การศึกษา / ชำแหละ คำพิพากษาศาล สั่งมหา’ลัยจ่าย ‘งด.พนง.’ 1.5-1.7 เท่า

การศึกษา

 

ชำแหละ คำพิพากษาศาล

สั่งมหา’ลัยจ่าย ‘งด.พนง.’ 1.5-1.7 เท่า

 

กลายเป็นกระแสอีกระลอก หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มร.ชม.) จ่ายเงินเดือนให้ จ.ส.ต.จอห์นนพดล วิศินสุนทร อดีตอาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มร.ชม. ซึ่งมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในอัตรา 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ

ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2542 ซึ่งอนุมัติหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจ้างลูกจ้างในลักษณะการจ้างพิเศษที่มีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการบรรจุข้าราชการใหม่ และเห็นชอบหลักการให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างบุคคลตามสัญญาจ้าง

โดยสายผู้สอน จ้างในอัตรา 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ และสายสนับสนุนวิชาการอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ

แต่ มร.ชม.พิจารณาปรับค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยสายผู้สอนเพียง 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ หักไป 0.2 ของเงินดังกล่าว เพื่อใช้เป็นสวัสดิการ เช่น เงินตำแหน่งทางวิชาการ กองทุนสวัสดิการ เป็นต้น

ทำให้เกิดการเรียกร้องเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกับศาลปกครองนครราชสีมา ที่มีคำพิพากษาให้ มรภ.บุรีรัมย์จ่ายเงินให้พนักงาน มรภ.บุรีรัมย์ ตามมติ ครม.ปี 2542 เช่นกัน…

 

โดย จ.ส.ต.จอห์นนพดล วิศินสุนทร อดีตอาจารย์ มร.ชม.อธิบายไว้ชัดเจนว่า คำสั่งศาลปกครองสูงสุดถือเป็นบรรทัดฐานที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม โดยจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามมติ ครม.ปี 2542 เพราะเป็นเงินที่สำนักงบประมาณได้จ่ายให้มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด เพียงแต่บางแห่งนำเงินไปใช้ผิดประเภท อาทิ นำเงินไปจ่ายค่าตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่สามารถทำได้

กรณีมหาวิทยาลัยหักเงินส่วนหนึ่งไปจัดสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัย ศาลอธิบายว่า สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นสวัสดิการในลักษณะเกื้อกูลเหมาะสม หรือเท่าเทียมกับสวัสดิการของข้าราชการ และเมื่อรวมแล้วพนักงานจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ 1.7 เท่าของเงินเดือนตามมติ ครม.

“ที่ผ่านมาพบว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการหักเงินไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น นำไปจ่ายค่าตำแหน่งวิชาการ หรือนำไปจ่ายค่าประกันสังคมซึ่งไม่ถูกต้องเพราะเป็นส่วนที่นายจ้างต้องจ่ายให้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งมาเช่นนี้แล้ว ขั้นต่อไปผมจะฟ้องแพ่งและฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพราะจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดชัดเจนแล้วว่ามหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งคาดว่าจะมีพนักงานส่วนหนึ่งใน มร.ชม.ร้องสอดตามมาเพราะเป็นกรณีเดียวกัน ส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นนั้น ก็ได้มีโทร.มาสอบถามแนวทางการดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละแห่ง เพราะบางแห่งอาจมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมและเทียบเท่าตามมติ ครม.แล้ว ก็ไม่มีปัญหา ส่วนมหาวิทยาลัยใดที่ยังจัดสวัสดิการได้เทียบเท่าและยังมีการหักเงินเดือนอยู่ ก็อาจต้องปรับให้เป็นไปตามมติ ครม.”

