นิ้วกลม | ชิลี: เลือดและน้ำตา กว่าจะเป็นประชาธิปไตย (1)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1ชิลีกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายนปีหน้า

ก่อนที่จะมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2022

อันเป็นผลลัพธ์จากจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกัน

นั่นคือการประท้วงของนักเรียนมัธยมซึ่งไม่พอใจที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่ารถไฟฟ้าในกรุงซานติอาโก

แล้วค่อยๆ ลุกลามมาเป็นข้อเรียกร้องเรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในชิลี

เลยไปถึงเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

การประท้วงค่อยๆ ขยายตัวกระทั่งมีคนนับล้านออกมาร่วมขบวน

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 1,800 คน

นำไปสู่กระแสเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา ลาออกจากตำแหน่ง

ฝั่งประธานาธิบดีเสนอให้มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชน

เนื่องด้วยประชาชนมองว่ามีหลายอย่างในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมรดกจากรัฐบาลเผด็จการของนายพลปิโนเชต์นั้นมีปัญหา แม้ได้รับการแก้ไขไปบ้างในบางมาตรา แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ปรากฏว่า ประชาชนลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้มีการร่างฉบับใหม่กันถล่มทลาย

โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องเลือกตั้งโดยประชาชน ไม่มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ในขบวนประท้วง ประชาชนถือป้ายเขียนข้อความส่งไปยังอดีตผู้นำเผด็จการอย่างปิโนเชต์ว่า “ลาก่อนท่านนายพล”

กว่าจะถึงวันนี้ ชิลีผ่านอะไรมาบ้าง นายพลปิโนเชต์มีเส้นทางความเป็นมาอย่างไร เขาทำอะไรไว้กับชิลีบ้าง เรามาลองย้อนอดีตของชิลีไปด้วยกัน

2หนังสือ Upheaval ของจาเร็ต ไดมอนด์ เล่าเรื่องของชิลีไว้ได้อย่างเข้มข้นและเพลินสมองยิ่ง

อ่านคู่ไปกับบทความ “ห้าสิบปีแห่งความพยายามที่ล้มเหลวของระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยในชิลี” ของอาจารย์เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ในเว็บไซต์ the101.world ยิ่งเห็นภาพชัด

จาเร็ต ไดมอนด์ ลากเส้นตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของชิลีที่ถูกคนสเปนซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมถือครองพื้นที่ขนาดใหญ่มาก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำ กลุ่มคนซึ่งควบคุมที่ดิน ความมั่นคง และการเมืองของประเทศ เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่ปกครองแบบคณาธิปไตย

อำนาจที่กระจุกตัวเช่นนี้ เมื่อต้องปะทะกับคนกลุ่มใหม่ที่ค่อยๆ พัฒนาฐานะขึ้นมาทำให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่

มาถึงช่วงปี 1970 การเมืองชิลีมีผู้ที่โดดเด่นขึ้นมาสองคนซึ่งเป็นตัวแทนแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันคนละขั้ว นั่นคือซัลบาดอร์ อัลเยนเด กับออกุสโต ปิโนเชต์

อัลเยนเดชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1970 เขาเห็นว่าความเหลื่อมล้ำในชิลีต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ขณะนั้น ประชากรร้อยละ 40 อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร โดยประชากรร้อยละ 3 มีทรัพย์สินเกือบกึ่งหนึ่งของประเทศ คนอีกเกินครึ่งประเทศถือครองทรัพย์สินไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้น

อัลเยนเดมองว่าจะต้องหยุดพึ่งพาต่างชาติ โดยเชื่อว่า ที่ชิลีจนก็เป็นเพราะพึ่งพามหาอำนาจตะวันตกมาตั้งแต่สเปน อังกฤษ จนถึงสหรัฐอเมริกา

