แมลงวันในไร่ส้ม/ แต่งไปรเวต-เลิกเครื่องแบบ เสียงจาก ‘นักเรียนเลว’ เพื่อระบบการศึกษาที่ดี

แมลงวันในไร่ส้ม

แต่งไปรเวต-เลิกเครื่องแบบ

เสียงจาก ‘นักเรียนเลว’

เพื่อระบบการศึกษาที่ดี

นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของนิสิต-นักศึกษา ในนามกลุ่มราษฎร ที่เป็นแรงกดดันสำคัญต่อรัฐบาลขณะนี้แล้ว

การเคลื่อนไหวของนักเรียนก็ถือว่าแหลมคม ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาและการเมือง

กลุ่มนักเรียนได้จัดการชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดได้แก่ การนัดชุมนุมที่ราชประสงค์ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ก่อนย้ายหนีฝนไปที่ใต้สถานีบีทีเอส สยาม และจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างคึกคัก

ทำให้เกิดกระแสเกี่ยวกับนักเรียนร้อนแรงขึ้นมา และเกิดปรากฏการณ์ “ผมบังเพื่อน” เมื่อรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการแสดงความเห็นในรายการโทรทัศน์ระบุว่า หากนักเรียนไว้ผมยาวสักศอกหนึ่ง คนเดือดร้อนคือพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องหาเงินซื้อยาสระผมมาให้ลูกสระ และผมยาวหนึ่งศอก ยังอาจบังเพื่อนที่นั่งข้างหลัง

เรียกเสียงวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์กรนักเรียน คือนักเรียนเลว และภาคีนักเรียน KKC ได้ประกาศผ่านเพจ เชิญชวนนักเรียนทั่วประเทศแต่งชุดไปรเวตไปโรงเรียนในวันอังคารที่ 1 ธันวาคม เพื่อต่อต้านกฎระเบียบล้าหลัง เกี่ยวกับชุดนักเรียน

ข้อความที่โพสต์ในเพจมีอาทิ ใครใคร่ทำผมบังเพื่อน ทำ! อยากแต่งอะไร แต่ง! นักเรียนผู้ขบถต่อกฎระเบียบที่ล้าหลังทั้งหลาย 1 ธันวาคมนี้ จงแต่งกายตามที่ตนเองพอใจ ร่างกายเรา เราเลือกได้

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการตั้งคำถามต่อการบังคับให้นักเรียนต้องแต่งชุดนักเรียน ว่าท้ายที่สุดแล้วการสวมชุดนักเรียนมีประโยชน์อย่างไร และผลการเรียนขึ้นอยู่กับการแต่งชุดนักเรียนหรือไม่

ชุดนักเรียนเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวนักเรียนแต่ละคนอย่างชัดเจน เพราะชุดนักเรียนมีค่าใช้จ่าย และถ้าหากผู้ปกครองของนักเรียนไม่มีเงินซื้อชุด จะทำให้นักเรียนไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนอย่างนั้นหรือ

 

หลังจากนั้น มีการโพสต์ชื่อโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่นักเรียนจะเข้าร่วมโครงการสวมชุดไปรเวตไปเรียน

ปฏิกิริยาจากโรงเรียนต่างๆ ค่อนข้างระมัดระวัง ที่น่าสนใจคือ กรณีของโรงเรียนหอวัง ซึ่งมีชื่อในลิสต์ว่า นักเรียนจะไม่สวมเครื่องแบบ

วันที่ 30 พฤศจิกายน โรงเรียนหอวังได้ออกประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับครูในการดูเเลนักเรียน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563

ระบุในข้อ 5. ว่า ดูแลการแต่งกายของนักเรียนให้อยู่ในเครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนหอวัง

และข้อ 6. กรณีพบนักเรียนแต่งกายไม่เป็นไปตามระเบียบ/แนวปฏิบัติ/ข้อตกลงของโรงเรียน ครูเวรประจำวัน ครูที่ปรึกษา หรือครูผู้สอน ปฏิบัติดังนี้

6.1 ให้ครูที่พบ นำนักเรียนไปที่หอประชุมโรงเรียน เพื่อรับคำฟังคำชี้เเจงและทำความเข้าใจกับนักเรียน

