อัญเจียแขฺมร์ : แด่ หนุ่มสาว (5)

คอลัมน์อัญเจียแขฺมร์ /อภิญญ ตะวันออก [email protected]

ข้างหลังภาพ

ถ้าความจำตัวเลขฉันจมๆ หายๆ คิดว่า อัล ร็อกออฟ (Allen Rockoff) เคยพูดว่า ถ่ายภาพสักหนึ่งหมื่นสี่พันใบเห็นจะได้ แต่กว่าครึ่งหนึ่งมันถูกจดจำไปกับใบหน้าของ จอห์น มัลโควิช ผู้รับบท อัล ร็อกออฟ ใน “เดอะ คิลลิ่ง ฟิลด์ส” (โรล็องด์ จ็อฟเฟ่, 1984)

ที่นำเรื่องจริงของ ซิดนีย์ แชนด์เบิร์ก (Sydney Schanberg) และ ดิธ ปราน (Dith Pran) โดยมีบทสมทบของอัลและจูเลียน แซนส์ ดาวรุ่งฮอลลีวู้ดที่สวมบทเป็น จอน สเวน (Jon Swain) นักข่าวชาวอังกฤษ

และมันเริ่มเมื่อ 17 เมษายน 1975 ตอนที่อัลเพิ่งจะมีอายุสักยี่สิบ (แต่ใบหน้าเขาดูจะแก่กว่านั้น) อัลเคยให้สัมภาษณ์ว่า “อย่าคิดมาก อะไรๆ ที่เห็นในหนังน่ะ มันประดิษฐ์ขึ้น!”

นั่นเป็นเหตุผลว่า ประวัติของ ซิดนีย์ แชนด์เบิร์ก จึงเจิดไปด้วยพลังของการเล่าเรื่องที่สุดสมบูรณ์ และทับซ้อนไปด้วยตัวละครสมทบอื่นๆ ที่ถูกนำมาประกอบและเขียนเป็นบทภาพยนตร์โดย บรูซ โรบินสัน ผู้ไม่มีประสบการณ์จริงในพื้นสนามรบ แต่เขากลับ “พล็อต” ตัวละครทั้งหมดและเสริมมันอย่างลงตัว

รวมทั้งตัวละครอย่างอัล ที่นอกจาก จอห์น มัลโควิช จะทำให้เขาถูกจดจำอย่างโดดเด่นแล้ว

ในแง่งามของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่ในภาพยนตร์ อัล ร็อกออฟ ได้รับคำชื่นชมถึงความกล้าหาญและมากไปด้วยน้ำใจ เครดิต : เดวิด อันเดลมา นักข่าวอีกคนหนึ่งซึ่งออกมาก่อนวันที่พนมเปญแตก

แต่หากย้อนกลับไปดูภาพยนตร์ก็จะพบถึงวิธี “เล่าเรื่อง” ที่น่าสนใจในความหมายที่เขากล่าวถึงความเป็นมายา

แต่เรื่องจริงแบบไหนที่อัลไม่มีวันบอกเล่า เพราะมันเป็นข้อสัญญา

ทว่า ในที่สุด ศาลอาญาเขมรแดงก็ทำให้เขาเผยมันออกมา

 

ตานี้ฉันจะย้อนกลับไปในตอนค่ำของวันที่ 16 เมษายน วันที่อัลและพวกมี จอน สเวน และ ซิดนีย์ แชนด์เบิร์ก และอาจจะคนอื่นๆ พวกเขาไปที่ไปรษณีย์กลางเพื่อส่งงานต้นฉบับและภาพและข่าวทางเทเล็กซ์

“มันเป็นเวลา 2 ทุ่ม แต่มีเสียงปืนดังประปรายมาจากแถวจโรยจังวาและสะพานมุนีวงศ์ (?) ผมได้ยินว่า พวกเขมรแดงมาถึงแล้ว ผมรีบกลับโรงแรมรอยัล ตอนนั้นมีรถเกราะมาจอดที่หน้าโรงแรมแล้ว บางคันก็แล่นไปทางทิศเหนือข้ามไปสถานทูตฝรั่งเศส และโบสถ์คาทอลิกอีกแห่ง มีคนประกาศว่า สงครามจบแล้วๆ อะไรทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแล้ว พอรุ่งเช้าวันที่ 17 เมษายน 1975 ก็มีรถบรรทุกคนจำนวนมากจากที่ต่างๆ มาที่สถานทูต”

เป็นเวลาเดียวกับตอนนั้นที่ทหารเขมรแดงกลุ่มหนึ่งมาถึงโรงแรมรอยัล และกลุ่มอื่นๆ ทางถนนมุนีวงศ์ตอนใต้ ทางตะวันออก ถนน 103 หรือทางแยกไปกระทรวงข่าวสาร (?) และตามมาด้วยกลุ่มอื่นๆ

