เพ็ญสุภา สุขคตะ : ว่าด้วยการตีความ “พระเกศา-อุษณีษะ”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มีผู้สอบถามว่า สิ่งที่ประดับบนพระเศียรของพระพุทธปฏิมานั้นทำไมแต่ละองค์จึงแตกต่างกัน

บางองค์คล้ายกับว่ามีพระเศียรซ้อนกันสองชั้น

บางองค์ชั้นเดียว

หลายองค์ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย

บางองค์กลับเรียบเกลี้ยง แต่ก็เคยเห็นบางยุคองค์ทำเป็นมุ่นมวยผม?

ทั้งนี้ ยังไม่ขอกล่าวถึงเรื่องของ “พระรัศมี” ที่อยู่ตอนบนสุดของพระเศียร บางองค์ไม่เห็นมีอะไรประดับอยู่เหนือพระเศียรเลย บางองค์มีรูปดอกบัวตูม บางสกุลช่างกลับเป็นรูปรัศมีเปลว เรื่องพระรัศมีนี้ขอแยกนำไปกล่าวในฉบับหน้า

ฉบับนี้มาดูเฉพาะเรื่อง “พระเกศา” กับ “อุษณีษะ” ก่อน ว่าการที่มีรูปลักษณ์แตกต่างกันนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรแน่

เป็นเพราะการตีความของช่างแต่ละสกุลที่สร้างพระพุทธรูป?

หรือว่าเกิดจากการนำคัมภีร์มหาปุริสลักษณะมาอธิบายให้เป็นรูปธรรมไม่เหมือนกัน?

 

พระเกศาหยักศก
โล้นเกลี้ยง หรือก้นหอย?

มีการระบุถึงลักษณะเฉพาะของพระพุทธเจ้าหรือไม่ในตำราการสร้างพระพุทธรูป หรือที่เรียกกันว่า “คัมภีร์มหาปุริสลักษณะ (มหาบุรุษลักษณะ) 32 ประการ” รวมทั้งยังมีหมวดว่าด้วยรายละเอียดปลีกย่อย (อนุพยัญชนะ) อีก 80 ข้อ

พบว่าคัมภีร์ดังกล่าวมีข้อที่พรรณนาถึงพระเกศาของพระพุทธองค์ เป็นต้นฉบับภาษาสันสกฤต ดังนี้

“ภินฺนาญฺชนมยูรกลาปาภินีลวลฺลิตปฺรทกฺษิณาวรฺตเกศะ” แปลความได้ว่า พระเกศาแยกเส้นกัน สีเขียวเข้มเหมือนสียาป้ายขอบตาหรือสีดอกอัญชัน หรือสีโคนหางนกยูง ขมวดเวียนขวา

พระเกศาแยกเส้น… แสดงว่าแต่ละเส้นถูกจัดวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ ไม่ยุ่งเหยิงพันกัน ไม่หยิกฟู ส่วนเรื่องของสีผมนั้นระบุว่าน้ำเงินเหลือบเขียว ทว่าไม่สามารถสะท้อนได้ในงานประติมากรรม เว้นแต่ในงานจิตรกรรม ที่น่าสนใจคือจบลงด้วยการขมวดเวียนขวา

หากคัมภีร์ระบุไว้เช่นนี้ ไยพระพุทธปฏิมารุ่นแรกสุดของโลก คือสมัยคันธารราษฎร์ (คันธาระ) ในอินเดีย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6-7) จึงทำพระเกศาเป็นลอนแบบคนผมหยักศก

ซ้ำพุทธศิลป์อินเดียสมัยมถุราอายุห่างจากสมัยแรกเพียงไม่ถึงกึ่งศตวรรษ ก็ทำพระเกศาโล้นเกลี้ยงเหมือนกับพระภิกษุจริง?

