ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อย่าให้ประชาชนถึงจุด ที่ไม่อยากอยู่ร่วมกับรัฐอีกต่อไป

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เดือนพฤศจิกายนกำลังจะผ่านไปโดยคนส่วนใหญ่อาจไม่ทันสังเกตว่าเราเป็นประเทศที่มีการชุมนุมต้านรัฐบาลรูปแบบต่างๆ ติดต่อกันกว่าสี่เดือน และถ้ายอมรับว่าก้าวแรกของกระบวนการนี้คือเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมเมื่อ 18 กรกฎาคม ประเทศไทยจากวันนั้นถึงวันนี้ก็เปลี่ยนไปมากเหลือเกิน

จากการชุมนุมเดือนกรกฎาคมซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลของทุกฝ่ายว่าการชุมนุมจะมีคนร่วมกี่คน

สี่เดือนที่ผ่านมาทำให้ความเคลื่อนไหวนี้ไปไกลและมีแนวร่วมกว้างขวางจนคำว่า “เยาวชนปลดแอก” ไม่ได้หมายถึงชื่อองค์กร

แต่คือคำที่สะท้อนจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

ด้วยคำปราศรัยของ “รุ้ง” เรื่องปฏิรูปสถาบันในวันที่ 10 สิงหาคม สังคมไทยเริ่มพบว่าหนึ่งในจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยคือการพูดเรื่องทะลุเพดาน

และด้วยคำอภิปรายของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เรื่อง “ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน” ในวันรุ่งขึ้น การเมืองบนท้องถนนกับรัฐสภาก็เริ่มต้นเชื่อมต่อกันขึ้นมา

“เพนกวิน” เคยเปรียบเทียบว่าบทบาทของคณะราษฎรในช่วงที่ผ่านมาเหมือนการ “รื้อหลังคา” ที่ปิดกั้นสังคมจนใครอยากพูดอะไรก็พูดได้เหมือนนกโบยบินสู่จักรวาล และไม่ว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ “เพนกวิน” หรือคนรุ่นเพนกวินรายอื่นพูดหรือไม่ สังคมไทยตอนนี้ก็เคลื่อนตัวสู่ทิศทางนี้จริงๆ

คนบางกลุ่มตั้งคำถามว่าความเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้อะไร เพราะสี่เดือนที่ผ่านมาไม่มีวี่แววว่าจะเกิดการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วุฒิสมาชิกและรัฐบาลคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การปฏิรูปสถาบันไม่คืบหน้า

แต่ที่จริงถ้ามองสี่เดือนนี้ในแง่เสรีภาพการพูด สังคมไทยก็คืบหน้าเยอะเหลือเกิน

คนจำนวนหนึ่งอึดอัดกับคำพูดหลายเรื่องของคณะราษฎร แต่การที่คณะราษฎรพูดบางเรื่องแล้วมีคนมาร่วมชุมนุมสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็แปลว่าในสังคมไทยมีคนต้องการพูดแบบนี้มากขึ้นด้วย

สี่เดือนของคณะราษฎรจึงพาสังคมไทยมาสู่สถานการณ์ที่ยุ่งยากซึ่งในประเทศไม่เคยมีมาก่อนเลย

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่นายกฯ ที่เก่งในการฟังประชาชน

มิหนำซ้ำยังเป็นแถวหน้าของการจับกุมหรือกวาดล้างคนเห็นต่างอย่างต่อเนื่อง วิธีที่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศในเวลาที่ความเห็นต่างเผชิญหน้ากันมากขนาดนี้จึงได้แก่การจับ, ยิงด้วยแก๊สน้ำตา, ยัดคดี 112 หรือสลายการชุมนุม

สังคมไทยในรอบสี่เดือนปรากฏความขัดแย้งให้เห็นอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความสามารถคิดได้คือความขัดแย้งตอนนี้เป็นแรงระเบิดของความขัดแย้งที่มีมาก่อนนานแล้ว การจับหรือยัดคดีจึงไม่ต่างกับการเอามือไปอุดกาน้ำที่กำลังเดือดจนที่สุดความดันจะระเบิดกาน้ำออกมา

พล.อ.ประยุทธ์พูดถูกเรื่องมีคนไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ทำผิดที่ใช้คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นข้ออ้างในการกวาดล้างหรือปิดปากผู้ชุมนุมให้สิ้นซาก

เพราะหน้าที่ผู้นำประเทศในเวลาแบบนี้คือต้องวางตัวเป็นผู้นำของคนทุกฝ่าย ใม่ใช่เป็นนอมินีให้ฝ่ายหนึ่งกระทืบอีกฝ่ายตลอดเวลา

ด้วยความเข้าใจว่าแกนหลักของความขัดแย้งคือเรื่องสถาบัน พล.อ.ประยุทธ์จึงวนเวียนกับความคิดเรื่องหาวิธีปิดปากให้คนหยุดพูดเรื่องสถาบันโดยเร็วที่สุด

