วิรัตน์ แสงทองคำ : ฝ่าวิกฤตธุรกิจสื่อสารของซีพี ปรับใหญ่-ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ฝ่าวิกฤต ธุรกิจสื่อสาร (2)

หมายเหตุ ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ กับสังคมธุรกิจไทย จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ซีพีกับธุรกิจสื่อสารท่ามกลางแรงเสียดทานมาก เผชิญการปรับตัวอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วง 2 ทศวรรษแรก

จากช่วงสังคมธุรกิจไทยมองสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องใหญ่มาก ในภาวะการตื่นตัว มาจากแรงกระตุ้นโดยธุรกิจสื่อสารไร้สายก่อนหน้านั้น สู่ภาวะผันแปรในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สร้างภาระทางการเงินหนักหนาเอาการ

ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจสื่อสารเผชิญหน้าโลกเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้วย ขณะบทเรียนและประสบการณ์คลาสสิคว่าด้วยการเลือกและอาศัยพันธมิตรธุรกิจระดับโลก มีความเชี่ยวชาญ ก็ไม่เป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา

ภาพช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เทเลคอมเอเซียในปี 2542 ซึ่งมีสินทรัพย์ทะลุแสนล้านบาท ขณะมีรายได้เพียงประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท กำไรไม่ต้องกล่าวถึง ขาดทุนอย่างต่อเนื่องระดับหนึ่งพันล้านบาท

ดัชนีให้ภาพธุรกิจสื่อสารอ้างอิงโทรศัพท์พื้นฐานไม่เป็นไปอย่างที่คิด

 

เวลานั้นดูเหมือนซีพียังเชื่อมั่น พยายามแสวงบริการเสริมภายใต้เครือข่ายที่มีอยู่ ปี 2541 ได้เข้าสู่ธุรกิจทีวีแบบบอกรับ (Pay TV) อย่างจริงจัง ด้วยการควบกิจการ UTV ของตนเองเข้ากับ IBC (เครือชินวัตร) กลายเป็น UBC เป็นไปตามแผนการเข้าสู่ธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่งโดยตรง

เป็นช่วงเวลาเผชิญความผันแปร มาจากหุ้นส่วนสำคัญด้วย Bell Atlantic แห่งสหรัฐอเมริกา อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นกัน กำลังเดินแผนการปรับตัว การปรับโครงสร้างธุรกิจ ทั้งควบรวมกิจการครั้งสำคัญ ทั้งมีแผนการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะเพิ่งตัดสินใจการเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สาย (ก่อตั้ง Verizon Wireless ร่วมทุนกับ Vodafone แห่งสหราชอาณาจักรในปี 2543) Bell Atlantic ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อช่วงสั้นๆ ครั้งหนึ่งเป็น NYNEX (2540) ในที่สุดในปี 2543 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Verizon Communication

กรณี Bell Atlantic มีสองด้าน

ด้านหนึ่ง-กำลังจะถอนตัวการเป็นหุ้นส่วนกับซีพี ทำให้ซีพีมีภาระมากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง-บทเรียนการปรับตัว การปรับโครงสร้างธุรกิจของ Verizon Communication เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อซีพีและเทเลคอมเอเซียด้วย โดยเฉพาะกรณีธุรกิจสื่อสารไร้สาย

ที่สำคัญ ในช่วงเวลานั้น ในสังคมธุรกิจไทย มีความเคลื่อนไหวย่างมากมายเกี่ยวกับธุรกิจสื่อสารไร้สาย

 

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสั่นสะเทือนสังคมธุรกิจไทย ดีแทค เครือข่ายธุรกิจสื่อสารไร้สาย หนึ่งในสองรายสำคัญของไทยเผชิญปัญหาหนักหนา จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ปี 2543 ตัดสินใจให้กลุ่มธุรกิจสื่อสารต่างชาติเข้ามาถือหุ้นและบริหาร เป็นกรณีแรกในสังคมธุรกิจไทย โดย Telenor Group กลุ่มธุรกิจสื่อสารระดับโลก ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยรัฐบาลนอร์เวย์

ในช่วงปีเดียวกัน (ปี 2543) ซีพีปรับโครงสร้างหนี้ในธุรกิจสื่อสาร พร้อมๆ ความพยายามเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สาย โดยเข้าซื้อบริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส หรือ WCS ผู้ถือสัมปทานธุรกิจโทรศัพท์มือถือคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ซต์ แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ในปลายปีนั้นได้ประกาศแผนร่วมทุนกับ Orange Plc. UK ในนาม TA Orange เพื่อเริ่มต้นกิจการสื่อสารไร้สาย แบรนด์ Orange ในปี 2544

ซีพีเปิดฉากธุรกิจใหม่ เป็น “ผู้เล่น” สำคัญรายที่สาม สามารถปรับตัวเข้าสู่กระแสธุรกิจสื่อสารสำคัญ ในจังหวะที่น่าสนใจ เป็นไปตามแนวโน้มใหม่ ขณะธุรกิจสื่อสารเดิมกำลังเสื่อมถอย

Orange Plc. UK เครือข่ายธุรกิจสื่อสารแห่งสหราชอาณาจักร ถือว่าเป็นธุรกิจต่างชาติรายที่สองเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยในช่วงเวลานั้น

Orange อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ ค่อนข้างสับสนพอสมควร จาก Hutchison Whampoa แห่งฮ่องกง ไปยัง Mannesmann AG แห่งเยอรมนี และ Vodafone แห่งสหราชอาณาจักร