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า การสร้างพระพุทธรูปในยุคแรกๆ ช่างได้มีแนวคิดที่คู่ขนานกันสองอย่างประกอบกัน

1. ศึกษาจากคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ

2. นำเอาสุนทรียศาสตร์ตามที่ช่างในสกุลนั้นๆ พอใจมาใช้ มิได้ยึดเฉพาะคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะเพียงอย่างเดียว

อาทิ ยุคคันธาระ ผู้สร้างพระพุทธรูปเป็นชาวกรีก (ภายใต้การนำของพระเจ้าเมนานเดอร์ หรือพญามิลินทร์) จึงนำเอารูปแบบความงามของเทพเจ้ากรีก-โรมันมาใช้

ในขณะที่สกุลช่างมถุรา ผู้สร้างเป็นชนพื้นเมืองชาวอินเดียแท้ จึงได้นำสภาพของพระภิกษุจริงที่โกนศีรษะเกลี้ยงเกลามาถ่ายทอดเป็นปฏิมากรรม

สกุลช่างแรกที่ตีความคำว่า “เกศาจัดเรียงเป็นระเบียบ ขมวดพระเกศาเวียนขวา” คือศิลปะสมัยอมราวดี เจริญขึ้นแถบอินเดียใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-10 ซึ่งต่อมาส่งอิทธิพลให้สกุลช่างมถุราช่วงปลายๆ

การสร้างขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยแบบชัดเจน ดังที่นิยมเรียกในภาษาไทยว่า “เม็ดพระศก” ของสกุลช่างอมราวดีนั้น ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี กล่าวว่า

อาจเกิดจากอิทธิพลพื้นเมือง ดังที่พบมาก่อนแล้วในภาพนูนต่ำบนเหรียญ รูปกษัตริย์ของราชวงศ์ศาตวาหนะที่ทำพระเกศาขมวดก้นหอยทุกพระองค์เสมอ

รูปแบบดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่สมัยอมราวดีเป็นต้นมา สู่มถุราตอนปลาย คุปตะ ปาละ จนแผ่อิทธิพลเข้ามาสู่กลุ่มประเทศอุษาคเนย์ รวมทั้งตะวันออกไกล

เม็ดพระศกที่เกิดจากการขมวดพระเกศาเวียนขวาเป็นก้นหอยบนพระเศียรพระพุทธรูปได้กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของงานพุทธศิลป์ทั่วทุกแห่งทุกสกุลช่าง ที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลยตั้งแต่บัดนั้น

จะมีความแตกต่างอยู่บ้างก็เพียงแค่ จังหวะการวางเม็ดพระศก ถี่-ห่าง เล็ก-ใหญ่ บาง-หนา แบน-สูง กลม-แหลม เท่านั้นเอง

 

อุษณีษะ เมาลี เกตุมาลา

คําทั้งสามนี้เป็นคำที่ใช้เรียกแทนกันได้ในทางประติมานวิทยา หมายถึง “ต่อมพระเศียร ที่นูนขึ้นด้านบน คือมีการยกพระเศียรขึ้นอีกชั้นหนึ่ง”

ตรงตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ ในข้อแรกที่กล่าวไว้สั้นๆ เพียงแค่ว่า “อุษฺณีษศีรฺษะ”

ส่วนการตีความนั้นไม่สั้นเหมือนคำสันสกฤตต้นฉบับ นักวิชาการอธิบายว่า

“อุษณีษะ” หากแปลตรงตัว หมายถึง “ผ้าโพกหัว” ดังนั้น อุษณีษะ+เศียร = พระเศียรที่มีรูปทรงเหมือนผ้าโพกหัว อันผ้าโพกหัวนี้ อินเดียยุคโบราณหมายถึง “ศิราภรณ์” หรือมงกุฎของกษัตริย์ (เมาลี) กล่าวคือ พระเศียรมีการยกให้สูงขึ้น

การระบุว่าพระพุทธเจ้ามีพระเศียรที่เป็นอุษณีษะ (โพกหัวสูงเป็นมงกุฎ) ทั้งศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ และศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อธิบายว่ามีความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการยกย่องให้พระพุทธองค์มีฐานะเป็นจักรวาทิน คือเป็นจักรพรรดิทางธรรมที่ยิ่งใหญ่เท่าเทียบกับจักรพรรดิทางโลก

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เรื่องราวที่ปรากฏในพุทธประวัตินั้น ตอนที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรก ทรงพบหมู่สงฆ์จำนวนมากในวัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ จนมิอาจทราบหรือแยกแยะได้ว่าภิกษุรูปใดคือพระพุทธเจ้า ถึงกับต้องตรัสถามบุคคลต่างๆ แสดงว่าพระพุทธเจ้าย่อมปลงผมเรียบเกลี้ยง จนมองไม่เห็นความแตกต่างจากพระสาวกรูปอื่นๆ

