อนุช อาภาภิรม : ความมั่นคงทางพลังงานและยุทธศาสตร์ (16)

ในการเข้ามาครอบงำพื้นที่และน้ำมันในตะวันออกกลาง อังกฤษได้ใช้แบบการปฏิบัติง่ายๆ อยู่ชุดหนึ่ง ตามเหตุการณ์และความเหมาะสมได้แก่

ก) การค้าเสรีแบบผูกขาด การใช้สินค้าอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ น้ำมันก๊าด เข้ามาตีตลาดการผลิตท้องถิ่นและนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเหนือกว่ามาแทนที่ของพื้นเมือง

ข) การใช้หรือคุกคาม ว่าจะใช้กำลังทหารที่สำคัญมาจากความเหนือกว่าของกองเรือรบที่แล่นโดยเครื่องจักรและติดอาวุธร้ายแรง

ค) การตั้งรัฐบาลหุ่นหรือกึ่งหุ่นหรือที่เป็นมิตรเพื่อดูแลผลประโยชน์ให้อังกฤษ

ง) การถ่วงดุลอำนาจหรือการแบ่งแยกและปกครอง ได้แก่ การตั้งประเทศในตะวันออกกลางที่ไม่เป็นเอกภาพจนถึงทุกวันนี้

สหรัฐที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ในภายหลัง โดยพื้นฐานก็ปฏิบัติไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่ามีความโลดโผนกว่า

เช่น การตั้งระบบดอลลาร์น้ำมัน การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนระบอบ การแปรทั้งภูมิภาคเป็นเชิงทหาร การกระจายอาวุธสงครามไปทั่ว การตั้งกลุ่มนักรบทางศาสนาอิสลาม ซึ่งจำนวนไม่น้อย กลายเป็นแกนของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ และการใช้สงครามจิตวิทยาหรือปฏิบัติการข่าวสารอย่างเข้มข้น เป็นต้น

การเข้าครอบงำพื้นที่และน้ำมันของอังกฤษในตะวันออกกลางมากด้วยอุปสรรคจากประเทศมหาอำนาจด้วยกัน ได้แก่ เยอรมนี รัสเซีย สหรัฐ ทั้งยังต้องเผชิญการลุกขึ้นสู้ของชาวพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง ต้องเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงจนต้องถอนตัวจากพื้นที่นี้ในที่สุด

 

อังกฤษกับน้ำมันในอิรัก การแทรกเข้ามาของเยอรมนี
และสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

อิรัก (อังกฤษเรียกเมโสโปเตเมียก่อนตั้งเป็นประเทศนี้) อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนลุ่มน้ำใหญ่สองสาย คือไทกรีสและยูเฟรติส ทั้งยังมีพื้นที่ติดกับอ่าวเปอร์เซีย เป็นดินแดนแย่งยื้ออิทธิพลระหว่างจักรวรรดิเปอร์เซียและจักรวรรดิออตโตมานยาวนาน

แต่ห้วงเวลาส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมาน (1534-1921)

อย่างไรก็ตาม ออตโตมานก็ไม่สามารถรวมอิรักให้เป็นเอกภาพ แต่แบ่งการปกครองเป็นสามภาค ภาคเหนือ ได้แก่ มณฑลโมซุล เป็นดินแดนที่ชาวเคิร์ดอยู่อาศัยมาก ตอนกลางเป็นมณฑลแบกแดด ที่ชาวซุนหนี่อยู่มาก และตอนใต้ ได้แก่ มณฑลบาสราที่พวกถือนิกายชีอะห์อาศัยอยู่มาก และได้ตั้งราชวงศ์แมมลุกขึ้นปกครอง แต่ผู้ปกครองแมมลุกต้องการเป็นอิสระ และเริ่มพัฒนาติดต่อการค้ากับประเทศต่างๆ

อังกฤษหลังจากตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกเพื่อเป็นแกนในการค้าขายกับอินเดียและดินแดนในภูมิภาคนี้ในปี 1600 ก็ได้เริ่มสนใจดินแดนอิรัก ที่มีประชากรมาก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่พอสมควร

บริษัทอินเดียตะวันออก ตั้งคลังสินค้าที่เมืองบาสราในปี 1763 เปิดสถานกงสุลที่นครแบกแดดปี 1802 แล่นเรือกลไฟในลำน้ำอิรัก (1836) สร้างสายโทรเลข (1861) กระชับการค้า ความสัมพันธ์และอิทธิพลของอังกฤษในดินแดนนี้อย่างเร็ว (ดูคำ Iraq ใน britishempire.co.uk)

ความสนใจในอิรักของอังกฤษเพิ่มมากขึ้นหลังจากการค้นพบน้ำมันในเปอร์เซียในปี 1908

โดยเฉพาะในบริเวณโมซุลทางตอนเหนือ

มีนักธรณีวิทยาจากหลายชาติตะวันตกได้มาเยือนดินแดนนี้ในคราบของนักโบราณคดี

อังกฤษขึ้นสู่ภาวะรุ่งโรจน์ หลังการยึดอินเดียเป็นอาณานิคม (1858) แต่เมื่อถึงปี 1873-1896 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอังกฤษ ตะวันที่ไม่ตกดินในจักรวรรดิอังกฤษก็เริ่มบ่ายคล้อย

อังกฤษต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้ามากขึ้นทุกที จากปี 1883-1913 มูลค่าการนำเข้าคิดเป็นเงินปอนด์สูงขึ้นถึงร้อยละ 84 เกิดจักรวรรดิเยอรมนี (1871-1918) เบียดแทรกขึ้นมา พัฒนาอุตสาหกรรมของตนจนเคียงคู่และล้ำหน้าอังกฤษ

ที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็ก อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเคมี สร้างทุนการเงินขนาดใหญ่ คือทุนธนาคาร ได้แก่ ธนาคารดอยช์แบงก์ และทุนอุตสาหกรรมใหญ่ได้แก่ บริษัทซีเมนส์ จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 40 ล้านคนในปี 1870 เป็นกว่า 67 ล้านคนในปี 1914

จักรวรรดิเยอรมนีเริ่มมองหาดินแดนที่เป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดสินค้าของตน

ในปี 1894 เคานต์ ลีโอ คาปริวี นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (ต่อจากบิสมาร์ก) ได้แถลงต่อรัฐสภาว่า “เอเชียน้อย (คือตุรกี) สำคัญสำหรับเรา ในฐานะเป็นตลาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมเยอรมัน แหล่งที่ทุนเยอรมันจะไปลง และแหล่งสนองสินค้าสำคัญ (เช่น ธัญพืชและฝ้าย) ที่ขยายตัวได้อีกมาก การนำเข้าสินค้าเหล่านี้ทำให้เราเป็นอิสระได้”

ตุรกีขณะนั้นเสื่อมโทรมเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” อยู่ภายใต้การกดดันของทุนการเงินจากฝรั่งเศสและอังกฤษ มีหนี้สินมาก จึงพร้อมรับการลงทุนจากเยอรมนี หวังจะช่วยถ่วงดุลแก่ฝรังเศส-อังกฤษ

เยอรมนีแผ่อิทธิพลเข้ามาในตุรกี โดยใช้นโยบายที่เรียกว่า “การชอนลึกอย่างสันติ” (Penetration Pacifique) เน้นการเข้าไปลงทุน พัฒนาอุตสาหกรรม ไม่ใช้กำลังทหาร และให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่โครงการเส้นทางรถไฟ

ในปี 1888 สามารถเปิดเส้นทางรถไฟสายออเรียนตัลจากเบอร์ลินไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล (เมืองหลวงของตุรกีขณะนั้น) ได้สำเร็จ โดยผ่านออสเตรีย ข้ามคาบสมุทรบอลข่าน ผ่านกรุงเบลเกรด และนครโซเฟีย

