ต่างประเทศอินโดจีน : โควิด (อาจ) ทำลายความหวัง “ลาว”

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นหนึ่งใน 47 ชาติที่สหประชาชาติจัดให้เป็น “ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด” หรือ “แอลดีซี” (Least Developed Countries-LDC) ในบรรดาประเทศบนโลกใบนี้

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดให้การหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศแอลดีซีเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมานานหลายปีต่อเนื่องกัน

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

การพิจารณาสถานะของกลุ่มประเทศแอลดีซีนั้นกระทำกันทุกๆ 3 ปี คณะกรรมการของยูเอ็นจะพิจารณาความรุดหน้าของประเทศใน 3 ด้านด้วยกันเป็นเกณฑ์

หนึ่งคือ การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรต่อคนต่อปี

อีกหนึ่งคือ ความก้าวหน้าด้านสาธารณสุข, การศึกษา และความสามารถในการอ่านเขียนของประชากร

สุดท้ายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของแอลดีซี นั่นคือ ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อกต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

 

การยกสถานะของประเทศให้หลุดจากกลุ่มแอลดีซีได้ ย่อมทำให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนด้านการค้าที่เคยได้รับลดน้อยลงก็จริง

แต่สถานะใหม่ก็จะช่วยให้ต่างชาติพากันเข้ามาลงทุนมากขึ้น ช่วยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอนเช่นกัน

ในแง่ของลาว เกณฑ์สองประการแรกนั้นบรรลุได้มานับตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศก็พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังไม่ได้ถึงเกณฑ์ที่ยูเอ็นต้องการในการทบทวนสถานะของประเทศครั้งล่าสุด เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา

รัฐบาลลาวจึงได้ตั้งความหวังไว้สูงมากว่า ในการพิจารณาครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ศกหน้า จะสามารถผลักดันประเทศให้พ้นจากระดับแอลดีซีได้

 

แมตทิว จอห์นสัน-ไอแดน เจ้าหน้าที่ยูเอ็นระดับสูงประจำลาวบอกว่า ถ้าหากวัดกันเฉพาะเกณฑ์ 3 ประการแล้ว มีความเป็นไปได้สูงมากที่ลาวจะหลุดจากสภาพแอลดีซี เพราะอย่างน้อยสามารถผ่านเกณฑ์ได้แน่นอนแล้ว 2 ประการ หรืออาจทั้งหมดด้วยซ้ำไป

ปัญหาก็คือ เกณฑ์ที่ใช้วัดกันนั้น ใช้ข้อมูลเพียงแค่ปี 2019 โดยยังไม่มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งร่วมด้วยนั่นคือ ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้คณะกรรมการยูเอ็นจะพิจารณาข้อมูลถึงเพียงแค่ปีที่ผ่านมา แต่ก็คงต้องพิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งนี้พร้อมกันไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้

ลาวมีการแพร่ระบาดน้อยมาก พบผู้ที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อเพียง 24 ราย ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตด้วยซ้ำไป

แต่ผลกระทบจากการ “ล็อกดาวน์” ทั้งในลาวเองและในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจลาวหนักมาก

ธนาคารโลกประเมินเอาไว้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของลาวที่เคยขยายตัวในระดับ 7 เปอร์เซ็นต์มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมานั้น

ถึงปีนี้อาจลดลงเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์หรือต่ำกว่าด้วยซ้ำไป

 

ในขณะเดียวกัน หนี้สินของลาวในปีนี้ก็ขยายเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

มูลค่าหนี้ในปีนี้ อาจเพิ่มมากขึ้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมจากจีนเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดยักษ์ทั้งหลาย

ซึ่งไม่ได้เป็นข่าวดีเท่าใดนักสำหรับประชากรลาวทั้ง 7.2 ล้านคน

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสหรัฐอเมริกา เตือนเอาไว้ตรงไปตรงมาว่า ลาวอาจไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ใน “ระยะใกล้ๆ” นี้

ไอโมเกน เพจ-จาร์เรตต์ นักวิจัยของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต สรุปความเอาไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ถ้าเพียงแค่เกณฑ์เดิม 3 ด้าน ลาวคงผ่านพ้นความเป็นชาติที่ยากจนที่สุดในโลกได้ในการพิจารณาคราวนี้แน่นอน

แต่หากไม่สามารถหลุดพ้นได้ ก็เป็นเพียงแค่จากเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่งนำเข้ามาพิจารณาร่วมเท่านั้นเอง