จับสัญญาณคาร์บอมบ์ ถล่มเละห้างดังปัตตานี ผงะมีโต๊ะอิหม่ามร่วม รบ.ย้ำเจรจาดับไฟใต้

ถือเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่สุดในรอบปี

สำหรับเหตุคาร์บอมบ์ถล่มห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี กลางเมืองปัตตานี

ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 61 ราย ในจำนวนนี้สาหัสถึง 4 ราย

แม้ไม่มีใครเสียชีวิต แต่ก็ส่งสัญญาณถึงความรุนแรงที่ทวีเพิ่มมากขึ้น

และกลายเป็นคำถามถึงเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารที่มีบทบาทสำคัญ ว่าสิ่งที่ทุ่มเทงบประมาณมหาศาล รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา

มาถูกทางจริงแล้วหรือยัง

เพราะหากย้อนไปเมื่อปี 2556 ที่รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการเจรจาเพื่อสันติภาพ

ความรุนแรงกับเป้าหมายอ่อนแอ และการทำคาร์บอมบ์ที่ควบคุมอานุภาพไม่ได้ ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

คาร์บอมบ์ครั้งนี้ เปรียบเสมือนสัญญาณให้รัฐกลับสู่แนวทางเจรจาอย่างจริงจังหรือไม่

ล่าแก๊งบึ้ม-มีโต๊ะอิหม่ามด้วย

หลังเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่ห้างบิ๊กซี ปัตตานี เมื่อบ่ายวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ก็เร่งติดตามคนร้ายจนได้เบาะแสจากกล้องวงจรปิดที่จับภาพคนร้ายได้ 4 คน

รู้ตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว 1 ราย คือ นายมะกอเซ็ง หม้าแอ้ อายุ 25 ปี อยู่ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี มีหมายจับคดีความมั่นคง 3 หมาย

ทั้งหมดเชื่อมโยงกับเหตุคาร์บอมบ์ที่ร้านอาหารมิตติ้ง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และคาร์บอมบ์เซาท์เทิร์นวิว ปัตตานี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559

เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกฎอัยการศึกเชิญตัวผู้ต้องสงสัย 1 ราย ซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่าม และนายก อบต.ในพื้นที่ อ.หนองจิก ที่คุมงานก่อสร้างใกล้จุดที่เชื่อว่านายนุสนถูกฆ่าชิงปิกอัพ มาซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

ซึ่งโต๊ะอิหม่ามรับว่าเป็นผู้เช็ดคราบเลือดของนายนุสน

เนื่องจากมีพยานพบเห็นปิกอัพคันเกิดเหตุ จอดอยู่ที่มัสยิดบ้านใหม่ จากนั้นมีชาย 4 คนโอบล้อมรถ แล้วมีเสียงคนทะเลาะกัน และยิงกัน

ก่อนที่จะมีรถกระบะอีกคันนำร่างเจ้าของรถที่ถูกยิงออกจากจุดเกิดเหตุ เมื่อตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบรอยเลือดที่พื้น ตรงตามที่พยานระบุ

จากนั้นจึงตามไปพบศพนายนุสนถูกฆ่ารัดคอทิ้งน้ำอยู่ในร่องบริเวณปลายนาหมู่ 1 ต.เกาะเปาะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็เข้าจับกุม นายสุฮัยมี สมาแอ ที่บ้านพัก ต.เกาะเปาะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 11 พฤษภาคม พร้อมนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

พร้อมยอมรับว่ามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่ถูกฆ่าชิงรถ

พร้อมพาไปดูจุดที่เอาปิกอัพไปทำคาร์บอมบ์ ที่บ้านร้างกลางทุ่งนา หมู่ 1 ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ทั้งนี้ จากการตรวจค้นพบกลุ่มวัยรุ่น 4 คน คนหนึ่งเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งให้การว่าวันเกิดเหตุไม่ได้อยู่บ้าน แต่ก็ทราบว่ามีรถกระบะมาจอด จึงคุมทั้งหมดเข้าค่ายทหารเพื่อซักถามต่อไป