6.2 แจ้งผู้ปกครอง และเชิญผู้ปกครองมารับทราบ เพื่อหาแนวทางดูแลช่วยเหลือนักเรียน

6.3 ในกรณีที่นักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบ และแนวทางปฏิบัติของทางโรงเรียนได้ ให้นักเรียนและผู้ปกครองลงชื่อยืนยัน รับรองข้อมูล

ยังมีโรงเรียนอื่นๆ อาทิ เขมะสิริอนุสสรณ์ และบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ออกประกาศขอความร่วมมือผู้ปกครองให้ช่วยดูแลนักเรียน แต่งกายให้ถูกตามระเบียบด้วย

เช้าวันที่ 1 ธันวาคม สื่อต่างๆ เดินทางไปสังเกตการณ์หน้าโรงเรียน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ เตรียมอุดมศึกษา พญาไท, สามเสนวิทยาลัย, สวนกุหลาบฯ รังสิต ฯลฯ

นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการ และสื่อ ได้ทวีตข้อความพร้อมภาพใบแจ้งความลงบันทึกประจำวันของผู้ปกครองนักเรียนคนหนึ่ง ระบุว่า

“ผอ.โรงเรียนหอวังถูกผู้ปกครองแจ้งความละเมิดสิทธินักเรียน โดย น.ส.นรรัตน์ ทัพพะรังสี บุก สน.พหลโยธิน ระบุบุตรชายถูกรองผู้อำนวยการห้ามเข้าเรียนโดยอ้างว่าไม่ได้สวมเครื่องแบบ ทั้งที่ผู้อำนวยการเคยระบุเข้าเรียนได้ ทำให้บุตรชายถูกละเมิด ขอแจ้งความเป็นหลักฐานทันที #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ”

หลังจากทวีตข้อความดังกล่าว มีชาวโซเชียลได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

อาทิ สนับสนุนให้ฟ้อง จุดประสงค์ของการมาโรงเรียนคือ การมาศึกษาเล่าเรียน เอาความรู้ การแต่งกายไม่ควรเป็นประเด็นหลัก

พร้อมกับตั้งคำถามถึงผู้บริหารโรงเรียน และครูว่า การบังคับเด็ก เป็นความภาคภูมิใจหรือ

กระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงอีกประเด็น เมื่อนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

“แก้ผ้าไปโรงเรียนเถิดลูก หนูอยากแต่งชุดอะไรก็แต่ง เสรีภาพ ทำลายฝ่าฝืนระเบียบได้ มันเป็นความสะใจของคนวัยนี้ ผมก็เคยเป็นมาก่อน ทำเป็นครั้งเป็นคราว มันแรงได้ใจอก นะลูก

“เข้าใจหนูปลดแอกอยู่ แต่ทำอะไรต่อต้านสังคมเล็กๆ แล้วกลับมามีระเบียบกับตัวเองด้วยแล้วกัน ขยันเรียน อ่านหนังสือ สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือเรียนอะไรก็ได้ ที่ทำให้หนูมีอาชีพสุจริต เลี้ยงดูตัวเองได้นะลูก รักและเป็นห่วงนะลูกนะ”…

 

และในวันที่ 1 ธันวาคม หลังจากนัดแนะไม่สวมชุดนักเรียนไปโรงเรียน ในเย็นวันเดียวกัน กลุ่มนักเรียนเลวยังนัดชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ให้ยุติการคุมคามนักเรียน และแก้ไขระเบียบเรื่องเครื่องแบบนักเรียน

โดยทำเรื่องขออนุญาตชุมนุมจากทางตำรวจก่อนแล้วว่าจะยุติการชุมนุมในเวลา 20.00 น.

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน ทำให้เห็นปัญหาหลายแง่มุมของระบบโรงเรียนและระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะคุณภาพการเรียนการสอน ปัญหาประชาธิปไตยในโรงเรียน ระบบที่ยัดเยียด มุ่งบังคับ มากกว่าจะมาจากการหาเหตุผล ใช้เหตุผล ทรรศนะความเข้าใจที่มีช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน ฯลฯ

เป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยลำพัง เพราะเชื่อมโยงกับการเมือง

ถ้าการเมืองไม่พลิกเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย อันเป็นข้อเรียกร้องทั่วไปในเวลานี้ ก็ยากที่ระบบการศึกษา ระบบโรงเรียนจะเปลี่ยนแปลง