อัลตามพวกเขาไปราว 2-3 ชั่วโมงล่ะ ที่เขาใช้เวลาไปกับการรัวซัตเตอร์สำหรับผลงานชุดสุดท้ายจากทั้งหมดหมื่นกว่าภาพ ที่เขาบันทึกมาร่วมตลอดชีวิต

“สงครามสิ้นสุดแล้ว” อัลได้ยินร้องตะโกนตามท้องถนน และด้วยเหตุนั้น เขาจึงติดตามไปกับทหารเขมรแดงกลุ่มหนึ่ง “มันสะดวก” อัลบอก เดิมทีงานถ่ายภาพ 2 ปีในกัมพูชาของเขาก็ทำให้เขาต้องติดตามไปกับกองทหารมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นลอนนอลหรือเขมรแดงหรือก่อนหน้านั้นที่เขาต้องติดตามไปกับกองทัพอเมริกัน ซึ่งในพื้นที่บางแห่งก็ไม่ได้ช่วยให้เขาพ้นภัย

เช่นครั้งหนึ่งที่กำปงฉนังตอนที่เขาไปทำข่าวการเสียชีวิตของช่างภาพเอพี-ลิม สวัต อัลถูกสะเก็ดระเบิดพร้อมกับลิมอีกคนซึ่งเป็นนักข่าวเกาหลีใต้ แต่แค่ถูกส่งตัวไปผ่าตัดรักษาตัวที่ไซ่ง่อนแค่ 5 อาทิตย์ อัลก็รีบระเห็จกลับมาเขมร มาทำสิ่งที่เขาใฝ่ฝัน

ตั้งแต่อายุ 13 อัลทนรอจนอายุครบ 16 จึงสมัครเป็นทหารเกณฑ์และถูกปฏิเสธ แต่ก็สมใจได้เป็นในปีถัดมา อัลถูกส่งไปฝึกเรียนถ่ายภาพที่เยอรมนี และมาพนมเปญระยะสั้น 2 เดือน มันเป็นฤดูแรกของระบบลอนนอล/1970 ก่อนจะไปประจำที่ไซ่ง่อนจนปลดประจำการ

ในฤดูร้อนของเดือนเมษายน อัลกลับมาพนมเปญอีกครั้ง คราวนี้ในฐานะช่างภาพอิสระ แต่พนมเปญในปี 1973 ช่างแตกต่างกับเมื่อ 3 ปีก่อนที่มีแต่ผู้คนอพยพเข้ามาจับจองอาศัย โดยเฉพาะเดือนสุดท้ายก่อนเขมรแดงยึดได้ ผู้คนนับล้านอยู่กันทุกหนแห่งแม้แต่ในสวนสาธารณะ ไม่มีสุขลักษณะอนามัย

 

พลัน วิกเตอร์ คุปเป ทนายความของ นวน เจีย ก็ถามถึงราคาอาหารและค่าครองชีพในปีนั้นที่กรุงพนมเปญ

มันเป็นความทรงจำของชายวัย 67 ปี ที่ชื่อ อัล ร็อกออฟ เขาดูอ่อนล้า เรียวหนวดสีเงินที่ริมฝีปากเป็นสิ่งเดียวที่บอกเราว่า เรื่องราวที่เขากำลังเล่าอย่างลื่นไหล คล้ายกับฤดูร้อนของแคแจ๊ด/เมษาที่เต็มไปด้วยงานฉลองเทศกาลปีใหม่ ที่ทำให้เขาสดชื่นและกลับไปเป็นเด็กหนุ่มที่อยากจะลงพื้นเสี่ยงตายกับการถ่ายภาพ

แต่ โรล็องด์ นูวู (Roland Nevu) คนหนุ่มซึ่งมากัมพูชาในปีเดียวกับอัล ผู้ที่สร้างผลงานจำนวนมากกลายเป็นงานคลาสสิคแห่งยุค ขณะที่งานของอัลดูจะจำกัดอยู่ในเซ็ตของกลุ่มจรยุทธ์

จึงไม่แปลกที่เขาสามารถแจกแจงถึงชนิดอาวุธที่ปรากฏอยู่ในผลงานของเขาและโรล็องด์ ต่อคำถามที่ดูธรรมดาของทนายฝ่ายเขมรแดง แต่กระนั้น อัล ร็อกออฟ ก็ไม่ให้น้ำหนักต่อฝ่ายอัยการกรณีมุ่งกล่าวหาว่าใช้เด็กเป็นนักฆ่า เช่น ภาพเด็กชายสวมหมวกริบบิ้นขาวห้อยกระบอกปืน ที่ถูกนำไปผลิตซ้ำเป็นแนวป๊อปอาร์ตร่วมสมัย

แต่อัลกลับคะเนว่าเขาน่าจะมีอายุราว 16-17 ปี และในกองทัพลอนนอลก็มีกรณีแบบนี้ ดูเหมือนหลายประเด็นเขาจะให้น้ำหนักแก่ฝ่ายจำเลย แม้แต่เรื่องซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในภาพ

“มันช่างเหลือเชื่อมาก” อัลบอก ขณะย้อนเวลากลับเล่าเรื่องช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเขาประสบ ขณะหนึ่งได้ยินพวกเด็กหนุ่มทหารเขมรแดง

พวกเขาแหงนมองตึกรามอาคารด้วยสายตาระคนตื่นเต้น หลงใหล และคุยกันถึงความสวยงามของสิ่งปลูกสร้างราวกับไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต พวกเขายังดื่มโค้กและสูบบุหรี่ที่ริบเอามาจากร้านค้า

ดูเหมือนจะทำพวกเขามีความพึงพอใจ โดยเฉพาะบุหรี่

 

มันมีเสน่ห์มากตามที่อัลพูดถึงบางสิ่ง บางสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า เขาไม่ได้เป็นแค่ตากล้องที่ถ่ายภาพแต่ความตายในหน่วยนักรบ

แต่มีความเป็นมนุษย์อย่างสูง กรณีที่ศูนย์เอกสารกัมพูชา (CDCAM) เอาภาพของเขาไปจัดแสดงและให้เขียนข้อความที่เป็นเท็จต่อฝ่ายเขมรแดง อัลขอโทษต่อหน้าศาลอย่างจริงใจ

รวมทั้งบางเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นบนทางแยกถนนสีหนุ-มุนีวงศ์ ภาพอาวุธมากมายที่ถูกขนมากองทิ้งตามมุมถนน และผู้คนในอารมณ์แบบต่างๆ

“ผมได้ยินเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถาม โรล็องด์ นูวู เป็นภาษาฝรั่งเศส เขาบอกว่าพวกเราเป็นนักข่าว ผมเสียดายที่ไม่เข้าใจภาษาฝรั่งเศส แต่มีเสียงคนตะโกนว่า “นี่คือเชลยศึกรัฐบาล” และขอให้เราไปที่หนึ่ง เขมรแดงพวกนั้นขอให้เรายกมือขึ้น เราเดินชิดขวาไปอีก 20 เมตร ก็เห็นรถยนต์… (หยุดชั่วขณะ)… ก็ไม่มีปัญหาอะไร”

สำหรับฉัน นี่คือฉากที่เห็นตอนหนึ่งในภาพยนตร์ ที่ซิดนีย์ ปราณ จอน และอัล ถูกทหารเขมรใบหน้ากึ่งอมนุษย์ใช้อาวุธปืนจี้บังคับและกระทำราวกับเป็นศัตรู

แต่คำให้การของอัล ทำให้เรารู้ว่า พวกเขาเพียงถูกส่งตัวไปกระทรวงข่าวสาร พบกับเขมรอีกกลุ่มหนึ่งที่นั่น ต่างจากพล็อตในภาพยนตร์ที่พวกเขาถูกกระทำอย่างโหดร้าย

ความจริง ฉันไม่มีเจตนาจะแก้ต่างให้ฝ่ายใด แค่ต้องการเล่าเรื่องที่ไม่ปรากฏในภาพยนตร์ และกรณีโรล็องด์ช่างภาพฝรั่งเศสซึ่ง (น่าจะ) อยู่ร่วมในเหตุการณ์และติดอยู่ในสถานทูตฝรั่งเศสหลังรัฐบาลเขมรแดงก่อตั้งได้ราว 3 สัปดาห์

วันที่ 9 พฤษภาคม ชาวต่างชาติทั้งหมดที่ติดค้างอยู่ในกรุงพนมเปญ ก็ถูกส่งตัวออกมาผ่านทางชายแดนไทย

โดยมีอัล ร็อกออฟ และพวกอยู่ในขบวนรถคันสุดท้าย

 

ตอนหนึ่ง นางสาวอันตา กุยเซ (Anta Guisse) ทนายความ เขียว สัมพัน ถามถึงประสบการณ์ของ TCW-565 ซึ่งมีปัญญามากมายในวันที่คุณถูกขับจากสถานทูตฝรั่งเศสไปประเทศไทย

“แต่คุณยังจำเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ คราวนั้นได้หรือไม่?” (29 มกราคม 2013)

“ในวันนั้น มีนักข่าวจำนวนมากตั้งขบวนรออยู่แล้ว และผมได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวคนหนึ่งราว 30 นาทีที่ชายแดน จากนั้นก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ”

“ไม่มีสัมภาษณ์แบบรายงาน (ต่อทางการ) หรือ?” ทนายจำเลยซัก หลังจากที่เธอขอใช้หลักฐานเป็นโทรเลขฉบับหนึ่งแต่ถูกค้านตกไป

อัลยืนยันว่าตนมีอาชีพอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานหรือฝ่ายใด

นอกจากการพบปะกับอดีตเจ้าหน้าที่การทูตอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งรู้จักกันมาก่อนสมัยที่เขาประจำการที่กรุงพนมเปญ

ก็เป็นแค่คุยไปดื่มไปเล็กๆ แถวพัฒน์พงศ์ธรรมดา