อนุช อาภาภิรม : ความมั่นคงทางพลังงานและยุทธศาสตร์ (17)

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

การเข้ามามีอิทธิพลในตะวันออกกลางของสหรัฐ ต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสมัยจักรวรรดิอังกฤษเสียอีก

ในปี 1971 ที่สหรัฐเริ่มแผ่เข้ามาเต็มตัวนั้น เป็นช่วงที่สหรัฐติดพันสงครามที่ไม่อาจเอาชนะได้ในเวียดนาม และต้องการออกจากสงครามนั้นอย่างมีเกียรติ ได้ดำเนินนโยบายแยบยลหลายด้านในสมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (ดำรงตำแหน่ง 1969-1974)

ด้านหนึ่ง เจรจาสันติภาพกับเวียดนาม (เมื่อนิกสันขึ้นเป็นประธานาธิบดี ทหารสหรัฐเสียชีวิตในสงครามเวียดนาม 300 คนทุกสัปดาห์) จนสามารถทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเวียดนามเหนือได้ในปี 1973 ยุติปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐในเวียดนามและค่อยๆ ถอนทหารออกเมื่อนครไซ่ง่อนแตกในปี 1975 จึงถอนทหารทั้งหมดกลับ

ด้านหนึ่ง เจรจาลับเพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับจีน นำโดย คิสซิงเจอร์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง) เกิด “การทูตปิงปอง” (1971) ที่โด่งดัง อีกด้านหนึ่ง หย่าศึกในสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต (เริ่มแต่ปี 1969)

 

ในทศวรรษที่ 1970 ที่สหรัฐเข้าไปแทนที่อังกฤษในตะวันออกกลาง มีสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมือง ที่ควรกล่าวถึงได้แก่

(ก) สหรัฐเสพติดน้ำมัน ใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนที่ถ่านหินตั้งแต่ปี 1950 ต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศมากขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960

(ข) ความคิดชาติ-สังคมนิยมอาหรับ ร้อนระอุ เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลหลายครั้งระหว่างปี 1967-1973 ความคิดชาตินิยมทางพลังงานก่อตัวแข็งแรง มีการตั้งกลุ่มโอเปคตั้งแต่ปี 1960 เมื่อบวกกับความตึงเครียดจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล ก็ทำให้ประเทศอาหรับในกลุ่มโอเปคระงับการส่งน้ำมันไปให้สหรัฐและพันธมิตรในปี 1973

(ค) ลัทธิอิสลามเติบใหญ่ ที่สำคัญได้แก่ การปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน (1979) ที่ทำลายอิทธิพลของสหรัฐ-อังกฤษในประเทศนั้น และชักนำให้สหรัฐเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารในตะวันออกกลางต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ลัทธิอิสลามยังก่อตัวเข้มแข็งในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำ บางส่วนของการเคลื่อนไหวในกลุ่มนี้ได้กลายเป็นขบวนการก่อการร้ายสากลไป

(ง) การก่อตัวของลัทธิก่อการร้าย เกิดขึ้นในช่วงปลายของสงครามเวียดนามที่ดุเดือด และมีส่วนเกี่ยวพันกับการแย่งชิงอำนาจการควบคุมพื้นที่และน้ำมันในตะวันตกกลาง ได้แก่ การเกิดขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (ก่อตั้งปี 1964) ที่เป็นแบบโลกวิสัย สนับสนุนโดยสันนิบาตอาหรับ เพื่อการสู้รบด้วยกำลังอาวุธกับอิสราเอล ที่สหรัฐสนับสนุนเต็มตัว

การก่อตัวของลัทธิก่อการร้ายในทศวรรษ 1970 นี้มีผู้ศึกษาสรุปได้ว่าการก่อการร้ายในช่วงเวลาดังกล่าว มีปฏิบัติการพื้นฐาน 6 อย่าง ได้แก่ การลอบสังหาร การวางระเบิด การลักพาตัว การจี้เครื่องบิน บุกจับตัวประกัน และการโจมตีด้วยกองกำลัง

เหตุการณ์ใหญ่ เช่น กลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์บุกจับนักกีฬาและโค้ชอิสราเอลในกีฬาโอลิมปิกปี 1972 ที่มิวนิก

ในปีเดียวกันนี้ สมาชิกกองทัพญี่ปุ่นแดงที่เห็นใจปาเลสไตน์จำนวน 3 คน ได้กราดยิงผู้โดยสารขาเข้าที่สนามบินอิสราเอล มีผู้เสียชีวิตถึง 26 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวเปอร์โตริโก

