การศึกษา / #ทรงผมบังเพื่อน เรื่องเดียวกันของคน 2 วัย 2 ยุค!!

การศึกษา

 

#ทรงผมบังเพื่อน

เรื่องเดียวกันของคน 2 วัย 2 ยุค!!

 

กลายเป็นวลีฮิตติดปาก และขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 เพียงชั่วพริบตา สำหรับ #ทรงผมบังเพื่อน

หลังนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมตัวแทนกลุ่มนักเรียนชื่อ “นักเรียนเลว” ร่วมดีเบตในประเด็นต่างๆ ที่กลุ่มนักเรียนเลวออกมาเรียกร้องให้ ศธ.ปรับปรุง ในการออกอากาศทางรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง

โดยช่วงหนึ่ง รองปลัด ศธ.ได้พูดถึงประเด็น “ทรงผม” ว่าประเด็นที่อยากให้ดูคือในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเรื่อง “สิทธิ” อย่างเดียว แต่ได้พูดถึง “หน้าที่” ด้วย

รัฐธรรมนูญเองก็เหมือนศีลที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้อยู่ได้อย่างปกติสุข ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หลายเรื่องที่ทำแล้วทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

พร้อมทั้งหยิบยกตัวอย่างเรื่องทรงผมนักเรียนขึ้นมาอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ ว่า

“สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อ-แม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียน ผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนที่อยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม”

แต่ทันทีที่จบประโยคดังกล่าว โลกออนไลน์ก็เผยแพร่ข้อความดังกล่าวออกไป พร้อมกับ #ทรงผมบังเพื่อน ถูกติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์อย่างถล่มทลาย

โดยผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์พากันแชร์ภาพนักร้อง นักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียง ที่มีทรงผมยาว 1 ศอก จนบังเพื่อนได้นั้น มีทรงไหนบ้าง อย่างครูทอม แฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ โดม จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม แม็กซ์-ณัฐวุฒิ เจนมานะ

รวมถึงแชร์ภาพนักร้อง นักแสดงต่างชาติที่ไว้ผมยาวด้วย

อย่างไรก็ตาม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า รองปลัด ศธ.พยายามอธิบายด้วยการยกตัวอย่าง และพยายามสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่าย จึงต้องรับฟังเหตุผลด้วยว่าพูดออกมาเช่นนั้นเพราะอะไร ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เป็นเรื่องตลก แต่พยายามยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายเท่านั้น

ซึ่งมุมมองที่ไม่เหมือนกัน อาจเกิดจากแนวคิด และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของคน 2 วัย 2 ยุค!!

 

จากประเด็นร้อนๆ #ทรงผมบังเพื่อน ทางทวิตเตอร์ “มติชนออนไลน์” ได้ทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่าน เนื่องจากกระแสดังกล่าว มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย

อาทิ ไม่น่าแปลกใจที่การศึกษาไทยไปไม่ถึงไหน, เพราะความคิดของผู้ใหญ่ใน ศธ.ล้าสมัย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ปฏิรูป ศธ.เป็นการเร่งด่วนนั้น

คิดว่ากรณีรองปลัด ศธ.ระบุว่า หากให้นักเรียนไว้ผมยาวสักศอกหนึ่ง คนเดือดร้อนคือพ่อ-แม่ที่ต้องหาเงินมาซื้อยาสระผมให้ลูก และผมยาวประมาณ 1 ศอกนั้น ยังจะไปบังคนที่นั่งข้างหลังในห้องเรียน เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักหรือไม่ ในการไม่ให้นักเรียนไว้ผมยาว?

พบว่า มีผู้ร่วมโหวต 94.2% ระบุว่าไม่มีน้ำหนัก และมีน้ำหนักเพียง 5.8%

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นว่า ศธ.ควรยกเลิกระเบียบเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน โดยให้อิสระนักเรียนในการไว้ทรงผมหรือไม่?