ตุรกีเองก็สนใจพัฒนาทางรถไฟของตน โดยเฉพาะทางด้านทวีปเอเชียของประเทศ และได้สร้างทางรถไฟของตนเองนับพันกิโลเมตร

และได้เลือกเยอรมนีที่มีเทคโนโลยีด้านรถไฟก้าวหน้ามาทำงาน สร้างทางรถไฟเชื่อมคอนสแตนติโนเปิล แองการา (นครหลวงตุรกีปัจจุบัน) และเมืองกอนยา ในปี 1899 ให้สัมปทานแก่ดอยช์แบงก์ ในการสร้างทางรถไฟจากกอนยาไปยังนครแบกแดดและอ่าวเปอร์เซีย ทั้งยังได้สิทธิในแร่ธาตุห่างจากสองข้างทางรถไฟ 20 กิโลเมตรตลอดเส้นทาง (แต่ต้องใช้เวลาเจราจากันนาน ตกลงขั้นสุดท้ายในปี 1903) ฝ่ายเยอรมนี ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญสำรวจเส้นทางรถไฟตั้งแต่ปี 1899 การสำรวจยืนยันข้อมูลของเจ้าหน้าที่ออตโตมานว่า พื้นที่เหล่านี้มีน้ำมัน (ดูบทความของ F. William Engdahl ชื่อ oil and the origins of the “War to make the world safe for Democracy” ใน engdahl.oilgeopolitics.net, 22062007)

อังกฤษหาทางตอบโต้ด้วยประการต่างๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ถนัด เนื่องจากเป็นกังวลในการลุกขึ้นสู้ของชาวอาณานิคมที่โน่นที่นี่

ในที่สุดเดินนโยบายถ่วงดุลอำนาจ ดึงเยอรมนีมาเข้าร่วมในโครงการสำรวจน้ำมัน นั่นคือ อังกฤษได้ร่วมกับเนเธอร์แลนด์จัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมตุรกีขึ้นในปี 1911 เพื่อสำรวจขุดเจาะน้ำมันที่โมซุล

ในปี 1914 มีการปรับปรุงองค์กรบริษัทนี้ใหม่ในการประชุมที่กระทรวงต่างประเทศ กรุงลอนดอน ปรากฏว่ามีตัวแทนธนาคารจากอังกฤษและเยอรมนีนั่งเคียงกัน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทน้ำมันของอังกฤษและเนอเธอร์แลนด์ร่วมประชุมด้วย

ที่เยอรมนีได้รับเชิญเข้าร่วมเนื่องจากธนาคารเยอรมันได้รับสัมปทานสำรวจขุดเจาะน้ำมันจากออตโตมานในปี 1903 ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนกัน อนึ่ง แม้ชื่อบริษัทจะมีคำว่าตุรกี แต่ไม่ได้มีนายทุนตุรกีเข้าร่วม

สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำลายทั้งโครงการทางรถไฟสายแบกแดดและการสำรวจน้ำมัน อังกฤษใช้โอกาสนี้ส่งกำลังจากอินเดีย ประกอบด้วยกองทหารอังกฤษและอินเดีย ผ่านมาทางเปอร์เซีย (อิหร่าน) ที่มีบ่อน้ำมันของตนอยู่แล้วเข้ายึดเมืองบาสรา (1914) แบกแดด (1917) และโมซูล (1918) ในอิรัก ในปี 1914 ได้คูเวตเป็นรัฐในอารักขา และได้สิทธิพิเศษในสัมปทานขุดสำรวจน้ำมัน ถึงปี 1927

อังกฤษก็ได้ลาภใหญ่พบน้ำมันที่เมืองคีร์คุกในมณฑลโมซุล ตอนเหนือของประเทศ ดังนั้น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

