ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในบ้านเมืองเรามากมาย ที่มีคนพยายามจะให้ทั้งสังคมลืมๆ ไป ด้วยกลวิธีต่างๆ เช่น ไม่ให้มีการบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ ไม่กำหนดให้เป็นวันสำคัญ พยายามกระทั่งจะไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้าง อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
เหตุการณ์ 2475 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 อะไรเหล่านี้เป็นต้น
ฝ่ายประชาชนต้องช่วยกันเขียนบันทึกเอง เขียนหน้าประวัติศาสตร์กันเอง ผลักดันให้มีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอนุสรณ์รำลึกเอาเอง ไปจนถึงจัดงานรำลึกเพื่อประกาศความสำคัญกันเอาเอง
เพราะประวัติศาสตร์ที่เขาพยายามจะไม่ให้มีการจดจำเหล่านี้ เป็นประเด็นการต่อสู้ด้วยพลังของประชาชน เป็นการลุกฮือขึ้นต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัวกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเสียดแทงใจชนชั้นที่มีอำนาจอย่างมาก
ไปจนถึงเบื้องหลังการปราบปรามนองเลือด สังหารหมู่ประชาชนในแต่ละเหตุการณ์ ล้วนเชื่อมโยงถึงกลุ่มที่มีอำนาจอีกด้วย
ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เป็นช่วงรำลึกถึงเหตุการณ์ 99 ศพ ที่ฝ่ายผู้กุมอำนาจพยายามปิดกั้น ด้วยข้ออ้างไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง
แต่เอาเข้าจริงๆ ก็สกัดกั้นได้แค่บางส่วน
แม้จะยอมให้แค่มีคนไม่กี่คน จัดพิธีจุดเทียน วางดอกไม้ เพื่อรำลึกถึงเหยื่อที่ถูกฆ่าในเหตุการณ์ปี 2553
แต่สุดท้ายก็กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ในเว็บไซต์ข่าว และในโลกออนไลน์
ส่งผลสะเทือนในวงกว้างได้!
ขณะเดียวกัน ในโลกยุคใหม่ ทำให้มีการบันทึกภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว เหตุการณ์ปราบปรามม็อบเมื่อปี 2553 ในหลายๆ มุม เผยแพร่ไปในวงกว้าง ยังหาดูได้ไม่ยากในโลกออนไลน์ มีคลิปวิดีโอว่อนไปหมด
แม้จะผ่านไปแล้ว 7 ปี แต่ก็ยังคงมีคนพูดถึงและรำลึกถึงในทุกๆ ปี
ใครเพิ่งได้รับรู้และอยากรู้ ก็คลิกเข้าไปดูหลักฐานที่ปรากฏอยู่มากมายได้ทันที
จึงเป็นเรื่องยากที่จะบังคับให้ทั้งสังคมลืมๆ เหตุการณ์นี้ไปได้
เป็นเรื่องยากที่จะใช้ใบบัวมาปิดช้างทั้งตัวให้มิด!
