นิ้วกลม | ชิลี : เลือดและน้ำตา กว่าจะเป็นประชาธิปไตย (ตอนจบ)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

ย้อนอ่าน ชิลี : เลือดและน้ำตา กว่าจะเป็นประชาธิปไตย (ตอนแรก)

1.11 กันยายน 1973 เกิดรัฐประหารซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากฝ่ายขวาและฝ่ายกลางๆ ในชิลี คนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าทหารไม่น่าอยู่นาน

แต่ปรากฏว่ารัฐบาลของนายพลปิโนเชต์ครองอำนาจถึง 17 ปี มีการจับกุมชาวชิลีเรือนแสน หลายพันคน “สูญหาย” และอีกเป็นแสนลี้ภัยไปต่างประเทศ

อะไรคือองค์ประกอบให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้

คำตอบส่วนหนึ่งคือความแตกแยกทางการเมือง

ความกลัวเป็นหัวเชื้อของความรุนแรง

อดีตจากยุคสมัยของอัลเยนเด-ประธานาธิบดีที่ดำเนินนโยบายสังคมนิยมยังคงสร้างความหวาดกลัวหลอกหลอนผู้คนฝ่ายตรงข้าม จึงมีความคิดในทางป้องกัน “ฝั่งนั้น” เอาไว้ก่อนอยู่ในหัวตลอดเวลา

ถ้าไทยมีผีทักษิณ ชิลีก็มีผีอัลเยนเด

ฝั่งที่เชียร์ปิโนเชต์ก็จะไม่เชื่อว่าเขาเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้น

มีเอกสารไม่มากนักที่จะเชื่อมโยงปิโนเชต์เข้ากับการทารุณกรรมประชาชนโดยตรง ด้วยภาพของการเป็นชายชราใจดีและเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดยิ่งทำให้กองเชียร์จำนวนมากเชื่อว่าสิ่งโหดร้ายทั้งหลายไม่เกี่ยวกับเขา

จนถึงทุกวันนี้ยังมีฝ่ายขวาจำนวนมากที่เชื่อว่าปิโนเชต์ไม่ได้ออกคำสั่งให้ทรมานและสังหารประชาชนที่ต่อต้านแต่อย่างใด

2.เมื่อยึดอำนาจแล้ว ภารกิจของระบอบเผด็จการปิโนเชต์คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจชิลีขึ้นใหม่บนพื้นฐานตลาดเสรี

ซึ่งในตอนนั้นเขามอบหมายให้กลุ่มที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเสรีใหม่ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามกลุ่มชิคาโกบอยส์เป็นผู้ดูแล เพราะหลายคนในกลุ่มนี้เคยฝึกฝนที่มหาวิทยาลัยชิคาโกร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์มิลตัน ฟรีดแมน นโยบายหลักๆ คือเน้นตลาด และลดการแทรกแซงโดยรัฐ ซึ่งตรงข้ามกับรัฐบาลก่อนหน้าสิ้นเชิง

การดำเนินนโยบายในแนวทางนี้สำเร็จโดยไม่มีเสียงคัดค้านมากนัก

ทำให้คนตั้งข้อสังเกตว่าที่ปิโนเชต์สนับสนุนแข็งขันเพราะเห็นว่านโยบายแนวนี้สอดคล้องกับสหรัฐ ซึ่งสนับสนุนเขาอย่างมาก เพราะกำลังเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น

ในยุคนั้น สหรัฐมีบทบาทในการหนุนผู้ปกครองของหลายๆ ประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันมิให้ประเทศนั้นกลายเป็นคอมมิวนิสต์

รัฐบาลอเมริกันจึงหลับตาหนึ่งข้างทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลชิลีในยุคนั้น

ผลปรากฏว่า อัตราเงินเฟ้อของชิลีลดลงจากร้อยละ 600 ในยุคอัลเยนเดเหลือเพียงร้อยละ 9 ต่อปี

เศรษฐกิจชิลีโตในอัตราเกือบร้อยละ 10 ต่อปี การลงทุนจากต่างชาติพุ่งสูงขึ้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และสินค้าส่งออกก็หลากหลายขึ้น

แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็มิได้ถูกกระจายให้กับชาวชิลีอย่างเท่าเทียมกัน คนชั้นกลางและชั้นสูงร่ำรวย ขณะที่คนจำนวนมากทุกข์ยาก มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าระดับเส้นความยากจน