อังกฤษสามารถควบคุมทุ่งน้ำมันสำคัญได้ ทั้งในเปอร์เซีย อิรัก และคูเวต แต่ “ยุคทอง” นี้เป็นเพียงเปลือก เนื้อแท้แล้วอังกฤษต้องเผชิญกับการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ และความเสียหายมากมายในการรักษาผลประโยชน์ของตนไว้

อังกฤษต้องเผชิญกับแรงต่อต้านของชาวอาหรับในอุดมการณ์ต่างๆ ได้แก่ ชาตินิยม สังคมนิยม และอิสลามนิยม เช่น กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (ก่อตั้งปี 1928) การเผชิญกับการลุกขึ้นสู้หลายครั้ง เช่น การลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธที่เมโสโปเตเมีย (1920) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาณานิคมของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดถูกปลดปล่อยโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น อินเดียได้หลุดลอยไปตั้งแต่ปี 1947 ความบอบช้ำจากสงครามทำให้ยากที่จะรักษาอาณานิคมเหล่านี้ ความพยายามฟื้นอิทธิพลของตนโดยการร่วมมือกับฝรั่งเศสและอิสราเอลยึดครองสุเอซคืนในปี 1956 ก็ล้มเหลว ระบอบกษัตริย์ที่ตนสถาปนาไว้ที่อิรักก็ถูกโค่นในการปฏิวัติของคณะทหารอิรักปี 1958 สร้างระบบสาธารณรัฐขึ้นแทนที่

เรื่องเลวร้ายลงไปอีกสำหรับอังกฤษ เมื่อพรรคบะอัธ (นิยมเรียกว่าพรรคบาธ) ที่เป็นแบบชาติ-สังคมนิยม และโลกวิสัย เข้ายึดอำนาจในปี 1968 มี ซัดดัม ฮุสเซน เป็นผู้นำสำคัญ เขาได้ยึดกิจการน้ำมันและอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ อังกฤษเหลือทางออกน้อยลงทุกที

ในเดือนมกราคม 1968 หลังราคาเงินปอนด์ตกลง นายฮาโรลด์ วิลสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษพร้อมกับรัฐมนตรีกลาโหม ประกาศถอนตัวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบริเวณอ่าวเปอร์เซียในปี 1971 เปิดทางให้สหรัฐเข้าแทนที่

อย่างไรก็ตาม หลังการล่มสลายของโซเวียต อังกฤษได้ติดตามสหรัฐเข้าไปในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง ในสงครามต่อต้านก่อการร้าย ตั้งแต่ปี 2001 ที่สำคัญได้แก่ ร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐในการทำสงครามยึดครองอิรัก ในปี 2003 โดยหวังที่จะได้บ่อน้ำมันที่นั่นคืน

 

น้ำมันที่ซาอุดีอาระเบีย
และการแทรกเข้ามาของสหรัฐในตะวันออกกลาง

ในทศวรรษ 1980 สหรัฐเริ่มเข้าสู่ฐานะมหาอำนาจโลก โดยเฉพาะหลังรบชนะสเปน (1898) อัลเฟรด เทเยอร์ มาฮาน นักยุทธศาสตร์ทางทะเลสหรัฐกล่าวว่า “ตอนนี้สหรัฐต้องมองออกไปข้างนอก การเติบโตของการผลิตต้องการเช่นนั้น…” (ดูหัวข้อ Spanish American War ใน amhistory.si.edu) นั่นก็คืออยู่ในชะตากรรมเดียวกับเยอรมนี เพียงแต่ในขณะนั้นสหรัฐมีน้ำมันอุดมสมบูรณ์เท่านั้น

ในปลายปี 1861 ถึงต้นปี 1862 บริษัทนำเข้า-ส่งออก ในฟิลาเดลเฟียได้ส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันไปยังกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก โดยใช้เรือใบสองเสา และได้กำไรงาม