ปรากฏว่า ผลการสำรวจความเห็นมากถึง 91.1% เห็นควรยกเลิก และมีเพียง 8.9% ไม่ควรยกเลิก

ทั้งนี้ ทรงผมนักเรียนได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงมาก่อนหน้านี้ และเป็น 1 ใน 10 ข้อเสนอ ที่กลุ่มนักเรียนเลวได้ยื่นข้อเสนอต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังนี้

  1. ทรงผมของนักเรียน
  2. การแต่งกายชุดนักเรียน
  3. ความหลากหลายทางเพศ
  4. การคุกคามทางเพศในโรงเรียน
  5. ภาวะงานครูที่มีมากเกินไป
  6. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
  7. หลักสูตรภาษาต่างประเทศ
  8. ปรับหลักสูตรการศึกษา
  9. ยกเลิกสอบโอเน็ต

และ 10. เปิดช่องทางการแสดงความคิดเห็น

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา ที่มีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องต่างๆ

รวมถึง “ยกเครื่อง” ระเบียบทรงผมนักเรียน!!

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังกลุ่มนักเรียนเลวได้รวมตัวเรียกร้องให้ ศธ.แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าหลัง รวมถึงทรงผมนักเรียน รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้สั่งแก้ไขระเบียบทรงผมในทันที เบื้องต้น ศธ.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เรื่องซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ส่งไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดให้ถือปฏิบัติ และแจ้งไปยังสถานศึกษาให้ยกเลิกการบังคับใช้ระเบียบสถานศึกษาเดิม เกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2518

โดยให้สถานศึกษาต้องดำเนินการจัดทำระเบียบทรงผมนักเรียนขึ้นใหม่ ตามข้อ 7 ของระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563

โดยยึดหลักความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดี การมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น พร้อมต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนแล้วแต่กรณีก่อนประกาศใช้

ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียนฯ ได้พิจารณาเรื่องระเบียบทรงผมของนักเรียน สรุปปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก 3 สาเหตุ คือ

  1. ตัวระเบียบที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะระเบียบ ศธ.เรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียน ปี 2563 ในข้อ 7 โดยนักเรียนบางส่วนสะท้อนว่าโรงเรียนไม่ดำเนินการตามระเบียบที่ออกมา ทำให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.สั่งงดการดำเนินการตามระเบียบข้อ 7 ไว้ก่อน
  2. ปัญหาการตีความ ว่าระดับความยาว จะต้องสั้น และยาวแค่ไหน

และ 3. การลงโทษกรณีที่โรงเรียน และครูเห็นว่านักเรียนไม่ทำตามระเบียบ

ล่าสุด มีข้อเสนอแนะปรับแก้มีดังนี้ ปรับแก้บทนำ หรือในส่วนของการปรารภ เป็นการปรับแก้ระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วม รวมทั้งการป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

เห็นชอบแก้ไขระเบียบข้อ 4 ดังนี้ นักเรียนจะไว้ผมสั้น หรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนความหลากหลายทางเพศ และไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ ส่วนการดัดผม ย้อมสีผมให้ต่างไปจากเดิม ไว้หนวด หรือไว้เครา ยังคงเป็นข้อห้ามตามเดิม…

ขณะเดียวกันยังแก้ไขระเบียบข้อ 7 เป็นภายใต้ข้อบังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาวางระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดแย้งกับระเบียบนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเอกชนแล้วแต่กรณี

ก่อนดำเนินการในวรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาจัดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง รวมทั้งเผยแพร่ผลรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว

กรณีนักเรียนทำไม่ถูกตามระเบียบ การลงโทษให้คำนึงถึงระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน และนักศึกษา พ.ศ.2548 และกฎหมายคุ้มครองเด็ก ห้ามลงโทษรุนแรงที่เกินกว่าระเบียบดังกล่าว!!

 

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ขอดูรายละเอียดของคณะกรรมการอีกครั้ง

เพราะมองว่าการแก้ไขเรื่องต่างๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาด้วย อีกทั้งกฎระเบียบต้องชัดเจน เพราะไม่อยากให้เกิดการตีความ เรื่องทรงผมถือเป็นเรื่องที่คาราคาซังมานาน อยากให้แก้ไขให้จบ เพื่อไม่ต้องกลับมานั่งแก้ไขกันอีก

คงต้องลุ้นกันว่า “ระเบียบทรงผมนักเรียน” ฉบับใหม่ จะมี “หน้าตา” ออกมาแบบไหน

จะ “ถูกใจ” น้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่หรือไม่

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเหมาะสมกับสถานภาพ “นักเรียน” ด้วย??