สหรัฐได้ตั้งคณะรัฐมนตรีฝ่ายต่อสู้ลัทธิก่อการร้ายในปี 1972

ในทศวรรษ 1970 ทั่วโลกมีการก่อการร้ายถึง 9,840 ครั้ง ทำให้ผู้คนเสียชีวิต 7,000 คน ตั้งแต่ครึ่งหลังทศวรรษที่ 1970 การจี้และวางระเบิดเครื่องบินทั่วโลกเกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละครั้ง

แต่ในช่วงขึ้นสูงของการก่อการร้ายระหว่างปี 2002 และ 2013 ทั่วโลกมีการก่อการร้าย 72,185 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 170,000 คน

เป็นที่น่าสังเกตว่าในสหรัฐ การก่อการร้ายกลับลดลงตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยในทศวรรษ 1970 สหรัฐมีการก่อการร้าย 1,470 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 184 คน

แต่ในช่วงขึ้นสูงของการก่อการร้าย 2002-2013 สหรัฐมีการก่อการร้ายเพียง 214 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 61 คน (ดูบทความของ Brian Michael Jenkins ชื่อ The 1970s and the birth of contemporary terrorism ใน thehill.com 30072015)


การเสพติดน้ำมันของสหรัฐ

การเสพติดน้ำมัน และการพึ่งพาน้ำมันในตะวันออกกลาง เป็นกระบวนการที่ยาวนาน และเกิดขึ้นเหมือนไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ก่อรูปเป็นโครงสร้างที่แข็งแรง จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก เหตุปัจจัยสำคัญให้เกิดการเสพติดน้ำมันและการพึ่งพาน้ำมันในตะวันออกกลางมีที่สำคัญดังนี้

1. การดิ้นให้พ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (1929-1941) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในสหรัฐก็มีความรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รัฐบาลสมัยประธานาธิบดี แฟรงกลิน โรสเวลต์ (ดำรงตำแหน่ง 1933-1945) ต้องใช้มาตรการแก้ไขแบบยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “แผนงานนิวดีล” ่ แต่กล่าวในอีกด้านหนึ่ง นิวดีลประกอบด้วยมาตรการฉุกเฉินชุดหนึ่งเพื่อ “การบรรเทา ปฏิรูป และการฟื้นตัว” ไม่ได้มีพิมพ์เขียว หรือความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการแบบมีการวางแผนมาก่อน มาตรการแรกๆ เช่น การลดค่าจ้างแก่พนักงานรัฐและลดค่าใช้จ่ายในหน่วยงานรัฐ การออกกฎหมายเบียร์ (ยกเลิกการห้ามเสพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อมลรัฐต่างๆ จะเก็บภาษีได้มากขึ้น และขยายกิจการด้านนี้)

การปิดธนาคารชั่วคราว ป้องกันไม่ให้คนแตกตื่นไปถอนเงิน การรับประกันเงินฝากในธนาคาร

มีการออกกฎหมายและแผนงานที่กล่าวถึงกันมาก เช่น กฎหมายปรับแก้ทางเกษตรกรรม ป้องกันราคาพืชผลตกต่ำ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แผนงานโยธา สร้างงานโยธาแก่คนงานสี่ล้านคน หน่วยงานอนุรักษ์ จ้างงานด้านการอนุรักษ์ป่า เป็นต้น

กฎหมายบรรเทาฉุกเฉินของรัฐบาล จ่ายเงินให้แก่ผู้ตกงานโดยตรง

กฎหมายฟื้นตัวอุตสาหกรรมแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม การมีค่าแรงขั้นต่ำ และให้คนงานสามารถรวมตัวกันมีอำนาจต่อรอง เป็นต้น

มาตรการเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐได้ฟื้นตัวขึ้นภายในเวลาไม่กี่ปี และส่งผลกระเทือนที่สำคัญคือการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ (แต่ก็กลับมาเสียดุลอีกครั้ง ตั้งแต่ทศวรรษ 1970)

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวก็ไม่ได้ยั่งยืน เมื่อถึงปี 1937 เศรษฐกิจก็ทรุดลงไปอีกครั้ง กลายเป็นเหมือนว่าน้ำมันและสงครามโลกครั้งที่สองมีบทบาทขั้นท้ายในการดึงสหรัฐให้พ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เล่าเป็นเรื่องได้ดังนี้ว่า ด้วยความได้เปรียบประการหนึ่งจากการมีอุตสาหกรรมน้ำมันอุดมสมบูรณ์ สหรัฐกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

