มนัส สัตยารักษ์ : เสพติดสื่ออนไลน์ (เมื่อบางเว็บ แถ-สร้างกระแส!)

ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าสังคมไทยเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่คนไทยเลิกอ่านหนังสือเล่มและหนังสือพิมพ์ หันมาใช้สื่อดิจิตอล อ่าน อี-บุ๊กและหนังสือพิมพ์ออนไลน์กัน ผมทายว่าสำหรับประเทศไทยน่าจะอีกนานกว่าจะถึงยุคดิจิตอลเต็มร้อยที่ว่านั้น

ข้อสังเกตจากของจริงที่เห็นง่ายๆ ก็คือ ตัวผมเองเริ่มจะเบื่อสื่อดิจิตอลทั้งหลายแหล่ รวมไปถึง “เฟซบุ๊ก” ที่อ่านแทนหนังสือพิมพ์รายวันมาหลายปีแล้ว

ผมเริ่มกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์และแม็กกาซีนกระดาษอีกวาระหนึ่ง

ข้อสังเกตจากคนใกล้ตัวที่สุดคือ ลูก 2 คน ชาย-หญิง ซึ่งเรียนและประกอบอาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ทั้งคู่ ก็ดูเหมือนจะเลิกสนใจเฟซบุ๊กเหมือนกัน

คนหนึ่งที่เคยติดแอพพลิเคชั่นต่างๆ งอมแงมก็เลิกเล่นไปนานแล้ว พวกเขาจะจับหรือเกาะติดคอมพิวเตอร์เฉพาะที่เป็นงานเป็นการในอาชีพของเขาเท่านั้น

ไม่มาเสียเวลาอย่างผม ไม่เคยอ่านคำด่าทอหยาบคายที่ออกมาจากอวัยวะส่วนอื่นที่ไม่ใช่สมอง เรื่องโกหกตอแหลที่สร้างกระแส เรื่องคนฝ่ายรัฐบาลทะเลาะกับนักการเมือง เรื่องผู้ใหญ่ระดับนายกรัฐมนตรีวิวาทะกับเด็กมหาวิทยาลัย ฯลฯ

ข้อสังเกตถัดมาก็คือ การกลับมาของหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ประกาศปิดตัวไปแล้ว การดำรงคงอยู่ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ทำท่าว่าจะจอดป้ายเข้าอู่หรือเปลี่ยนทิศทาง และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้…

ผู้จัดการใหญ่ “เครือมติชน” ให้ข่าวเปิดเผยว่า ไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ.2559 เครือมติชนมีกำไรสุทธิ 30 ล้านบาทหลังจากขาดทุนมาก่อนหน้านี้ (วาว!)

ทั้งสองระบบของสื่อล้วนมีข้อดี-ข้อเสีย แต่ ณ ที่นี้เป็นเพียงความคิดเห็นแบบว่าของใครก็ของมัน ของผมเป็นประเภทคนไม่รู้จริงหรือรู้ไม่จริงสักเท่าไร จึงไม่ควรแจกแจงอย่างเปรียบเทียบกันให้เกิดการโต้เถียง จึงขอเพียงบอกเล่าประสบการณ์เท่าที่ผ่านพบมาเท่านั้น

เฟซบุ๊กช่วยให้เราได้เข้าถึงเพลงเพราะๆ ภาพเขียนและงานศิลปะของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้เราต้องใช้เงินจำนวนมากซื้อมาหรือต้องเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเอง

เราได้รู้เหตุการณ์ความเป็นไปแต่ดึกดำบรรพ์มาจนถึงข่าวที่เพิ่งเกิดขึ้นโดยสะดวก

เมื่อเริ่มใช้เฟซบุ๊กผมรู้สึก “สนุก” มาก เหมือนได้พูดคุยกับเพื่อนที่หาโอกาสพบกันยากและไม่ได้พบกันมานาน หรือได้คุยกับคนที่เรายกย่องและอยากคุยด้วย (ถ้าเขาตอบรับที่เรา request ไป) และได้คุยกับคนที่เขาอยากคุยกับเราแล้วขอ request มา

ดังนั้น ในหน้ากระดานของผมจึงเป็นกลุ่มของนักเขียน นักอ่าน นักหนังสือพิมพ์ และสำนักพิมพ์หรือคนทำหนังสือเสียส่วนใหญ่

และที่ผมใช้คำว่า “สนุก” กับเฟซบุ๊ก ก็เพราะการโพสต์กันไปมานั้นมันสนองสันดานความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ อีกด้านหนึ่งก็เหมือนกับการจับกลุ่มกันนินทาคนที่เราไม่ชอบก็เท่ากับได้บำบัดและระบายความเกลียดชัง

แต่ต่อมากลับตรงกันข้าม เมื่อได้ฟังเขาถากถางและประณามคนที่เรารักและยกย่องหรือคนในฝ่ายที่เห็นคล้ายกับเรา และเราอยากเถียงแต่เถียงไม่เป็นและใจไม่ถึง

