บทเรียนชีวิตของ ‘ธงทอง จันทรางศุ’ ในการเตือนตัวเอง-เตือนคนอื่น

ธงทอง จันทรางศุ

ชีวิตที่อยู่ในโลกนี้มานานทำให้เราเห็นเรื่องราวต่างๆ มามากมาย

ถ้าเก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นข้อคิดสะกิดใจสำหรับเตือนตนให้ทำอะไรด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนก็จะทำให้เราอยู่ในโลกนี้ต่อไปด้วยความสุขุมรอบคอบมากขึ้น

และบางทีอาจจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป

พูดอะไรเป็นหลักการอย่างนี้เข้าใจยากนะครับ

เราลองมาดูตัวอย่างในชีวิตจริงกันดีกว่า

จะได้เข้าใจอะไรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สมมุติว่าเรามีเพื่อนรักที่คบค้ากันมาช้านานหลายสิบปีคนหนึ่ง

ต่างฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีให้แก่กันมาโดยตลอด

แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนของเราคนนั้นกำลังจะเดินทางผิด คิดทำอะไรที่ไม่เข้าท่า ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ตัวเองและสู่คนรอบข้างได้

ในสถานการณ์อย่างนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า เราซึ่งเป็นเพื่อนรักและสนิทสนมกันควรออกปากทักหรือตักเตือนเขาบ้างหรือไม่

ผมเชื่อว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราถามตัวเองว่า เราสนิทกันมากพอและหวังดีกันมากพอหรือไม่

หากคำตอบเป็นไปในแง่บวก นั่นก็แปลว่าเราจะออกปากพูดคุยกับเพื่อนของเราเพื่อให้ความเห็นในอีกมุมหนึ่ง เพื่อให้เพื่อนของเราได้นำแง่มุมนั้นไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจ

ด้วยความหวังว่าการตัดสินใจในรอบนี้ของเพื่อนเราจะมีความระมัดระวังรอบคอบมากยิ่งขึ้น

พูดถึงตรงนี้ความรู้ที่เคยเรียนวิชาศีลธรรมเมื่อตอนเป็นเด็กอยู่ในโรงเรียนก็โผล่พรวดขึ้นมาทีเดียว ในวิชาที่ว่านั้นมีหัวข้อการเรียนเรื่อง ทิศ 6 อยู่ด้วย เวลาจะสอบปลายภาคต้องท่องแทบตายเพื่อจำให้ได้ว่าทิศทั้งหกมีอะไรบ้าง

พออายุล่วงมาถึงขั้นนี้แล้ว ใครจะไปจำได้ว่าทิศทั้งหกมีอะไรบ้าง เมื่อจำไม่ได้ก็ต้องถามอากู๋หรือกูเกิลละว่ามีอะไรบ้าง

คุณอาบอกว่าอย่างนี้ครับ

“ทิศหก บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัวจัดเป็น 6 ทิศ ดังนี้

1. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา-มารดา

2. ทักขิณทิส ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครู-อาจารย์

3. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามี-ภรรยา

4. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย

5. อุปริมทิส ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์

6. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง”

เรื่องที่เรากำลังสนทนากันอยู่นี้จัดเข้าอยู่ในทิศที่สี่คือเรื่องของการคบค้ากับมิตรสหายอย่างแน่นอน เรื่องนี้ยังจำติดสมองได้อยู่ส่วนหนึ่งว่าหน้าที่ของมิตรที่ดี จะต้องทำตนเป็น “มิตรแนะนำประโยชน์”

คุณครูผู้สอนเรื่องทิศหกบอกว่า ถ้าเราเห็นว่าเพื่อนเดินทางผิดก็ต้องตักเตือนแนะนำ

ในชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปีทั้งเรื่องราวของตัวเองและเรื่องของคนอื่นที่เคยได้ยินได้ฟังมา

“มิตรแนะนำประโยชน์” แบบนี้เลิกคบกันไปหลายรายแล้วครับ

ฮา!

นั่นหมายความว่า เมื่อเราแนะนำไปแล้วเพื่อนเกิดโกรธเคืองขึ้นมา สัมพันธไมตรีที่มีมาเก่าก่อนก็จะผุกร่อนเสียเปล่าๆ ผมมานั่งนึกดูด้วยความเป็นธรรมแล้วก็บอกตัวเองว่า ข้อแรก คำแนะนำหรือสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความจริงและบอกเพื่อนของเราไปนั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ขนมหวานที่อร่อยลิ้น หากแต่เป็นยาขมที่มีรสชาติเฝื่อนและฝาด ไม่ค่อยมีใครชอบกินของขมหรอกครับ

ความจริงแท้นั้นรสชาติไม่ได้หวานละมุนเสมอไป

หรือถ้ามองด้วยความเป็นธรรมอีกชั้นหนึ่ง ก็ใช่ว่าตัวเราเองจะเป็นฝ่ายที่มองเห็นอะไรรอบคอบและถูกต้องไปทั้งหมดเสียเมื่อไหร่ เพื่อนของเราเขาอาจจะคิดเก่งกว่าเรา มีความลึกซึ้งในข้อมูลมากกว่าเรา และการตัดสินใจตามความเชื่อของเขาอาจจะเป็นประโยชน์เที่ยงแท้ยิ่งกว่าแง่มุมของเราก็เป็นได้

