วันพ่อแห่งชาติ ที่ผูกพันกับคนไทยมานาน

วัชระ แวววุฒินันท์

วันพ่อแห่งชาติ

วันที่ 5 ธันวาคม เป็น “วันพ่อแห่งชาติ”

วันที่ผูกพันกับคนไทยมานาน ด้วยว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์และดูแลพสกนิกรอย่างยาวนานถึง 70 ปี

คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปย่อมผูกพันกับวันที่ 5 ธันวาคมนี้ เพราะได้เห็นการทรงงานหนักของพระองค์มาตลอด วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีจึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านเรื่อยมา

ในวันนี้ความวุ่นวายของประเทศที่ไม่ใช่แค่ขัดแย้งเรื่อง “การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล” เท่านั้น แต่ตั้งเป้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “สถาบันกษัตริย์” กันเลยทีเดียว

ทุกครั้งที่ผ่านมาหากเกิดวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองที่หาทางออกไม่ได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็จะเป็นผู้ทำให้เหตุการณ์อันวิกฤตนั้นคลี่คลายลง อย่างน้อยก็มีทางออกให้ประเทศเดินต่อได้

ดูๆ ไปแล้วที่เราเรียกขานพระองค์ท่านด้วยความรักและเคารพแบบไม่เป็นทางการว่า “พ่อ” ก็ดูจะไม่ผิดจากความเป็นจริง

นึกถึงเวลาที่ลูกๆ ทะเลาะกัน ถ้าทะเลาะแล้วเลิกกันไปเองก็จบ แต่หากทะเลาะกันไม่ยอมเลิก พ่อก็จะเข้ามามีบทบาทกำชับกำชา อบรมสั่งสอน และตัดสินให้ เพื่อให้เรื่องมันจบ

วันพ่อแห่งชาติปีนี้ เราจะยังคงรำลึกถึงพระองค์ท่านเช่นที่ผ่านมา และอาจจะรำลึกถึงมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ได้ไปค้นหาพระราชดำรัสที่พระองค์เคยรับสั่งในเรื่องต่างๆ มาทบทวน บางพระบรมราโชวาทนั้นเข้ากันได้ดีกับบ้านเมืองตอนนี้ไม่น้อย อย่างเช่น

“ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”

พระราชดำรัสนี้พระองค์พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2532 นั่นคือ 31 ปีมาแล้ว แต่วันนี้จะมีทางเป็นเช่นนั้นได้จริงหรือไม่

สองประการที่พระองค์ได้ดำรัสไว้คือ “ความสามัคคี” กับ “ความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง”

มาดูที่ “ความสามัคคี” กันก่อน

ความสามัคคี คือการร่วมแรงร่วมใจ คิด และทำในทิศทางเดียวกัน ส่งเสริมกัน ก่อให้เกิด “มวลพลัง” ที่เป็นอาวุธในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้ ไม่ว่าจะทางดีหรือไม่ดี

การที่คนเราจะร่วมแรงร่วมใจกัน ก็ต้องมีความต้องการเหมือนกัน มีวิธีคิดและการกระทำที่สอดคล้องกันจึงจะรวมตัวกันได้ เช่น รวมตัวกันเป็นทีมฟุตบอลเพื่อแข่ง แน่นอนความต้องการที่เหมือนกันคือ “การชนะคู่แข่ง” แต่หากการคิดจะเอาชนะคู่แข่งเหมือนกัน แต่เล่นกันคนละสไตล์ เตะคนละแผน คิดคนละอย่าง ก็คงจะชนะได้ยาก

ทีนี้ถ้าหากมีคนที่ไม่อยากให้เกิด “ความสามัคคี” ก็ต้องไปที่ “ความต้องการ” ก่อนเลย ก็ทำให้คนในประเทศมีความต้องการที่หลากหลาย แตกต่างกัน ไปคนละทิศละทาง ยิ่งเป็นความต้องการที่ยากจะหาจุดกึ่งกลางได้ ก็ยิ่งทำให้ความสามัคคีเป็นภาพลวงตาได้ง่ายๆ

ในความเป็นจริง ไม่มีทางที่จะทำให้คนทั้งหมดมีความต้องการเหมือนกันได้ แต่หากจะมีสักเรื่องที่คนส่วนรวมเห็นไปในทางเดียวกันได้ก็ต้องเป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่าดีจริง หรือถือปฏิบัติกันอย่างยาวนานจนคนส่วนใหญ่ไม่มีข้อสงสัย