ในทางการเมืองเขาสนิทสนมกับผู้นำการปฏิวัติคิวบาอย่างฟิเดล กัสโตร ซึ่งขณะนั้นกำลังเขม็งตึงกับอเมริกา เพราะมีการติดตั้งขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ในคิวบาซึ่งห่างจากสหรัฐแค่ 90 ไมล์เท่านั้น

แถมอัลเยนเดเองก็ประกาศตัวว่าเป็นมาร์กซิสต์ ท่ามกลางบรรยากาศสงครามเย็น เขาคงไม่ใช่ประธาธิบดีที่สหรัฐอเมริกาจะไว้วางใจสักเท่าไหร่

ซัลบาดอร์ อัลเยนเด

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของเขาคือการผนวกกิจการต่างชาติมาเป็นของรัฐ

รัฐบาลของอัลเยนเดดำเนินการยึดบริษัทเหมืองทองแดงที่คนอเมริกันเป็นเจ้าของมาเป็นของชิลีโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย

นโยบายนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างมาก

แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐไม่พอใจจึงประกาศตัดงบความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเพิ่มมาตรการตอบโต้ชิลี

อัลเยนเดดำเนินนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงชิลีอีกหลายอย่าง

ซึ่งแต่ละความเปลี่ยนแปลงย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะไป “เหยียบตีน” คนที่เคยได้รับผลประโยชน์อยู่แต่เดิม

เช่น การปฏิรูปที่ดินซึ่งกระทบเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ซึ่งพวกสายกลางมองว่าหลายอย่างเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป เริ่มเกิดการแตกแยกทางความคิด

กลุ่มต่อต้านรัฐบาลประกอบด้วยกลุ่มอนุรักษนิยม กองทัพ บริษัทลงทุนข้ามชาติ และสื่อต่างๆ ไปจนถึงศาสนจักรคาทอลิก เพราะมีการออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่ดึงอำนาจการควบคุมจากศาสนจักรมาสู่รัฐบาล

กลุ่มสตรีชั้นสูงก็เป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลอัลเยนเดด้วยเช่นกัน เพราะนโยบายสังคมนิยมของเขาทำให้พวกเธอไม่สามารถเข้าถึงข้าวของเครื่องประดับฟุ่มเฟือยในแบบที่เคยได้ ภรรยานายทหารชั้นสูงถึงขั้นเรียกร้องให้สามีทำรัฐประหาร

ในหนังสือ Upheaval อ้างถึงคำพูดของชาวชิลีคนหนึ่งว่า “อัลเยนเดมีความคิดดี แต่บริหารได้แย่มาก แม้เขาตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ของชิลีอย่างถูกต้อง แต่ใช้วิธีการผิดๆ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้”

ผลจากการดำเนินนโยบายเหล่านั้นคือความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ความรุนแรง และการต่อต้าน เมื่อความช่วยเหลือจากต่างชาติหายไป เศรษฐกิจภายในก็วิกฤต สินค้าอุปโภคบริโภคกลายเป็นสิ่งหายาก ชั้นวางสินค้าว่างเปล่า คนเข้าคิวรอซื้อยาวเหยียด การปันอาหารและน้ำทำกันอย่างเข้มงวด เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง

สุดท้ายแล้ว ความล้มเหลวและสภาพวุ่นวายจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของอัลเยนเดจึงนำมาซึ่งการรัฐประหาร

3มีการคาดการณ์ถึงรัฐประหารมาเนิ่นนาน

กระทั่งเกิดขึ้นจริงในวันที่ 11 กันยายน 1973 เมื่อสามเหล่าทัพของชีลี บก เรือ อากาศ เห็นพ้องต้องกันและปฏิบัติการ

ฝั่งอัลเยนเดเมื่อรู้ว่าตนเองอยู่ในสถานการณ์สิ้นหวังก็ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยปืนซึ่งฟิเดล กัสโตรมอบให้เขานั่นเอง

รัฐประหารได้รับการต้อนรับด้วยความโล่งใจและได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากฝ่ายขวาและฝ่ายกลางๆ ในชิลี ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนชั้นกลางและพวกคณาธิปไตยเดิม

