อนุช อาภาภิรม : ความมั่นคงทางพลังงานและยุทธศาสตร์ (18)

อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี อดีตผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน ผู้ทำการล้มล้างอำนาจของพระเจ้าชาร์มูฮัมหมัด เรซา ปาฮ์เลวี ของอิหร่าน

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐที่แผ่ปกคลุมไปทั่วโลก กล่าวได้ว่าก่อรูปชัดเจนในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน (ดำรงตำแหน่ง 1969-1974)

เขาเป็นนักการเมืองที่เชี่ยวชาญ มีวิสัยทัศน์ ผ่านงานมามาก ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสมัยไอเซนฮาวร์ระหว่างปี 1953-1961 ได้ริเริ่มนโยบายเชิงรุกทั่วโลก ที่จีน ได้สร้าง “การทูตปิงปอง” อันโด่งดัง

เขาได้กล่าวตั้งแต่ครั้งเป็นรองประธานาธิบดีว่า “ในโลกใบน้อยนี้ย่อมไม่มีที่สำหรับประชาชนจำนวนนับพันล้านคนที่มีศักยภาพมากที่สุดชาติหนึ่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในความขุ่นเคืองได้”

กับสหภาพโซเวียต เขาเจรจาหย่าศึก ลดกำลังอาวุธนิวเคลียร์

ที่เวียดนาม เขาถอนตัวจากหล่มสงครามได้สำเร็จ

ที่ละตินอเมริกา นิกสันเข้าแทรกแซงอย่างหนัก เพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ก่อ “สงครามสกปรก” ในหลายพื้นที่ รวมทั้งการเข้าโค่นล้มรัฐบาลอาเยนเด้ที่มาจากการเลือกตั้งในชิลี (1973)

ในตะวันออกกลาง นิกสันเดินนโยบายเข้าข้างอิสราเอลเต็มตัว ติดอาวุธให้แก่ประเทศพันธมิตร ได้แก่ อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย กับทั้งคุกคามว่าจะใช้กำลังทหารถ้าจำเป็นเพื่อรักษาทุ่งน้ำมันในภูมิภาคนี้

ในสมัยของนิกสันนี้เอง สถานการณ์โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างซับซ้อน

แม้ในโลกเสรีด้วยกันเอง มีการเคลื่อนไหวจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการไตรภาคี” (1973) เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชียตะวันออก (ซึ่งขณะนั้นหมายถึงญี่ปุ่น ต่อมารวมถึงเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กลุ่มประเทศอาเซียน และจีนด้วย)

ผู้ก่อตั้งได้แก่ เดวิด ร็อกกี้เฟลเอลร์ โดยมี ซบิกนิว เบรซซินสกี เป็นนักคิดและผู้บริหาร (1973-1976) ซึ่งต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ (1977-1981) คณะกรรมาธิการไตรภาคีนี้เป็นเหมือนการเตรียมความคิดของผู้นำโลกตะวันตกในการสร้างกระบวนโลกาภิวัตน์ขึ้น

ในสมัยประธานาธิบดีคาร์เตอร์ สถานการณ์โลกยิ่งซับซ้อน เขาเองก็มีประสบการณ์น้อยในด้านการต่างประเทศ เดินนโยบายสิทธิมนุษยชนนำหน้า สร้างบรรยากาศความปรองดองขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขวิกฤติการนำ แต่คาร์เตอร์ก็ต้องเผชิญกับวิกฤติที่คาดไม่ถึงและเข้าใจยาก นั่นคือการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน (1979) สร้างระบอบปกครองใหม่ได้แก่สาธารณรัฐอิสลามขึ้น

การปฏิวัติอิหร่านที่ทำให้นโยบายครอบครองทุ่งน้ำมันในตะวันออกกลางของสหรัฐประสบอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง เป็นจุดเริ่มต้นให้สหรัฐเข้าไปแทรกแซงในอิหร่านและตะวันออกกลางโดยตรง ซึ่งก็ควบคุมสถานการณ์ได้ยากขึ้น

