คนของโลก : แอนโทนี่ บลินเคน ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐคนใหม่

Deputy Secretary of State Antony Blinken testifies on Capitol Hill in Washington, Tuesday, Jan. 27, 2015, before the Senate Banking Committee hearing on Iran sanctions. A group of Senate Democrats told the White House on Tuesday that they won't support passage of an Iran sanctions bill until at least the end of March. (AP Photo/Susan Walsh)

แอนโทนี่ “โทนี่” บลินเคน ผู้ช่วยใกล้ชิดโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐคนใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

บลินเคนผู้มีแนวทางการทำงานแบบนักการทูตยุคเก่า วัย 58 ปี มีบุคลิกสุขุม สุภาพนุ่มนวล เหมาะสมทั้งในแง่ภาพลักษณ์และภาระหน้าที่

นอกจากนี้ บลินเคนยังมีแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนที่ฝังรากมาจากพื้นเพครอบครัวด้วย

บลินเคนเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศส มีแนวคิดทางการเมืองสนับสนุนความร่วมมือในระดับนานาชาติ

และมีแนวคิดที่จะทำงานเพื่อฟื้นคืนความสัมพันธ์กับพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

บลินเคน หรือที่ถูกเรียกอีกชื่อว่า “โทนี่” มีบุคลิกตรงกันข้ามกับไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในเวลานี้

 

แม้บลินเคนจะเป็นคนสนิทที่ทำงานใกล้ชิดไบเดนมาตลอด แต่อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีแนวคิดที่แตกต่างจากไบเดนอยู่ในบางเรื่อง

บลินเคนสนับสนุนที่จะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงยุติปัญหาในต่างประเทศหากอยู่บนพื้นฐานของเรื่องสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ไบเดนผู้เคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ จะระมัดระวังเรื่องการใช้กำลังทหารอย่างยิ่ง

คำพูดที่เป็นที่กล่าวถึงของบลินเคนก็คือ “มหาอำนาจไม่ขู่กันหรอก” ในระหว่างการถกเถียงเรื่องการส่งกำลังทหารแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรีย หมายความว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่ขู่ใช้กำลังพร่ำเพรื่อ หากไม่มีความตั้งใจจะใช้มันจริงๆ ซึ่งสุดท้ายประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจให้สหรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการแทรกแซงทางการทหารในซีเรียแต่มีบทบาทอยู่อย่างจำกัดเท่านั้น

ไม่ใช่แค่เรื่องซีเรีย แต่ก่อนหน้านี้ บลินเคนยังมีแนวคิดสนับสนุนการส่งกำลังทหารสหรัฐบุกเข้าไปในอิรักในปี 2003 ด้วย

 

แนวคิดต่อต้านความทารุณโหดร้ายของบลินเคน สืบเนื่องจากการเป็นลูกชายของซามูเอล พิซาร์ พ่อเลี้ยงชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ หนึ่งในผู้รอดชีวิตที่อายุน้อยที่สุดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี

บลินเคนย้ายตามพ่อที่ต้องทำงานในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เข้าเรียนในโรงเรียนจานีน มานูเอล โรงเรียนชั้นนำที่นั่น

และได้เรียนรู้แนวทางในการดำรงบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก ในฐานะวัยรุ่นชาวอเมริกันที่รายล้อมไปด้วยชาวต่างชาติ ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามเวียดนามขึ้นพอดี

พ่อทางสายเลือดของบลินเคนเป็นนายธนาคารนักลงทุนมากประสบการณ์ ขณะที่แม่อย่างจูดิธ พิซาร์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมอเมริกัน ในกรุงปารีส แหล่งรวมศิลปินมากหน้าหลายตาอยู่นานหลายปี

ชีวิตวัยเด็กในกรุงปารีสที่รายล้อมด้วยศิลปะ ทำให้บลินเคนได้รับการปลูกฝังความชื่นชอบในดนตรีแจ๊ซก่อนจะก้าวไปสู่ความหลงใหลในดนตรีร็อกถึงกับเขียนเนื้อเพลง “Another Brick in The Wall” ในหนังสือรุ่นตอนอยู่มัธยมปลายเอาไว้ด้วย

หลังกลับมายังสหรัฐ บลินเคนเคยร่วมแสดงดนตรีโคเวอร์ “The Beatles” และใช้เวลาว่างในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาแต่งเพลงของตัวเองซึ่งมีให้ฟังในแอพพลิเคชั่น Spotify ด้วย

บลินเคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนเรียนต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เริ่มทำงานด้านกฎหมายในสหรัฐและในฝรั่งเศส

 

บลินเคนเริ่มงานด้านการเมืองกับพรรคเดโมแครต ได้ร่วมทำงานในคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ ในยุคประธานาธิบดีบิล คลินตัน รวมถึงเคยนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในวุฒิสภา ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศในยุคประธานาธิบดีโอบามา

บลินเคนเล่าถึงมุมมองที่ถูกหล่อหลอมจากพ่อเลี้ยงเอาไว้เมื่อปี 2017 ถึงเหตุการณ์ที่พ่อหนีจากเงื้อมมือทหารเยอรมันระหว่างการเดินแถวมรณะ (death march)

พิซาร์ที่ยังเป็นวัยรุ่นหลบอยู่ในป่าเป็นเวลา 2 วันก่อนจะได้ยินเสียงรถถังเคลื่อนเข้ามาใกล้ๆ และก็ต้องโล่งอกเมื่อทหารที่รถถังดังกล่าวไม่ใช่ทหารเยอรมัน แต่เป็นทหารอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน

“พ่อคุกเข่าลง พูดภาษาอังกฤษที่แม่เขาสอนไว้ให้เขารู้แค่ 3 คำ “พระเจ้าอำนวยพรอเมริกา”” บลินเคนระบุ

และว่า “ทหารคนนั้นอุ้มพ่อขึ้นรถถัง ได้ไปยังสหรัฐอเมริกา ไปสู่อิสรภาพ”

“นั่นคือประเทศที่ผมเติบโตขึ้นมา สหรัฐอเมริกามีบทบาทที่พิเศษและไม่มีใครเหมือน บทบาทในฐานะผู้ให้การต้อนรับ” บลินเคนเล่า