เหตุการณ์ 99 ศพ จบลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เมื่อกองกำลังของ ศอฉ.เข้ายึดพื้นที่ราชประสงค์ ใจกลางของม็อบเสื้อแดงได้เบ็ดเสร็จ และแกนนำเสื้อแดงทั้งหมด ถูกตำรวจควบคุมตัวไปขังไว้หมดแล้ว
สภาพของ นปช. ในช่วงหลังจากวันนั้น เต็มไปด้วยความระส่ำระสาย เพราะผู้นำการเคลื่อนไหวอยู่ในคุกกันถ้วนหน้า บางส่วนก็ต้องหนีการไล่ล่าจับกุมออกไปยังต่างประเทศ
จนกระทั่งมีกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ที่มีคนตายถึง 99 คน ต้องเลือนหายไปง่ายๆ
การจัดกิจกรรม”ที่นี่มีคนตาย” บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนหลัง 19 พฤษภาคม 2553
จนกลายเป็นกระแสที่แผ่กว้างไปมากขึ้นๆ
รวมถึงกรณี นายนที สรวารี เดินฝ่าวงล้อมของตำรวจ ไปยืนตะโกนว่า”ที่นี่มีคนตาย” แล้วถูกรุมล็อกตัวไปโรงพัก ยิ่งจุดประกายให้คนได้รับรู้ว่า ที่นี่มีคนตายถึง 99 คน จะให้ลบเลือนไปง่ายๆ ได้อย่างไร
จนกระทั่งเมื่อมีรัฐประหาร 2557 ซึ่งมาจากการลุกฮือของฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง เพื่อต้องการควบคุมสังคม วางกฎกติกาให้ถอยหลังไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเสี้ยวใบ และกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยให้หมดสิ้นบทบาท
คสช.ได้ออกกฎเหล็กห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดงานรำลึก 99 ศพด้วย
แต่ในทุกวันที่ 13 พฤษภาคม ก็ไม่อาจห้าม น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล หรือน้องเดียร์ ที่เดินทางมาวางช่อดอกกุหลาบและจุดเทียน บริเวณใกล้สถานีรถไฟใต้ดินสีลม จุดที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้เป็นพ่อ ถูกลอบยิงด้วยมือซุ่มยิงระยะไกล
รวมทั้งเมื่อ 13 พฤษภาคมปีนี้ด้วย
แม้เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้จัดงานรำลึกอย่างเด็ดขาด ส่งตำรวจมาเฝ้าทุกด้านเพื่อไม่มีการจัดกิจกรรมใดๆ
แต่ก็ไม่อาจปิดกั้นลูกสาว เสธ.แดง ที่ยืนยันว่า มาเพื่อรำลึกถึงพ่อ ไม่ได้มาด้วยเป้าหมายทางการเมือง
เพราะวันที่พ่อจากไปนั้น ไม่มีโอกาสได้ร่ำลากัน!?!
แล้วทุกครั้งที่เห็นภาพน้องเดียร์แสดงความรำลึกถึง เสธ.แดง ทุกคนก็ต้องนึกถึงภาพวันที่ เสธ.แดง ถูกยิงใจกลางเมืองหลวง ทั้งที่เป็นนายทหารระดับนายพลที่ยังอยู่ในราชการ ยังแต่งกายชุดทหาร ก็ยังถูกยิงด้วยทีมซุ่มยิงมือฉมังได้
โดยที่รัฐบาลและผู้นำ ศอฉ. ไม่เคยแสดงท่าทีตกใจหรือกระตือรือร้น ที่จะค้นหาว่า ทำไมนายทหารยศ พล.ต.ชื่อดัง จึงถูกฆ่าได้อย่างอุกอาจกลางเมืองเช่นนี้!?
ในทุกวันที่ 15 พฤษภาคม เช่นกัน ที่บริเวณฟุตปาธตรงข้ามสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ ถนนราชปรารภ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พร้อมด้วยเพื่อนมิตร จะเดินทางมายังบริเวณที่มี”หมุดเฌอ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ให้ได้รับรู้กันว่า เด็กหนุ่มวัย 17 ปี สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ”เฌอ” ถูกสไนเปอร์ยิงตายตรงนี้