ม.112 จึงเป็นอาวุธที่ พล.อ.ประยุทธ์หยิบมาใช้กับผู้ชุมนุมอีกครั้ง ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์จะเคยพูดว่าทรงมีพระเมตตาไม่โปรดให้ใช้ก็ตาม

ในโลกที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจ การใช้ ม.112 เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามไปเรื่องที่ไม่ควรเป็น

แต่คำถามคือหกปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ 112 กลับไม่สามารถปรามอะไรได้ การกลับมาทำแบบนี้ในปี 2563 จึงไม่มีทางประสบความสำเร็จ

ซ้ำยังอาจส่งผลด้านกลับที่น่าอันตราย

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เลือกเส้นทางของการ “ปราบ” ยิ่งกว่าการ “ปราม” คำถามคือรัฐบาลต้องใช้กำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการ “ปราบ” คนที่พูดแบบม็อบราษฎร หรือ “เห็นใจ” ม็อบราษฎรอีกมากขนาดไหน และแน่ใจว่าหรือกระสุนในคลังมีมากพอจะปราบปรามประชาชนให้สิ้นซากได้จริงๆ

ส.ว.สมชาย แสวงการ เป็นหนึ่งใน ส.ว.ที่ชอบปลอมตัวโดยวิธีปิดหน้าปิดตาไปสังเกตการณ์การชุมนุมคณะราษฎร

แต่ด้วยเหตุที่ ส.ว.สมชายไปด้วยเลนส์ที่จ้องจับผิดเรื่องสถาบัน สายตาของคุณสมชายจึงสอดส่ายแต่การมองหาว่าผู้ชุมนุมพูดอะไรผิดจนมองไม่เห็นเรื่องอื่นเลย

ถ้าคุณสมชายไปชุมนุมโดยไม่คิดแค่หาเรื่องไปด่า คุณสมชายจะเห็นว่าแม้การชุมนุมจะพูดเรื่องที่น่ากระอักกระอ่วน

แต่ที่จริงมูลเหตุซึ่งทำให้คนมารวมกันนั้นได้แก่เรื่องการกดขี่, การกดทับ, การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการถูกล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทุกอณูของสังคม

ในวันที่ผมสัมภาษณ์พระสองรูปเรื่องทำไมไปม็อบเพื่อเผยแพร่ในเพจ Overview คำตอบที่พระให้คือประชาชนไปม็อบเพราะมีทุกข์ หน้าที่ของพระคือทำให้ประชาชนพ้นทุกข์ พระจึงต้องไปฟังเสียงประชาชน ต่อให้รัฐบาลจะทำให้มหาเถรสมาคมและสำนักงานพุทธศาสนาขู่จับสึกก็ตาม

นอกจากคนเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุมเป็นประจำ นักเรียนมัธยมและคนหลากหลายทางเพศคือกลุ่มที่มีบทบาทในม็อบอย่างต่อเนื่อง ถ้าอธิบายแบบพระคือนักเรียนมีทุกข์เพราะครูใช้ความรุนแรง, ใช้กำลัง และใช้อำนาจนิยม ส่วนทุกข์ของคนหลากหลายทางเพศคือสังคมไทยเหยียดเพศตลอดเวลา

ด้วยความไม่เข้าใจว่าคนไปม็อบเพราะมีทุกข์จนเชื่อมโยงว่าต้นกำเนิดของทุกข์คือระบบการเมืองที่เหยียบหัวประชาชน คุณสมชายจึงเห็นม็อบแต่ในแง่ “ล้มสถาบัน” แบบเดียวกับคุณปารีณา, คุณสิระ, คุณประยุทธ์, คุณบิณฑ์, คุณสุวิทย์, คุณวรงค์ ฯลฯ จนไม่ฟังและไม่มองว่าคนไปม็อบไม่ใช่ศัตรู

การถูกครูทำอนาจารตั้งแต่วัยเรียนคือหนึ่งในเรื่องเลวร้ายที่สุดที่ผู้หญิงเคยเจอ แต่ทันทีที่นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถือป้ายกลางม็อบว่า “หนูถูกครูทำอนาจาร โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย” คนของคุณประยุทธ์ใน ส.ส. และ ส.ว. ล้วนแต่ออกมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีผู้หญิงที่เปิดโปงเรื่องนี้ทันที

ด้วยสายตาที่มองผู้ชุมนุมเป็นแค่กลุ่มล้มสถาบัน คนของรัฐบาลได้สูญเสียความสามารถในการฟังทุกข์ประชาชนในเรื่องง่ายๆ อย่าง Sexual Harassment ซึ่งผู้หญิง, เด็กนักเรียน และ LGBTQ เข้าใจแทบทั้งหมด ซึ่งเท่ากับทำให้คนจำนวนมากมองคนของรัฐบาลว่าสูญเสียความเป็นคนไปในทันที

