ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | วิกฤติศตวรรษที่ 21 |
เผยแพร่ |
นํ้ามันในตะวันออกกลางได้เป็นคู่แข่งและเป็นภัยคุกคามต่อฐานะความเป็นมหาอำนาจ ซึ่งก็คือผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐโดยไม่ตั้งใจ
ใน 10 ประเทศของตะวันออกกลาง ได้แก่ อิหร่าน อิรัก ซีเรีย คูเวต ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โอมาน และเยเมน ซึ่งมีแผ่นดินราวร้อยละ 3.4 ของแผ่นดินโลก เป็นแหล่งสำรองน้ำมันโลก (คือสามารถนำมาผลิตในเชิงพาณิชย์) สูงถึงร้อยละ 48 และก๊าซธรรมชาติร้อยละ 38 (ตัวเลขปี 2012) ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยและการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาเมื่อกว่า 500 ล้านปีมาแล้ว จากการเป็นประเทศผู้ผลิต ผู้ใช้น้ำมันมากที่สุด
สหรัฐถูกดึงดูดสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเลี่ยงไม่พ้น แต่น้ำมันที่นั่นเป็นน้ำมันที่มีเจ้าของ และหลายประเทศมหาอำนาจก็ต้องการเช่นกัน
การเข้าครอบงำน้ำมัน มักแลกด้วยเลือดและสงคราม
ในฉบับนี้จะกล่าวถึงอังกฤษที่มีบทบาทเคียงคู่และแข่งขันกับสหรัฐในด้านน้ำมันในตะวันออกกลางก่อน
อังกฤษกับน้ำมันตะวันออกกลาง
จากบากูถึงเปอร์เซียและอิรัก
ดินแดนตะวันออกกลางที่อุดมด้วยน้ำมันถูกเข้าครอบครองโดยจักรวรรดิออตโตมานตั้งแต่ปี 1517-1918 ยาวนานถึง 400 ปี
จักรวรรดินี้มีอำนาจสูงสูดทั้งทางอาณาเขต เศรษฐกิจ การทหาร และวัฒนธรรม ในสมัยสุลต่านสุลัยมาน (ครองราชย์ 1520-1566)
หลังจากนั้นก็ค่อยเสื่อมลง ขณะที่ยุโรปตะวันตกได้เติบโตเข้มแข็งขึ้น จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นในอังกฤษ และการปฏิวัติเสรีประชาธิปไตย หรือปฏิวัติทุนนิยมในฝรั่งเศส ช่วงศตวรรษที่ 18 ความเสื่อมถอยของจักรวรรดิออตโตมันเกิดจากภัยคุกคามใหญ่สามประการ ได้แก่
1) การคุกคามจากรัสเซียที่ได้ปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเป็นแบบตะวันตกตั้งแต่สมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช (ครองราชย์ 1682-1725) และพระนางแคทเธอรีนมหาราชินี (ครองราชย์ 1762-1796) ได้ขยายอาณาเขตประเทศรัสเซียอย่างกว้างขวางจน กลายเป็นจักรวรรดิ เข้าทำสงครามกับตุรกีหลายครั้ง
สงครามสำคัญครั้งหนึ่ง ได้แก่ สงครามปี 1828-1829 ในสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1
สงครามนี้สืบเนื่องจากกรีซได้ก่อสงครามเอกราชเป็นอิสระจากจักรวรรดิออตโตมาน (1821-1829) รัสเซียสนับสนุนสงครามเอกราชนี้ เกิดการกระทบกระทั่งปะทุเป็นสงครามขึ้น
ฝ่ายตุรกีเพลี่ยงพล้ำต้องยอมขอสงบศึกทำสนธิสัญญาเอเดรียโนเปิล ยอมรับอำนาจปกครองตนเอง ของเซอร์เบียและกรีซ
ยอมให้รัสเซียเข้าถึงปากน้ำดานูบ รวบทั้งพื้นที่ในจอร์เจียและเซอร์เบีย
นอกจากนี้ ยังยอมเปิดช่องแคบดาร์ดะเนลส์สำหรับการเดินเรือค้าขายระหว่างประเทศ เป็นสัญญาณสู่ความเสื่อมถอยที่ไม่หวนกลับ
2) ลัทธิชาตินิยมและความต้องการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตก มีรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญก่อรูปเป็นขบวนการเคลื่อนไหวกว้างขวาง