“สถาบันกษัตริย์” ก็เป็นหนึ่งในข้อที่ว่านั้น

หากใครศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง และคิดแบบเป็นกลางก็จะเห็นแง่มุมที่น่าสนใจที่สถาบันกษัตริย์มีผลต่อประเทศไม่น้อย

มาถึงเรื่อง “ความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง” ผมว่าโดยทั่วไปในสังคม เรื่องนี้ยังมีให้เห็นอยู่ เรายังเรียกคนอื่นว่าพี่ น้อง ลุง ป้า หรือพ่อ แม่ ได้เหมือนกับเป็นคนในครอบครัวจริงๆ

และไม่ใช่แค่เรียก แต่ยังมีความรู้สึกผูกพันที่คล้ายจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ปรากฏให้เห็นอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็น “เอกลักษณ์” ของประเทศไทยในสายตาคนต่างชาติที่เขารู้สึกได้ว่า คนไทยมีน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือ เป็นกันเอง

ระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ของไทย ที่ได้รับความชื่นชมอย่างมากจากทั่วโลกว่า “เห็นผล” ในการยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้ดี ก็ด้วย “วิธีคิดแบบเป็นญาติพี่น้อง” กันของคนไทยนี่แหละ

หากคนที่ไม่หวังดี อยากทำลายในส่วนนี้ที่เป็น “จุดแข็ง” ของไทย ก็ต้องทำให้ผู้คนไม่คิดกันแบบ “ครอบครัว” การไม่คิดว่าเป็นพวกเดียวกันก็น่ากังวลแล้ว แต่การที่คิดว่า “เป็นศัตรู” ด้วยนี่สิ น่ากลัวยิ่งนัก

ยิ่งตอนนี้ที่ทั้งสองฝ่ายต่างมองกันและกันว่าเป็น “ศัตรู” กันแล้ว ยิ่งล่อแหลมต่อวิกฤตเหตุการณ์ที่อาจจะเลวร้ายต่อไป

ในโลกโซเชียล จะได้เห็นการโพสต์ที่เหมือนระบายถึง “ความสัมพันธ์ในครอบครัว” ที่สั่นคลอน มีท่าทีที่เปลี่ยนไปเป็นคนห่างๆ เป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ “พวกเดียวกัน” แล้ว

พ่อ-แม่ขัดแย้งกับลูก ในเรื่องความเห็นทางการเมือง

เด็กๆ ไม่ยอมรับฟังผู้ใหญ่ ไม่เข้าใจในเรื่องบทบาท สิทธิ และหน้าที่

ลูกศิษย์ไม่รักเคารพครู (ที่ดี)

ลูกน้องไม่ให้เกียรติเจ้านาย ผู้ใหญ่ก็กดขี่เอาเปรียบผู้น้อย

ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นเช่นนี้จริง และจำนวนมากขึ้นๆ “ความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง” ก็จะหมดไปแน่นอน และการมองคนอื่นเป็นคนละพวก เป็นศัตรูจะมีมากขึ้น

ขอปิดด้วยพระบรมราโชวาทอีกตอนหนึ่ง ที่ได้พระราชทานไว้ในโอกาสพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2519 ดังนี้

“ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือ เหตุ สิ่งที่ได้รับคือ ผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่าน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆ ต่อเนื่องกันไปอีก ไม่หยุดยั้ง ดังนั้น ที่พูดกันว่า ให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้ แต่ที่จริงเราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคตก็คือผลของการกระทำในปัจจุบัน”

พระบรมราโชวาทนี้สอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม นั่นหมายความว่า “ใครทำดีก็จะได้ดี ใครคิดชั่ว ทำชั่ว ก็จะได้รับผลชั่ว”

ความวุ่นวายทางการเมืองและบ้านเมืองที่คุกรุ่นอยู่ตอนนี้ มาจากการการกระทำของคนต่างๆ ฝ่ายรัฐบาลทำอะไรไว้ นี่ก็คงเป็นกรรมที่กำลังทวงถาม ฝ่ายม็อบหากคิดและทำอะไรไม่ดี สุดท้ายก็จะได้รับผลกรรมนั้นไปเอง

หรือใครก็ตามที่อาจไม่ได้เผยตัวออกมา แต่สุดท้ายใครทำอะไรไว้ก็จะได้ตามเหตุที่ทำ

ดังพระบรมราโชวาทข้างต้นที่ว่า “ต้นเรื่องนั้นคือเหตุ สิ่งที่ได้รับคือผล” โดยแท้