จนกระทั่ง “การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ” (2011) ที่กลายเป็นความปั่นป่วนไปทั่วภูมิภาค

 

จะเข้าใจการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านอย่างไร

การปฏิวัติอิสลามที่โค่นล้มระบอบราชาธิปไตยหรือพระเจ้าชาห์ที่อิหร่านและสร้างระบอบสาธารณรัฐอิสลามขึ้นนั้นมีลักษณะเฉพาะของอิหร่าน เปิดมุมมองว่า อิสลามสามารถใช้เป็นอุดมการณ์ปฏิวัติได้ ก่อนหน้านั้น มีบางประเทศใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐอิสลาม ได้แก่ ปากีสถาน (1956) มอริเตเนีย (1958) แต่ที่นั่นไม่มีการปฏิวัติ

ที่อียิปต์ มีการปฏิวัติที่นำโดย กามาล นัสเซอร์ เปลี่ยนระบอบราชาธิปไตยเป็นสาธารณรัฐ (1952) แต่นั่นก็ใช้อุดมการณ์ชาติ-สังคมนิยมที่เป็นเชิงโลกวิสัย ไม่ใช่ใช้ศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติอิหร่านก็มีลักษณะร่วมกับการปฏิวัติประชาชาติของประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติของนัสเซอร์ สงครามประชาชนปฏิวัติในคิวบา ที่นำโดย ฟิเดล คาสโตร (1956-1959) สงครามปลดปล่อยของเวียดนาม (1955-1975) กระทั่งมีลักษณะร่วมกับสงครามปฏิวัติอเมริกา (1775-1783)

นั่นคือ ประเทศเหล่านี้ต้องการอิสรภาพ พ้นจากการเป็นอาณานิคม กึ่งอาณานิคม หรืออาณานิคมแผนใหม่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการสร้างชาติ พัฒนาอุตสาหกรรม สร้างระบอบปกครองที่เหมาะสมกับตน เป็นเอกภาพและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีโลก ที่ประเทศเจ้าอาณานิคมยังครองความเป็นใหญ่อยู่

ดังนั้น แม้มีการขัดแย้งต่อสู้ ก็มีการพบปะหรือเจรจาระหว่างสองฝ่ายในหลายรูปแบบ

เช่น คาสโตรได้เดินทางไปเยือนสหรัฐอย่างเป็นมิตรในเดือนเมษายน 1959 เมื่อกลับจากสหรัฐเขายังได้ประกาศต่อสาธารณะว่า คิวบาไม่ใช่รัฐคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม นโยบายเพื่อความเป็นอิสระโดยเฉพาะจากสหรัฐ ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า ย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทสหรัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในปี 1926 ประมาณว่า บริษัทสหรัฐควบคุมอุตสาหกรรมน้ำตาลร้อยละ 60 และควบคุมการนำเข้าพืชผลจากคิวบาร้อยละ 90 การปฏิรูปการเกษตรและการแปรวิสาหกิจเป็นของรัฐที่เริ่มตั้งแต่ปี 1959 ยึดที่ดินของแปลงเกษตรที่ใหญ่เกินไป แปรรูปโรงงานน้ำตาล และโรงกลั่นน้ำมันเป็นของรัฐ เหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

จนสหรัฐประกาศตัดความสัมพันธ์ (ต้นเดือนมกราคม 1961) และมีปฏิบัติการลับอ่าวหมู (เมษายน 1961)

จากนั้น สหรัฐกับคิวบาเหมือนอยู่คนละโลกกัน จนกระทั่งมีการเจรจาลับฟื้นความสัมพันธ์ใหม่ (เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2013 และสำเร็จปี 2015 เมื่อสันตะปาปาฟราสซิสเข้ามาช่วยประสาน)

 

