“ปราศรัย” บทเรียนกว่าจะมาเป็นCEO Uber : กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร [ธุรกิจพอดีคำ]

Co-founder and Chief Executive Officer (CEO) of US tranportation company Uber Travis Kalanick gestures as he speaks at an event in New Delhi on December 16, 2016. / AFP PHOTO / MONEY SHARMA

ปี2003 ณ ชายหาดกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นช่วงเวลาที่รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังสรรหา “ผู้ว่า” คนใหม่

ตามตึกรามบ้านช่อง ล้วนมีโปสเตอร์ผู้สมัครแปะอยู่ ดูรกหูรกตาไปบ้าง ไม่ต่างจากบ้านเรา เมื่อมีการเลือกตั้ง

ที่ชายหาดแห่งนี้ เป็นที่ที่ผู้คนมาพักผ่อนหย่อนใจกัน

ยิ่งเป็นช่วงเวลานี้ของปี ที่แสงแดดสาดส่องลงมา ลมพัดเย็นสบายๆ เคล้ากับเสียงคลื่น ซ่า ซ่า ซ่า ทำให้ชายหาดที่กว้างใหญ่ ดูเนืองแน่นไปถนัดตา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้มีหนุ่มน้อยคนหนึ่ง อายุ 27 ปี กำลังปราศรัยอยู่บนเวทีริมชายหาด

หนุ่มน้อยฝีปากร้าย ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น “ผู้ว่า” รัฐแคลิฟอร์เนีย

หากแต่ว่า ถ้าคุณเดินเข้าไปใกล้ๆ เวทีสักหน่อย จะพบว่า เขาไม่ได้พูดถึงนโยบายการบริหารบ้านเมืองแห่งนี้เลย

เรื่องราวนั้นเกี่ยวกับ…

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมพูดถึงสตาร์ตอัพชื่อดังระดับโลก

ชื่อว่า “แอร์บีแอนด์บี”

ธุรกิจโรงแรมที่พัก ที่ไม่มีแม้แต่ห้องเดียวเป็นของตัวเอง

มูลค่าสูงลิ่วถึงกว่า “สามหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ”

ถือได้ว่า เป็นสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ “สอง” ของโลก ณ ตอนนี้

แล้ว “ที่หนึ่ง” ล่ะ คือบริษัทใดกัน

เชื่อว่าหลายคนคงเดาได้

สตาร์ตอัพที่มี “กระแส” มาโดยตลอดสองสามปีที่ผ่านมา ทั้งดีและร้าย

หลายคนใช้บริการสตาร์ตอัพรายนี้ทุกวัน เช้า เย็น

ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงบริษัท “อูเบอร์ (Uber)” สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก สูงกว่าหกหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณสองเท่าของแอร์บีแอนด์บีเลยก็ว่าได้

ธุรกิจแท็กซี่ให้บริการการเดินทางโดยรถยนต์ โดยที่ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเองแม้แต่คันเดียว

และเมื่อพูดถึง “อูเบอร์” ก็ต้องพูดถึงคนคนนี้

“ทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick)” ซีอีโอบริษัท ผู้มีชื่อเสียงเรื่อง “ความเฮี้ยบ”

เขาประกาศต่อสู้กับ “อำนาจ” ทุกอย่างที่ควบคุม “อูเบอร์” อย่างไม่เกรงกลัว

ผู้คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า “เขากำลังสู้กับสิ่งที่ท้าทายยิ่ง”

เขาทำมันได้อย่างไรกัน

ทราวิส เกิดในปี 1976 ณ เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา

เขาเป็นเด็กเก่งเลข สามารถทำข้อสอบ SAT ในส่วนของ “คณิตศาสตร์” ให้เสร็จได้ในเวลาไม่กี่นาที

แถมได้คะแนนเต็มตลอด

เขาเลือกที่จะเรียนศาสตร์ของ “คอมพิวเตอร์” ที่กำลังฮ็อตฮิตในช่วงนั้น

Co-founder and Chief Executive Officer (CEO) of US tranportation company Uber Travis Kalanick gestures as he speaks at an event in New Delhi on December 16, 2016. / AFP PHOTO / MONEY SHARMA

และก็เหมือนกับบุคคลเปลี่ยนโลกหลายต่อหลายคน

ไม่ว่าจะเป็น บิล เกตส์ หรือ สตีฟ จ็อบส์

ในปีสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัย ทราวิสตัดสินใจ “ลาออก” จากมหาวิทยาลัย เพื่อจะร่วมมือกับเพื่อนๆ ของเขา สร้าง “สตาร์ตอัพ” อันหนึ่งขึ้นมา

มีชื่อว่า “สคอร์ (Scour)” โปรแกรมแลกเปลี่ยนไฟล์กับเพื่อนๆ สามารถนำไฟล์ในเครื่องเพื่อนมาใช้งานของเราได้

