ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 เมษายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในโลกยุคปัจจุบันที่การพัฒนาทางเทคโนโลยีก้าวเข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง
จากยุคสมัยโบราณ ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ไปจนถึงยุคหลังสมัยใหม่ จากยุคเกษตรกรรม ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และยุคคอมพิวเตอร์
จากยุคอะนาล็อก ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล
ไม่เว้นแม้แต่ศิลปะ
ทุกวันนี้ศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดการถ่ายทอดอยู่แค่ในรูปแบบจำกัดแบบที่เรารู้จักและคุ้นเคยอย่าง จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ แต่เพียงเท่านั้น
หากแต่ถูกนำเสนอในสื่อยุคใหม่ (New Media) หลากรูปแบบหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นอย่าง วิดีโอ ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต
แม้แต่พื้นที่แสดงงานศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่แค่เพียงในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์
หากแต่มันได้ก้าวเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสมือนจริงบนโลกออนไลน์
อาทิ ในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก (facebook) คนดูงานศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องถ่อไปดูถึงหอศิลป์ หากแต่ดูผ่านจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตในมือ
ซึ่งศิลปินจำนวนนับไม่ถ้วนในปัจจุบันต่างตอบรับกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการหันไปใช้สื่อสมัยใหม่เป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางศิลปะกันถ้วนหน้า
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งที่ใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการนำเสนอแนวคิดเชิงเสียดสีสะท้อนสังคมและการเมืองร่วมสมัยในบ้านเราได้อย่างแหลมคมและแสบสันต์คันคะเยอเป็นที่ยิ่ง
ด้วยการหยิบยืมภาพลักษณ์อันฉูดฉาดเปี่ยมสีสันเตะตาของศิลปะในสไตล์ป๊อปอาร์ต มาผนวกเข้ากับข้อความสั้นๆ กระชับ แต่โดดเด่นโดนใจหรือกินความหมายลึกซึ้งในสไตล์แบบงานโฆษณา จนทำให้มันได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างในโลกออนไลน์ แม้แต่ในหมู่คนที่ไม่ได้สนใจในศิลปะก็ตามที
เพจนั้นมีชื่อว่า “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป”
ถูกสร้างขึ้นในปี 2553 โดย ประกิต กอบกิจวัฒนา อดีตนักศึกษาศิลปะผู้จบการศึกษาจากภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มจิตรกรผู้ร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังไทยร่วมสมัย ที่วัดพุทธประทีบ กรุงลอนดอน ร่วมกับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ ปัญญา วิจินธนสาร ก่อนจะผันตัวไปทำงานเป็นครีเอทีฟในสายโฆษณา
“หลังจากทำงานวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธประทีบ ที่ลอนดอน ผมก็มาทำบริษัทโฆษณา เพราะผมเองมีความสนใจเรื่องกราฟิกดีไซน์ จริงๆ ตอนแรกเราก็ยังหาตัวเองไม่ค่อยเจอหรอก แต่พอได้ไปอังกฤษแล้วมันตื่นตาตื่นใจ พอดีด้วยความที่อังกฤษตอนนั้นมันเป็นยุครุ่งโรจน์ของงานโฆษณา งานกราฟิกดีไซน์ พูดง่ายๆ ว่าเราเดินลงไปบนถนนเราเห็นไอเดียดีๆ มากมายอยู่ในทุกๆ ที่ แล้วมันก็เป็นยุคที่เรื่องการเมืองมันร้อนแรง”
