ในประเทศ / COUP?

ในประเทศ

 

COUP?

 

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน เกิดปรากฏการณ์ แฮชแท็ก ‘เฮลิคอปเตอร์’ กระหึ่มโลกทวิตเตอร์

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ trends24.in/thailand และบัญชีทวิตเตอร์ @TopTrendThai

#เฮลิคอปเตอร์ พุ่งทะยานและค้างอยู่ที่อันดับ 1 นานต่อเนื่องกว่า 6 ชั่วโมง

โดย #เฮลิคอปเตอร์ เกิดขึ้นจากผู้คนในโลกโซเชียลจำนวนหนึ่งระบุว่า ได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินต่ำผิดปกติในหลายพื้นที่ ในหลายช่วงเวลา

อาทิ อโศก ลาดพร้าว หนองแขม ปทุมวัน นางเลิ้ง

ทั้งนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่างกังวลว่าจะเกิดการรัฐประหาร

และฟากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ต่างพากันแชร์ข้อมูล “คู่มือต่อต้านรัฐประหารอย่างเป็นระบบ” รวมทั้ง “บัญญัติ 10 ประการ คัดค้านรัฐประหาร” ออกมาอย่างกว้างขวาง

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ในตอนแรก นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงค่อนข้างกำกวม

โดยระบุว่าเป็นเรื่องของภาระทางด้านความมั่นคง

“เขาไม่ได้แจ้ง (รายละเอียด) จึงไม่รู้ว่าจะเปิดเผยอะไร”

จึงทำให้สังคมยังคงกังขาอยู่

กระทั่งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ต้องออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า

ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 23 พฤศจิกายน กองทัพบกได้จัดเฮลิคอปเตอร์ถวายความปลอดภัยและสนับสนุนการเดินทางไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ในการเสด็จฯ ไปทรงตรวจเยี่ยมโครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตาม “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ค่ายนเรศวร และโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จ.เพชรบุรี จบภารกิจเมื่อเวลาประมาณ 24.00 น. โดยลักษณะการบินอยู่ในระดับปกติตามมาตรฐานการบิน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อดำเนินงานตาม “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตรวจตระเวนชายแดน (ค่ายนเรศวร) ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

ขณะที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาช่วยชี้แจงอีกแรงว่า เฮลิคอปเตอร์ที่บินใจกลาง กทม.ได้ส่วนหนึ่งเป็นของขบวนเสด็จ ซึ่งกองทัพบกได้ทำหน้าที่สนองถวายงาน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกที่มีการร้องขอจากสำนักพระราชวังผ่านกรมยุทธการทหารบก เพียงแต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องภายในของหน่วยงานราชการที่อยู่ดีๆ จะไปออกข่าวคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ต้องวิเคราะห์และพิจารณาว่าอยู่ดีๆ เฮลิคอปเตอร์จะมาบินแบบนี้ได้มีสาเหตุมาจากอะไร ไม่ใช่ไปตีเรื่องโน้นเรื่องนี้ หรือตีความไปต่างๆ นานาแล้วแชร์กันออกไป โดยที่ไม่ได้คิดวิเคราะห์ และไม่ได้มีการสอบถามจากหน่วยงานราชการ ซึ่งขอให้มาสอบถามก่อนที่จะลงข่าว

ส่วนที่มีข่าวลือรัฐประหาร ทำให้คนนำเรื่องนี้มาโยงกัน พล.อ.ณรงค์พันธ์บอกว่า “ผมบอกว่านักข่าวควรกลับไปพักผ่อนเยอะๆ เห็นหรือไม่ว่าเป็นเฟกนิวส์มาแล้วกี่ครั้ง ผมไปตรวจราชการชายแดน แต่ก็มีข่าวว่าผมไปประชุมที่โน่นที่นี่ตามที่มีกระแสข่าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา พอข่าวไม่เป็นจริง ถามว่าใครรับผิดชอบ เมื่อข่าวไม่เป็นจริง ทำไมไม่ถามกลับไปบ้างว่าทำให้หลอกลวงประชาชน ทำไมไม่มีกระแสตีกลับว่าหลอกลวงประชาชน กี่ครั้งแล้วที่มีข่าวแชร์ออกมาอย่างนี้ ดังนั้น การบริโภคข่าวต้องมีสติ ต้องเช็กและตรวจสอบก่อน อย่าไปเชื่อ”

