ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
เศรษฐกิจ
เปิดปฏิบัติการเฟ้นหา กสทช.ชุดใหม่
คนหน้าเก่ายั้วเยี้ย
ท.ทหารคึกคัก
มิชชั่นขับเคลื่อน ศก.ดิจิตอลจะหมู่หรือจ่า
หลังจากปิดกล่องรับสมัครกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา
ซึ่งได้รับเสียงตอบรับแบบถล่มทลาย
มีบุคคลมีชื่อเสียงทั้งในแวดวงโทรคมนาคมและที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ แห่ยื่นใบสมัครร่วม 80 คน ใน 7 ด้าน
ได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
โดยด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เนื้อหอมสุด มีผู้ยื่นใบสมัครสูงสุดที่ 21 คน
ถัดมาคือ ด้านกฎหมาย 14 คน ด้านวิศวกรรม 12 คน ด้านกิจการโทรคมนาคม 11 คน ด้านกิจการโทรทัศน์ 8 คน และด้านกิจการกระจายเสียง ด้านเศรษฐศาสตร์ อย่างละ 7 คน
หากไล่เรียงรายชื่อผู้ที่คลุกคลีกับแวดวง กสทช. คงจะคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี พูดชื่อต้องร้องอ๋อ
เริ่มตั้งแต่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. ซึ่งยื่นหนังสือลาออก และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยงานนี้ควงลูกหม้ออย่างนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร อดีตรองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท
และที่ตามมาติดๆ คือ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค ผศ.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์
อีกฟากที่เชื่อว่าคุ้นหน้าคุ้นตาไม่แพ้กัน เช่น พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พล.ร.อ.ประสาน สุขเกษตร อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
รวมถึงนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวเมื่อเห็นรายชื่อว่า ส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี จะมีอยู่ประมาณ 4 คนที่มีอายุ 40 ปี ซึ่งต่างจากความคาดหวังของหลายคนที่สะท้อนว่า อยากได้คนหนุ่ม-รุ่นใหม่!
ส่วนเรื่องความเชี่ยวชาญ นายสืบศักดิ์กล่าวว่า น่าสนใจ บางคนเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ บางคนเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือฝั่งนักวิชาการมีหลายคนได้รับการยอมรับ และมีชื่อเสียง คร่ำหวอดในแวดวงโทรคมนาคม
แต่ก็มีคนที่เคยอยู่ในแวดวง กสทช. ไม่ว่าจะเป็นทั้งอดีตเลขาธิการ กสทช. และรองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งแนวโน้มการผสมผสานการทำงาน มองว่า กรรมการ กสทช.นี้น่าจะมีทั้งคนเก่าและคนใหม่
ที่สำคัญ หากไม่นับว่ากระบวนการสรรหาจะเป็นอย่างไร จะเสร็จในปีนี้หรือต้นปีหน้า จะมีคนร้องเรียนหรือไม่ จะเกิดการยุบสภาหรือไม่ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีวาระแทรกหรือไม่ ถ้าเห็นความสำคัญก็เข้าสู่กระบวนการได้เร็ว แต่ถ้าไม่เห็นความสำคัญก็ต้องต่อคิว
“ถ้าให้เดาใจ กรรมการสรรหา กสทช. อาจมีการคัดกรองคุณสมบัติ แต่ในการเปิดรับสมัครครั้งก่อนหน้า ซึ่งมีผู้สมัคร 86 คน พบว่า กรรมการสรรหา กสทช. เลือกที่จะใช้วิธีไม่กรองคุณสมบัติ ปล่อยผ่านไปสู่รอบแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งรอบนี้ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็แล้วแต่ ยังไม่นับรวมว่า หากมีผู้ร้องเรียนก็จะยิ่งทำให้กระบวนการล่าช้าออกไป เพราะหากศาลปกครองรับฟัง และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อาจทำให้กระบวนการไม่จบในต้นปีหน้าได้ ในมุมนักวิชาการซึ่งเป็นคนนอก อยากเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรม ความเห็นของผมคือ ถ้าประกาศรายชื่อกรรมการ กสทช.ชุดใหม่เข้ารับตำแหน่งทำงาน ก็ต้องทำงานในทันทีโดยไม่มีช่วงให้ได้ทดลองงาน เวทีแห่งนี้ไม่มีพี่เลี้ยง เพราะสิ่งต่างๆ ที่รออยู่ในอนาคต บางอย่างรอไม่ได้ เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก”
นายสืบศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ห้วงเวลาปัจจุบันถือว่ากระบวนการในการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ยังไม่ล่าช้า แต่ถ้าต้นปี 2564 หรือไตรมาสแรกปี 2564 ยังไม่มี กสทช.ชุดใหม่ มองว่าอาจจะเริ่มไม่ทันการ
“จริงๆ กระบวนการสรรหา กสทช.ควรเริ่มนานแล้ว ด้วยความบริสุทธิ์โปร่งใส และคัดเลือกคนที่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้อย่างแท้จริง กรรมการ กสทช.ที่อยู่โดยได้รับการต่อวาระ ซึ่งสมมุติว่า ผมเป็นผู้ที่ได้รับการต่อวาระก็อาจจะลำบากใจ เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องตัดสินใจ ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องหาคนที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาทำงาน เข้ามาเป็น กสทช. มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว” นายสืบศักดิ์กล่าวให้ความเห็น
นายสืบศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า วันนี้อาจเข้าใจว่าภารกิจหลักของ กสทช.เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากเอาเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นตัวตั้ง ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน เช่น
- การเปลี่ยนผ่านการใช้คลื่นความถี่บางส่วน อาทิ คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ 5 G
- หลักเกณฑ์การกำกับดูแลอุตสาหกรรมโอเวอร์ เดอะ ท็อป (โอทีที) ที่ชัดเจน
- กำหนดหลักเกณฑ์การดูแลผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจที่โดนกระแสดิสรัปชั่น อาทิ กิจการโทรทัศน์ เป็นต้น
“หากยังไม่พูดถึงว่า การมี กสทช.หรือไม่มี จะให้ประเทศล่าช้าหรือต้องสูญเสียอะไรบ้าง แต่อยากชวนกันคิดว่า ถ้าในวันหนึ่งทุกประเทศทั่วโลกฟื้นตัวจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 พูดง่ายๆ ตอนนี้เราป่วยกันหมดทุกคน คนที่หายป่วยก่อนจะได้เปรียบ ถ้าดีที่สุดคือเราต้องหายป่วยก่อนคนอื่น และลุกขึ้นมาแข็งแกร่ง โดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ นำไวรัสโควิด-19 มาเป็นโอกาสให้ตัวเองสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าคนอื่น”
“ปานกลางคือเราฟื้นพร้อมกับคนอื่น ฟื้นตัวพร้อมๆ กับทุกประเทศ แย่ที่สุดคือคนอื่นหายป่วยหมดแล้ว แต่ปรากฏว่าเรายังนอนซมไข้อยู่ ซึ่งสถานการณ์นั้นคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เราพูดกันทั้งหมดว่าจะนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ใช้โอกาสนี้ทำให้กระบวนการดิสรัปชั่นเร็วขึ้นแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมคนทั้งหมด กลายเป็นสังคมไร้เงินสด ใช้หุ่นยนต์ ใช้เทคโนโลยี 5 G ในบทเรียน หรือในอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่พอเริ่มใช้งานพบว่า สามารถช่วยลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล”
“ซึ่งถ้าวันหนึ่งไวรัสโควิด-19 หายไป การสรรหา กสทช.ชุดใหม่เสร็จสิ้น นโยบายใหม่ๆ ที่บอกว่าจะต้องกล้าคิด กล้าทำในแบบใหม่แล้วเสร็จ แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงโครงข่ายมีความพร้อม กำลังซื้อกลับมา จะเป็นวันที่น่าสนใจมาก” นายสืบศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
แต่มีแถมท้ายอีกว่า หากไม่ได้ตามนี้ แสดงว่าประเทศไทยกำลังนอนป่วยอยู่
สุดท้ายต้องติดตามว่า กสทช.ชุดใหม่จะยังคงเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตา หรือคนหน้าใหม่ ไฉไลกว่าเดิม และจะสามารถคิกออฟสารพัดภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ได้หรือไม่
…รอชม