“เป็นยุคที่ฝ่ายอนุรักษนิยมกับพรรคแรงงานกำลังต่อสู้กันเข้มข้นมากๆ ไอ้การประท้วงเนี่ย ผมว่ามันอยู่ในใจผมลึกๆ นะ เพียงแต่ว่าไม่เคยถูกจุดขึ้นมาทำงาน พูดง่ายๆ ว่าเราเห็นมันทุกวัน แล้วเราก็รู้สึกว่ามันมีไอเดียอะไรที่น่าสนใจ เวลาที่เขาเดินประท้วงหน้าสถานทูตก็ดี อะไรก็ดี จริงๆ มันมีความเป็นศิลปะที่ซ่อนหรือถูกสอดแทรกอยู่ในนั้นด้วย”
“ไม่ว่าจะเป็นการใช้สัญลักษณ์หรือข้อความก็ดีที่จะต้องส่งสารหรือสื่อสารกับคนที่เขาต้องการจะสื่อสารด้วย ผมคิดว่างานโฆษณาอังกฤษหรืองานกราฟิกดีไซน์อังกฤษมันคมคายเกือบทุกชิ้นน่ะ อังกฤษมันเป็นชาติที่ชอบใช้คำพูดหรือภาษาที่น่าสนใจ ไอ้สิ่งเหล่านี้มันก็ซึมซับเข้ามาอยู่ในตัวเราทุกๆ วัน”
“แต่ถามว่าทำไมมันไม่เกิดขึ้นตอนที่เราทำงานอยู่เมืองไทย เพราะผมคิดว่าด้วยสถานการณ์มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็อาจจะไม่ได้ทำงานศิลปะในเชิงนั้น พอกลับมาเราก็ทำงานโฆษณา จริงๆ มันมาโดยบังเอิญมากกว่า เรากลับมาก็เป็นฟรีแลนซ์ทำพวกภาพประกอบอะไรพวกนี้อยู่สักพัก ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นศิลปินอะไรกับเขาหรอก เพราะพูดตามตรงผมเองก็เป็นคนที่เบื่อหน่ายวงการศิลปะบ้านเรา แล้วการเป็นศิลปินมันก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยากต่อชีวิตของเรา เรามันก็แค่คนเขียนรูปน่ะ เราไม่ได้คิดว่าเราอยากจะเป็นศิลปินชื่อดังของเมืองไทย เพราะฉะนั้น การโฟกัสไปที่เรื่องศิลปะในตอนแรกอาจจะไม่ชัด”
“แต่ด้วยความที่เราได้รับอิทธิพลตอนที่เราไปอยู่ที่อังกฤษเรื่องงานกราฟิกดีไซน์ งานโฆษณา หรือแม้กระทั่งการมีโอกาสได้ดูหนังอิสระหนังนอกกระแสที่อังกฤษมันทำให้เรารู้สึกสนใจ”
“แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ มันมาจากวันนึงเราได้เจอ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่ตอนนั้นเป็นผู้กำกับฯ โฆษณา โดยบังเอิญตอนไปรับงานสตอรี่บอร์ด เขาก็เห็นว่าเราวาดรูปได้ ก็เลยชวนไปลองทำงานดู ทำไปทำมาเขาก็เลยชวนอยู่ด้วยกัน ก็เลยสมัครงาน ตั้งแต่นั้นก็เริ่มทำงานโฆษณาแล้วก็เติบโตมาในสายอาชีพนี้จนกลายเป็นครีเอทีฟจริงๆ”
“ในระหว่างทางเราก็ทำมากมาย ทำทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นวิช่วล เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ จนวันนึงก็ต้องมาเป็นก๊อบปี้ไรเตอร์เอง มันก็ผสมผสานอยู่ในตัวเรา แต่ระหว่างนั้นเราก็เขียนรูปบ้าง แต่ไม่ได้เป็นงานหลักในชีวิต”
ด้วยความที่ประกิตมีพื้นฐานมาทางศิลปะไทย แต่มาทำงานในสายโฆษณา ผลงานของเขาจึงเป็นการผสมผสานศาสตร์ทั้งสองแขนงเข้าไว้ด้วยกัน
“ผมทำงานกึ่งๆ ศิลปะไทย แต่มันจะไม่ใช่ไทยแบบที่เป็นขนบ อย่างที่เห็นว่าผมวาดรูปพระแล้วมีข้อความอะไรบางอย่าง ส่วนนี้มันผสมผสานมาจากรากที่ผมเรียนศิลปะไทย กับส่วนหนึ่งที่มาจากชีวิตที่ผมอยู่กับพวก Typography ในอาชีพของผม มันก็เลยเกิดการหลอมรวมเกิดขึ้น”
“แต่ตอนแรกที่ทำมันก็ยังไม่มีประเด็นเรื่องการเมืองอะไรหรอก ส่วนใหญ่มันจะเป็นประเด็นที่เราเฝ้ามองสังคม อย่างเราจะชอบท้าทายพุทธศาสนาในเชิงพุทธพาณิชย์ หรือไลฟ์สไตล์ของคนที่ศรัทธาเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งเรามองว่ามันมีความแปลกแยกอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น มันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เราก็หยิบมาทำ ในช่วงแรกๆ งานจะเป็นอย่างนั้นซะส่วนใหญ่”
หากแต่จุดเปลี่ยนทางความคิดในการทำงานศิลปะของประกิตเกิดขึ้นหลังจากการเกิดวิกฤตการณ์การเมืองไทย ในปี 2553