ขณะที่ตัวผู้ร่วมก่อเหตุตอนนี้รู้ตัวแล้ว 15 คน พิสูจน์ทราบแล้ว 12 คน ซึ่งมีข่าวว่าทั้งหมดหลบหนีไปตามแนวชายแดนแล้ว

ล่าสุด ออกหมายจับแล้ว 8 คน ประกอบด้วย 1.นายอันนุงวา กาซอ หรือ แบเลาะ เป็นคนสั่งการ 2.นายเมาลานา ส่าเมาะ จัดหาคนก่อเหตุ และกำหนดเส้นทาง 3.นายอิสมาแอล มอซู หรือ แอ จัดหารถ 4.นายอับดุลอาซิ จะปะกิยา จัดหาผู้ก่อเหตุ 5.นายมะนาเซ ไซดี หรือ นาเซ เป็นผู้รับรถและประกอบระเบิด และ 6.นายมูฮำมัด กาซอ หรือ เลาะ มีหน้าที่ประกอบระเบิด 7.นายรุสลัน ใบหมะ หรือ รุสดี และ 8.นายบูคอลี หลำโซะ ทำหน้าที่สังเกตการณ์

ไล่ติดตามตัวอย่างเข้มข้น

ย้อนนาทีคาร์บอมบ์ปัตตานี

สําหรับเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลา 14.00 น. วันที่ 9 พฤษภาคม ขณะที่ประชาชนจำนวนมากพาบุตรหลานมาเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์การเรียนเพื่อเตรียมตัวรับเปิดเทอม ที่ห้างบิ๊กซี อ.เมือง จ.ปัตตานี ก็เกิดเหตุระทึกขวัญขึ้น

เมื่อเกิดเหตุระเบิดเสียงดังคล้ายประทัดยักษ์ ดังขึ้นที่บริเวณด้านหน้ารั้วทางเข้า-ออกของห้าง ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ จึงประสานเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดอีโอดีเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมกันไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าว

จากนั้นไม่ถึง 10 นาที ก็เกิดเหตุระเบิดอีกครั้ง คราวนี้เป็นคาร์บอมบ์ที่ซุกอยู่ในปิกอัพ จอดอยู่ที่บริเวณลานจอดรถด้านข้างของห้าง แรงระเบิดเป็นวงกว้าง เกิดไฟลุกไหม้รุนแรง

มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันลำเลียงคนเจ็บส่งโรงพยาบาล และประสานรถดับเพลิงเข้ามาสกัดไฟที่ลุกไหม้

พนักงานห้างและลูกค้าวิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น

โดยหลังจากเหตุการณ์สงบลงรวมยอดผู้บาดเจ็บถึง 61 ราย ในจำนวนนี้สาหัสถึง 4 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

ที่เกิดเหตุพบแผ่นป้ายทะเบียนรถที่ใช้ก่อเหตุ บจ 3303 ยะลา นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบระเบิดอีกลูกที่ห้างไดอาน่า อยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน แต่ระเบิดไม่ทำงาน เจ้าหน้าที่เก็บกู้ไว้ได้

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าปิกอัพคันดังกล่าวเป็นของ นายนุสน ขจรดำ ชาว จ.ยะลา ช่างทำหลังคาผ้าใบ ซึ่งภรรยาระบุว่านายนุสนขับรถออกมาจากบ้านเมื่อตอนสายวันเกิดเหตุ เพื่อมาทำงานที่ จ.ปัตตานี แล้วก็ไม่ได้ติดต่อกลับมาอีก

จึงคาดว่าคนร้ายลวงนายนุสนมาติดตั้งผ้าใบที่ ต.มะพร้าวต้นเดียว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แล้วฆ่าชิงรถไปประกอบคาร์บอมบ์เอามาก่อเหตุ

สำหรับระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดแสวงเครื่อง โดยจุดแรกที่ปากทางเข้าลานจอดรถ พบภาชนะบรรจุชิ้นส่วนโลหะ จุดระเบิดด้วยระบบไฟฟ้าแบบตั้งเวลา ใช้ถังแก๊ส 2 ลูก น้ำหนักกว่า 100 ก.ก. ความรุนแรงคล้ายกับเหตุการณ์ระเบิดที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ปัตตานี เมื่อกลางปี 2559

ขณะที่วงจรปิดจับภาพ 2 คนร้ายขับปิกอัพคาร์บอมบ์เข้ามาจอดที่ลานจอดรถ แล้วนำวัตถุระเบิดขนาดเล็กมาวางไว้ที่กระถางต้นไม้แนวรั้วแล้วขึ้น จยย.ที่มีคนร้ายอีก 2 คนมารอรับหลบหนีไป

เบื้องต้นสันนิษฐานว่าคนร้ายตั้งใจวางระเบิดลูกแรกเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ ก่อนระเบิดลูกที่ 2 เพื่อหวังสังหารเจ้าหน้าที่

สุดท้ายมีแต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่รับเคราะห์

ยันแนวทางเจรจาดับไฟใต้

สําหรับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คุกรุ่นขึ้นอีก จนเกิดการใช้คาร์บอมบ์ที่ห่างหายไปนาน

ย่อมส่งผลถึงคำถามต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มอบหมายให้ ศอ.บต. โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาฯ ศอ.บต.ในขณะนั้น ร่วมพบปะพูดคุยกับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน

จนกระทั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้มีการลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ มีการพบปะกันอย่างเป็นทางการ 3 ครั้ง และพูดคุยผ่านผู้อำนวยความสะดวกหลายครั้ง

ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รัฐบาลไทยยอมรับว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงต้องใช้มาตรการทางการเมือง

ย้ายสนามรบขึ้นสู่โต๊ะเจรจา

พร้อมรับข้อเสนอของกลุ่มขบวนการในเรื่องการเคารพในอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมท้องถิ่น

แลกเปลี่ยนกับการยุติก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายที่อ่อนแอ ซึ่งก็คือชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ หยุดก่อเหตุด้วยคาร์บอมบ์

จนความรุนแรงลดลงอย่างชัดเจน

แต่มาวันนี้ คาร์บอมบ์ในพื้นที่ชุมชนกลับคืนมาอีกครั้ง บ่งบอกถึงสัญญาณอันร้อนระอุ

เป็นไปได้มากที่รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร อาจจะใช้มาตรการเด็ดขาดจริงจังมากขึ้น เข้าทำนองแรงมาก็แรงไป

คาร์บอมบ์ จึงน่าจะเป็นสัญญาณเตือนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ว่าการเจรจาย่อมเป็นทางคลี่คลายความรุนแรงที่ดีที่สุด

ยังดีที่ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า สังคมต้องแยกให้ออกระหว่างการพูดคุยกับความรุนแรงในพื้นที่

ทุกครั้งที่เกิดเหตุความรุนแรง สังคมมักกล่าวโทษว่าสาเหตุมาจากการทำงานของคณะพูดคุย

แต่จริงๆ แล้วเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยมีหลายกลุ่มงานรับผิดชอบโดยตรง ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การพูดคุยก็ต้องเดินหน้าต่อเนื่อง

เพราะการพูดคุยเป็นนโยบายของฝ่ายความมั่นคงที่จะสร้างสันติสุขในพื้นที่โดยใช้วิธีการสันติ ปราศจากความรุนแรง และทั่วโลกยอมรับวิธีการนี้

ส่วนกลุ่มต่อรองที่ใช้ความรุนแรงก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ถือเป็นความเข้าใจในระดับปฏิบัติงาน แต่จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ถ้าฝ่ายนโยบายรับทราบแล้วสนับสนุนอย่างจริงใจ