มีเพื่อนรุ่นพี่จำนวนหนึ่งซึ่งรู้จักมักคุ้นกับเฌออย่างดี มักมาร่วมงานด้วย และบางครั้งก็จัด”ดื่มเพื่อเฌอ”ขึ้นบริเวณนั้น โดยได้บอกเหตุผลว่า ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อมีกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เฌอจะต้องไปร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ตามวิสัยเด็กวัยรุ่นที่เร่าร้อน
หลายครั้งเฌออยากจะติดตามเพื่อนรุ่นพี่ไปร่วมดื่มเหล้าและนั่งสนทนาด้วย แต่พี่ๆ ก็ไม่ยินยอมเพราะเห็นว่ายังเด็กเกินกว่าที่จะดื่มได้
แต่ถ้าเฌอ ไม่ถูกกระสุนปืนยิงอย่างเหี้ยมโหดในปี 2553 วันนี้ก็คงโตขึ้นมาเป็นหนุ่มแล้ว
และเขาคงได้มีโอกาสดื่มอะไรต่อมิอะไรตามที่เคยอยากจะได้สัมผัส
“ถ้าเฌอยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้จะมีอายุราวๆ 23 ปี เขาอาจจะเมาหัวราน้ำ อาจจะเป็นคนที่มีเพื่อนรักมากมาย หรือเป็นคนที่ถูกเพื่อนแกล้ง อาจจะมีคนรักที่สวยมากหรืออกหักนับครั้งไม่ถ้วน แต่นั่นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นอีกแล้ว เป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นให้แก่ชีวิตหลังความตายของเฌอ”
ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล หรือจุ๋ม เพื่อนรุ่นพี่ กล่าวเอาไว้ในวันรำลึกถึงเฌอเมื่อปี 2559
วันที่ 15 พฤษภาคมปี 2560 นี้ พ่อของเฌอและนักกิจกรรมสังคมต่างๆ ยังคงมาร่วมกันจุดเทียน วางดอกไม้ และล้อมวงสนทนาที่หมุดเฌอกันเช่นเดิม แม้จะมีเจ้าหน้าที่มาควบคุมเข้มงวด
เพื่อยืนยันว่าที่นี่มีคนชื่อเฌอและอีกหลายๆ คนถูกยิงล้มตายและบาดเจ็บ!
ขณะเดียวกัน ผู้ที่มาร่วมงานไม่เคยขาดอีกคนก็คือ นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ที่ต้องสูญเสียลูกสาวด้วยกระสุนปืนที่ใช้ปราบม็อบเช่นเดียวกัน โดย น.ส.กมลเกด อัคฮาด หรือน้องเกด เป็นพยาบาลอาสาที่ถูกยิงตายหน้าวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ทั้งที่ช่วงเวลานั้น ม็อบเสื้อแดงสลายหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ควบคุมราชประสงค์ได้หมดแล้ว เหลือเพียงชาวต่างจังหวัดที่มาร่วมการชุมนุมและลี้ภัยเข้าไปอยู่ในวัดแบบอกสั่นขวัญแขวน
แต่ก็มีการยิงที่หน้าวัด และน้องเกดเป็น 1 ใน 6 ที่ถูกปลิดชีพเป็นชุดสุดท้ายของ 99 ศพ
ทุกวันที่ 19 พฤษภาคม แม่น้องเกดก็จะต้องไปจัดรำลึกที่วัดปทุมฯ เช่นเดียวกัน
ที่น่าเศร้ากว่านั้น ในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ได้มีคำสั่งศาลชี้ผลการไต่สวนชันสูตรศพแล้วว่า ถูกยิงด้วยปืนเจ้าหน้าที่ ศอฉ. บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสและจากอีกชุดที่อยู่บนพื้นราบหน้าวัด
โดยคำสั่งศาลบอกด้วยว่า เหตุการณ์ที่วัดปทุมฯ ไม่มีชายชุดดำยิงต่อสู้แต่อย่างใด คนในวัดก็ไม่มีอาวุธด้วย
แต่แม้มีคำสั่งศาลขนาดนี้แล้ว คดีก็ยังไม่คืบหน้า
ใครที่คิดว่า จะให้จบๆ ไปเหมือน 14 ตุลาคม เหมือน 6 ตุลาคม เหมือนพฤษภาคม 2535 ที่ลงเอยลืมๆ กันไป ไม่มีตัวผู้กระทำผิด
อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับ 99 ศพ ปี 2553 เพราะมีพยานหลักฐานมากมาย ตามยุคสมัยที่ประชาชนมีกล้องอยู่ในมือ
รวมทั้งมีคำสั่งศาลที่ชี้ไว้แล้ว 17 ศพว่า ตายด้วยกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ศอฉ.
ไม่มีทางลบล้างได้!