“รับเงินรัฐ…สนับสนุนรัฐบาลหรือไม่” ?

แจกเงิน “เพื่อพวกเรา”

ไม่เพียง “รัฐธรรมนูญดีไซน์เพื่อพวกเรา” และ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เท่านั้นที่ก่อข้อครหาว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” ใช้อำนาจสร้างเครื่องมือ “สืบทอดอำนาจ”

แต่การใช้งบประมาณประเทศจำนวนมหาศาลออกมาแจกจ่ายในโครงการสารพัดที่แถลงว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อันเป็นการแจกเงินตรงๆ เป็น “ประชานิยม” แบบทื่อๆ ก็เป็นเรื่องที่ถูกโจมตีว่าเป็นกระบวนการซื้อเสียงก่อนการเลือกตั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไร ขั้นตอนการอนุมัติเงินยังต้องผ่านการลงทะเบียนให้รู้ว่าผู้เข้าร่วมรับแจกเงินเป็นใคร มีรายละเอียดของชีวิตอย่างไร ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการที่ผู้มีอำนาจเอาไปใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการหาคะแนนนิยม หรือหาเสียงเลือกตั้ง

เป็นการใช้เงินรัฐมาแจกจ่ายเพื่อหวังประโยชน์ให้ตัวเองและพรรคพวกในกระบวนการสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง เป็นการใช้อำนาจให้เกิดความได้เปรียบนักการเมืองจากพรรคอื่น

อย่างไรก็ตาม ทางฟากนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวคือความจริง โดยมีเหตุผลว่าประเทศที่เผชิญวิกฤตหลายด้านที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจให้มีปัญหาหนักหน่วง จำเป็นต้องหาทางแก้ไข วิธีการที่จะกระตุ้นและฟื้นฟูอย่างได้ผลรวดเร็วที่สุดคือแจกเงินให้ประชาชนเพื่อสร้างกำลังซื้อให้มาหมุนตลาดให้เกิดการผลิต ขับเคลื่อนวงจรเศรษฐกิจให้หมุนได้

เป็นความคิดที่ขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างมีข้อกล่าวหาว่าอีกฝ่ายมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หาจุดสรุปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด “นิด้าโพล” ได้สำรวจเรื่อง “รับเงินรัฐ…สนับสนุนรัฐบาลหรือไม่” ซึ่งดูจะเป็นการสำรวจหากจะบอกว่าสามารถตอบคำถามข้างต้นได้ก็คงไม่ผิด

“แจกเงิน แล้วซื้อคะแนนนิยมได้หรือไม่”

เริ่มจากคำถามที่ว่า “เข้าร่วมโครงการที่ได้รับประโยชน์ทางการเงินจากรัฐบาลในปี 2563 หรือไม่” ร้อยละ 38.26 ไม่เคยเข้าร่วม, ร้อยละ 32.58 เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง, ร้อยละ 25.68 เข้าร่วมบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ร้อยละ 3.48 เข้าร่วมช้อปดีมีคืน

สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 87.50 ไม่เข้าร่วม, ร้อยละ 12.50 เข้าร่วม

สำหรับการแจกเงินในช่วงโควิดระบาด ร้อยละ 37.35 ได้จากเราไม่ทิ้งกันคนละ 5,000 บาท, ร้อยละ 29.92 ไม่เคยได้รับ, ร้อยละ 20.53 ได้ 5,000 บาทจากเยียวยาเกษตรกร, ร้อยละ 6.44 จากการเยียวยากลุ่มเปราะบาง, ร้อยละ 5.76 ได้จากสำนักงานประกันสังคม

เข้าสู่คำถามที่ว่า แจกเงินแบบนี้เท่ากับซื้อเสียงหรือไม่

ด้วยคำถามที่ว่า “การตัดสินใจของผู้เข้าร่วมโครงการหลังได้รับประโยชน์ทางการเงินจากรัฐบาล” ร้อยละ 38.76 ตอบว่ามีส่วนทำให้สนับสนับสนุนรัฐบาล, ร้อยละ 25.38 ตอบว่าสนับสนุนรัฐบาล แต่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้รับ, ร้อยละ 22.10 ไม่ว่าอย่างไร ไม่สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว

ร้อยละ 12.34 ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร

สรุปก็คือ การแจกเงินแบบนี้ส่งผลต่อการเรียกคะแนนนิยมอยู่ไม่น้อย

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะคนไทยเรายังรู้สึกนึกคิดในระบบอุปถัมภ์ มีค่านิยมที่จะรอรับ ใครให้อะไรก็นับไว้เป็นบุญเป็นคุณ ไม่ได้นึกว่าเป็นการใช้เงินจากการเก็บภาษีประชาชน หรือเงินกู้ที่ประชาชนในอนาคตเป็นผู้ต้องชดใช้มาแจกจ่าย

เป็น “อัฐยายซื้อขนมยาย”

อย่างไรก็ตาม ค่านิยมแบบนี้ส่งผล 2 ด้าน คือใครที่ได้ก็นับถือเป็นบุญคุณต้องทดแทน แต่คนที่ไม่ได้จะมีความรู้สึกน้อยใจว่าถูกละเลย หรือใครที่ได้มากก็ดีใจไป ใครที่ได้น้อยกว่าจะรู้สึกว่าลำเอียง

ดังนั้น แม้จะสรุปได้ว่าการแจกเงินได้ผลแน่นอน เพราะด้วยอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์

แต่อิทธิพลที่เกิดขึ้นนั้น มีทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบ

ที่ได้ก็ได้ไป ที่เสียก็เสียเลย

จะได้มากกว่าเสีย หรือเสียมากกว่าได้

จะต้องรอหลังการเลือกตั้ง