การนำ “อุษณีษะ” มาเพิ่มในคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะนี้ ก็เพื่อให้งานพุทธปฏิมาเกิดความโดดเด่น แยกพระพุทธองค์ออกมาจากสาวกให้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง

อุษณีษะในงานพุทธศิลป์คันธาระ ปรากฏในลักษณะมวยผมลอนหยักศกล้อกับเส้นเกศา บางครั้งมีเชือกคาดที่ด้านล่างของมวยผม

ส่วนศิลปะมถุรารุ่นแรกที่ทำเศียรเรียบเกลี้ยง ก็ทำอุษณีษะเรียบยกเป็นมวยผมขมวดขึ้นไปสูง 2-3 ชั้น

ในขณะที่สมัยอมราวดี ทำอุษณีษะต่ำมาก แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับจอมพระเศียร

อุษณีษะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยอย่างเด่นชัดในงานศิลปะยุคทองคือสมัยคุปตะ พุทธศตวรรษที่ 9-11 ด้วยการทำขมวดก้นหอยที่จอมกระหม่อมในส่วนของอุษณีษะด้วย

สืบต่อมาจนสมัยปาละ รูปแบบของเม็ดพระเกศาเวียนขวากับอุษณีษะที่เป็นก้นหอยได้กลายมาเป็นต้นแบบสำคัญให้แก่งานพุทธศิลป์ในอุษาคเนย์

 

การตีความ “อุษณีษะ” ของรัชกาลที่ 4

หลายท่านคงเคยเห็นพระพุทธรูปกลุ่มพระสัมพุทธพรรณีก็ดี พระนิรันตรายก็ดี ที่ประดิษฐานในวัดที่สร้างโดยรัชกาลที่ 4 ต่อช่วงต้นรัชกาลที่ 5 พระพุทธรูปเหล่านี้มีการทำพระเศียรแปลกกว่าสกุลช่างอื่นๆ

นั่นคือ ได้ตัด “อุษณีษะ” ทิ้งไป ให้เหลือเพียงแค่พระเศียรชั้นเดียว แล้วนำพระรัศมีเปลวปักลงเหนือพระเศียรนั้นเลย ไม่มีชั้นจอมปลวก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งนิกายธรรมยุต มีการตีความเรื่องพระเศียรและอุษณีษะใหม่

พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นายช่างเอกของรัชกาลที่ 4 อธิบายเรื่องนี้กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังปรากฏหลักฐานใน “สาส์นสมเด็จ” (เล่มที่ 17 หน้า 277-278) ว่า

“ทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ 4) ไม่โปรดจะให้มีพระเกตุมาลา ด้วยพระอรรถกถาจารย์หรืออะไรอธิบายไว้ว่า พระเกตุมาลานั้นเกิดขึ้นด้วยอำนาจทรงสมาธิ อาจจะกลั้นหายใจลมจึงดันขึ้นเบื้องบนทำให้มีพระเกตุมาลา ทูลกระหม่อมตรัสว่า หัวเป็นปุ่มก็ไปเข้าลักษณะบุรุษโทษ ไม่ควรแก่จะเป็นพุทธลักษณะเลย…

จนถึงทรงอธิษฐานให้ทรงพระสุบินเห็นพระรูปพระพุทธเจ้าอันแท้จริง ก็ได้ทรงพระสุบินเห็นจริงๆ แต่ก็เห็นพระเศียรมีปุ่มดุจพระพุทธรูปที่ทำกันอยู่นั้นเอง ทั้งนี้ ไปเข้ารูปอย่างที่ฝ่าพระบาทตรัสประทานวินิจฉัยไว้ด้วยความเคยเห็นนั้นเอง

ที่สุดทูลกระหม่อมก็ทรงหักหัวหักหางเอาว่า พระเศียรมีปุ่มไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 จึงไม่มีพระเกตุมาลา”

 

พระพุทธรูปของแกรนด์ดุ๊กออฟเฮส

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ กล่าวถึงพระพุทธรูปที่มีลักษณะแปลกองค์หนึ่ง กล่าวคือ ไม่ทรงจีวร โพกผ้าที่พระเศียร ทำพระหัตถ์ปางสมาธิแบบจีน-ญี่ปุ่น ในหนังสือ “พระพุทธปฏิมา” ว่า

