เกษียร เตชะพีระ | แรกอ่าน Moments of Silence ของธงชัย วินิจจะกูล (2)

เกษียร เตชะพีระ

Moments of Silence มีด้วยกัน 12 บทรวมบุพกถาและปัจฉิมกถาด้วย พอจะสังเขปเนื้อหาตามสารบัญได้ดังนี้ :

บุพกถา: บันทึกความจำของธงชัยเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

บทที่ 1 : ถกอภิปรายแนวคิดทฤษฎีต่างๆ เรื่องความทรงจำ

บทที่ 2 : คำตอบต่อ 13 คำถามว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

บทที่ 3 : ความทรงจำรวมหมู่กระแสหลักของรัฐ vs. ความทรงจำรวมหมู่ทวนกระแสของฝ่ายค้าน

บทที่ 4 : การพิจารณาคดี 6 ตุลาฯ ของศาล & จุดเริ่มต้นของการประนีประนอมและความเงียบ

บทที่ 5 : วีรกรรมของฝ่ายขวากลายเป็นทารุณกรรมป่าเถื่อนน่าอาย & โศกนาฏกรรมที่สูญเปล่าพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้าย

บทที่ 6 : งานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาฯ เสียงดังที่จำกัดกำกวม ความเงียบและการไม่ลืมที่อนุสาวรีย์ชายขอบ

บทที่ 7 : คนเลือกเงียบและผู้รำพึงใบ้ : พ่อจินดา ทองสินธุ์, พระไพศาล วิสาโล, อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทที่ 8 : เงื่อนไขของการจำอันเลอะเลือนภายใต้ไฮเปอร์รอยัลลิสต์: ความเป็นไทย พล็อตเรื่องหลักของประวัติศาสตร์ไทย กรอบมหาฉันทมติหลัง 6 ตุลาฯ, เหตุการณ์ 16 ตุลาฯ และสัญรูปป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทที่ 9 : ความเงียบของผู้ก่อกรรม สัมภาษณ์ฝ่ายขวาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เช่น กระทิงแดง, นายทหาร และ พล.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

บทที่ 10 : คนเดือนตุลาฯ ในฐานะเอกลักษณ์และปฏิบัติการจากความจำที่ล้มเหลว

ปัจฉิมกถา : หลอน งานศิลปวัฒนธรรมบางเรื่องเกี่ยวกับการจำ 6 ตุลาฯ เช่น เรื่องสั้น “ปาก” ของวัฒน์ วรรลยางกูร, คลิปมิวสิกวิดีโอเพลงแร็พ “ประเทศกูมี”, การ์ตูนมานี มีแชร์, หนัง “เชคสเปียร์ต้องตาย” และ “ดาวคะนอง”

ในฐานะงานวิชาการ Moments of Silence นับเป็นงานวิชาการที่แปลกที่สุดเท่าที่ผมเคยอ่านมา

ทั้งนี้เพราะตามธรรมเนียมวิชาการสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์โดยปกติแล้ว เพื่อรักษาภาววิสัยหรือปรวิสัย (objectivity) หรือการเที่ยงตรงต่อความเป็นจริงของการศึกษาไว้ ก็จะผลักดันไม่ให้ผู้ศึกษาทำวิจัยเรื่องที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องมีบทบาทเป็นผู้กระทำการสำคัญ เช่น

ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ครู Ben Anderson ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ไม่ยอมให้อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และไม่ยอมให้ผมทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

เพราะท่านเห็นว่าผู้ที่เข้าร่วมและ/หรือมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์หนึ่งๆ นั้นมักมีข้อสรุปอยู่แล้ว ถือว่าตัวเองรู้แน่แก่ใจแล้วบางเรื่อง เพราะประสบพบเห็นและทำมาเองกับมือ จึงจะสรุปยึดเชื่อบางสิ่งที่ไม่ควรด่วนสรุป ไม่ถามบางสิ่งที่ควรสืบค้นถามต่อ และเขียนประสบการณ์จากความทรงจำและตีความของตัวเองลงไปโดยไม่ค่อยได้ตรวจสอบข้อมูลหรือมองมุมอื่นต่างๆ เท่าที่ควร แยกแยะไม่ออกระหว่างบันทึกความทรงจำส่วนตัว (memoirs) กับงานวิจัย (research)

กรณีหนังสือ Moments of Silence นี้ ธงชัยเขียนออกมาเป็นงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการโดยที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับเหตุการณ์อย่างลึกซึ้งและเข้มข้น

ไม่เฉพาะตัวเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เอง หากแต่รวมทั้งเรื่องราวสืบเนื่องหลังจากนั้นโดยเฉพาะกระบวนการไม่ลืม/ความเงียบต่อ 6 ตุลาฯ ในสังคมไทยและส่วนตัวเขาเองตลอดสี่สิบกว่าปีให้หลังด้วย

งานนี้จึงมีทั้งช่วงที่อ่านแล้วเป็นบันทึกความทรงจำมากหน่อย (Prologue, Chapter 4, 6)

บางช่วงเป็นการวิเคราะห์วิจารณ์เหตุการณ์อย่างเอาตัวออกห่างมากหน่อย (Chapter 2, 3, 5)

บางตอนเป็นบันทึกการสัมภาษณ์ที่เอาธุระครุ่นคิดกับจุดยืนมุมมองการไม่ลืมที่แตกต่างตรงข้ามอย่างเปิดกว้างจริงจังถี่ถ้วนลึกซึ้ง (Chapter 7,8,9)

