สุทธิชัย หยุ่น | สองแนวคิดเกี่ยวกับจีน : เฟื่องฟูหรือล่มสลาย?

สุทธิชัย หยุ่น

คําถามใหญ่สำหรับโลกในยุคการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลสหรัฐที่ประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อโจ ไบเดน ก็คือ

สงครามระหว่างสหรัฐกับจีนมีทางหลีกเลี่ยงได้หรือไม่

หากสหรัฐเห็นจีนกำลังจะแซงตัวเองในอนาคตข้างหน้า วอชิงตันจำเป็นต้องสกัดทุกวิถีทางหรือไม่

และหากจีนยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของตนในการก้าวขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับเบอร์หนึ่ง และถูกขัดขวางทุกหนทาง ปักกิ่งจะต้องสร้างแสนยานุภาพทางทหารและเศรษฐกิจมากพอที่จะประลองกำลังกับสหรัฐในทุกรูปแบบหรือไม่

นักคิดนักเขียนที่ติดตามเรื่องร้อนๆ นี้มีแนววิเคราะห์หลากหลายที่น่าสนใจ

คนไทยที่ต้องการจะ “ตามให้ทัน” จะต้องสนใจติดตามศึกษาและหาความรู้อย่างต่อเนื่อง

เพราะอะไรที่เคยเป็นเรื่องที่น่าเชื่อหรือเป็นวิธีคิดที่เป็นแนวหลัก อาจจะกำลังกลายเป็นอดีตไปแล้วก็ได้

เพราะความคิดเดิมๆ เกี่ยวกับทั้งสองประเทศยักษ์นี้กำลังจะถูกสถานการณ์ใหม่และเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่คาดไม่ถึงหลายด้าน

ผมได้อ้างถึงหนังสือเล่มใหม่ของนักคิดนักเขียนสิงคโปร์ Kishore Mahbubani ที่ตั้งคำถามว่า Has China Won?

เขาตั้งคำถามเชิงยั่วให้แย้งว่า “จีนชนะ (อเมริกา) แล้วใช่ไหม?”

มีนักวิชาการหลายสำนักออกมาแย้งว่า Kishore น่าจะมองจีนแบบ “โลกสวย” เกินไป

เพราะแม้สถิติด้านเศรษฐกิจหลายชุดจะชี้ไปในทางที่ว่าจีนกำลังจะวิ่งประชิดสหรัฐในบางมิติ แต่ลึกๆ แล้วจุดอ่อนของจีนที่แฝงอยู่ในระบบคอมมิวนิสต์ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้จีนล่มสลายได้

หนังสือชื่อ The Coming Collapse of China โดย Gordon Chang ตีพิมพ์เมื่อปี 2001 อ้างหลายเหตุผลที่ชี้ไปว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือสาเหตุของปัญหาฝังลึกของจีน

คนเขียนอ้างตัวเลขที่บอกกล่าวถึง “หนี้เสียที่ซ่อนอยู่ในระบบการเงิน” ของธนาคารยักษ์ที่เป็นของรัฐมีจำนวนมหึมา

Gordon Chang เป็นนักกฎหมายอเมริกัน ในหนังสือที่สร้างความฮือฮาไม่น้อยในจังหวะนั้นประกาศอย่างขึงขังว่า

“อวสานของรัฐจีนยุคใหม่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนมีเวลาอีกเพียง 5 หรือ 10 ปีเท่านั้น…”

เหตุผลที่เขาระบุในบทวิเคราะห์ถึงการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้นก็คือ

หนี้เสียจำนวนมโหฬารในระบบธนาคารรัฐใหญ่ๆ ซึ่งจะทำให้ระบบการเงินของจีนทั้งประเทศมีอันต้องพังพินาศ

และความล้มเหลวของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในอันที่จะสร้าง “สังคมประชาธิปไตย” ที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ (แม้จะไม่สามารถส่งเสียงดังนัก)

แต่เวลาผ่านมา 10 ปีแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าคำทำนายของนักเขียนอเมริกันผู้นี้จะกลายเป็นความจริง

ตรงกันข้าม เศรษฐกิจจีนก็ยังโตอย่างต่อเนื่อง (แม้จะลดลงมาจากระดับ 10-12% ต่อปีเป็น 6% ก่อนที่จะถูกโรคระบาดโควิดกระชากให้ร่วงลงมาอยู่ที่ 3-4% ในไตรมาสสามที่ผ่านมา)

และการพัฒนาสังคมของจีนก็แสดงผลทางด้านบวกอย่างน่าสนใจ ถึงขั้นสามารถจะประกาศว่าความยากจนจะหมดสิ้นไปภายในปีสองปีข้างหน้า (เส้นตายเลื่อนจากปีนี้เป็นปีหน้าเพราะพิษโควิด)

นักเขียนคนเดียวกันนี้ยอมรับในบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Foreign Affairs ในปี 2012 ว่าเขาทำนายผิดไป

Gordon Chang พยากรณ์ต่อว่ายังไงๆ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จะมีอันเป็นไปในปี 2012

แต่เขาก็ผิดอีก

อีก 4 ปีต่อมาคนเขียนคนเดียวกันนี้ตีพิมพ์บทความใหม่ใน The National Interest เรียกมันว่า “China”s Coming Revolution” หรือ “การปฏิวัติครั้งใหม่ของจีน”

เขาบอกว่าผู้นำจีนกำลังแตกคอกันเพราะไม่สามารถจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้