ในกรณีอิหร่าน มีการเปิดเผยเอกสารจากสหรัฐว่าได้มีการติดต่อจาก รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติ หลายครั้ง ช่วงแรกติดต่อผ่านศาสตราจารย์คนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเตหะราน ตอนที่เริ่มต่อต้านกษัตริย์ชาร์ ปี 1963 (เปิดเผยตั้งแต่ปี 1980) ใจความว่า “เขาไม่ต่อต้านผลประโยชน์ของสหรัฐในอิหร่าน… ตรงกันข้ามเขาคิดว่า การมีอยู่ของสหรัฐเป็นการถ่วงดุลอำนาจของโซเวียตและอังกฤษ” ซึ่งทางการอิหร่านปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และประธานาธิบดีเคนเนดี้ก็ไม่ได้สนใจ

อีกช่วงหนึ่งสมัยประธานาธิบดีคาร์เตอร์ สองสามสัปดาห์ก่อนหน้าโคมัยนีจะเดินทางกลับเตหะราน มีการติดต่อจากโคมัยนีเป็นส่วนตัวค่อนข้างถี่ แสดงท่าทางของการปรองดอง จดหมายฉบับหนึ่งกล่าวว่า “ขอแนะนำว่า ท่านควรจะแนะนำให้กองทัพไม่ทำตามบักเทียร์ (นายกรัฐมนตรีของพระเจ้าชาห์)… ท่านจะเห็นว่าเราไม่ได้ตั้งตัวเป็นปรปักษ์ต่ออเมริกันแต่อย่างใด”

อีกฉบับหนึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ให้ความมั่นใจแก่สหรัฐว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐจะไม่ถูกกระทบกระเทือนหลังการเปลี่ยนอำนาจในอิหร่าน “ท่านไม่ควรกลัวเกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน ข่าวที่ว่าเราจะไม่ขายน้ำมันให้แก่สหรัฐนั้นไม่เป็นความจริง”

ทั้งสองช่วงนี้ทางการอิหร่านปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องแต่งขึ้น (ดูบทความของ Saeed Kamali Dehghan & David Smith ชื่อ US had extensive contact with Ayatollah Khomeini before Iran revolution ใน theguardian.com 10062016)

การติดต่อที่ซับซ้อนกว่านั้นเกิดขึ้นสมัยประธานาธิบดีเรแกน ในกรณีอิหร่าน-คอนทรา (1985-1987) ที่อื้อฉาวขึ้นมาเอง เป็นปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือตัวประกันชาวสหรัฐในเลบานอนที่ลักพาตัวโดยกลุ่มฮิสบัลเลาะห์ ที่สนับสนุนโดยอิหร่าน มีการขายอาวุธแก่อิหร่านโดยผ่านอิสราเอลเพื่อแลกตัวประกัน และยังโยงไปถึงการสนับสนุนฝ่ายกบฏเพื่อโค่นล้มรัฐบาลนิการากัวที่สหรัฐเห็นว่าเป็นฝ่ายซ้าย

ท้ายสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เองมีข่าวว่าสหรัฐขนเงินสด 400 ล้านดอลลาร์ไปยังอิหร่านอย่างลับๆ เกิดเป็นข่าวทางการเมืองว่า รัฐบาลโอบามายอมจ่ายเงินก้อนนั้นเพื่อไถ่ตัวคนอเมริกันที่เป็นนักโทษในอิหร่าน

ซึ่งทางการสหรัฐปฏิเสธว่าสหรัฐไม่เคยทำเช่นนั้น และเรื่องกลายเป็นว่า เงินก้อนนี้เกี่ยวข้องกับการเจรจาและข้อตกลงที่ซับซ้อนระหว่างสหรัฐ-อิหร่านเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

