วิเคราะห์ | “บิ๊กตู่” ประกาศรบม็อบ งัดทุกกฎหมาย-ทุกมาตรา ประเดิมปัดฝุ่น “ม.112”

งัดทุกกฎหมาย-ทุกมาตรา “บิ๊กตู่” ประกาศรบม็อบ เปิดรายชื่อ 12 แกนนำ ประเดิมปัดฝุ่น “ม.112”

ท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต่อการชุมนุมกลุ่มราษฎรผ่านออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน เตรียมใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราดำเนินการกับแกนนำและผู้ชุมนุม

แน่นอนภายใต้คำว่า “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” นั้นย่อมรวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าไปด้วย หลังจากยุติการใช้มานาน

“ในประเทศไทยที่ยังเคลื่อนไหวกัน ก็ยังไม่มีใครทำอะไรสักคน กฎหมายมีอยู่หลายตัว เราก็เข้าใจว่าต้องทำให้ทุกคนมีความสบายใจ โดยเฉพาะเด็ก นิสิต นักศึกษา ผมไม่อยากให้เสียอนาคต ไม่ได้ขู่เขานะ กฎหมายก็มีทุกตัวอยู่แล้ว ทุกคนต้องสำนึกเรื่องการบิดเบือนสถาบัน”

“เดิมเรามีกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ อยากบอกคนไทยว่าวันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำให้แล้ว แล้วคุณก็ละเมิดกันเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร คุณต้องการอะไรกัน”

ข้างต้นคือประโยคยาวๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เมื่อ 15 มิถุนายน 2563

แต่จากแถลงการณ์ล่าสุดวันที่ 19 พฤศจิกายน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกลับมาใช้ “ไม้แข็ง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่ต่างจากการเติมเชื้อไฟความขัดแย้ง ทำให้สถานการณ์การชุมนุมร้อนแรงยิ่งขึ้น

ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ในทันที

แถลงการณ์ดังกล่าวคือการประกาศรบกับประชาชนใช่หรือไม่

หากย้อนกลับไปดูท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนคนรุ่นใหม่ ที่ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องส่งตรงไปถึงรัฐบาลตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

ทำให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลพยายามยุยงกดดันให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น โดยเฉพาะต่อประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันเพื่อจัดการกับม็อบขั้นเด็ดขาด

พล.อ.ประยุทธ์ไม่สนองตอบต่อแรงยุยง ยืนยันไม่ใช้มาตรา 112 ด้วยเหตุผล “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้”

กฎหมายแรงสุดที่นำมาใช้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ก่อนยกเลิกไปในอีก 7 วันถัดมาเนื่องจากประเมินแล้วไม่สามารถทำให้ม็อบยุติได้ หนำซ้ำยังเป็นสารกระตุ้นให้การชุมนุมลุกลามยิ่งขึ้น

21 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ใช้ชื่อหัวเรื่อง “ถอยคนละก้าว” ส่งสัญญาณถึงผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร เสนอใช้กระบวนการรัฐสภาเป็นทางออก ซึ่งน่าจะหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ในเงื่อนไขข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม

ก่อนจุดแตกหักจะมาถึงเมื่อที่ประชุมรัฐสภา 17-18 พฤศจิกายน ลงมติปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนมากกว่า 1 แสนคน ด้วยเหตุนี้ยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ

ประกอบกับเหตุการณ์สลายม็อบหน้ารัฐสภาวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รัฐบาลถูกกล่าวหาปล่อยให้เกิดกรณี “ม็อบชนม็อบ” หวังสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่โอกาสบางอย่าง

ในการชุมนุมเดินขบวนไป “สาดสี” หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 18 พฤศจิกายน พร้อมกันนั้น แกนนำได้ประกาศนัดหมายการชุมนุมครั้งใหญ่บริเวณหน้า “สถานที่สำคัญ” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน

ตรงนี้เองที่หลายคนเชื่อว่าคือที่มาแถลงการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ วันที่ 19 พฤศจิกายน เนื้อหาดังนี้

จากสถานการณ์การชุมนุมในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายกําลังร่วมกันหาทางออกโดยสงบและสันติ บนพื้นฐานของกระบวนการตามกฎหมาย และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาลง แม้รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา

โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ใช้ความพยายามปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ดําเนินการต่างๆ ตามหลักสากลด้วยความระมัดระวัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาบรรยากาศของความรักความสามัคคีปรองดองของทุกคนในชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสําคัญ

ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนักและมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นําไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป

รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจําเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่

ดําเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทําความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดําเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สอดคล้องกับหลักการสากล