ปี 1999 มีผู้ใช้งาน “สคอร์” ถึงกว่า 900,000 คนด้วยกัน

เพียงไม่กี่ปี สคอร์ก็มีผู้สนใจจะซื้อหุ้น ชายผู้นั้นมีชื่อว่า “โอวิตซ์(Ovitz)”

โอวิตซ์ใช้เทคนิคการเจรจาต่างๆ นานา ทำให้ทราวิสและเพื่อนๆ ลำบากใจเป็นอย่างมาก

จะไปหานักลงทุนคนใหม่ ก็ดันไปเซ็นเอกสารบางอย่างเอาไว้ก่อน

ทำให้อาจจะโดนฟ้องได้

กลืนไม่เข้า คายไม่ออก

สุดท้าย โอวิตซ์เข้าซื้อหุ้นใน “สคอร์” ด้วยราคาดี แถมได้หุ้นถึง 51% ด้วยกัน

หมายความว่า ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งห้าคน กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่านั้น ซึ่งทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก

นับเป็นบทเรียนแรกในเรื่องการทำธุรกิจของ “ทราวิส” และผองเพื่อน

เมื่อย้ายไปทำงานกับโอวิตซ์แล้ว

ทราวิสและทีมงานก็ทำการสร้าง “ทีมงานเพื่อการเติบโต (Growth Hack)” ขึ้นมากว่า 70 ชีวิต

เรื่องกำลังจะไปได้สวย

ก็โดนฟ้องจากทั้งวงการสื่อ ในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธ์ในเพลง

คิดเป็นเงินสิริรวมทั้งสิ้น “สองแสนห้าหมื่นล้าน” เหรียญสหรัฐ เท่านั้นเอง

ท้ายที่สุด ถูกบังคับให้ “ประกาศเป็นกิจการล้มละลาย” เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมหาศาลนี้

ต่อด้วยการให้พนักงานส่วนใหญ่ “ออก” จากการทำงาน

และประกาศขายบริษัท สุดท้ายได้เงินมาเพียง “เก้าล้านเหรียญสหรัฐ”

ปิดฉากสตาร์ตอัพชื่อดัง นามว่า “สคอร์”

ตอนนั้น ทราวิสอายุเพียง 24 ปีเท่านั้นเอง

เป็นบทเรียนที่สองในความผิดพลาดของ “ทราวิสและผองเพื่อน”

นั่นคือ อย่าแหยมกับขาใหญ่ ในขณะที่คุณยังเล็ก

หากแต่ว่าในปีต่อมา ทราวิสและผองเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ตั้งบริษัทใหม่นามว่า “เรด สวูช (Red Swooch)”

โปรแกรมการส่งไฟล์ให้เพื่อนสู่เพื่อน โดยเน้นใช้งานกับบริษัทขนาดไหนกันบ้าง เขาก็ยินดีบริการ

เขาเดินสายขายของอยู่หลายเดือน ก็ถูก “ปฏิเสธ” อย่างไม่เหลือเยื่อใย

ย้อนกลับไปที่เรื่องราวชายหนุ่มที่ชายหาด บนเวทีปราศรัยด้านบน

เขาคือ “ทราวิส คาลานิก”

ที่ไปลงสมัครเป็นผู้ว่าของแคลิฟอร์เนียเอาไว้

เพื่อที่จะมีสิทธิ์ได้ขึ้นไปปราศรัยนโยบายบนเวที

หากแต่ “ทราวิส” จอมเจ้าเล่ห์ รู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ได้สนใจตำแหน่ง “ผู้ว่า”

อยาก “ขายของ” จากสตาร์ตอัพของตัวเอง ที่ชื่อ “เรด สวูช” นี่แหละ

ที่ดูจะผิดที่ผิดทางเอาเสียมากๆ คนฟังก็ไม่ค่อยจะสนใจเท่าไร

ถ้าในฐานะ “นักการเมือง” คงจะสอบตก

แต่สำหรับความมี “วิญญาณผู้ประกอบการ” แล้วละก็

ถือว่า “เต็มร้อย” ครับ

ในที่สุดก็จนแล้วจนรอด ทราวิสสามารถขายบริษัทออกไปได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำ หลายสิบล้านเหรียญด้วยกัน

บทเรียนที่สาม สำหรับการเป็นผู้ประกอบสำหรับ “ทราวิส”

ไม่รับคำว่า “ไม่” ในการทำธุรกิจ สู้ตาย เก็บทุกเม็ด

“การถูกปฏิเสธ” มันก็เป็นแค่บันไดขั้นหนึ่ง สำหรับผู้ที่จะ “ประสบความสำเร็จ”

มีใครพร้อมจะเป็นแบบ “ทราวิส” บ้าง