กระนั้นชนชั้นกลางและสูงก็ยินดีสนับสนุนปิโนเชต์เพราะได้ประโยชน์

3.ผ่านมา 7 ปี จนถึงปี 1980 รัฐบาลทหารเสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะปกป้องประโยชน์ของทหารกับกลุ่มฝ่ายขวา โดยจะขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไปอีก 8 ปี

หลังการรณรงค์เลือกตั้งที่ถูกคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลทหาร ผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นั่นหมายความว่าปิโนเชต์สามารถเป็นประธานาธิบดีได้จนถึงปี 1989

และเมื่อวาระใกล้สิ้นสุด รัฐบาลทหารก็ประกาศลงประชามติอีกครั้งในปี 1988 เพื่อขยายออกไปอีก 8 ปีจนถึงปี 1997 ซึ่งเขาจะมีอายุ 82 ปี

แต่แล้วคราวนี้ ปิโนเชต์กลับเป็นฝ่ายแพ้ เพราะการจับตามองจากนานาชาติ รวมถึงสหรัฐที่ไม่ได้หนุนหลังอีกต่อไป จึงทุ่มทรัพยากรเพื่อสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรณรงค์ภายใต้สโลแกน “ไม่เอา!” หรือ “No!” ซึ่งประกอบขึ้นมาจากกลุ่มต่างๆ ถึง 17 กลุ่ม

กระทั่งในที่สุดฝั่งต่อต้านนี้ก็ได้ขึ้นครองอำนาจในปี 1990

การร่วมมือกันเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนานถึง 17 ปี โดยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายนั้นน่าสนใจว่าพวกเขาทำงานกันอย่างไรโดยไม่ให้แตกคอกันกัน

คำตอบคือ คนเหล่านี้เรียนรู้ผ่านการต่อสู้ยาวนานว่าชัยชนะจะเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันเท่านั้น

อะไรพอยอมได้ก็ยอมกันก่อน ทั้งยังตระหนักด้วยว่าบรรดานักธุรกิจและชนชั้นสูงของชิลียังสนับสนุนปิโนเชต์ และจะไม่มีวันปล่อยให้ฝั่งต่อต้านครองอำนาจตราบที่ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเองในยุคหลังจากปิโนเชต์สิ้นอำนาจไป

บรรดาฝ่ายซ้ายที่ได้รับชัยชนะจึงต้องใช้วิธีอดกลั้น (ไม่เอาคืน) ต่อศัตรูเก่าที่เคยกระทำกับฝั่งของพวกเขาอย่างโหดร้าย

และเพื่อโน้มน้าวกลุ่มสายกลาง พวกเขาจึงเสนอให้มีการสลับวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายสายกลาง เพราะรู้ดีว่านี่คือวิธีเดียวที่จะได้คืนสู่อำนาจ

จาเร็ต ไดมอนด์ เขียนไว้ใน Upheaval ว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงอย่างเลือกสรร คือการเลือกว่าอะไรยอมได้ ยอมแค่ไหน ยอมอย่างไร

ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ เศรษฐกิจชิลีเติบโตในอัตราน่าทึ่ง แซงหน้าประเทศละตินอเมริกาทั้งหมด

รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นสองเท่า

มีการปกครองตามหลักนิติธรรมอย่างเข้มแข็ง การคอร์รัปชั่นลดลง การลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นสองเท่า

เหล่านี้คือผลลัพธ์ในช่วง 7 ปีแรกที่ชิลีหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

4.แต่ผลพวงจากการยึดอำนาจยังคงฝังลึก ก่อนลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ปิโนเชต์ให้ฝ่ายนิติบัญญัติแต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกตลอดชีพ และให้เขาแต่งตั้งตุลาการศาลสูงคนใหม่อีกหลายคน และให้เขาคงอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดจนกระทั่งเกษียณจากตำแหน่งนี้ในปี 1998

รัฐธรรมนูญฉบับปิโนเชต์ที่ยังมีผลต่อเนื่องระบุว่าร้อยละ 10 ของรายได้จากยอดขายทองแดงของประเทศ (ยอดขายนะครับ ไม่ใช่กำไร) ในแต่ละปีต้องเป็นงบประมาณของทหาร