เพราะฉะนั้น แค่คิดในเบื้องต้นว่า เราจะทำตัวเป็นมิตรแนะนำประโยชน์หรือไม่ก็ต้องคิดให้จงหนักและจงดี ผมเคยพบกรณีศึกษาที่มีผู้คิดทบทวนแบบนี้แล้ว ก็หยุดนิ่งเสียตั้งแต่แรกหรืออาจจะเอ่ยปากเตือนแบบละมุนละม่อมเพียงครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าท่าทางไม่ดี ก็ถอยดีกว่า

โบราณท่านบอกว่า “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ”

ถ้าคิดจะคบกันไปให้ยืดยาวก็ต้องยับยั้งชั่งใจ อย่าต่อความยาวสาวความยืด แต่ถ้าคิดจะตะลุมบอน ขาดเป็นขาด เลิกคบเป็นเลิกคบ ก็อภิปรายโต้เถียงกันต่อไปเถิดครับ ประเดี๋ยวก็จะเห็นผลทันตา

ไม่ต้องลำบากไปเผาผีกันอีกต่อไป

สองวันก่อน ผมฉุกคิดเรื่องนี้ขึ้นมาในหัวใจและได้ปรารภกับเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งในเชิงเล่าสู่กันฟัง รุ่นน้องคนที่ว่าชวนให้ผมคิดต่อไปถึงเรื่องการฟังพระธรรมเทศนา ว่าเวลาพระท่านจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ให้ญาติโยมฟัง คนจะฟังเทศน์ต้องอาราธนาธรรมเสียก่อน ด้วยบทอาราธนาที่ขึ้นต้นว่า “พรหมา จ โลกา…” นั่นไงครับ

นั่นแปลว่าคนฟังต้องปรับความคิดในหัวใจของตัวเองให้เปิดกว้าง พร้อมจะรับคำแนะนำจากพระธรรมกถึกเสียก่อนเป็นเบื้องต้น

ข้างฝ่ายพระภิกษุผู้แสดงธรรม ก็ต้องเลือกเฟ้นธรรมะที่เหมาะกับจริตหรือปัญหาที่ผู้ฟังต้องพบต้องเผชิญมาแสดง

ถ้าทำอย่างนี้ได้ทั้งสองข้าง การแสดงพระธรรมเทศนาก็จะไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรมพิธีการ หากแต่เป็นการรักษาไข้ใจของผู้ฟังเทศน์ได้อย่างตรงจุด

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเปรียบเทียบ เพื่อจะบอกกับตัวผมเองและบอกกับทุกคนว่า เวลาพระท่านจะเทศน์ท่านก็ดูตาม้าตาเรือเหมือนกัน ว่าคนฟังอยู่ในอารมณ์จะฟังเทศน์หรือไม่

ถ้าจับกระแสความคิดได้ว่าคนฟังเทศน์กำลังจะรีบไปทำธุระอะไรที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ฝ่ายพระท่านเทศน์เสียยืดยาว ใจคนฟังไม่นิ่งเสียแล้ว จะเกิดประโยชน์เพียงใดก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน

แต่เรื่องอย่างนี้ก็ไม่แน่นะครับ ถ้านักปราชญ์กับนักปราชญ์มาพบกัน บางทีเรื่องก็อาจจะกลับตาลปัตรไปเป็นอีกข้างหนึ่งก็ได้

เช่น มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมกุฏวิทยมหาราช วันหนึ่งเสด็จลงทรงสดับพระธรรมเทศนาซึ่งเป็นข้อหนึ่งของพระราชานุกิจสมัยนั้น

พอดีเป็นสมัยที่จะมีพระเจ้าลูกเธอประสูติ ทรงกระวนกระวายพระทัยมากอยู่

พระผู้แสดงธรรมคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) คงสังเกตพระอากัปกิริยาได้ จึงแสดงพระธรรมเทศนาเสียยืดยาว

ตรงกันข้ามกับอีกสองวันต่อมา ไม่มีการเร่งร้อนสิ่งใด สมเด็จโตถวายเทศน์หน้าที่นั่งอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ท่านเทศน์สั้นนิดเดียว

จนพระเจ้าอยู่หัวทรงสงสัยและรับสั่งถาม ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้

สมเด็จโตถวายพระพรว่า วันก่อนเห็นทรงมีพระหฤทัยขุ่นมัว จึงถวายพระธรรมเทศนายืดยาว จะได้ระงับดับความขุ่นมัวนั้น ส่วนวันนี้เห็นทรงพระสำราญดีอยู่แล้ว มีพระราชหฤทัยผ่องใส จะไม่ทรงสดับพระธรรมเทศนาก็ได้

นี่เป็นเรื่องของนักปราชญ์ท่านพูดคุยกัน

คนอย่างเราไม่ได้กระผีกริ้นของท่าน เราก็วางตนแต่พอสัณฐานประมาณก็แล้วกันครับ ถ้าดูทิศทางลมล่างลมบนแล้ว จะทำหน้าที่มิตรแนะนำประโยชน์ ก็ต้องระมัดระวังกันหน่อย ถ้าจะให้ดีแล้ว รอเขาอาราธนาดีกว่า

เราเตือนคนอื่นไม่ค่อยได้ผลหรอกครับ

เตือนตัวเรานี่เองเป็นดีที่สุด และต้องเตือนบ่อยๆ ด้วย

ถ้าเห็นผมเตือนตัวเองน้อยเกินไปเมื่อไหร่ ฝากท่านทั้งหลายช่วยเตือนผมด้วยนะครับ

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์รายปี ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่