จากการชี้แจงของทางการสหรัฐสรุปว่า เงินก้อนนี้ความจริงเป็นของอิหร่านโอนไปให้สหรัฐตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาห์ แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติอิสลาม สหรัฐได้ยึดเงินก้อนนี้ไว้ไม่ยอมคืน เรื่องค้างคามาหลายสิบปี จนกระทั่งเปิดการเจรจากัน ซึ่งมีเรื่องการแลกเปลี่ยนนักโทษรวมอยู่ด้วย สหรัฐต้องคืนเงินก้อนนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งหมด 1.7 พันล้านดอลลาร์ โดยที่อิหร่านเรียกค่าเสียหายทั้งหมด 10 พันล้านดอลลาร์

(ดูรายงานข่าวของ Elise Labott และคณะ ชื่อ US sent plane with $400 million in cash to Iran ใน cnn.com 04072016)

 

โดยทั่วไปผู้นำของประเทศต่างๆ ไม่ว่ามิตรหรือศัตรูก็มีการพบปะเจรจากันอยู่เนืองๆ ตามสถานการณ์ และสิ่งที่พูดในสาธารณะกับที่พูดในห้องประชุมพบปะเจรจาก็ต่างกันไป ผู้นำประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่มีความต้องการร่วมกันได้แก่อิสรภาพและการสร้างชาติ แต่ก็มีอุดมการณ์ไปต่างๆ เช่น ชาตินิยม สังคมนิยม ชาติ-สังคมนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ ศาสนานิยม เป็นต้น

สำหรับการปฏิวัติอิหร่านมีลักษณะเฉพาะตนบางประการ ได้แก่

ก) เป็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้อุดมการณ์ชาตินิยมล้มเหลว ในสมัยนายกรัฐมนตรีโมซาเด็ก ผู้นำที่ทรงเสน่ห์ได้ประกาศยึดกิจการอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นของรัฐ (1951) ท่ามกลางการสนับสนุนของประชาชนทั่วประเทศ

แต่ในชั่วข้ามคืน สหรัฐ-อังกฤษ ได้ร่วมมือกันก่อรัฐประหาร (1953) ตั้งนายพลซาเฮดี เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และฟื้นระบอบราชาธิปไตยขึ้น

แม้เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น แต่ประชาชนก็ต้องทนทุกข์ในการไร้สิทธิเสรีภาพยาวนานหลายสิบปี

ดังนั้น พลังต่างๆ ในสังคม ได้แก่ พลังฝ่ายซ้ายที่มีพรรคทูเด์หรือพรรคคอมมิวนิสต์อิหร่าน กลุ่มชาตินิยม เป็นต้น ต่างเข้ามารวมภายใต้การนำของ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำทางศาสนา กลายเป็นพลังแข็งแกร่งที่สหรัฐก็คาดไม่ถึง

ข) ความหวังที่จะฟื้นการเป็นอำนาจใหญ่ของภูมิภาคอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเปอร์เซีย (อิหร่านปัจจุบัน) เคยเป็นจักรวรรดิใหญ่ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เป็นอู่อารยธรรมของโลก เป็นที่กำเนิดของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวต่อสู้กับมาร ซึ่งมีอิทธิพลสูงต่อศาสนายูดาห์ คริสต์ และอิสลาม สามารถรักษาความเป็นอิสระของตนเองจากจักรวรรดิออตโตมานที่ยิ่งใหญ่ได้

ความภาคภูมิในความรุ่งเรืองของชาตินี้ ช่วยทำให้อิหร่านอดทนต่อความยากลำบากของการปฏิวัติ ผ่านสงครามกับอิรักเป็นสิบปี ยืนหยัดต่อสู้กับการปิดล้อมของสหรัฐและอิสราเอลหลายสิบปี และมุ่งหน้าที่จะแผ่การปฏิวัติของตนไปทั่วโลกมุสลิม

ค) ความเชื่อทางศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ซึ่งมีอยู่สองประการที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่