ผู้ชุมนุมพูดถึงสถาบันถูกหรือผิดเป็นเรื่องต้องว่าตามกฎหมายและต้องเถียงกัน แต่ด้วยวิธีที่ พล.อ.ประยุทธ์จัดการ ผลที่เกิดขึ้นคือการพูดจะลามอย่างที่รัฐบาลทำให้ลามตั้งแต่เบี้ยวแก้รัฐธรรมนูญปลายกันยาฯ หรือนายกฯ ไม่ยอมลาออก มิหนำซ้ำภาพลักษณ์ของการปกป้องสถาบันย่อยยับโดยสิ้นเชิง

รัฐบาลและกองหนุนมีสิทธิรู้สึกว่าผู้ชุมนุมพูดมากเรื่องสถาบัน แต่ทั้งคู่ไม่มีสิทธิใช้ศาลเตี้ยคุกคาม ใช้กลไกรัฐไล่ล่า และใช้กำลังกวาดล้างเหมือนอย่างที่คนเสื้อเหลืองทำร้ายนักศึกษาราม, ไล่ทุบรถธนาธรที่นครฯ, สลายการชุมนุมเด็กที่แยกปทุมวัน หรือใช้สารเคมีอันตรายยิงประชาชนหน้าสภา

ด้วยพฤติกรรมรัฐและกองหนุนรัฐบาล กลุ่มปกป้องสถาบันจะถูกมองเป็นกลุ่มใช้ความรุนแรงและเหยียดความเป็นมนุษย์ขั้นตามจับหรือเสียบประจานผู้ถูกละเมิดทางเพศ

คนกลางๆ จึงรับไม่ได้ ไม่อยากเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มีพฤติกรรมนี้ เพราะไม่มีใครอยากถูกด่าว่าบ้าการเมืองจนลืมความเป็นคน

ปฏิกิริยาของ ส.ส.พลังประชารัฐ, ส.ว. และกองหนุนรัฐบาลที่แจ้งจับหญิงที่เปิดเผยตัวว่าถูกอนาจารคือสัญญาณว่าเครือข่ายรัฐบาลสูญเสียความเข้าใจโลกปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง

และนั่นเท่ากับว่า “ระบอบประยุทธ์” ไม่มีทางจะเป็นกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมรอบนี้ได้เลย

คุณประยุทธ์และพวกชอบโจมตีคนรุ่นใหม่ว่าสร้าง “สงครามระหว่างรุ่น” จนสังคมวุ่นวาย แต่ที่จริงคุณประยุทธ์และพวกมีปัญหาเรื่องการรับรู้จนมองคนเห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายล้มสถาบันไปหมด ประชาชนจึงหวังให้รัฐปลดทุกข์ไม่ได้ ซ้ำรัฐยังกลายเป็นเหตุแห่งทุกข์ในชีวิตประชาชน

คุณชวน หลีกภัย พูดถูกว่าความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นเรื่องธรรมดา แต่สถานการณ์วันนี้อันตรายเพราะความขัดแย้งกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับประชาชนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งต่อให้คุณชวนไม่พูดตรงๆ บทบาทรัฐ, รัฐบาล และรัฐมนตรีในการสร้างความขัดแย้งก็ปฏิเสธไม่ได้เลย

ในประเทศที่คนจำนวนมากอยากพูดเรื่องที่รัฐไม่อยากให้พูด รัฐต้องฟังประชาชนพูดเพื่อออกแบบระบบการเมืองที่ลดความขัดแย้งให้ได้มากที่สุด

ไม่ใช่จับผิดคนจำนวนมากเพื่อเปิดทางให้คนส่วนน้อยตั้งศาลเตี้ยหรือใช้กฎหมายไล่ล่า

เพราะถ้าทำแบบนั้น สนามรัชมังคลาอาจไม่พอขังประชาชน

สี่เดือนของการชุมนุมคือสี่เดือนที่รัฐบาลต้องตาสว่างว่าโจทย์ของรัฐคือการรับฟังคนกลุ่มนี้ให้ได้

ไม่ใช่ม็อบชนม็อบหรือกวาดล้าง

รวมทั้งไม่ใช่ทำให้ประชาชนที่ไปชุมนุมต้องหาหมวกกันกระสุนยาง แว่นป้องกันแก๊สน้ำตา หน้ากากป้องกันสารเคมี ฯลฯ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อย่าให้ถึงจุดที่ประชาชนรู้สึกว่ารัฐคือภัยคุกคามชีวิตอันดับหนึ่งของประชาชน

จนไม่อยากอยู่ร่วมกับรัฐอีกต่อไป


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์รายปี ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่