ภายหลังแถลงการณ์แข็งกร้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทำให้แกนนำเครือข่ายผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ต่างออกมาให้ความเห็นในลักษณะ “ดับเครื่องชน”

นายอานนท์ นำภา โพสต์เฟซบุ๊กระบุ

“ประยุทธ์ประกาศรบกับประชาชน สำหรับข้าราชการที่ยังไม่เลือกข้าง ท่านต้องเลือกแล้วว่าจะอยู่กับอดีต หรือจะสร้างอนาคตไปพร้อมกับพวกเรา จะให้ความรุนแรงทั้งทางกฎหมายและทางกายภาพใดๆ กับผู้ชุมนุมก็เชิญ–”

“พวกเรายืนยันสันติวิธีขั้นสูงสุดในการต่อสู้ครั้งนี้ และพร้อมยกเพดานการต่อสู้ทางสันติวิธีแบบที่เคยยกเพดานด้านข้อเรียกร้องเช่นกัน ขอให้เพื่อนร่วมขบวนราษฎรเตรียมรับความไม่ดีของประยุทธ์กับพวกให้พร้อม เตรียมอุปกรณ์ป้องกันและดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง มุ่งมั่น ต่อสู้เพื่อสังคมใหม่ของเราทุกคน”

เช่นเดียวกับเพจเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH โพสต์ระบุว่า นี่คือการประกาศสงครามกับประชาชนเต็มรูปแบบใช่หรือไม่ รัฐบาลของประยุทธ์ออกแถลงการณ์ โดยจะใช้นิติสงครามเต็มรูปแบบ ทุกมาตราที่มีอยู่ในมือ นั่นอาจรวมถึง 112

ฟางเส้นสุดท้ายขาดลงแล้ว

ฝั่งนักวิชาการอย่างนายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ให้ความเห็นถึงแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า การเอากฎหมายทุกฉบับมาใช้ปรามการชุมนุม ผู้ชุมนุมสามารถชี้ให้คนภายนอกเห็นว่าพวกเขาถูกรังแก

การใช้ไม้แข็งมากำราบการชุมนุมคงต้องดูกันต่อไป เพราะที่ผ่านมารัฐบาลยังก้ำๆ กึ่งๆ เรื่องการใช้มาตรการไม้แข็ง เห็นได้จากการชุมนุมแต่ละครั้งที่ผ่านมาเมื่อถูกโจมตีก็หยุดไป พอมีเหตุการณ์อีกครั้งก็ลุกขึ้นมา

การปราบด้วยการใช้กฎหมาย ไม่เชื่อว่าจะทำให้การเรียกร้องและการชุมนุมลดลง ความรุนแรงจะเกิดได้ในกรณีมีผู้ไม่ได้มีหน้าที่รักษากฎหมาย แต่จะมารักษากฎหมายเองมากกว่า

นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา แสดงความเห็นว่า การงัดกฎหมายทุกฉบับจัดการกับผู้ชุมนุมเป็นการเติมเชื้อไฟ การส่งสัญญาณนี้หมายความว่าทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง

พร้อมยกระดับใช้มาตรการขั้นสูงสุด

เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงความกระตือรือร้นออกมาขานรับแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทันที

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. สั่งเรียกประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อดูแลคดีการชุมนุมในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล

โดยให้พนักงานสอบสวนแต่ละท้องที่รายงานความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดในเวทีชุมนุมต่างๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่

หากคดีใดเข้าข่ายชัดเจน ให้พนักงานสอบสวนขออนุมัติมายังกองบัญชาการซึ่งเตรียมตั้งเป็นรูปแบบคณะกรรมการพิจารณาคดีมาตรา 112 ไว้เป็นการเฉพาะ

จากรายงานข่าวว่า พบว่ามีแกนนำผู้ชุมนุมราษฎรโดนหมายเรียกคดีมาตรา 112 แล้ว เบื้องต้นจำนวน 12 คน ประกอบด้วย

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน 8 คดี, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 6 คดี, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ 4 คดี, นายอานนท์ นำภา 4 คดี, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ 3 คดี, นายชนินทร์ วงษ์ศรี 2 คดี

น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว 1 คดี, นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ 1 คดี, นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด 1 คดี, นายอรรถพล บัวพัฒน์ 1 คดี, นายชูเกียรติ แสงวงศ์ 1 คดี และนายสมบัติ ทองย้อย 1 คดี

โดยคาดว่าจะทยอยตามมาอีกจำนวนไม่น้อย

การประกาศสงครามที่แท้จริง เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ลดราคาทันที 15% ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่