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสภาพการณ์ระหว่างที่อัลเยนเดเป็นบริหารประเทศอยู่ในสภาวะที่คนกลุ่มนี้ทนไม่ได้

เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น มีการพูดคุยกันในหมู่ชาวชิลีว่า คิดว่ารัฐบาลทหารจะอยู่ในอำนาจไปอีกนานเท่าไหร่

ส่วนใหญ่ทายกันว่า 2 ปี

เมื่อมีคนทำนายว่า อาจจะอยู่ 7 ปีก็ถูกมองว่าไร้สาระ เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นในประเทศอย่างชิลี ซึ่งรัฐบาลทหารก่อนหน้านั้นล้วนคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนในเวลารวดเร็ว

ณ ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า รัฐบาลทหารจากการรัฐประหารจะครองอำนาจถึง 17 ปี ระงับกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด ยุบสภาคองเกรส ห้ามไม่ให้มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย หรือกระทั่งสายกลาง ยึดมหาวิทยาลัยของชิลีและตั้งนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาเป็นอธิการบดี

ทันทีที่ยึดอำนาจ พวกเขาดำเนินการจับกุมกลุ่มผู้นำพรรคของอัลเยนเดและฝ่ายซ้ายอื่นๆ มีเป้าหมายที่จะกำจัดฝ่ายซ้ายทั้งหมด

ช่วง 10 วันแรก บรรดาฝ่ายซ้ายหลายพันคนถูกนำตัวไปที่สนามกีฬาสองแห่งในกรุงซานติอาโก ถูกสอบปากคำ ทรมาน และสังหาร

ศพของวิกตอร์ ฆารา นักร้องเพลงโฟล์กหัวเอียงซ้ายชื่อดังมีรอยกระสุนปืน 44 รู นิ้วมือทั้งหมดถูกตัดทิ้ง และใบหน้าถูกทำร้ายจนผิดรูป

5 สัปดาห์หลังรัฐประหาร ปิโนเชต์สั่งการนายพลคนหนึ่งในตระเวนไปตามเมืองต่างๆ ของชิลี เพื่อสังหารเหล่านักโทษการเมืองและนักการเมืองพรรคของอัลเยนเด ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ “คาราวานแห่งความตาย”

2 เดือนหลังรัฐประหาร ปิโนเชต์ตั้งองค์กรสืบราชการลับแห่งชาติและกองกำลังตำรวจลับซึ่งขึ้นตรงต่อปิโนเชต์ ต่อมากลายเป็นหน่วยงานที่มีชื่อฉาวโฉ่เรื่องความโหดร้ายทารุณ ด้วยวิธีทรมานใหม่ๆ และทำให้ชาวชิลี “สูญหาย” คือสังหารโดยไม่ทิ้งร่องรอย

ศูนย์แห่งหนึ่งชื่อ La Venda Sexy ชำนาญเป็นพิเศษในการล่วงละเมิดทางเพศเพื่อเค้นข้อมูล เช่น จับกุมสมาชิกในครอบครัวนักโทษมาแล้วล่วงละเมิดทางเพศต่อหน้านักโทษ มีการใช้หนูและสุนัขในการลงโทษ

ถึงปี 1976 รัฐบาลปิโนเชต์ได้จับกุมชาวชิลีไปถึง 130,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรชิลี อีกหลายพันคนที่ถูกสังหารหรือ “สูญหาย” อีกนับแสนที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ

การรัฐประหารที่คนกลุ่มหนึ่งโห่ร้องสนับสนุนกลายมาเป็นรัฐบาลที่โหดเหี้ยมทารุณต่อประชาชนในประเทศและครองอำนาจยาวนานถึง 17 ปี

การเดินทางมาสู่ประชาธิปไตยของชิลีใช้เวลายาวนานอย่างยิ่ง ผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยเลือดและน้ำตา เรื่องราวของปิโนเชต์เพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้น

ชิลีจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในสัปดาห์หน้าครับ