ธุรกิจส่งออกน้ำมันขยายตัวอย่างรวดเร็ว (มีการกำหนดความจุน้ำมันหนึ่งบาร์เรลเท่ากับ 42 แกลลอนด้วย)

บริษัทสแตนดาร์ดออยล์ เป็นผู้นำในการค้าและลงทุนสำรวจขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐไปทั่วโลก ในปี 1886 ต่อเรือบรรทุกน้ำมันขึ้นโดยเฉพาะ ในปี 1911 สร้างท่อส่งน้ำมัน 10,000 ไมล์ข้ามทวีปอเมริกา ในปลายทศวรรษ 1920 บริษัทสแตนดาร์ดออยล์แคลิฟอร์เนียที่แยกจากบริษัทสแตนดาร์ดออยล์ตามคำสั่งศาล ได้เข้าสำรวจน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย พบพื้นที่ที่น่าสนใจหลายแหล่ง ในปี 1932 ได้เจรจากับรัฐบาลซาอุดีฯ (ประเทศซาอุดีฯ เพิ่งก่อตั้งปี 1932) เพื่อให้ได้แปลงสัมปทาน

ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่นักสำรวจของสแตนดาร์ดแคลิฟอร์เนียได้พบน้ำมันที่บาห์เรน จนได้สัมปทานในปี 1933 หลังจากคว้าน้ำเหลวในการขุดหาน้ำมันในซาอุดีฯ เป็นเวลา 3 ปี ก็เริ่มถอดใจ และขายหุ้นร้อยละ 50 ให้แก่บริษัทน้ำมันเท็กซัส (ต่อมาเป็นบริษัทเท็กซาโก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเชฟรอน)

บริษัทร่วมทุนใหม่นี้ชื่อว่าบริษัทน้ำมันแคลิฟอร์เนียเท็กซัส (คาลเท็กซ์) ซึ่งคงอยู่จนถึงปัจจุบัน และพบน้ำมันเป็นครั้งแรกในปี 1938 แต่น้ำมันที่พบช่วงแรกนี้ส่งไปยังบาห์เรน ที่มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ

(ดูบทความของ Charles Holbrook ชื่อ History of Oil in the Middle East & Implication ใน voicemoorecounty.com, 2011)

 

ตะวันออกกลาง-ศูนย์กลางน้ำมันโลกใหม่

นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันคือ อีเวอเรตต์ ลี ดีโกลเลีย (Everette Lee DeGolyer1886-1956) ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาธรณีฟิสิกส์ของสหรัฐ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปซาอุดีฯ ในปี 1943 โดยมีภารกิจพิเศษในการรวบรวมข้อมูลเพื่อการประเมินน้ำมันในตะวันออกกลาง และได้ทำรายงานตีพิมพ์วารสารของสมาคมนักธรณีวิทยาปิโตรเลียมอเมริกัน เดือนกรกฎาคม 1944 ประเมินว่าแหล่งสำรองน้ำมันอิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีฯ บาห์เรนและกาตาร์ ตกราว 27 พันล้านบาร์เรล

แต่ชี้ว่า น่าจะมีแหล่งสำรองน้ำมันอีกมหาศาลรอการค้นพบอยู่

เขาสรุปว่า “ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของโลก น้ำมันจะย้ายจากบริเวณอ่าว-คาริเบียน (หมายถึงเท็กซัส เม็กซิโก และเวเนซุเอลลา ที่ผลิตน้ำมันได้มากขณะนั้น) ไปสู่บริเวณอ่าวเปอร์เซีย” (ดูบทความของ Rasoul Sorkhbi ชื่อ How Much Oil in the Middle East ใน geoexpro.com, 2014)

การค้นคว้าทางวิชาการดังกล่าวนี้ เหมือนเป็นการเตือนผู้บริหารสหรัฐว่าไม่ควรปล่อยให้ตะวันออกกลางตกอยู่ในอำนาจครอบงำของประเทศใด