ได้อ่านโพสต์ของนักเขียนผู้รักและรู้คุณค่าของหนังสือท่านหนึ่ง “มวจ. เรืองเดช จันทรคีรี” คุณเรืองเดชได้เปิดเผยบทเรียนจากการใช้เฟซบุ๊กมาก่อนหน้าผมราว 5-6 ปี ปกติคุณเรืองเดชใช้เฟซบุ๊กในการพูดถึงวรรณกรรมหรือหนังสือที่เขาอ่านมา กับประชาสัมพันธ์หนังสือที่เขาพิมพ์ขายซึ่งเป็นประโยชน์มาก

แต่เรื่องการเมืองอันเป็นเรื่องหนีไม่พ้นในเฟซบุ๊กนั้น คุณเรืองเดชได้กล่าวเตือนอย่างตรงไปตรงมาเจืออารมณ์ขันว่า

“โพสต์การเมืองคือโพสต์ที่มีแต่เสียกับเสีย เสียสติ เสียความรู้สึก เสียเวลา จนกระทั่งเสียเพื่อน ขืนโพสต์ต่อไปอาจถึงขั้นเสียชีวิตก่อนถึงเวลาอันควร”

หลังจากนั้นไม่นานผมก็พบกับเรื่อง “เสีย” ตามที่ว่าเกือบครบทุกเสีย ยกเว้นแต่ “เสียชีวิตก่อนถึงเวลาอันควร” เพียงประการเดียวเท่านั้นที่ยังไม่พบ

ผมเสียเพื่อนที่น่านับถือไปคนหนึ่งโดยผมขอ “unfriend” กับเขาเมื่อปะหน้ากันในงานเลี้ยง เหตุผลของผมก็คือ “ไม่โกรธคุณหรอก แต่ไม่อยากอ่านที่คุณด่าเพื่อนกันแบบอาฆาตมาดร้ายเรื่องการเมือง” แล้วเราก็คุยกันเรื่องอาหารการกินกันต่อจนงานเลี้ยงเลิกรา

เพื่อนอีกคนห่างเหินกันไปเสียเฉยๆ เมื่อเขาค้นไม่พบว่าผมอยู่ฟากไหนในทางการเมือง เพราะผมหยุด “ไลก์” และ “คอมเมนต์” ในโพสต์ของเขาเมื่อเขาด่าว่าเพื่อนนักเขียนด้วยกันที่เห็นต่างอย่างรุนแรง

ผมก็ยังคงเสพข่าวและดูคลิปในเฟซบุ๊ก ด้วยสันดานของคนไทยที่ชอบสอดรู้สอดเห็นและกลัวตกข่าว แต่ชักจะไม่ “สนุก” กับเฟซบุ๊กในสื่อออนไลน์เสียแล้ว และกำลังเลี้ยวกลับมาเสพข่าวจากสื่อกระดาษอีกหน

ต้องถือว่าในบ้านเราสื่อออนไลน์ได้เกิดขึ้นแล้วและยังดำรงอยู่ และจะอยู่ต่อไปอีกนาน เพียงแต่ว่าจะดำเนินไปอย่างสวยสมบูรณ์หรือพิกลพิการนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมสังเกตเห็นว่าคนที่ทำมาหากินกับสื่อออนไลน์ยุคนี้ต่างกับคนอาชีพเดียวกันยุคก่อนยุคดิจิตอล ไม่มีการแข่งขันกันในเรื่องคุณภาพ หน้าตาของเพจและวิธีใช้สื่อยุคนี้ไม่ต้องคำนึงถึงสุนทรียะ ไม่สนใจการใช้ภาษา ไม่แคร์ความถูกต้องเป็นจริงที่ใช้อ้างอิงได้

ต่างมีแต่ความเร็วและเลว เหมือนคนหิวหรือตะกละแล้วกินอาหารอย่างมูมมาม ตอแหลเพื่อสร้างกระแส ใช้ภาษาเจ้าเล่ห์และภาพ (ไม่เห็นหน้า) เป็นปริศนา เพื่อล่อใจให้ผู้เสพสื่อเพิ่มความอยากรู้อยากเห็น ควานหาแล้วพบแต่ “โฆษณา” กล่นเกลื่อนจนบางชิ้นล้ำเข้ามาบดบังเนื้อความ และในที่สุดคนอ่านรำคาญจนไม่อ่าน

พาดหัวหรือเกริ่นไว้อย่างหนึ่งแต่เนื้อในเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ต้องกลับไปอ่านทวนใหม่อีกรอบโดยเสียอารมณ์และเสียเวลาเปล่า

หลายต่อหลายเรื่องและหลายชิ้นน่าจะนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ ทั้งกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายคุมสื่อ ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะคนของแม่น้ำ 5 สายผู้อิ่มหมีพีมัน ต่างปล่อยให้ผ่านไปเหมือนไม่สนใจ

อดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาต้องการให้เกิดสถานภาพสับสนวุ่นวายและไม่เรียบร้อยเช่นนี้ เพื่อให้มี “เงื่อนไข” ที่ทำให้จำเป็นต้องอยู่ยาว