นั่นเอง จึงทำให้กระแส #เฮลิคอปเตอร์ คลี่คลายลง

 

แต่กระนั้น ถามว่า กระแสรัฐประหาร สร่างซาลงหรือไม่

เชื่อว่าในท่ามกลางสถานการณ์อันอึมครึม โดยเฉพาะการที่กลุ่มราษฎรประกาศยกระดับการชุมนุม ไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ที่สร้างกระแสตื่นตัว “รับมือ” และ “ป้องกัน” จากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงอย่างสูง

และนำไปสู่การคาดหมายต่างๆ นานา

โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำม็อบราษฎร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak”

ระบุว่า “ช่วงนี้กลิ่นรัฐประหารแรงขึ้นเรื่อยๆ และบรรยากาศทางการเมืองช่วงไม่กี่วันนี้เริ่มคล้ายกับช่วงก่อนรัฐประหาร 49 ถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้น ขอให้พี่น้องประชาชนออกมาต่อต้านอย่างสุดความสามารถ”

สอดประสานกับแกนนำอีกคนอย่างนายอานนท์ นำภา ที่ออกมาทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ และโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงวิธีป้องกันรัฐประหาร

“ข้อที่ 1 ขอให้คู่สมรสหรือลูกของทหารที่จะออกมารัฐประหาร จัดการตามสมควร ไม่ให้ทหารที่บ้านท่านออกมารัฐประหารครับ นี่เหมือนจะพูดเอาขำ แต่ไม่ขำครับ คนใกล้ชิดนั่นแหละที่รู้ข่าว รู้ความเคลื่อนไหวเร็วสุด เริ่มจากคนใกล้ตัวครับ”

ส่วนนายพริษฐ์ประกาศว่า “ถ้าวันใดวันหนึ่งเกิดการรัฐประหาร ขอให้รถทุกคันจอดปิดทุกแยก นี่คือการต้านรัฐประหารอย่างสันติและได้ผลมากที่สุด”

ส่วนนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำแนวร่วมราษฎร โพสต์ข้อความว่า “หากรัฐประหารไม่สำเร็จภายใน 3 วัน มันจะกลายเป็นกบฏทันที ไหวไหม!?”

เช่นเดียวกับนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำมวลชนอาสา หรือ We Volunteer แนวร่วมราษฎร โพสต์ข้อความว่า

“เมื่อมีรัฐประหาร การต่อต้านเป็นหน้าที่ของประชาชนโดยชอบธรรมอย่างสมบูรณ์ ไม่จำกัดรูปแบบ ไม่มีวิธีการเฉพาะเจาะจง มีเพียงเป้าหมายเดียวกัน คือหยุดยั้งการรัฐประหาร ปลดอาวุธทหาร และผู้ก่อการ ถ่วงรั้งเวลาให้ไม่ได้รับความสะดวก ไม่ให้ความร่วมมือต่อประกาศคำสั่งใดๆ และติดตามข่าวสาร รวมถึงแนวทางจากศูนย์การนำ การต่อต้านฯ ตลอดเวลา” ท่าทีของแกนนำคณะราษฎรดังกล่าว ทำให้กระแสการรัฐประการขึ้นสูงทันที

ดังนั้น เมื่อปรากฏเฮลิคอปเตอร์บินผ่านพื้นที่ กทม.ในหลายห้วงเวลา

จึงทำให้กระแส #เฮลิคอปเตอร์ อันสื่อถึงการรัฐประหาร พุ่งขึ้นติดทวิตเตอร์ในพริบตา

 

