คุยกับ “ครูใหญ่ ขอนแก่น” : ครูควรเป็น “แม่แรง” ไม่ใช่ “แม่พิมพ์” และภารกิจตามหา “วันพีซ”

คอการเมืองส่วนใหญ่รู้จัก “ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์” แห่งกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” และ “คณะราษฎร 2563” ในฐานะนักปราศรัยดาวรุ่งเปี่ยมอารมณ์ขัน-วาทศิลป์ และมือประกอบพิธีกรรมกึ่งศักดิ์สิทธิ์กึ่งเสียดสีแห่งม็อบคนรุ่นใหม่

แต่ในอีกมุมหนึ่ง บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นวัยใกล้ 30 ปีผู้นี้ก็ประกอบวิชาชีพเป็นบุคลากรในแวดวงการศึกษามาโดยตลอด จนถูกเรียกขานว่า “ครูใหญ่”

“ครูใหญ่ อรรถพล” เคยทำงานเป็น “ครูในระบบ” อยู่เกือบสองปี โดยผ่านประสบการณ์หลากหลาย ทั้งการเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนรัฐบาล ครูในโรงเรียนทางเลือกของเอกชน และครูในโรงเรียนสำหรับเด็กยากไร้

ก่อนจะหันมาเป็น “ติวเตอร์” สอนพิเศษให้แก่น้องๆ ม.ปลาย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าทีมข่าวการเมืองมติชนทีวี จะชวน “ครูใหญ่ ขอนแก่น” สนทนาเจาะลึกถึงประเด็นปัญหาการศึกษาไทย

“ครูถูกระบบการศึกษากดทับ ถูกใช้งานอย่างอื่นมากเกินการสอน คุณภาพชีวิตของครูต่ำ ในขณะที่งานของครูสูง ครูถูกปล้นเวลา ครูถูกใช้เวลาไปกับงานประเมิน ครูถูกใช้เวลาไปกับการทำงานธุรการ ผมพูดง่ายๆ นะว่างานของครูคืองานสอน ซึ่งงานสอนเป็นงานปฏิบัติการ แต่เมื่อเกิดการประเมินครู กลับประเมินด้วยเอกสาร”

ครูใหญ่กล่าวถึงปัญหาพื้นฐานที่ “ครูไทย” ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ เขาย้ำว่าหากพิจารณาในแง่นี้ ครูก็ไม่ใช่ “ตัวปัญหา” แต่ครูคือ “เหยื่อ” ที่ถูกระบบการศึกษาไทยกดทับเช่นกัน

ก่อนจะลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า

“ผมไม่เคยเห็นว่ามีศึกษานิเทศก์มายืนดูครูสอน แล้วก็ให้คำแนะนำครูว่าปรับการสอนอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มี แต่สิ้นเทอมมา ผมเห็นครูแต่ละคนต้องส่งเอกสารกันเป็นกล่องๆ เพื่อประเมิน ไม่ประเมินก็ไม่ได้ ไม่ประเมิน เงินเดือนก็ไม่ขึ้น ครอบครัวก็อยู่ไม่ได้ เลี้ยงชีพก็ไม่ได้

“ครูถูกโกงเวลา เวลาราชการเริ่มที่ 8 โมงครึ่ง แต่ครูบางโรงเรียนตัดสายกันที่ 7 โมงครึ่ง เวลาราชการเลิกที่บ่าย 3 ครึ่ง แต่ครูกลับบ้านได้ก็คือ 5 โมงเย็น

“ครูถูกเอาไปเป็นยามหน้าโรงเรียน ครูถูกเอาไปเป็นพนักงานธุรการการเงิน ครูถูกเอาไปเป็นแม่ค้าในร้านสหกรณ์ ครูถูกเอาไปทำอะไรมากมายที่ไม่ใช่งานของครู

“ดังนั้น วันนี้สิ่งที่เด็กเขาออกมาเรียกร้อง คือเขามาสู้เพื่อครูของเขาด้วย เขาไม่ได้สู้แค่เพื่อพวกเขา เมื่อครูถูกกระทำ การถูกกระทำของครู มันก็สะท้อนมาที่เด็กด้วย”

“ครูใหญ่” ยังพูดถึงปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจฉัน “ลิ้นกับฟัน” ระหว่าง “ครู” และ “นักเรียน” โดยบอกว่าความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายนั้นคือเรื่องปกติธรรมดา

ต่อให้ไม่ทะเลาะกันเรื่องการเมือง ครู-นักเรียนก็ต้องมีวิวาทะกันในเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันและกิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทรงผม การจัดกีฬาสี หรือการจัดงานปีใหม่ ฯลฯ

เนื่องจากทั้งสองกลุ่มต่างเป็นสมาชิกของสังคมที่เรียกว่า “โรงเรียน” อันประกอบไปด้วยครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา ภารโรง ผู้ปกครอง และชุมชนรอบข้าง