การแข่งขันอาวุธและการเตรียมตัวสำหรับสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้สหรัฐสามารถนำน้ำมันที่เหลือมาใช้ทางด้านการทหารอย่างเต็มที่ เนื่องจากระบบอาวุธหลักที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แก่ เรือรบผิวน้ำ (รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน) เรือรบใต้น้ำ เครื่องบินรบ (รวมทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล) รถถัง และการขนส่งทางน้ำและทางบกขนาดใหญ่ ล้วนเดินด้วยน้ำมัน

น้ำมันยังมีบทบาทสำคัญในการผลิตกระสุน และการพัฒนายางสงเคราะห์ ที่ช่วยให้ฝ่ายพันธมิตรไม่ต้องพึ่งยางธรรมชาติจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่ในการควบคุมของญี่ปุ่นเกือบตลอดช่วงสงคราม

สหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในปี 1941 พร้อมกับน้ำมันที่ผลิตเกินวันละล้านบาร์เรล และได้ใช้น้ำมันส่วนเกินนี้เพื่อการสงครามสำหรับตนเองและพันธมิตร สร้างระบบ โลจิสติกส์และระบบพลาธิการที่มั่นคง (ดูหัวข้อ Oil and world power ใน americanforeignrelation.com)

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐถือว่าหายขาดไปในสงครามโลกครั้งที่สอง และเหมือนโดยไม่ตั้งใจ ได้สร้างกลุ่มรวมอุตสาหกรรม-การทหารขนาดใหญ่หลังสงคราม ที่เข้าไปครอบงำนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ผลักดันนโยบายแบบเหยี่ยวในการเข้าครอบครองน้ำมันในตะวันออกกลางจนถึงปัจจุบัน

2. ความต้องการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการผลิตน้ำมันสหรัฐขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 1970 โดยการผลิตน้ำมันในเท็กซัสลดลงไปมาก การต้องใช้น้ำมันมากเพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญ จากบริเวณตะวันออกกลางที่ราคาถูก ขนส่งง่าย มีส่วนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่สำคัญได้แก่ การสร้างหนี้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน ผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐให้เป็นเชิงการเงิน ที่ทุนการเงินเข้าครอบงำภาคการผลิตที่แท้จริง การเทียบเคียงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเติบโตของหนี้จะเห็นภาพได้ชัดขึ้น นั่นคือ

ระหว่างปี 1953-1970 อัตราการเติบโตรวมของจีดีพีสหรัฐ ตกปีละร้อยละ 3.8 ขณะที่ระหว่างปี 1971-2000 เหลือร้อยละ 3.2 ต่อปี ระหว่างปี 2000-2007 ลดลงเหลือปีละร้อยละ 2.4 ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน ระหว่างปี 2007 ถึงไตรมาสที่สี่ของปี 2015 อัตราการเติบโตของจีดีพีรวมเหลือเพียงปีละร้อยละ 1.2 หรือเพียงราวสามในสิบของอัตราเติบโตของจีดีพีในช่างปี 1953-1971

แต่การก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 1971 จาก 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มเป็น 64 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สี่ของปี 2015 หรือเพิ่มขึ้นราว 40 เท่า ขณะที่การเติบโตของจีดีพีตามตัวเลข เพิ่มขึ้นเพียง 16 เท่า (ดูบทความของ David Stockman ชื่อ Trumped! A Nation on the Brink of Ruin…And How to Bring It Back ใน davidstockmancontraconer.com 26072016)

 

วิกฤติน้ำมันและ “โครงการความเป็นอิสระ” ของนิกสัน

20 ตุลาคม 1973 ถูกกลุ่มรัฐอาหรับที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นแกน งดส่งน้ำมันให้แก่สหรัฐ (ลิเบียประกาศล่วงหน้าไปแล้วหนึ่งวัน) ทำให้น้ำมันในสหรัฐราคาแพงและขาดแคลนแบบฉับพลัน

วันที่ 7 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีนิกสัน (ดำรงตำแหน่ง 1969-1974) ประกาศ “โครงการความเป็นอิสระ” (Project Independence) แก่ประชาชนอเมริกัน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำมันฉุกเฉิน

โครงการความเป็นอิสระที่นิกสันประกาศนั้น เป็นด้านควบคุมตนเอง มีสาระสำคัญได้แก่ การลดการใช้น้ำมันในเฉพาะหน้า เช่น เปลี่ยนการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าเป็นถ่านหิน ลดการใช้น้ำมันในเครื่องบินโดยสาร ลดการใช้น้ำมันสำหรับให้ความร้อน ลดการใช้แสงสว่าง กำหนดอัตราเร็วของรถยนต์บนทางหลวงไม่เกิน 50 ไมล์ต่อชั่วโมง