ในรัฐธรรมนูญมีบทหนึ่งระบุว่า ในจำนวนวุฒิสมาชิก 35 คนนั้น 10 คนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

คุ้นมาก เหมือนเคยได้ยินที่ไหนมาก่อน

ฉะนั้น รัฐบาลใหม่ก็ยังคงต้องบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกจากคณะรัฐประหารเช่นนี้ต่อไป

แถมยังต้องคอยระมัดระวังตัวเองอยู่ตลอด เพราะกองทัพยังสามารถยึดอำนาจได้อีก โดยมีชาวชิลีฝั่งขวาพร้อมสนับสนุน

5.ปาตริซิโอ ไอล์วิน ประธานาธิบดีคนแรกหลังปิโนเชต์ลงจากตำแหน่งได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความยุติธรรมเอาไว้ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาความจริงเกี่ยวกับเหตุอัปยศทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสมัยปิโนเชต์

ในปี 1991 ได้จักพิมพ์รายชื่อชาวชิลีผู้ถูกสังหารหรือ “สูญหาย” จำนวน 3,200 คน

และคณะกรรมการชุดที่สองในปี 2003 ได้รายงานเรื่องการทรมาน

ตอนแถลงทางโทรทัศน์ไอล์วินเกือบหลั่งน้ำตาเมื่อขอร้องให้ครอบครัวเหยื่อให้อภัยในนามรัฐบาลชิลี

ฝั่งปิโนเชต์นั้นมีการเปิดเผยว่า เขาซ่อนเงิน 30 ล้านดอลลาร์ไว้ในธนาคารสหรัฐ 125 บัญชี

ข่าวนี้ทำให้ฝ่ายขวาซึ่งรับได้กับเรื่องทรมานและสังหารเกิดอาการตาสว่าง ว่าผู้นำเผด็จการที่เขาเคยคิดว่าไม่คดโกงก็คอร์รัปชั่นไม่ต่างจากเผด็จการอื่น

ศาลสูงถอดถอนปิโนเชต์จากภาวะปลอดจากการถูกฟ้องร้องที่ได้สิทธิ์จากการเป็นวุฒิสมาชิกตลอดชีพ

สุดท้ายจึงถูกตัดสินลงโทษเรื่องอาชญากรรมทางการเงินและฆาตกรรมทั้งหลาย และถูกจับให้กักบริเวณอยู่แต่ในบ้าน พร้อมภรรยาและลูก 4 คน

กระทั่งเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในปี 2006 ขณะอายุ 91 ปี

6.จากปี 1973 จนถึงปี 2020 วันเวลาผ่านมา 47 ปี ผลพวงจากการรัฐประหารในวันนั้นยังส่งผลในบางมิติต่อประเทศชิลี โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมรดกจากรัฐบาลเผด็จการที่วางแผนและใส่ล็อกไว้เพื่อประโยชน์ต่อพรรคพวกผู้ที่ร่างขึ้นมา

47 ปี เป็นเวลายาวนานเหลือเกิน

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม ก่อนจะลงมติรับร่างกันในปี 2022 จึงเป็นกระบวนการที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

จากการประท้วงของนักเรียนมัธยมที่ไม่พอใจรัฐบาลที่ประกาศขึ้นราคารถไฟฟ้า ลุกลามไปสู่การเรียกร้องหารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และป้ายผ้าซึ่งเขียนข้อความถึงนายพลปิโนเชต์ว่า “ลาก่อนท่านนายพล”

ชิลีกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน คงต้องรอดูกันต่อไป แต่อย่างน้อยก็ดูเหมือนจะมีความหวัง

ความขัดแย้งที่ลงลึก ผลประโยชน์ที่แตกต่าง ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้าง ทำให้ประชาชนบางกลุ่มอนุญาตให้รัฐบาลเผด็จการทำในสิ่งที่น่าหดหู่ใจอย่างการทรมานและสังหารผู้คิดต่าง และยังยอมรับรัฐธรรมนูญที่เขียนอย่างเอนเอียงชัดเจนได้อีกด้วย

ตัวอย่างจากชิลีชวนให้ตั้งคำถามเหลือเกินว่า บนเส้นทางสู่ความเป็นประชาธิปไตย เราต้องใช้เวลาอีกยาวนานเพียงใด และต้องสูญเสียเลือดและน้ำตาอีกแค่ไหนกัน

กว่าจะเป็นประชาธิปไตย