เป็นพระพุทธรูปของแกรนด์ดุ๊กออฟเฮส หรือแกรนด์ดยุก เอิร์นส์ต ลุดวิก (Grand Duke Ernst Ludwig) เจ้าผู้ครองนครเฮส (Hess) พระโอรสของเจ้าหญิงอลิซ ซึ่งเจ้าหญิงอลิซเป็นพระราชธิดาองค์โปรดของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย

รัชกาลที่ 5 ทรงสนิทสนมคุ้นเคยกับแกรนด์ดุ๊กออฟเฮสตั้งแต่คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ปี 2440 ครั้นต่อมาเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ปี 2450 แกรนด์ดุ๊กออฟเฮสได้ถวายพระพุทธรูปองค์ที่มอบหมายให้นายกุส. บราดชเท็ตเทอร์ (Guss. Bradstetter) สร้างขึ้นที่เมืองมิวนิก นำมาน้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า

“…หนักเต็มที่ถึงครึ่งตัน จะตั้งโต๊ะไหนมันกลัวหักเสียหมด ทำฝีมือดีมากหน้าตากล้ำเนื้อเป็นคนหมด เว้นไว้แต่ถ้าจะดูเปนพระแล้วไม่แลเห็นว่าเปนพระ เพราะเปลือยกายไม่มีผ้าห่ม กลับไปมีผ้าโพก อาการกิริยาที่นั่งสมาธิ์เพช แต่เท้าทั้งสองข้างชัน ไม่ราบลงไปกับตักเหมือนกับพระเราๆ

…กรมดำรงต้องการจะเอาไปเข้าแถวพระระเบียงวัดเบญจมบพิตร แค่ครั้นเมื่อเห็นแล้ว เห็นว่าเข้ากันไม่ได้ ไม่เปนพระอย่างไทย เขาร้องว่าขาดผ้าพาด…”

การสร้างพระพุทธรูปของชาวตะวันตกด้วยการทำผ้าโพกพระเศียรนี้ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ชนชั้นนำสยามอย่างมาก บางท่านเรียก “พระตุ๊กตา” มีการตีความไปต่างๆ นานา เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกว่า

“แกรนด์ดยุกเฮสสร้างพระพุทธรูปนั้นด้วยอุตสาหะใหญ่มาก แลคงทำได้ด้วยความยากเกินกว่าจะทำเล่น นับว่าทำด้วยความอำนาจความพอใจแท้ แลช่างนึกให้อย่างออกน่าเอ็นดูฯ ข้อที่มีผ้าโพกกันโสนนั้น จะเป็นอย่างพระพม่ามีผ้าคลุม พระอยู่ป่าคลุมสีสะได้…”

นายกุส. บราดชเท็ตเทอร์ ประติมากรชาวเยอรมันผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ไม่น่าจะมีแนวคิดเรื่องพระป่าพม่าเอาผ้าคลุมหัวได้แต่อย่างใด เพราะก่อนสร้างพระองค์นี้เขาย่อมเห็นตัวอย่างการทำพระอุษณีษะเป็นจอมปลวกเหนือพระเศียรของพระพุทธปฏิมาที่ชาวตะวันออกสร้างเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

แต่เขาอาจไม่เชื่อ หรือคิดแบบรัชกาลที่ 4 ว่าเป็นไปได้ละหรือที่ใครจะมีต่อมนูนสูงเหนือศีรษะผิดมนุษย์มนาทั่วไปเช่นนั้นได้ เขาจึงศึกษาค้นคว้าตีความคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะในข้อ 1 ที่ว่าด้วย “อุษฺณีษศีรฺษะ” นั้นใหม่อีกครั้ง

ครั้นทราบว่ารากศัพท์ที่แท้จริงของ “อุษณีษะ” หมายถึง “ผ้าโพกหัว” เขาจึงตัดสินใจนำเสนอด้วยรูปผ้าโพกหัวจริงๆ แบบตรงไปตรงมา ตามแนวคิดแบบสัจนิยม (Realistic) ของชาวตะวันตก แทนที่สัญลักษณ์ “พระเกตุมาลา/ต่อมพระโมลี” ที่ชาวตะวันออกประดิษฐ์ขึ้น