และในระยะยาวได้แก่ การหาพลังงานทดแทน ซึ่งที่สำคัญคือพลังงานนิวเคลียร์ โดยลดเวลาการก่อสร้างโรงงานจาก 10 ปีเหลือ 6 ปี

ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 1980 สหรัฐจะเป็นอิสระทางน้ำมัน ไม่ต้องนำเข้าอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามแผน การนำเข้าน้ำมันสุทธิของสหรัฐยิ่งเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุดช่วงหนึ่งในปี 1979 และเกิดวิกฤติน้ำมันซ้ำครั้งที่สอง

อนึ่ง ความเป็นอิสระโดยทั่วไปนั้นนอกจากมีด้านควบคุมตนเองแล้ว ยังมีด้านที่ต้องควบคุมผู้อื่นด้วย ได้แก่ การมีแผนส่งกองกำลังทางอากาศเข้ายึดทุ่งน้ำมันที่ซาอุดีอาระเบีย คูเวต และอาบู ดาบี ถ้าจำเป็น

ผู้แสดงสำคัญได้แก่ นายเจมส์ ชเลซิงเจอร์ รัฐมนตรีกลาโหม (นัยว่าไม่เกี่ยวกับประธานาธิบดีนิกสัน) โดยในวันที่ 27 เดือน ตุลาคม 1973 เขาได้แถลงว่า ได้สั่งเตรียมพร้อมทางทหารเพื่อรับมือกับวิกฤติพลังงานในตะวันออกกลาง และได้เคลื่อนไหวภายในคณะรัฐมนตรีสหรัฐ ชี้ว่าจำต้อง “ส่งกองกำลังไปยังประเทศที่สำคัญเพื่อยึดน้ำมัน” และกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และเยอรมนี โดยให้เหตุผลว่า “(พวกอาหรับ) ไม่ได้คาดคิดว่ายุโรปจะยอมถูกบดขยี้ได้ง่ายเช่นนี้

ดังนั้น พวกเขาจะใช้ยุทธวิธีนี้อีกในอนาคต บทเรียนที่แน่นอนสำหรับอนาคตก็คือฝ่ายพันธมิตรจะต้องผนึกกำลังกัน และปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างแข็งขัน”

เขายังได้ทำหนังสือแจ้งแก่ลอร์ดโครเมอร์เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐว่า “ผลสำคัญของวิกฤติตะวันออกกลางครั้งนี้ ก็คือการเกิดความเห็นขึ้นว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องจำยอมต่อการปฏิบัติตามอำเภอใจของประเทศที่ด้อยประชากรและด้อยพัฒนาโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และทำให้สาธารณชนเกิดความกังขาเกี่ยวกับอำนาจที่สหรัฐและตะวันตกมีอยู่”

แม้จะมีเสียงทัดทานจากทั้งภายในและหมู่พันธมิตร ในปลายเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เฮ็นรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้แถลงข่าวว่า “ถ้าหากการกดดันนี้ดำเนินไปอย่างไร้เหตุผลและไม่สิ้นสุด สหรัฐก็จำต้องพิจารณามาตรการตอบโต้ที่จำเป็น เราจะปฏิบัติสิ่งนี้อย่างระมัดระวังที่สุด และเรายังหวังว่าเหตุการณ์จะไม่ไปไกลถึงจุดนั้น” (ดูเอกสารของสำนักประวัติศาสตร์รัฐบาลสหรัฐ ชื่อ Foreign Relation of The United States 1969-1976, Volume xxxvi, Energy Crisis, 1969-1974 ใน history.state.gov)

การคุกคามว่าจะใช้กำลัง ประกอบกับการเจรจาหลังฉาก ได้ผล การเลิกส่งน้ำมันของชาวอาหรับยุติในเดือนมีนาคม 1974 พร้อมกับสร้างระบบดอลลาร์น้ำมันขึ้น

กล่าวได้ว่า “โครงการความเป็นอิสระ” ทางน้ำมันและพลังงานของนิกสัน เป็นแม่บทสำหรับการปฏิบัติของประธานาธิบดีคนต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน โดยที่มีรายละเอียดปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึง การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านกับลัทธิคาร์เตอร์ น้ำมันและลัทธิก่อการร้าย