“ครูใหญ่” ชี้ให้เห็นความเป็นจริงว่า ในบรรดาสมาชิกเหล่านั้น นักเรียนคือผู้แบกชื่อเสียงของโรงเรียนเอาไว้มากที่สุด เพราะมีตัวอักษรย่อชื่อโรงเรียนถูกปักอยู่บนหน้าอกเสื้อของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความชอบธรรมที่นักเรียนจะออกมาเรียกร้องถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการจากระบบการศึกษา มีความชอบธรรมที่พวกเขาจะเป็นฝ่ายกำหนดว่าอยากให้โรงเรียนของตนเองมีชื่อเสียงแบบไหน

“เราควรจะภูมิใจนะครับว่า โรงเรียนของเรามีนักเรียนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก”

ขณะเดียวกัน “ครูรุ่นใหม่” ก็จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาท-หน้าที่ของตนเอง

“ครูในยุคใหม่ต้องลดความศักดิ์สิทธิ์ของอาชีพลงมา และมองนักเรียนและครูเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรียนรู้ร่วมกัน ครูอาจจะเป็นผู้สอนความรู้ ครูเป็นแบบอย่างในแนวประพฤติปฏิบัติ แต่ครูต้องไม่มีมาตรฐานว่าเด็กต้องได้แบบนี้ เด็กต้องได้แบบนั้น

“ผมก็ยังยืนยันว่าผมไม่อยากเรียกครูว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” ผมอยากเรียกครูว่า “แม่แรงแห่งชาติ” เพราะแม่พิมพ์ของชาติมันเหมือนเรามีมาตรฐาน คำว่าแม่พิมพ์อาจหมายถึงว่าเป็นแบบอย่าง

“ดังนั้น ครูเป็นแบบอย่างให้นักเรียน ถ้าเด็กนักเรียนเขาไม่สามารถเป็นได้อย่างแบบอย่างล่ะ เขาก็กลายเป็นนักเรียนที่ไม่มีคุณภาพหรือเปล่า? เป็นความไม่สำเร็จของการศึกษาหรือเปล่า?

“แต่ถ้าครูเป็นแม่แรงแห่งชาติ มันหมายความว่านักเรียนแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่าง มีความถนัดที่แตกต่าง แม่แรงมีหน้าที่ยกนักเรียนทุกคนให้สูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น ในแนวทางของเขา

“นี่คือทัศนคติของครู ครูต้องมองเด็กเป็นเพื่อนร่วมคิดร่วมทำ ครูต้องไม่ใช่ศาสดา ที่คำสอนของครูถูก ถ้านักเรียนเถียงคือผิด”

จากมุมมองและรสนิยมส่วนตัว “ครูใหญ่” ยังชอบสื่อสารกับนักเรียนผ่านสื่ออย่าง “การ์ตูน”

“ผมชอบดูการ์ตูน ดูการ์ตูนแล้วคุยกับเด็กรู้เรื่องดี แล้วสนุกดี ไม่เครียด เพราะว่าเด็กเขาก็ดูการ์ตูนเรื่องเดียวกันกับเรา แล้วเราก็เอาการ์ตูนมาเปรียบเทียบโดยไม่ต้องอธิบาย เขาก็เข้าใจกันอยู่แล้ว”

เมื่อถามว่าสถานการณ์การเมืองไทย ณ ปัจจุบันนี้ เปรียบได้กับการ์ตูนเรื่องไหน?

นักปราศรัยมือวางอันดับต้นๆ แห่ง “คณะราษฎร” ให้คำตอบสั้นกระชับอย่างมั่นใจว่า “วันพีซ” (One Piece) ก่อนจะลงรายละเอียดว่า

“เรา (คณะราษฎร) กำลังต่อสู้กับอำนาจ เรากำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรสลัด โจรสลัดคือเถื่อนนะ ผิดกฎหมาย แต่เรากำลังต่อสู้กับสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย กับรัฐบาลโลก กับกองทัพเรือ กับเผ่ามังกรฟ้า แล้วเรากำลังเชื่อว่าเป้าหมายของเรามันมีอยู่จริง แม้เราจะยังมองไม่เห็นมัน คือไอ้สมบัติที่เรียกว่า “วันพีซ” นี่แหละ”

“ครูใหญ่” เชื่อว่านักอ่าน/ดูการ์ตูนหลายคนคงจะมีความเห็นพ้องกับเขา ถึงความสอดคล้องต้องกันระหว่างเนื้อหาของการ์ตูนญี่ปุ่นขนาดยาวที่ยังไร้จุดจบ กับสภาพความขัดแย้งเรื้อรังในสังคมการเมืองไทย

“ผมเชื่อว่าเห็นภาพ ใครที่ดู “วันพีซ” จะเห็นภาพ ผมคิดว่า “อาจารย์โอดะ” (เออิจิโระ โอดะ – ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนชุดนี้) ก็กำลังมองพล็อตเรื่องอยู่จากประเทศเราว่า จะเขียนต่อไปให้จบยังไง ที่การ์ตูนเรื่องนี้ยังไม่จบเพราะรอพล็อตเรื่องจากประเทศไทยนี่แหละ”