มองบ้านมองเมือง / ทางลัดผ่าน

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส

ทางลัดผ่าน

ข่าวร้าย รถไฟชนรถโดยสารที่ฉะเชิงเทราเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ก็เป็นเพียงหนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางรถไฟ ที่มีผู้ประสบเคราะห์กรรมถูกรถไฟชนเป็นประจำ

ด้วยทั่วทั้งประเทศมีจุดตัดทางรถไฟมากถึง 2,684 แห่ง ([email protected]) แต่มีทางข้ามเพียง 192 แห่ง และทางลอดอีก 214 แห่งเท่านั้น ที่เหลือเป็นทางเสมอระดับ คือระดับเดียวกัน 2,278 แห่ง ในจำนวนนี้มีการติดตั้งเครื่องกั้น 1,450 แห่ง มีไฟกะพริบและป้ายสัญญาณเตือน 207 แห่ง รวมทั้งหมดแล้วยังเหลือที่เป็นจุดตัดระหว่างถนนกับรางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้น ไม่มีไฟกะพริบ ไม่มีป้ายสัญญาณใดมากถึง 621 แห่ง หรือมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งเรียกขานกันว่า ทางลัดผ่าน ซึ่งเป็นที่มาของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

ทางลัดผ่านนั้น เป็นถนนที่เกิดขึ้นภายหลัง ด้วยความเจริญของชุมชนในแต่ละพื้นที่ เมื่อจุดตัดที่มีอยู่เดิม ที่มีระบบป้องกันอยู่ไกล จึงเกิดทางลัดขึ้นมา กลายเป็นทางลัดผ่านที่ได้รับความนิยม

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่จะไม่มีใครรู้ เพราะดูจากตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้น ก็แสดงว่า เป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีการบริหารจัดการแต่อย่างใด

อาศัยว่า ผู้สัญจรบนถนนต้องระมัดระวัง คอยดูขบวนรถไฟที่จะวิ่งมา ซึ่งเป็นไปได้ในตอนกลางวัน แต่จะมีปัญหาในตอนกลางคืน

ก็ไม่รู้ว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะคิดแก้ปัญหากันอย่างไร จึงอยากพาไปมองเรื่องเดียวกันนี้ ที่เกิดขึ้นในอดีต

เมื่อครั้งที่มีการเปิดเดินรถไฟสายแรกของสยามประเทศไปยังโคราชนั้น ทางรถไฟตัดผ่านถนนบำรุงเมือง ถนนสายหลักของพระนคร ที่จะไปยังทิศตะวันออก ที่ในปัจจุบันต่อเนื่องกับถนนพระรามที่ 1 ถนนเพลินจิต และถนนสุขุมวิทในปัจจุบัน

ครั้นขยายเส้นทางรถไฟไปสายเหนือเพิ่มขึ้น ขบวนรถไฟวิ่งผ่านเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาจเป็นวันละสองสามขบวน กรมรถไฟทางหลวงจึงวางแผนรองรับจุดตัด โดยการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟขึ้น เนื่องจากทางรถไฟขนานไปกับคลองผดุงกรุงเกษม ตัวสะพานเลยทอดยาวข้ามทั้งทางรถไฟและคลองไปพร้อมกัน

จึงเป็นที่มาของสะพานกษัตริย์ศึก เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เคยยกทัพผ่านเส้นทางนี้ ไปรบป้องกันบ้านเมืองในสงครามกับญวน

เสียดายว่า แนวคิดการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ไม่ได้ขยายต่อ แม้ว่ายังมีจุดตัดอื่นๆ เช่น ถนนศรีอยุธยา ถนนราชวิถี ถนนประดิพัทธ์ และอื่นๆ

จนกระทั่งจุดตัดกลายเป็นปัญหาทำให้การจราจรติดขัด ด้วยรถต้องจอดรอสัญญาณไฟนาน จึงเกิดโครงการโฮปเวลล์ แต่ก็มีเหตุให้ล้มเลิกค้างคาไปอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ตอนนี้คงต้องรอเปิดใช้สถานีรถไฟบางซื่อ ปัญหาคงจะหมดไป เพราะรถไฟจากทั่วสารทิศจะจอดแค่บางซื่อ ไม่เข้ามาถึงหัวลำโพงอีกต่อไป

ส่วนในต่างจังหวัด โครงการสร้างทางรถไฟรางคู่ และรถไฟไฮสปีด จะมีการสร้างทางยกระดับข้ามทางรถไฟ หรือยกระดับรางรถไฟข้ามถนน แล้วแต่สภาพพื้นที่ และที่ตั้งจุดตัด

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับจุดตัดรถไฟกับถนนคงจะหมดไป

ส่วนปัญหาต่อเนื่องกับทางลัดผ่าน คงเกิดขึ้นตามการขยายตัวของบ้านเมือง ที่ไม่เป็นไปตามผังเมือง