เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | เมืองขุนแผน แคว้นโบราณ

เมืองกาญจน์หรือกาญจนบุรีนี่แหละเมืองขุนแผนแท้ แม้ไม่ใช่เมืองเกิด แต่โคตรตระกูลรวมทั้งชีวิตช่วงวัยสำคัญล้วนอยู่เมืองกาญจน์ทั้งนั้น

กระทั่งบั้นปลายพระพันวษาโปรดให้เป็นเจ้าเมืองกาญจน์ ดังกลอนว่า

อ้ายขุนแผนพลายงามมีความชอบ

กูจะตอบแทนมึงให้ถึงที่

ขุนแผนให้ไปรั้งกาญจน์บุรี

มีเจียดกระบี่เครื่องยศให้งดงาม

และตำแหน่งเจ้าเมืองกาญจน์ก็คือ

ให้เป็นที่พระสุรินทฦๅชัย

มไหสูรย์ภักดีมีสง่า

แล้วตรัสสั่งคลังในมิได้ช้า

เติมเงินตราสิบห้าชั่งเป็นรางวัล

ตำแหน่ง “พระสุรินทฦๅชัย” นี้ปรากฏอยู่ในทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีลำดับที่ 13 อยู่ในเวลานี้

ขุนแผนเป็นลูกขุนไกรกับนางทองประศรี เมื่อเกิดมาได้ชื่อว่า พลายแก้ว ดังกลอนว่า

ปีขาลวันอังคารเดือนห้า

ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย

เจ้ากรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย

มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา

ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่

สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา

เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา

ให้ชื่อว่าพลายแก้วผู้แววไว

เมื่อเกิดนั้นอยู่สุพรรณฯ บิดาคือขุนไกรเป็นทหารอยุธยา ดังกลอนว่า

โปรดปรานเป็นทหารอยุธยา

มีสง่าอยู่ในเมืองสุพรรณ

ครั้นขุนไกรต้องโทษต้อนควายแทงควายตายหน้าที่นั่ง โทษถึงประหารชีวิต นางทองประศรีกับลูกคือพลายแก้วจึงหนีมาอยู่เมืองกาญจน์

ด้วยผัวเคยบอกเล่าแต่เก่าก่อน

ว่าญาติมีที่ดอนเขาชนไก่

ครั้นไปพบพวกพ้องของขุนไกร

เขาก็ทำเรือนให้มิได้ช้า

ทองประศรีกับลูกชายพลายแก้วอยู่ที่บ้านลาดหญ้า ท่าเสา เขาชนไก่ ที่เป็นแหล่งเมืองเก่ากาญจนบุรีก่อนจะย้ายเมืองมาอยู่ยังกาญจนบุรีปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.2374 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 นี้เอง

พลายแก้วอยู่กับมารดาคือนางทองประศรีที่เมืองกาญจน์ บ้านลาดหญ้า ท่าเสา เขาชนไก่ ถึงอายุสิบห้าปีอยากเรียนรู้วิชาการจึงวอนแม่ให้หาอาจารย์ แม่พาไปบวชเณรวัดส้มใหญ่ มีอาจารย์คือสมภารบุญ วัดส้มใหญ่เวลานี้ยังมีอยู่ที่บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง เมืองกาญจน์

บวชเรียนไม่ถึงปีก็เจนจบจนอาจารย์หมดภูมิ ส่งเณรแก้วไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลยก์กับขรัวมี

จากนี้แหละที่เณรแก้วมาใช้ชีวิตวัยรุ่นอยู่สุพรรณฯ

กระทั่งไปจบวิชาที่วัดแค มีสมภารคงเป็นอาจารย์

ถ้าจะเทียบภูมิรู้ก็เท่ากับว่าพลายแก้วจบระดับประถมวัดส้มใหญ่ เมืองกาญจน์ จบมัธยมวัดป่าเลไลยก์ และจบอุดมศึกษาที่วัดแค เมืองสุพรรณ

กระทั่งร้างหอไปทัพเชียงใหม่กลับมาได้เป็นที่ขุนแผน

อยู่หลังรังรวงก็ร่วงร้าง

กาเหยี่ยวเฉี่ยวล้างลงกลาดเกลื่อน

ห้องหับยับไปไม่เป็นเรือน

เพราะเพื่อนมิตรคิดคดขบถใจ

จากนี้ขุนแผนกลับมาอยู่เมืองกาญจน์ แต่มิวายไปมาระหว่างเมืองกาญจน์ สุพรรณฯ จนสุดท้ายขุนแผนถึงคราวตีดาบ ซื้อม้าหากุมาร ซึ่งเป็นช่วงผจญภัยอยู่เมืองกาญจน์ตลอด โดยเฉพาะได้นางบัวคลี่ที่บ้านถ้ำอยู่ฝั่งขวาน้ำแม่กลองที่ท่าม่วง กระทั่งย่างกุมารทองที่วัดใต้ตีดาบฟ้าฟื้น ที่ชื่อ “ฟ้าฟื้น” เพราะ

ได้นิมิตฟ้าเปรี้ยงดังเสียงปืน

ให้ชื่อว่าฟ้าฟื้นอันเกรียงไกร

จนถึงขุนแผนซื้อม้าสีหมอกที่ตามม้าหลวงมาจากเมืองมะริดในราคาสิบห้าตำลึง

ที่จริงเมืองสุพรรณกับเมืองกาญจน์นั้นเป็นเมืองแก้วเมืองเกลอก็ว่าได้ ด้วยเป็นเมืองเชื่อมด่านหน้าอยุธยาเมืองหลวงด้านตะวันตก

โดยที่เมืองกาญจน์นั้นติดแดนมอญเมืองพม่า ซึ่งอาณาจักรมอญรุ่งเรืองมาก่อนจะเป็นพม่าหรือเมียนมาปัจจุบัน

เมืองกาญจน์จึงมีชื่อเป็น “เจ็ดหัวเมืองมอญ” มาก่อน ดังมีเมืองสิงห์ เมืองลุ่มสุ่ม เมืองไทรโยค เมืองท้องผาภูมิ เมืองท่าตะกั่ว เมืองท่าขนุน เมืองท่ากระดาน

น่าสังเกตคือตระกูลขุนไกรล้วนสืบสายสกุล “พลาย” ตลอดตั้งแต่พลายแก้ว พลายงาม พลายชุมพล จนพลายเพชร พลายบัว

ว่ากันว่าตระกูลพลายเป็นตระกูลมอญ

เมืองกาญจน์จึงผูกพันกับเมืองมอญทั้งในประวัติศาสตร์อารยธรรม และวรรณกรรมที่เป็นดังมหากาพย์ตำนานบรรพชนของคนเมืองด่านตะวันตกที่สำคัญยิ่ง

สุดท้ายขุนแผนก็ปักหลักอยู่เมืองกาญจน์ ดังกลอนว่า

แสนสำราญอยู่บ้านกาญจน์บุรี

เปรมปรีดิ์เป็นสุขเกษมสันต์

ปรึกษาความสารพัดเป็นสัตย์ธรรม์

ทุกคืนวันแสนสุขสำราญเรือน ฯ