บางบทเป็นการวิจารณ์/ตีความใหม่กับงานวิชาการอื่นในเรื่องเดียวกัน (Chapter 10 กับงานของ อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand, 2016)

บางบทเป็นข้อครุ่นพินิจคิดสะท้อนทางแนวคิดทฤษฎีและปรัชญาชีวิตและสังคมการเมืองอย่างลุ่มลึก (Chapter 1, 7, 8, 9, Epilogue) และบางตอนเป็นบทไม่สนทนา/ความเงียบ/การไม่ลืมสองแบบที่นิ่งงันเผชิญหน้ากัน

(สัมภาษณ์ พล.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท้ายบท 9)

คนทั่วไปไม่น้อยคงนึกติติง/ติดขัดข้องใจว่านี่ไม่น่านับเป็นงานวิชาการที่เป็นกลางตรงไปตรงมา เพราะผู้เขียนมีอคติลำเอียงต่อเรื่องที่เขาศึกษา ผมอยากเอาธุระกับประเด็นนี้สักหน่อย

พูดให้ถึงที่สุด สิ่งที่เราเรียกแรงๆ ว่า “อคติ” (bias) นั้น หากเรียกในทางวิชาการอย่างเยือกเย็นก็คือ “มุมมอง/จุดยืน” (perspective/standpoint) นั่นเอง

ในการค้นคว้าคิดเขียนงานวิชาการชิ้นหนึ่งย่อมเป็นธรรมดาและเลี่ยงไม่ได้ที่คนเราจะทำจากมุมมองหรือจุดยืนหนึ่งๆ งานเขียนและผู้เขียนที่ปลอดอคติ หลุดพ้นจากมุมมองและจุดยืนทั้งปวง และสามารถมองได้จากทุกมุมหรือไม่ยืนตรงจุดไหนเลย (แปลว่าเขาลอยตัวเหนือพื้น? เหาะได้?) นั้นไม่มี เพราะเราไม่มีตาทิพย์ ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า ที่จะมองได้จากทุกมุมและหลุดพ้นจากโลกวิสัยไปได้

มนุษย์ขี้เหม็นอย่างเราก็เป็นอย่างนี้แหละ มีอคติ มุมมอง จุดยืนในการศึกษาเรื่องหนึ่งๆ ถึงเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ด๊อกเตอร์หรือศาสตราจารย์แล้ว ก็ยังขี้เหม็นอยู่เหมือนเดิม จะไม่เหม็นและกลายเป็นขี้หอมไปได้อย่างไร การเรียกร้องให้ปุถุชนบรรลุโมกขธรรม ชำระล้างอคติ เป็นอริยบุคคลให้ได้ก่อนทำงานวิชาการสักชิ้นจึงเป็นเรื่องเหนือจริงเกินไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพอทำได้และพึงต้องทำกับอคติ/จุดยืน/มุมมองที่ติดเนื้อติดตัวเราคือ :

1. สำนึกรู้เท่าทันมัน

2. ประกาศมันออกมาอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน ให้คนอ่านคนฟังระวังรู้ตัวไว้แต่แรก ว่าเป็นเช่นนั้น ให้สังเกตระวังข้อขัดแย้งที่จะมี ดังที่ธงชัยก็ได้กระทำในหนังสือ Moments of Silence

3. พยายามกำกับกำราบควบคุมมัน ด้วยหลักวิชา วิธีวิทยา จรรยาบรรณ ข้อมูลข้อเท็จจริง มุมมองอื่นๆ ระบบอาจารย์ที่ปรึกษา กรรมการวิทยานิพนธ์ ผู้อ่านตรวจประเมิน นักวิจารณ์ นักศึกษา ฯลฯ หรือด้วยเครื่องมือคุมตัวเองอื่นๆ อันอยู่ในวิสัยที่มนุษย์ในสังคม/สถาบันศึกษาวิจัยพึงมี โดยเข้าใจว่าแม้จะทำให้อคติหายหมดสิ้นไปไม่ได้ แต่ต้องคุมมันให้อยู่ ไม่ให้มันกำเริบร่านจนส่งผลเสียให้เราทำงานโน้มเอียงผิดหลักเหลวไหลผิดพลาดบิดเบือน

หรืออย่างที่ครู Ben Anderson เคยสาธิตแนะแนวให้ลูกศิษย์อย่างผมก็คือ…ยูจะมีอคติ จุดยืน มุมมองอะไรก็มีไป แต่เวลาศึกษานั้น ให้เล่าเรื่องออกมาอย่าง “เลือดเย็น”, ทำได้ไหมเล่า?

พึงเข้าใจว่า อคติ (จุดยืน/มุมมอง) ต่อให้เป็นอคติ ก็ผลิตความรู้ (knowledge) ออกมาได้ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่ก็เช่นเดียวกับความรู้ทั้งหลาย ความรู้ซึ่งมาจากจุดยืน/มุมมอง/อคติที่แน่นอนหนึ่งๆ นั้น ก็ย่อมผิดพลาดได้ ไม่รอบด้านได้ ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ดังศาสนาหรือโอวาทของศาสดาหรือพระเจ้าที่ห้ามท้าห้ามเถียงห้ามโต้แย้งเช่นกัน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)