

สิ่งทั้งหลายมีรูปทรงการเคลื่อนที่คล้ายคลึงกัน มีทั้งการเปลี่ยนแปลง (ความไม่ต่อเนื่อง) และการต่อเนื่อง กล่าวคือ ยุคแรกเหมือนต้นน้ำมีการไหลเชี่ยว มีสาขาหลากหลาย

จากนั้นถึงช่วงกลางน้ำที่คัดกรองส่วนที่มีประสิทธิภาพที่สุดไว้ เกิดเป็นโครงสร้างที่รวมศูนย์

ท้ายสุดเป็นช่วงท้ายน้ำ การไหลช้าลง สำหรับกรณีน้ำมัน เนื่องจากความร่อยหรอของแหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิล เกิดความหลากหลาย กลับมาคล้ายกับยุคต้น สิ่งที่คิดว่าใหม่ในช่วงนี้ จำนวนมากเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วโดยพื้นฐานหรือโดยหลักการ เช่น เรื่องเชื้อเพลิงทางเลือกในยุคต้น ก็ปฏิบัติกันเป็นสิ่งปกติ หรือรถยนต์ไฮบริด ก็คิดประดิษฐ์โดย ดร.เฟอร์ดินาน พอร์เช่ (Ferdinand Porsche 1875-1951) ตั้งแต่ปี 1898 มลพิษต่างๆ ที่เคยเกิด ปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสหรัฐกับน้ำมันในตะวันออกกลาง และสงครามล้านล้านดอลลาร์ที่นั่น