(1) การคุ้มครองหรือการปกครองของผู้นำศาสนา (Velayat-e-Faqih) เสนอโดยโคมัยนีผู้นำการปฏิวัติตั้งแต่ปี 1969 ให้ผู้นำทางศาสนากับผู้ปกครองประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในทางปฏิบัติหลังการปฏิวัติ 1979 แบ่งอำนาจปกครองเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และสภาปฏิวัติของผู้นำศาสนาที่มีอำนาจสูงสุด

(2) ลัทธิความเชื่อในพระมะฮ์ดีอิหม่าม 12 คนสุดท้ายที่จะกลับมาโปรดก่อนถึงวันพิพากษาโลก โดยมีสัญญาณก่อนปรากฏตัวว่าจะเกิดสงครามและการล้มตายเป็นอันมาก เพื่อสร้างความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันให้แก่คนยากจนและผู้ถูกกดขี่

โคมัยนีเห็นว่า การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการเตรียมรับการกลับมาของอิหม่ามคนที่ 12 ก่อนเขาเสียชีวิต (มิถุนายน 1989) ไม่กี่เดือน เขาได้กล่าวว่า “ผู้ที่อยู่ในอำนาจจำต้องทราบว่าการปฏิวัติของเราไม่ได้จำกัดอยู่เพียงที่อิหร่าน การปฏิวัติของประชาชนอิหร่านนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอิสลามอันยิ่งใหญ่ในโลกมุสลิม ภายใต้ธงของอิหม่ามผู้คุ้มครอง (มะฮ์ดี) ผู้ซึ่งเป็นพรที่พระเจ้าประทานให้แก่ชาวมุสลิมและมนุษยชาติทั้งปวง โดยให้การเสด็จกลับมาของท่านผู้คุ้มครองเกิดขึ้นในสมัยของเรา รัฐบาลของสาธารณรัฐอิสลามจะต้องใช้ความพยายามและทรัพยากรต่างๆ เพื่อรับใช้ประชาชน แต่ไม่ใช่โดยการทำให้เหินห่างจากจุดประสงค์สำคัญที่สุดของการปฏิวัติ นั่นคือการตั้งรัฐอิสลามทั้งโลก”

มาห์มุด อะห์มาดิเนจาด (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2005-2013) ผู้เคร่งศาสนาและเป็นผู้เผยแพร่ลัทธินี้อย่างเอางานเอาการในที่ต่างๆ รวมทั้งการปราศรัยหลายครั้งในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ดูบทความของ Rashid Yaluh ชื่อ Mahdism in contemporary Iran : Ahmadinejad and the occult Imam ใน dohainstitute.org มิถุนายน 2011)

ลัทธิมะฮ์ดีขึ้นสู่กระแสสูง เมื่อเกิด “การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ” (2011) ซึ่งตรงกับสัญญาณที่กล่าวว่า จะเกิดขึ้นเมื่อพระมะฮ์ดีเสด็จกลับมา

ในปัจจุบัน ฮัสซัน โรฮานี ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี (ตั้งแต่ปี 2013) เขามีนโยบายเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอิหร่านให้โดดเด่นในกระบวนโลกาภิวัตน์ แต่ประชาชนอิหร่านนับล้านก็ยังคงเฉลิมฉลองวันเกิดของอิหม่ามองค์สุดท้ายในนิกายชีอะห์อยู่ โดยเฉพาะที่สุเหร่าเมืองกอม (ดูรายงานข่าวชื่อ Iranians celebrate birth anniversary of Imam Mahdi ใน presstv.com 22052016)

ตราบเท่าที่ยังมีสงครามกลางเมืองในอิรัก ซีเรีย เยเมน ลิเบีย อัฟกานิสถาน และปาเลสไตน์ถูกยึดครอง ภายในอิหร่านเองเกิดช่องว่างขยายตัว ความศรัทธาในพระมะฮ์ดีย่อมไม่จางหาย

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการชอนลึกของสหรัฐในอิหร่านกับการปฏิวัติอิหร่านและน้ำมันกับลัทธิก่อการร้าย