จ.ส.ต.จอห์นนพดลกล่าว

 

ขณะที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บอกว่า เท่าที่ทราบขณะนี้มีมหาวิทยาลัยอีก 2-3 แห่งที่ถูกฟ้องร้อง และตอนนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น

ในส่วนของ มก.ไม่มีปัญหา เพราะเงินที่หักถูกนำไปจัดสวัสดิการอย่างเหมาะสม ทั้งประกันชีวิต ค่าเล่าเรียนบุตร และสวัสดิการอื่นๆ

ทั้งนี้ คำสั่งศาลปกครองสูงสุดถือเป็นการวางบรรทัดฐานให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม

จากนี้หากมหาวิทยาลัยใดที่หักเงินพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีการจัดสวัสดิการก็อาจต้องไปดำเนินการให้เหมาะสม

แต่คำถามที่ตามมาคือ เมื่อศาลมีคำตัดสินเช่นนี้แล้ว มหาวิทยาลัยจะสามารถตัดเงินดังกล่าวเพื่อไปจัดสวัสดิการได้อยู่หรือไม่

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องอีก ควรออกเป็นแนวปฏิบัติในภาพรวม กำหนดสัดส่วนเงินเดือนและการจัดสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน

เช่น หักสำหรับจัดสวัสดิการร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นเงินเดือน โดยอาจออกเป็นมติ ครม. เพราะหากออกเป็นกฎหมาย จะยากและต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ทั้งนี้ กรณีเงินสวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น เดิมทีเคยมีมติ ครม.ให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินสวัสดิการให้พนักงานด้วย แต่มหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับเงินจำนวนนี้

ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาด้วยได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับมหาวิทยาลัยที่เงินรายได้น้อย

 

ปิดท้ายด้วยความเห็นจาก ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) ที่มีข้อเสนอว่า การจัดสวัสดิการของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีรายละเอียดที่แตกต่างจากของ มร.ชม. มหาวิทยาลัยจึงต้องตรวจสอบระบบสวัสดิการ และการออกประกาศระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนก่อนหาก มหาวิทยาลัยใดได้นำเงินดังกล่าวไปจัดเป็นสวัสดิการตามที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว ก็เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม ถ้ามหาวิทยาลัยต้องปรับอัตราเงินเดือนให้พนักงานเป็น 1.5 และ 1.7 เท่าของเงินเดือน จะเกิดปัญหามากมายตามมา เช่น เงินตกเบิกย้อนหลังนับแต่วันที่บรรจุของแต่ละคน นับตั้งแต่หลังมติ ครม.ปี 2542 เป็นต้นมา หรืออาจนับแต่มติ ครม.ปี 2549 ที่ให้กลุ่ม มรภ.ปฏิบัติตามมติ ครม.ปี 2542 ซึ่งคำถามสำคัญคือ มหาวิทยาลัยจะนำเงินจากไหนมาจ่ายพนักงาน

“ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ควรต้องหาวิธีการเยียวยาพนักงานมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เห็นชอบเยียวยากลุ่มข้าราชการให้ได้รับการเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 8 เท่ากับข้าราชการครู เพราะเงินที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งหักไว้ 0.2 หรือบางแห่งอาจน้อยกว่านี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้นำไปใช้ส่วนตัว แต่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางราชการทั้งสิ้น อาจจะใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วยการเข้าใจคลาดเคลื่อนบ้าง ซึ่งแต่ละแห่งต้องชี้แจงกับสำนักงบประมาณ” ผศ.ดร.อดิศรกล่าว

ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมถึง มร.นม.จัดระบบงานบุคคลโดยไม่แยกการบริหารบุคลากรเป็นบุคลากรงบฯ รายได้ และงบฯ แผ่นดิน คือจ่ายเงินเดือน และสวัสดิการเหมือนกัน รวมไปถึงเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ 2 เด้ง ทั้งบุคลากรงบฯ รายได้ และงบฯ แผ่นดิน

หากปรับเงินเดือนเป็น 1.5 และ 1.7 เท่าของเงินเดือน เฉพาะบุคลากรที่รับงบฯ แผ่นดิน เชื่อว่าจะเกิดความระส่ำภายในมหาวิทยาลัยอย่างหนักแน่นอน…

 

ต้องจับตาดูว่า มหาวิทยาลัยที่ยังมีปัญหา จะขยับหรือปรับกันอย่างไร

ท้ายที่สุดต้องมาดูที่นโยบายของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่าจะลงมาจัดการเรื่องนี้ให้มีบรรทัดฐานในทางปฏิบัติที่ชัดเจนหรือไม่

เพราะหากยังมีการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน ฝ่ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมคงหนีไม่พ้นต้องพึ่งศาลให้ตัดสิน

            เสียทั้งเวลาและโอกาสที่จะมาช่วยกันพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น!!