รายงานพิเศษ / จากวอร์รูม ร.1 รอ. ถึงวอร์รูม ทบ. จับอาการ ‘พี่ตู่-น้องแดง’ หลังม็อบปูดข่าวปฏิวัติ แตงโม มะเขือเทศ ขยับ

รายงานพิเศษ

 

จากวอร์รูม ร.1 รอ.

ถึงวอร์รูม ทบ.

จับอาการ ‘พี่ตู่-น้องแดง’

หลังม็อบปูดข่าวปฏิวัติ

แตงโม มะเขือเทศ ขยับ

 

ปฏิบัติการของคณะราษฎรในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้ทั้งการเมือง กองทัพ และเรื่องสถาบัน แยกกันแทบไม่ออก

เพราะในเมื่อผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และมีความเคลื่อนไหวที่กระทบสถาบันอย่างหนัก

กองทัพมีหน้าที่หลักประการหนึ่ง คือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

จึงยิ่งทำให้กองทัพกับการเมืองแยกกันไม่ออก

จากที่เคยพยายามกันมาตลอดให้ทหารกลับเข้ากรมกอง เลิกยุ่งเกี่ยวการเมือง กลายเป็นว่า ทหารมีข้ออ้างถอยไม่ได้

ยิ่งยังมีนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นทหารเก่า และมีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยแล้ว กองทัพก็ยังถูกมองว่าเป็นฐานอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

ตราบใดที่ขั้วอำนาจ 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” 3 พี่น้องยังเหนียวแน่น เปี่ยมอำนาจและบารมีในทุกวงการแบบยาวนานต่อเนื่อง

ก็ยากยิ่งที่ทหารจะถอยออกจากการเมือง

 

ยิ่งวันนี้มีเงื่อนไขของการล่วงละเมิดสถาบันด้วยยิ่งแล้ว

อย่าลืมว่า ยุคนี้ ผบ.ทบ.ควบตำแหน่ง ผบ.หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) และเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 อีกด้วย

จึงทำให้กองทัพมีหน้าที่ในการพิทักษ์ ปกป้องเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นองค์จอมทัพไทยอีกด้วย

จึงเป็นยุคสมัยที่ ผบ.เหล่าทัพประกาศนโยบายหลักข้อแรกคือการปกป้องเทิดทูนสถาบันกษัตริย์

จึงไม่แปลกที่เมื่อผู้ชุมนุมคณะราษฎรมีเป้าหมายที่เขตพระราชฐาน หรือที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ทหารจะต้องออกมา

บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. จึงต้องส่งทหารนอกเครื่องแบบออกมาเสริมกำลังตำรวจ จนถูกเรียกว่ามินเนี่ยน เพราะสวมเสื้อเหลือง ผมเกรียน มาวางกำลังเสริมหลังแนวตำรวจและ ตชด. ทั้งที่สะพานมัฆวานฯ ป้องกันม็อบไปลานพระราชวังดุสิต

และที่สนามหลวง ป้องกันม็อบเข้าใกล้พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว

จนมาถึงเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา เมื่อคณะราษฎรประกาศจะมาชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ย่านเทเวศร์ ก่อนที่จะเปลี่ยนแผนไปที่ SCB สำนักงานใหญ่ที่รัชดาแทน

แต่พบว่ามีทหารนอกเครื่องแบบ ผมเกรียน แต่งชุดไปรเวต เสื้อหลากสี มาวางกำลังล้อมสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทุกมุม ราว 1,200 นาย

โดยมีทั้งสวมหมวกแก๊ปสีเหลือง สีฟ้า และสวมหมวกแข็งสีขาว เพราะเป็นแนวตั้งรับม็อบ หลังแนวตำรวจ ตชด. ที่วางกำลังหลังรถฉีดน้ำ ประชิดแนวตู้คอนเทนเนอร์

ด้วยเพราะคราวนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่อาจยอมให้ผู้ชุมนุมรุกล้ำเข้ามาในเขตพระราชฐานได้อย่างเด็ดขาด หากพ้นจากแนวตำรวจมาจะต้องมาเจอทหารนอกเครื่องแบบเหล่านี้

ไม่แค่นั้น ยังมีกำลังเสริมที่วางกำลังอยู่ในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และกองทัพภาคที่ 1 ในกรณีที่ได้รับการร้องขอจากตำรวจให้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน

 

ทั้งนี้ ตามแผนเดิม หากม็อบมาที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ก็มีการเตรียมเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอีกครั้งหนึ่งไว้ด้วยหากเกิดความรุนแรงและบานปลาย

เพราะมีพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินประกาศใช้อยู่แล้วตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด

เหมือนเมื่อครั้งที่เคยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อผู้ชุมนุมมาล้อมทำเนียบรัฐบาล 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนยกเลิกไป

ท่ามกลางกระแสข่าวลือเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกและการปฏิวัติรัฐประหาร ที่ครั้งนี้นายอานนท์ นำภา และเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร เป็นคนเปิดเกมเอง

จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาสยบข่าวลือด้วยการยืนยันว่าไม่เคยคิดที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึก เพราะกฎหมายปกติก็เพียงพอแล้ว

พร้อมถามว่า ถ้าผมไม่ประกาศแล้วใครจะประกาศได้

ขณะที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ออกมาสยบข่าวปฏิวัติอีกครั้ง ด้วยการบอกว่าให้สื่อเลิกพูดถึงคำว่าปฏิวัติ ให้ตัดคำนี้ออกไปจากหน้าสื่อและจากโซเชียลได้เลย อย่าให้ปรากฏ

“ผมถามว่า ทำแล้วมันดีไหม ดีกับประเทศชาติหรือไม่ดี ดีกับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ ทำแล้วมันดีไหม ดีกับประเทศชาติหรือไม่ดี ดีกับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนมั้ย” ผบ.ทบ.กล่าว

กระนั้นก็ตาม ยังเกิดกระแสข่าวลือว่า ผบ.ทบ.จะประกาศกฎอัยการศึกเอง เพราะ ผบ.ทบ.ประกาศเองได้

หลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า แม่ทัพภาค และ ผบ.ทบ. มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่อำนาจของตนเองได้ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ

“ผบ.ทบ.มีลักษณะคล้ายกับ ‘นายกฯ’ สามารถประกาศได้ทั้งประเทศ แต่ไม่ต้องนำเข้า ครม. แต่ถ้านายกฯ ประกาศ ต้องเข้า ครม.ก่อน” นายวิษณุกล่าว

จึงทำให้กระแสข่าวลือการประกาศกฎอัยการศึกและการปฏิวัติรัฐประหารยังคงมีอยู่

และพุ่งเป้าไปที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่แม้วันนี้ไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.แล้ว แต่ทำหน้าที่รองเลขาธิการพระราชวัง ก็ยังคงถูกจับตามองว่ามีบทบาทต่อกองทัพและฝ่ายการเมือง

โดยเฉพาะนายอานนท์ที่ระบุว่าได้กลิ่นรัฐประหาร และ พล.อ.อภิรัชต์กำลังเดินสายในการขอความเห็นเรื่องการทำรัฐประหารเพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหา

แม้จะไม่ได้มีคำชี้แจงใดๆ ออกมาจาก พล.อ.อภิรัชต์ก็ตาม แต่เกมของนายอานนท์และเพนกวินที่ปลุกกระแสรัฐประหาร ถูกมองว่าเป็นการสร้างความหวาดระแวงกันเองในฝ่ายรัฐบาล

ทั้งนี้เพราะ พล.อ.อภิรัชต์เป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ได้หาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นเก้าอี้นายกฯ ไป ไม่ว่าจะโดยลาออกหรือมีเหตุให้ต้องออก

พล.อ.อภิรัชต์เคยถูกจับตามองว่าเป็นทายาทอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ทว่าวันนี้สถานภาพของ พล.อ.อภิรัชต์เปลี่ยนไปแล้ว มาเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง ที่ไม่อาจจะข้ามฟากไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้

พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้มีชื่ออยู่ในตะกร้าในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง จึงไม่อาจมาตามระบอบประชาธิปไตยปกติได้

จึงถูกมองว่า อาจมาเป็นนายกฯ หากมีการปฏิวัติรัฐประหารโดยกองทัพ ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น และเป็นน้องเลิฟสายตรงของ พล.อ.อภิรัชต์ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ และบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ล้วนเป็นนายทหารคอแดง

 

กระแสข่าวรัฐประหารเช่นนี้ ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ตกที่นั่งลำบาก เพราะอาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หวาดระแวงได้ แม้ว่าจะเป็นพี่รักน้องเลิฟที่สายตรงถึงกันตลอดก็ตาม

แต่เพราะวันนี้ พล.อ.อภิรัชต์สถานภาพเปลี่ยนไปเป็นรองเลขาธิการพระราชวังแล้ว

อีกทั้งมีรายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์รับหน้าที่สำคัญในการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกองทัพในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหลังจากที่คณะราษฎรประกาศนัดชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เพราะอีกสถานภาพของ พล.อ.อภิรัชต์ยังเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อีกด้วย

จึงไม่แปลกที่การรับมือม็อบครั้งนี้จะมีการจัดเต็มทุกรูปแบบ

ที่สำคัญคือมีการตั้งวอร์รูมร่วมตำรวจ-ทหาร และตัวแทนคนสำคัญจากสำนักพระราชวัง ที่รวมถึง พล.อ.อภิรัชต์ด้วยที่ บก.ทบ.

นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีการสั่งปิดกองทัพบก ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกและสื่อมวลชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ส่วนกำลังพลส่วนใหญ่ก็ให้เวิร์กฟรอมโฮม

และจะเห็นได้ว่า ครั้งนี้มีการใช้กำลังทหารมาเสริมกำลังตำรวจมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยการวางกำลังใน พล.1 รอ. กองทัพภาคที่ 1 และกองทัพบก

 

ปฏิบัติการสร้างความหวาดระแวง หรือที่เรียกว่าเสี้ยม ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

เมื่อตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำเสื้อแดง มองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะหลุดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจากคดีอยู่บ้านหลวง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ แล้วเสี่ยหนู นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะเสียบเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

เพราะถือว่านายอนุทินเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่มีชื่อในตะกร้า อยู่ในลิสต์รายชื่อนายกฯ ของพรรคภูมิใจไทย ที่จะมาตามระบอบประชาธิปไตย ตามกลไกของรัฐสภาได้

แต่นายอนุทินมองว่า เป็นการทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เกิดความหวาดระแวง

“ไม่มี นายกฯ ส้มหล่น กลัวแต่ทุเรียนหล่นใส่ขา เดี๋ยวขาเจ็บ ขาแหก ไม่ไหว เดินไม่ได้” นายอนุทินกล่าว พร้อมยืนยันยังหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่หูเบาจากประเด็นนี้

ด้วยเพราะเวลานี้ ทั้ง พล.อ.อภิรัชต์และนายอนุทิน น่าจะหยั่งรู้ว่า เก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ยังมั่นคง

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์เมื่อ 19 พฤศจิกายน ยืนยันว่าจะดำเนินคดีผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายด้วยกฎหมายทุกฉบับและทุกมาตรา เพราะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง ความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ที่รวมถึงการใช้ ม.112 ด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้นายกฯ เผยเองว่า ในหลวง ร.10 ทรงมีรับสั่งไม่ให้ใช้ ม.112 ก็ตาม

แต่คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เอ่ยอ้างถึงในหลวง แต่ชี้ว่า มีประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยกฎหมายฉบับนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ทนไม่ไหว รับไม่ได้

“ทำลายสิ่งของทางราชการ ละเมิดสถาบันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน…ผมคนหนึ่งละ ที่ยอมรับไม่ได้” นายกฯ กล่าว

จากนั้นมา ทั้งน้ำเสียงและแววตาของ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนได้ว่า ไม่ใช่แค่จะใช้ไม้แข็งเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความมั่นใจในเก้าอี้นายกฯ ที่แข็งแกร่งของตนเองอีกด้วย

ที่คาดกันว่าคงจะได้รับสัญญาณดีๆ บางอย่างที่ทำให้มั่นใจยิ่งขึ้น ยิ่งเรื่องลาออก ไม่ต้องพูดถึง เพราะจะยังไงก็ไม่ลาออกง่ายๆ และย้ำมาหลายครั้งว่า ไม่ลาออก ไม่ท้อแท้

เพราะภารกิจของทหารเสือราชินี ทหารเก่า ยังไม่จบ

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยเป็นนายทหารเสือราชินีที่ติดตามเสด็จถวายอารักขาอย่างใกล้ชิด ทั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง

ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นของ พล.อ.ประยุทธ์จึงสะท้อนความมั่นใจในความแข็งแกร่งของเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และมองข้ามไปถึงคดีพักอาศัยในบ้านหลวง ที่ก็น่าจะไม่มีปัญหา

และสะท้อนให้เห็นจากการใช้กำลังทหารและตำรวจในการรับมือผู้ชุมนุมโดยเฉพาะ แผนดูแลสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ วังลดาวัลย์ เขตพระราชฐาน ที่จัดเต็ม

เพียงแต่ผู้ชุมนุมเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมเสียก่อน

 

ขณะที่ ทบ.เป็นวอร์รูมของทหารและตำรวจ และทหารคอแดง

ที่บ้านป่ารอยต่อ ร.1 รอ. ของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และพี่ใหญ่ ก็เป็นอีกวอร์รูมที่ทั้งพี่น้อง 3 ป.ไปนั่งติดตามสถานการณ์ และหัวหน้าหน่วยข่าวต่างๆ

ที่สำคัญ ทั้ง 2 วอร์รูม ก็ต้องเช็กข่าวความเคลื่อนไหวของกันและกันด้วย ไม่แค่นั้น ยังต้องระมัดระวังการฟื้นชีพของทหารแตงโม และตำรวจมะเขือเทศ รวมทั้งมือที่สาม ถึงขั้นที่ พล.อ.ประวิตรเอ่ยปากว่า ต้องระวังมือที่สามนี่สำคัญ

ทั้งความเคลื่อนไหวของคนมีสีที่ไปช่วยเป็นการ์ดอาสาให้กับผู้ชุมนุมทั้งแบบเปิดเผยตัว และแบบลับๆ

ไม่แค่นั้น ยังพบว่ามีข่าวรั่วจากห้องประชุมฝ่ายข่าวที่วอร์รูมบ้านป่ารอยต่อฯ โดยเฉพาะเมื่อมีการพิจารณาเรื่องการจะใช้มาตรา 112 ในการเอาผิดผู้ชุมนุม เพราะหลังประชุมเสร็จแค่ไม่กี่นาที ข่าวก็รั่วถึงแกนนำม็อบ

รวมทั้งความเคลื่อนไหวในสายงานความมั่นคง และทั้งเอกสารของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ลงนามโดยบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สมช. ในการสั่งการให้หน่วยติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการเตรียมจัดคนมาช่วยดูแลสถานการณ์ และการปกป้องสถาบัน และการตั้งด่านตรวจสกัดผู้ชุมนุมไม่ให้เข้ากรุงก็หลุดออกมา

มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าที่ผ่านมาเอกสารของ สมช.ไม่ค่อยได้มีการหลุดรั่วออกมาในลักษณะนี้ แต่กลับเกิดขึ้น และมีการตรวจสอบว่าหลุดไปจากส่วนใด ใน สมช. หรือหน่วยงานความมั่นคงอื่น

ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ใช่แค่ต้องต่อกรกับผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาภายในที่ต้องจัดการด้วย

       เพราะศึกครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การชุมนุม แต่มีศึกข้อมูลข่าวสารในทุกมิติด้วย