เขาเห็นการ “ปฏิวัติ” ของประชาชนจีนที่จะโค่นพรรคคอมมิวนิสต์จีน

แต่ครั้งนี้เขาไม่ยอมบอกว่าคำทำนายครั้งใหม่ของเขาจะเป็นจริงในปีไหน

เหตุผลคงเป็นเพราะกลัวหน้าแตกซ้ำซากนั่นเอง

อีกคนหนึ่งที่ประกาศมายาวนานว่าจีนเป็น “ภัยคุกคาม” อย่างยิ่งสำหรับสหรัฐคือ Peter Navarro ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขียนหนังสือชื่อ Death by China : Confronting the Dragon – A Global Call for Action

เป็นหนังสือที่ยืนยันว่าสหรัฐจะต้อง “เผชิญหน้ากับมังกร” อย่างตรงๆ และระดมพันธมิตรทั่วโลกในการสกัดกั้นการเติบใหญ่ของจีนอย่างเข้มข้น

นักวิชาการฝ่ายขวาจัดคนนี้เป็นหนึ่งในคนที่ผลักดันให้ทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับจีน

เขาเป็นหนึ่งในขาประจำของคณะทำงานที่ถูกส่งไปเจรจากับจีนในเรื่องการปรับดุลการค้าที่วอชิงตันอ้างว่าถูกจีนเอารัดเอาเปรียบมายาวนาน

เขากล่าวหาว่ารัฐบาลจีนได้ทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดข้อตกลงกับสหรัฐเสมอมา

เช่น เขาอ้างว่าจีนปั่นอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินสกุลหยวนอ่อนกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อสามารถส่งออกไปอเมริกาได้มากกว่าที่ควร

เขากล่าวหาจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐอย่างใหญ่หลวง

แต่ Kishore แห่งสิงคโปร์ยืนอยู่คนละข้างกับนักวิชาการตะวันตกที่มองเห็นจีนเป็นภัยและกำลังจะเผชิญกับวิกฤตทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองภายในจนจะล้มทั้งยืน

เขากลับเห็นว่าจีนกำลังเจริญรุ่งเรืองเพราะความทันสมัยและคิดก้าวไกล อีกทั้งยังสามารถพัฒนานวัตกรรมถึงระดับที่แซงหน้าสหรัฐไปแล้วด้วยซ้ำ

Kishore อ้างนักวิเคราะห์อเมริกันคนหนึ่งของ Wall Street Journal ว่า

“แต่ก่อนนโยบายรัฐบาลอเมริกาอาจจะพยายามเข้าใจจีน บางช่วงถึงกับโอ๋จีนเพราะเชื่อว่าหากสหรัฐช่วยให้จีนเข้ามาอยู่ในกระบวนการเศรษฐกิจโลกก็จะทำให้จีนมากลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎกติกา และสหรัฐจะได้ประโยชน์…แต่วันนี้นโยบายของรัฐบาลอเมริกากลับแกว่งไปสุดขั้วอีกทางหนึ่ง คือเป็นการเผชิญหน้าจนเกิดความตึงเครียดระดับโลก…”

เสมือนตุ้มนาฬิกาที่แกว่งสุดขั้วไปทางซ้ายทีและเหวี่ยงไปสุดขั้วทางขวาอีกที

อดีตรัฐมนตรีแฮงก์ พอลสัน เคยพูดไว้น่าสนใจว่ารัฐบาลสหรัฐไม่มี “นโยบาย” มีแต่ “ท่าทีและความรู้สึก” ต่อจีน

ในกลไกรัฐของอเมริกากลุ่มงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงเช่นเอฟบีไอ, ซีไอเอ, กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ และกระทรวงกลาโหมจะมองจีนเป็นศัตรูที่ต้องปราบ

เหมือนที่ทรัมป์พูดช่วงหาเสียงว่า “ถ้าคุณลงคะแนนให้โจ ไบเดน จีนจะยึดอเมริกา”

อีกด้านหนึ่งคือนักการเมือง ทั้งสมาชิกคองเกรสในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาอเมริกาต่างก็แก่งแย่งกันแสดงจุดยืนเป็น “เหยี่ยว” ที่ต่อต้านจีนอย่างแข็งขันเพราะเป็นแนวทางที่สร้างความนิยมในหมู่ฐานเสียงของตัวเองได้

พอลสันบอกว่า ที่น่ากลัวคือในกลไกรัฐของสหรัฐ

“ไม่มีใครพยายามจะต้านทิศทางลมเพื่อหาความสมดุล ไม่มีใครตั้งคำถามว่าอเมริกาจะทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรมได้บ้างในการที่จะได้ผลงานจากความสัมพันธ์กับจีนที่จะไม่กระทบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว…”

แต่ Kishore เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่าผู้นำจีนต้องการจะฟื้นฟูความเป็นจีนเพื่อมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในเวทีโลกก็จริง

“แต่พวกเขาไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะยึดครองโลกหรือพยายามจะทำให้ทุกคนในโลกเป็นเหมือนคนจีน…”

เขายืนยันว่าบทบาทและอิทธิพลของจีนจะขยายตัวตามขนาดของเศรษฐกิจตัวเอง

“แต่จีนจะไม่ใช้อิทธิพลของตนเปลี่ยนอุดมการณ์หรือวิถีปฏิบัติทางการเมืองของสังคมอื่น…”

Kishore บอกว่าผู้นำจีนต่างจากผู้นำอเมริกันตรงที่ “พวกเขาเข้าใจดีว่าสังคมอื่นๆ มีความคิดและพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากคนจีน…”

ยังมีมุมมองเรื่องจีนกับอเมริกาที่น่าเกาะติดอีกหลายด้าน เราไม่รับรู้และเรียนรู้ไม่ได้แล้ว