กว่าจะลงตัวเปลี่ยนมือมาอยู่เครือข่าย France T?l?com แห่งฝรั่งเศสในที่สุด (ปี 2543)

 

การปรับตัว ปรับแผนการธุรกิจ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รอจังหวะเวลาผู้ร่วมทุนต่างชาติ (Verizon Communication) ถอนตัวออกไปในปี 2547 เทเลคอมเอเซีย หรือ TA ถือโอกาสพลิกโฉมเปลี่ยนชื่อเป็นทรู คอร์เปอเรชั่น เรียกสั้นๆ ว่าทรู (TRUE)

ภาพเครือข่ายธุรกิจสื่อสารครบวงจรค่อยๆ ปรากฏขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ในจังหวะผู้ร่วมทุนต่างชาติอีกราย (Orange) ในธุรกิจสื่อสารไร้สายถอนตัวไปในปี 2549 บริการสื่อสารไร้สายนาม Orange จึงเปลี่ยนชื่อเป็น TRUE MOVE ตามมาด้วย UBC เปลี่ยนเป็น TRUE VISIONS

ในช่วงใกล้ๆ กันนั้นมีเรื่องราวอันน่าตื่นเต้น ตามหัวข้อข่าวใหญ่

“กรุงเทพฯ / 23 มกราคม 2549-บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิงส์ (พีทีอี) จํากัด ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) และกลุ่มนักลงทุนไทยในนามของบริษัทกุหลาบแก้วได้บรรลุข้อตกลงกับตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ในการซื้อหุ้นของทั้งสองตระกูลในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) จํานวน 1,487.7 ล้านหุ้น หรือ 49.6% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73.3 พันล้านบาท”

เรื่องราวนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธุรกิจสื่อสารไทย กับธุรกิจสื่อสารไร้สายรายแรก รายใหญ่ที่สุด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ด้วยปรากฏโฉมธุรกิจสื่อสารยักษ์ใหญ่แห่งสิงคโปร์ – Singapore Telecommunications หรือ Singtel เครือข่ายธุรกิจสื่อสารต่างชาติอีกรายที่มีบทบาทในสังคมไทยอย่างแข็งขันตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

อีกภาพสำคัญ เป็นดีลครึกโครมมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ให้บทสรุปที่น่าตื่นเต้น ว่าด้วยความสามารถสร้างความมั่งคั่งครั้งใหญ่ของผู้คน “หน้าใหม่” โดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเศษๆ และสะท้อนความสำคัญ ความเป็นไปของธุรกิจสื่อสารไร้สายในมุมมองเชิงบวกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทยด้วย

“เครือซิเมนต์ไทย กิจการเก่าแก่ของไทย มีบริษัทในเครือนับร้อย แม้ยอดขายมีถึง 2 แสนล้านบาท แต่กำไรมากกว่าเอไอเอสเพียงเล็กน้อย” ผมเองเคยกล่าวเชิงเปรียบเปรยไว้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (อ้างจากตอนหนึ่งในการบรรยาย ณ สำนักงานใหญ่เครือซิเมนต์ไทย 10 มิถุนายน 2548)

จากนั้นธุรกิจสื่อสารในเครือซีพีได้ดำเนินแผนการเชิงรุกอย่างเต็มสตีม

 

ปี2554 “กลุ่มทรูได้ขยายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยการเข้าซื้อหุ้นบริษัทของกลุ่มฮัทชิสันในประเทศไทย” เป็นการผนวกรวมผู้ใช้บริการจำนวนหลายพันราย จากเครือข่ายเล็กๆ ของ Hutchison Whampoa แห่งฮ่องกง ด้วยเงินลงทุนประมาณ 6,300 ล้านบาท

จุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2557 ซีพีและทรูสามารถแสวงหาพันธมิตรธุรกิจต่างชาติอีกครั้ง จากเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก จากกิจการเก่าแก่ ซึ่งเผชิญการปรับตัวบ่อยครั้ง ไม่ว่า Verizon Communications (มีรากฐานก่อตั้งยุคแรกเมื่อเกือบๆ 150 ปีที่แล้ว) และ Orange S.A. (ในเครือข่าย ซึ่งมีตำนานย้อนกลับไปในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสกว่า 2 ศตวรรษที่แล้ว) สู่กิจการใหม่ซึ่งเติบโตอย่างมหัศจรรย์

China Mobile ภายใต้อาณัติรัฐบาลจีน เพิ่งก่อตั้งอย่างจริงจังในช่วงวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” ตามแผนการระดมทุนจากตลาดหุ้นทั้งที่ฮ่องกงและนิวยอร์ก กิจการเติบโตอย่างน่าทึ่ง กลายเป็นผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก

China Mobile ถือหุ้นทรูในปัจจุบันด้วยสัดส่วน 18% ทั้งนี้ ในครั้งแรก เป็นไปตามแผนระดมทุนครั้งใหญ่ ทรูได้เงินจาก China Mobile เกือบๆ 30,000 ล้านบาท ในจังหวะที่สอดคล้องกับการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (หรือที่เรียกว่า 4 G) ปรากฏว่า ทรูเป็นผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว สามารถคว้าใบอนุญาตทั้งย่านความถี่ 900 และ 1800 MHz (ปี 2558)

เรื่องราวซีพีกับธุรกิจสื่อสารและการส่งต่อการบริหารเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทยสู่คนในตระกูล “เจียรวนนท์” รุ่นต่อมา มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก