อนุช อาภาภิรม : ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อโลกจากวิกฤตโรคระบาด โควิด-19

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (จบ)
โลกหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร

การระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด ตัวเชื้อยังมีวิวัฒนาการต่อไปเพื่อปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงของเขาที่เป็นเจ้าเรือนใหม่

มนุษย์เองก็ได้พัฒนาวิธีการป้องกันรักษาอย่างรวดเร็ว เช่น การเร่งผลิตวัคซีน แม้ว่าเราจะมีความไม่รู้อยู่มาก ทั้งความเป็นไปของสังคมมนุษย์ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอื่นอีกมาก ไม่ใช่กำหนดโดยโควิด-19 อย่างเดียว

แต่เวลาที่ผ่านไปเกือบปีหนึ่งนี้ ทำให้พอคาดเดาได้ว่าโลกหลังโควิด-19 จะเป็นทำนองนี้

 

1.โควิด-19 ที่แพร่ระบาด มีพฤติกรรมคล้ายยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจได้แก่

ก) การใช้มนุษย์เป็นแหล่งเก็บโรค ดังจะเห็นว่า มีผู้คนจำนวนมากเมื่อได้รับเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อย แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้

ข) การใช้ผู้คนจำนวนหนึ่งเป็นพื้นที่เพื่อขยายตัวเอง ก่ออาการโรคทั้งระบบทางเดินหายใจทำลายปอด นอกจากนี้ ทำลายหัวใจ ไต สมอง และโรคเลือดได้ด้วย

รวมความแล้วโรคนี้จะไม่ออกไป หากแต่จะกลายโรคประจำตัวของมนุษย์

ในกรณีที่ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ได้ผล สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ โควิด-19 จะระบาดอย่างรุนแรงได้ตลอดปี

แต่คาดว่า เรื่องจะเป็นด้านดีมากกว่า นั่นคือมนุษย์สามารถผลิตวัคซีนมีประสิทธิภาพ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น โควิด-19 มีแนวโน้มจะเป็นโรคประจำฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่แม้จะเป็นในกรณีที่ดี โควิด-19 ก็ยังคงส่งผลกระทบรุนแรงต่อไป

ในระยะสั้น เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเร็วบางกิจกรรม เช่น ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบินไม่อาจฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมได้ ในระยะยาว เกิดค่าใช้ค่าทางการแพทย์สาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีกมาก ในการต้องให้วัคซีนเป็นประจำทุกปี ต้องเตรียมอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์

เป็นภาระหนักในการยกมาตรฐานการครองชีพของพลเมือง

 

2.การปฏิเสธและการพยายามกลับไปเหมือนเดิมที่ไม่สำเร็จตามคาด การปฏิเสธดังกล่าวเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำและประชาชนทั่วไปในหลายประเทศ เช่น การชุมนุมประท้วงมาตรการเข้มงวดของรัฐบาลหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว

ดังนั้น จึงมีลักษณะเป็นเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบ ไม่ใช่เป็นการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล นั่นคือระบบและโครงสร้างทางสังคม ที่อาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ผลิตของกินของใช้ได้ล้นเหลือ สร้างเมืองที่สว่างไสวด้วยตึกระฟ้า เมืองที่น่าตื่นเต้นไม่หลับใหล การบินว่อนไปทั่วฟ้าของสายการบินเหมือนสร้างเมืองในอากาศ ระบบเช่นนี้เองที่ปฏิเสธทุกอย่างที่มาคุกคามมัน โครงสร้างที่ผูกโยงกันทั้งโลก จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้มันฟื้นกลับไปเหมือนเดิม

การปฏิเสธมีอยู่ 4 ระดับด้วยกันได้แก่

ก) ปฏิเสธความรุนแรงของโรค ไม่ควรกลัวจนเสียหายทางเศรษฐกิจ

ข) ปฏิเสธมาตรการการป้องกัน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยอันเป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ และไม่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม

ค) ปฏิเสธการดำรงอยู่หรือบทบาทของไวรัสในระบบนิเวศ และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เห็นแต่ว่าไวรัสเป็นปรสิตที่จะต้องกำจัดทิ้งอย่างเดียว ทำให้มันหมดไปเหมือนเชื้อโรคฝีดาษ

ง) ปฏิเสธเพื่อนมนุษย์ เห็นว่าคนชราที่มีโรคมาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรยอมเสียสละตายไป เพื่อรักษาเศรษฐกิจส่วนรวมไว้ การปฏิเสธในขั้นที่สามน่าจะเป็นการทำลายระบบนิเวศโลก ส่วนการปฏิเสธข้อสุดท้าย ย่อมทำลายความน่าอยู่ของสังคมมนุษย์ เนื่องจากผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวมีอยู่จำนวนมากด้วยกัน

การปฏิเสธที่ฝืนความเป็นจริงไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน ยิ่งเวลาผ่านไป ผู้คนจำต้องยอมรับความเป็นจริงว่า โลกแบบเดิมไม่อาจหวนกลับมาได้

 

3.การเป็นเมือง เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองทางอารยธรรม การเป็นเมืองเพิ่มขึ้นทั่วโลกในยุคสมัยใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดเมืองใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ ในต้นศตวรรษที่ 21 ประชากรเมืองมีมากกว่าประชากรในชนบทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

คาดหมายกันว่าประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าเมืองมีความได้เปรียบเชิงขนาด เป็นพลวัต ศูนย์กลางแห่งอำนาจ ความมั่งคั่งและนวัตกรรม

แต่โควิด-19 ได้คุกคามความได้เปรียบนี้อย่างรุนแรง ทำให้เมืองใหญ่ทั้งหลายกลายเป็นเหมือนเมืองร้าง

การพัฒนาเมืองในอนาคต มีอยู่สามแนวทางใหญ่ ได้แก่

ก) การสร้างกลุ่มเมือง เชื่อมต่อเมืองเข้าด้วยกัน จีนได้เอางานเอาการในเรื่องนี้ เช่น การสร้างกลุ่มเมืองปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า การพัฒนาด้านนี้เป็น “ธรรมชาติ” สอดคล้องกับที่เป็นมา เป็นแนวโน้มหลัก ทำให้ความได้เปรียบทางขนาดและอื่นๆ เด่นชัดขึ้น คนมีรายได้น้อยก็สามารถอยู่ในเมืองเหล่านี้ได้ แต่ต้องผ่านด่านโควิด-19 ให้ได้ก่อน

ข) การสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การประหยัดพลังงานหรือการใช้พลังงานทดแทน การสร้างพื้นที่สีเขียวจำนวนมากที่ปลูกต้นไม้ปกคลุมอาคารก็มี ไม่จำต้องใช้ระบบขนส่งมาก เดินถึงกันได้และทำการเกษตร สนองอาหารได้ระดับหนึ่งเป็นกระแสทำกันทั่วโลก

ค) การสร้างเมืองฉลาด สามารถติดตามดูแลกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ของเมืองได้อย่างทันเวลา โดยอาศัยเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร ทำให้เมืองปลอดภัย น่าอยู่

แต่การพัฒนาเมืองในสองแบบหลัง ต้องมีการออกแบบ การก่อสร้างและการบำรุงรักษาที่ดี เมืองมีราคาแพง สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่จะอยู่อาศัย หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นเป้าให้แก่ผู้มีรายได้น้อยอพยพเข้ามาอยู่อาศัย สร้างหย่อมความยากจนในเมืองขึ้น การเป็นเมืองคงชะลอตัวหรือไม่เป็นที่ตื่นสนใจกันเหมือนเดิม

 

4.ความเชื่อมโยงและการสะดุดของความเชื่อมโยง การเชื่อมโยงมีด้านดีที่สร้างระบบให้มีความคงทน เมื่อเกิดปัญหาที่จุดหนึ่ง ไม่สามารถใช้สินค้าและบริการได้ ก็หันไปใช้จุดอื่นได้ แต่มีจุดอ่อนที่เมื่อเกิดกระทบขึ้นที่จุดหนึ่ง ก็สามารถส่งผลกระทบไปทั่วโลกได้ เช่น วิกฤติการเงินเอเชีย 1997 ที่เริ่มต้นในประเทศไทยส่งผลกระทบไปทั่วโลก

โควิด-19 ได้เปิดเผยจุดอ่อนใหญ่ของการเชื่อมต่อก่อการสะดุดของการเชื่อมโยงครั้งใหญ่ เมื่อมันบีบให้ทางการสั่งปิดเมืองปิดประเทศยาวนานหลายครั้ง

พรมแดนประเทศต่างๆ ถูกตรวจตราอย่างเข้มงวด รวมทั้งพรมแดนไทย-เมียนมา แม้กระทั่งชาวบ้านก็ตั้งด่านไม่ให้คนภายนอกเข้ามาในหมู่บ้านโดยไม่มีการตรวจสอบ

การต่อเชื่อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โซ่อุปทานและการขนส่ง การไหลเวียนของการลงทุนและการบริโภคถูกกระทบอย่างรุนแรง

ที่ควรกล่าวถึงได้แก่ กระบวนโลกาภิวัตน์ ไปจนถึงการร่วมกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน สหภาพยุโรป และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น องค์การระหว่างประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับการท้าทายและการคุกคามมากขึ้น ที่ควรจับตาได้แก่กลุ่มอาเซียนใกล้ตัว กลุ่มประเทศอาเซียนมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมืองต่างกัน

ขณะนี้เศรษฐกิจบางประเทศที่รุ่งเรืองมาก่อนชะลอตัว ที่เพิ่งเกิดใหม่โตเร็วกว่า การร่วมมือกันต้องใช้ความอดทนมาก การแย่งชิงอิทธิพลของสหรัฐ-จีนในภูมิภาค ผสมกับความเชื่อมโยงทางกายภาพที่ลดลงจากโควิด-19 ทำให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะคณะนายทหารไม่ได้ไปมาหาสู่กันเหมือนเดิม เหล่านี้ล้วนเพิ่มความเปราะบางขององค์กรขึ้นอีก

ขณะที่การเมืองเกิดอุปสรรคถูกท้าทาย คาดว่าชุมชนและท้องถิ่นจะเพิ่มบทบาทความสำคัญขึ้น ในด้านการผลิตและบริการบางอย่าง เช่น ด้านอาหาร การบริบาล

 

5.การเร่งความสำคัญของการเชื่อมโยงเสมือนจริง ในช่วงของการรักษาระยะห่างทางสังคม ได้ปรากฏการเชื่อมโยงเสมือนจริงที่เข้ามาทดแทน ได้แก่ การเรียนทางไกล ประชุมทางไกล แพทย์ทางไกล การค้าปลีกออนไลน์ การบันเทิงในบ้าน การแข่งกีฬาที่ไม่มีผู้ชมในสนาม

เหล่านี้สามารถทดแทนการเชื่อมโยงทางกายภาพหรือแบบตัวต่อตัวได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่าผู้คนต้องการชีวิตทางสังคมที่เป็นจริงด้วย

การเชื่อมโยงเสมือนจริงมีจุดอ่อนสำคัญอยู่ 2 ประการได้แก่

ประการแรก ต้องพึ่งพลังงานไฟฟ้า ถ้าเกิดไฟฟ้าดับวงกว้างและยาวนาน ด้วยหลายเหตุปัจจัย เช่น การล้มเหลวของระบบ ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ภัยธรรมชาติ ความปั่นป่วนทางสังคม ก็จะทำให้การเชื่อมโยงแบบนี้สะดุดชะงัก และไม่มีการเชื่อมโยงแบบอื่นมาแทนได้

ประการที่สอง เป็นแหล่งของอาชญากรรม การจารกรรมและการก่อการร้ายที่ป้องกันได้ยาก เกิดอาชญากรรมทางไกล การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปขาย การโจรกรรมและการล้วงกระเป๋าทางไกล การก่อวินาศกรรม ถ้าหากรัฐและบรรษัทใหญ่เป็นผู้สนับสนุนหรือลงมือก็ยิ่งป้องกันได้ยาก

 

6.ความจำกัดของเทคโนโลยีและการมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีนั้นคิดค้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต แต่มีจุดอ่อนและความจำกัด 4 ประการ คือ

ก) เมื่อพัฒนาถึงระดับสูง การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยิ่งยาก พบว่าความสามารถในการผลิตของประเทศพัฒนาแล้ว เพิ่มช้าหรือชะงักงัน

ข) เร่งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

ค) เพิ่มแรงกดดันต่อคนงานเพื่อให้ได้เป้าหรือผลงานที่สูงขึ้น ปรากฏความอ่อนล้าของคนงานจากการทำงานไปทั่ว

ง) ประสิทธิภาพทำลายกันชนของความมั่นคงของระบบ สร้างความเปราะบางให้แก่สังคมเป็นอย่างมาก ธรรมชาติทำงานแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด ไม่ได้เน้นเรื่องประสิทธิภาพ เช่น แม่ปลาค้อดที่น้ำหนักมาก อาจออกไข่ครั้งเดียวได้กว่า 2 ล้านฟอง โดยอยู่รอดเป็นตัวโตเต็มวัยไม่กี่ตัว ไม่ได้ใช้การผลิตแบบพอทันเวลาเหมือนในโรงงานสมัยใหม่

ซึ่งแม้มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่คงทนเท่า

 

7.การเกิดระบบการเงินและรายได้แบบใหม่ โควิด-19 ช่วยเร่งการเกิดขึ้นของเงินดิจิตอล ที่สำคัญโดยผ่านโครงการช่วยเหลือต่างๆ เช่น เงินช่วยเหลือระหว่างตกงาน การช่วยเหลือผู้ยากไร้ การพักชำระหนี้ การช่วยเหลือกลุ่มด้อยโอกาสและอื่นๆ การใช้เงินดิจิตอลทำให้โครงการเหล่านี้ปฏิบัติได้อย่างว่องไว ขณะเดียวกันเป็นการกดดันให้ พลเมืองรากหญ้าต้องเป็นผู้รู้หนังสือทางดิจิตอลด้วย นับเป็นการแปรโฉมครั้งใหญ่ของเงินตราของโลก

หลายประเทศพัฒนาแล้วมุ่งมั่นในการนำแนวคิด “รายได้ขั้นพื้นฐาน” มาปฏิบัติมากขึ้น เป็นการแจกเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนพลเมืองเป็นประจำ การทำแบบนี้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่ง ได้แก่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ และลดความขัดแข้งรุนแรงภายในสังคม โดยเฉพาะราษฎรรากหญ้ากับผู้ปกครอง

คาดหมายว่าโครงการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยที่มีอยู่มากด้วยกัน น่าจะดำเนินต่อไปอย่างถาวรเท่าที่จะปฏิบัติได้ ตามแนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐาน

โควิด-19 ก่อให้เกิดสถานการณ์คล้ายสงครามใหญ่ เป็นการเตือนครั้งใหญ่และอาจเป็นครั้งสุดท้ายจากระบบนิเวศว่า มนุษย์จำต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว หาไม่แล้วพวกเขาจะต้องพบกับอันตรายร้ายแรงกว่านี้อีกเป็นอันมาก