กลุ่มที่เด่นที่สุดได้แก่ กลุ่มหนุ่มออตโตมาน เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 1865
กลุ่มนี้ประกอบด้วยปัญญาชนที่มีชื่อเสียงหลายคน ผลักดันให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ปี 1876) แต่อยู่ได้สองปีก็เลิกไป การเคลื่อนไหวยากลำบาก
มีกลุ่มทหารหนุ่มตุรกีหรือยังเติร์กมารับช่วง (กลุ่มนี้ประกอบด้วยนักศึกษาด้วย) จนสามารถก่อการปฏิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี 1908 สร้างระบอบรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญขึ้น แต่ก็ยังมีความประสงค์ในการรักษาจักรวรรดิไว้ ได้เข้าเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิเยอรมนี ทำสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับฝ่ายพันธมิตร แพ้สงคราม
จักรวรรดิออตโตมานที่ทรงอำนาจและยืนยาวมากว่าหกร้อยปีก็ล่มสลายลง
เป็นภาระของ มุสตาฟา เคมาล (1888-1938) นายทหารแห่งกองทัพตุรกีในการทำสงครามเพื่ออิสรภาพจนสำเร็จ ทิ้งอดีตของจักรวรรดิออตโตมานไว้เบื้องหลัง สร้างชาติตุรกีขึ้นเป็นสาธารณรัฐสมัยใหม่ ที่เป็นแบบประชานิยม ไม่ใช่ศาสนานิยม (เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรก (1923-1938) ได้สมญาว่าเป็นบิดาของตุรกี) เปลี่ยนอักษรใหม่ด้วย
3) การเข้าครอบงำทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงโครงสร้าง ตั้งแต่การผลิต การเงินถึงการค้าเป็นเวลายาวนาน ตุรกีถูกเคาะประตูอย่างแรง เมื่อพระเจ้านโปเลียนแห่งฝรั่งเศสบุกตีและยึดครองอียิปต์ที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิในปี 1798 เกิดความตื่นตัวในการปฏิรูปกองทัพและการเงินให้ทันสมัย และพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของตน
และต้องแลกด้วยการเปิดตลาดของจักรวรรดิให้แก่อังกฤษ โดยทำสนธิสัญญาบัลตา ลิมานี (1838) ซึ่งเป็นสัญญาตลาดเสรีสำคัญแรกๆ ในโลก
สินค้าสิ่งทอจากอังกฤษเข้ามาตีตลาด ระหว่างปี 1808-1838 ค่าของเงินตุรกีหล่นจาก 8 กุรุสต่อปอนด์เป็น 104 เมื่อถึงทศวรรษ 1850 ตุรกีเริ่มเป็นหนี้ก้อนใหญ่จากธนาคารในยุโรป ที่ต้องการสร้างอิทธิพลและขายสินค้าของตน พร้อมกับต้านการแผ่อำนาจของรัสเซียที่นั่น ในทศวรรษ 1870 กลุ่มนายธนาคารยุโรปได้ตั้งคณะกรรมาธิการหนี้สาธารณะที่อียิปต์และอิสตันบูลเพื่อควบคุมนโยบายทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นเหล่านี้ให้สามารถชำระหนี้ได้
หลังจากนั้นตุรกีก็กลายเป็นตลาดชั้นสองเป็นที่ระบายสินค้าอุตสาหกรรมและแหล่งวัตถุดิบบางอย่าง
(ดูหัวข้อ History of World Trade Since 1450 – Empire, Ottoman ใน ic.galegroup.com, 2006)
ลำดับเหตุการณ์
การเข้าครอบงำตะวันออกกลางของอังกฤษ
อังกฤษได้เข้าไปครอบงำตะวันออกกลางอย่างช้าๆ ใช้การค้าการลงทุนนำหน้า การทหารตามหลังเหตุการณ์สำคัญในการเข้าควบคุมสรุปได้ดังนี้คือ
1) การเข้าควบคุมอียิปต์และซูดาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมาน และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง เส้นทางค้าขายหลักระหว่างอังกฤษกับอินเดีย ปี 1875 อังกฤษเข้าซื้อหุ้นของบริษัทคลองสุเอซ ทำให้กลายผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นการรักษาเส้นทางเดินเรือไปสู่อินเดีย หลังจากนั้นทำสงครามอังกฤษ-อียิปต์ (1882) จนเข้ายึดครองอียิปต์ แต่ไม่ได้เป็นอาณานิคม สำหรับซูดานอังกฤษยึดครองได้ในปี 1899
2) ระหว่างปี 1914-1918 ทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ตุรกีแพ้สงคราม อังกฤษส่งกองทัพไปยึดครองแบ่งจักรวรรดิออตโตมานออกเป็นส่วนๆ
รัฐมนตรีสงครามอังกฤษ เซอร์มอรีซ แฮงกี ส่งบันทึกถึงรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงปลายสงครามว่า
“น้ำมันในสงครามครั้งต่อไปจะเข้าแทนที่ถ่านหินในสงครามครั้งนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดเคียงคู่กับถ่านหินแหล่งใหญ่ในการสนองน้ำมันภายใต้การควบคุมของอังกฤษ ได้แก่ ที่เปอร์เซีย และเมโสโปเตเมีย (อิรัก)…การควบคุมแหล่งน้ำมันเหล่านี้ย่อมเป็นจุดมุ่งหมายสงครามอันดับต้นของอังกฤษ” (ดูบทความของ Greg Muttitt และเพื่อน ชื่อ Britain : 90 Years a Petro State ใน carbonweb.org 2004)
มีเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ได้แก่
ก) ปี 1916 สนับสนุนชาวอาหรับก่อกบฏใหญ่ต่อตุรกี
ข) ทำความตกลงลับ ที่เรียกว่าข้อตกลงไซก์ส-ปิโก้ (ปี 1916) แบ่งตะวันออกกลางเป็นส่วนๆ ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ขณะที่ได้ทำข้อตกลงลับในการแบ่งจักรวรรดิออตโตมานกับรัสเซียก่อนหน้านั้นในปี 1915 นอกจากนี้ ยังได้ทำข้อตกลงลับกับขบวนการไซออนิสต์ในการตั้งประเทศยิวในบริเวณปาเลสไตน์ ในปี 1917
3) การแบ่งจักรวรรดิออตโตมานเป็นส่วนๆ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1918-1922) การแบ่งนี้ใช้เวลาเจรจานานจึงตกลงกันได้ โดยใช้สันนิบาตชาติเป็นผู้ประทับตรายอมรับ เรียกว่าเขตแดนในอาณัติ สำหรับของอังกฤษได้แก่ อิรักและจอร์แดน และดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งอังกฤษได้สนับสนุนราชวงค์แฮซีไมต์สขึ้นมาปกครองดินแดนปาเลสไตน์อังกฤษบริหารด้วยตนเอง และยอมให้ชาวยิวอพยพเข้ามาอย่างช้าๆ กว่าจะแบ่งดินแดนในปาเลสไตน์ออกเป็นส่วนๆ ได้ก็หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
การเกิดขึ้นของลัทธิไซออนิสต์ ความไม่เป็นเอกภาพของมุสลิมในภูมิภาคนี้ยังคงปรากฏอย่างรุนแรงในปัจจุบัน แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานเป็นร้อยปี
(ดูหัวข้อ How the British Divided Up the Arab World ใน lostislamicworld.com 2012)
อังกฤษกับน้ำมันที่บากู
จักรวรรดิรัสเซียได้พัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันของตนขึ้นมาอย่างเป็นอิสระก่อนหน้าของสหรัฐเล็กน้อย โดยในปี 1846 มีการใช้เครื่องจักรในการขุดเจาะเป็นครั้งแรก (สหรัฐปี 1859) ที่บริเวณเมืองบากูในคอเคซัสเหนือ ริมฝั่งตะวันตกของทะเลแคสเปียน ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของของประเทศอาเซอร์ไบจาน (รัสเซียได้อาเซอร์ไบจาน รวมทั้งจอร์เจียและดาเกสถาน จากชัยชนะสงครามเปอร์เซีย-รัสเซีย 1804-1813)
การพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันที่บากูดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กลุ่มทุนจากรัสเซียได้เข้ามาตั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตพาราฟิน ซึ่งนอกจากใช้เป็นน้ำมันตะเกียงแล้ว ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย เมื่อถึงปี 1873 มีโรงกลั่นน้ำมันในบริเวณบากูถึง 50 โรง
ปี 1872 ทางการได้เปิดประมูลทุ่งน้ำมันให้แก่นักลงทุนทั่วไปให้เข้ามาสำรวจขุดเจาะ สกัดและส่งผลผลิตออกไปขายได้ ซึ่งโดยทั่วไปสามารถทำกำไรสุทธิได้ถึงร้อยละ 14-15 ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันกลายเป็นแบบทุนนิยมเต็มที่
เป็นช่วงน้ำมันเจริญในบากู (1873-1920) จนกลายเป็นแหล่งผลิตน้ำมันใหญ่ของโลกทัดเทียมกับสหรัฐ
มีการสร้างทางรถไฟ สร้างท่อลำเลียง และเรือบรรทุกน้ำมันส่งไปขายทั่วโลกดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก
ที่ควรกล่าวถึงมี 3 กลุ่ม ได้แก่
(ก) พี่น้องตระกุลโนเบล ลูกชายอัลเฟรด โนเบล นักประดิษฐ์ลือชื่อของสวีเดน เข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันที่บากูเป็นอันมาก ทั้งเทคนิคการขุดเจาะ การสร้างเรือบรรทุกน้ำมัน ที่สามารถแข่งขันกับสหรัฐได้เป็นต้น เป็นบริษัทน้ำมันใหญ่ที่สุดในรัสเซีย
(ข) ตระกูลนายธนาคารรอธไชลด์จากฝรั่งเศส ตั้ง “สมาคมอุตสาหกรรมและการค้าแคสเปียน-ทะเลดำ” ทำให้บากูกลายเป็นศูนย์กลางการเงินแห่งหนึ่งของโลก มีการเปิดตลาดหลักทรัพย์
(ค) บริษัทเชลล์ของพ่อค้าอังกฤษทางด้านนำเข้า-ส่งออก มาร์คัส แซมวล ก่อตั้งปี 1897 (ระลึกถึงธุรกิจแรกที่นำเข้าเปลือกหอยจากตะวันออกมาอังกฤษ) เป็นบริษัทน้ำมันใหญ่ที่สุดของอังกฤษในบากู เป็นเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมัน 30 ลำ และมีบ่อน้ำมันกว่า 340 แห่งจากบากูถึงเซี่ยงไฮ้ ปี 1907 ได้รวมกับบริษัทน้ำมันรอยัลดัตช์ เป็นบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์เพื่อให้สามารถแข่งกับบริษัทน้ำมันของสหรัฐได้
บริษัทจากอังกฤษได้เข้ามาลงทุนอย่างคึกคัก ระหว่างปี 1898-1903 ได้ลงทุนในธุรกิจน้ำมันที่บากูถึง 60 ล้านเหรียญทองรูเบิล ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มากในสมัยนั้น
ในปี 1904 น้ำมันก๊าดจากบากูสนองความต้องการของอังกฤษถึงร้อยละ 47 เมื่อถึงปี 1917 เงินทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่บากู ราว 111 ล้านรูเบิล ร้อยละ 60 ของน้ำมันที่ผลิตในรัสเซียจัดการโดยบริษัทต่างประเทศ และเป็นผู้ควบคุมการค้าผลิตภัณฑ์น้ำมันร้อยละ 75
(ดูบทความของ Mir Yusif Mir-Bahayev ชื่อ Baku Baron Days-Foreign Investment in Azerbaijan”s Oil ใน azer.com 2994)
แต่สวรรค์ของนักลงทุนอยู่ไม่นาน ในปี 1920 พรรคบอลเชวิกที่นำการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียเข้ายึดครองบากู แปรอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นของรัฐ
อังกฤษกับน้ำมันในเปอร์เซีย
นักลงทุนชาวอังกฤษ วิลเลียม ดาร์ซี ผู้มั่งคั่งจากการทำเหมืองแร่ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้รับสัมปทานสำรวจน้ำมันในเปอร์เซีย (ปัจจุบันคืออิหร่าน) ตั้งแต่ปี 1901 คณะสำรวจค้นหาอย่างล้มเหลวอยู่ 7 ปี จนเงินทุนร่อยหรอ อาศัยการร่วมทุนจากบริษัทน้ำมันเบอร์มาห์ ปี 1904 จึงดำเนินต่อไปได้
เมื่อถึง 1908 ทุนทรัพย์เขาก็หมด ดาร์ซี ได้ส่งคำสั่งสุดท้ายว่า ให้ขุดลึกลง 1,600 ฟุต หากไม่พบอะไรก็ปิดโครงการ
แต่เมื่อขุดลงไป 1,180 ฟุต ใต้พื้นทะเลทราย ก็พบแหล่งน้ำมันพวยพุ่งขึ้นสูงถึง 75 ฟุต
เป็นการค้นพบน้ำมันเชิงพาณิชย์ตะวันออกกลาง เนื่องจากที่ค้นพบอยู่ห่างไกลมากต้องใช้เวลาถึง 5 วันกว่าจะส่งข่าวถึงลอนดอน ดาร์ซีและเบอร์มาห์ได้ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ เป็นบริษัทน้ำมันอังกฤษ-เปอร์เซีย (ปี 1909 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทน้ำมันอังกฤษ-อิหร่าน ปี 1935 เป็นบริติชปิโตรเลียมปี 1954 และ บีพี ปี 2000) เมื่อนำหุ้นเสนอขายให้แก่สาธารณะครั้งแรก ปรากฏว่า จำหน่ายหมดภายใน 30 นาทีที่กรุงลอนดอน
การที่นักลงทุนตื่นตัวเช่นนั้น เพราะรู้ว่าสามารถใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเดินเครื่องจักรในโรงงาน
และที่สำคัญคือสามารถนำไปใช้เดินเรือรบ ได้ดีกว่าถ่านหิน เป็นอันมาก
วินสตัน เชอร์ชิล ในขณะที่เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ประกาศเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นน้ำมัน
และได้รบเร้าให้รัฐบาลอังกฤษเข้าถือหุ้นใหญ่ของบริษัทน้ำมันนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ภายหลังทยอยขายจนหมด) หลังการค้นพบน้ำมันไม่นานอังกฤษได้เข้ามีอิทธิพลครอบงำในการเมืองของเปอร์เซียและต่อมาอิหร่าน (ดูบทความของ Randy Alfred ชื่อ May 26, 1908 : Middle East Discovered-There Will Be Blood ใน wired.com 26052008 บทความระลึกครบรอบร้อยปีในการพบน้ำมันที่เปอร์เซีย)
ในปี 1921 อังกฤษได้สนับสนุนการรัฐประหารในเปอร์เซีย สถาปนาราชวงศ์ปาห์ลาวีขึ้น (1925-1975) เพื่อประกันสิทธิในทุ่งน้ำมันของเปอร์เซีย
อย่างไรก็ตาม กระแสชาตินิยมที่รุนแรงขึ้น รัฐบาลนายมูซาเด็กยึดกิจการบริษัทน้ำมันอังกฤษ-อิหร่านเป็นของรัฐ อังกฤษได้ร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองสหรัฐก่อรัฐประหารอีกครั้งในปี 1953 นำพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ที่เดินโยบายสนับสนุนตะวันตกขึ้นปกครอง จนเกิดปรากฏการณ์ใหญ่คือ การปฏิวัติอิสลามในปี 1979 แสดงว่า ศาสนาอิสลามสามารถใช้เป็นอุดมการณ์ในการปฏิวัติได้ (หลังจากอุดมการณ์ชาตินิยมใช้ไม่ได้ผล) และเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองทั้งหมดในตะวันออกกลาง
ฉบับต่อไปจะกล่าวถึง อังกฤษกับน้ำมันในอิรัก และการเป็นศูนย์กลางน้ำมันของตะวันออกกลางในโลก