การปลุกกระแสรัฐประหารขึ้นมาดังกล่าว

มีการตอบโต้จากฝ่ายความมั่นคงทันทีว่า เป็นการสร้างกระแสขึ้นมา

โดยหลายข้อมูลที่แกนนำพูดนั้นล้วนไม่มีเหตุผลและไม่มีความเชื่อมโยงที่จะเกิดขึ้นได้

“ยืนยันว่าทหารยังไม่มีแนวความคิดในเรื่องการทำรัฐประหาร รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ไปถึงขนาดนั้นที่จะต้องใช้กำลังทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ เพราะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาความเรียบร้อยได้ตามกฎหมายปกติ” แหล่งข่าวในฝ่ายความมั่นคงระบุ

‘สอดคล้องกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ประกาศกร้าวว่า เรื่องที่พูดกันว่าจะมีการปฏิวัติหรือประกาศกฎอัยการศึกนั้น ในที่นี้มีใครประกาศได้บ้างหรือไม่ หรือใครจะประกาศได้’

“ในเมื่อผมไม่ได้ประกาศแล้วใครจะประกาศ ประกาศกันเองได้หรือ”

เช่นเดียวกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ที่ยังยืนกรานจุดยืนเรื่องการรัฐประหาร ที่เคยบอกว่า โอกาสเกิดเป็นลบ

โดยย้ำว่า (การรัฐประหาร) ทำแล้วมันดีไหม ดีกับประเทศชาติ เศรษฐกิจหรือความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ จึงบอกว่าอย่าไปคิดมาก สื่ออย่าไปพูดถึงคำนี้ ขอให้ตัดคำนี้ออกไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าสื่อ และโซเชียล อย่าให้ปรากฏอีก

“ทุกอย่างต้องมีทางออก ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้น” พล.อ.ณรงค์พันธ์ระบุ

 

แม้คีย์แมนสำคัญที่จะทำให้เกิดหรือไม่เกิดการรัฐประหาร จะยืนยันถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการรัฐประหาร

แต่นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เตือนว่า โอกาสในการทำรัฐประหารยังคงมีอยู่ เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยในการเมืองยังไม่ตั้งมั่น ไม่มีความเข้มแข็ง

ในทางกลับกันการจัดโครงสร้างของกองทัพ รวมทั้งองค์กรของกองทัพยังไม่มีการปรับเปลี่ยนโดยมีนัยยะสำคัญ

ปัจจัยเหล่านี้ยังเอื้ออำนวยในการทำรัฐประหารได้ตลอดเวลา

นายยุทธพรชี้อีกว่า ปัจจัยที่จะเอื้อให้มีการยึดอำนาจ เป็นเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ จะมีข้อยุติ

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมก็ยังไม่ชัดเจน

ส่วนสถานการณ์ที่สุกงอมหรืออาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ผู้มีอำนาจจะตัดสินใจทำรัฐประหาร จะมาจากปัญหาการเมืองแบบมวลชนหรือมวลชนาธิปไตย หากมีการปะทะระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย ทำให้กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลการชุมนุมไม่สามารถใช้ได้ รัฐบาลไม่สามารถกำกับได้ สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการยึดอำนาจ

การที่กลุ่มราษฎรประกาศไปชุมนุมสถานที่บางแห่งที่ล่อแหลมต่อความรู้สึก ก็มีโอกาสความเป็นไปได้ที่อาจทำให้เกิดการทำรัฐประหาร มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปะทะกับกลุ่มมวลชนที่เห็นต่าง ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการยึดอำนาจ

 

สถานที่บางแห่ง “ที่ล่อแหลม” ต่อความรู้สึก ตามที่นายยุทธพรระบุ ก็คงหมายถึง การชุมนุมวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ที่เดิมคณะราษฎรประกาศจะไปชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และต่อมาเปลี่ยนแปลงไปที่สำนักใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ แยกรัชโยธิน

ซึ่งในเชิงสัญลักษณ์ ก็ทะลุเพดานไม่ต่างจากสำนักทรัพย์สินฯ เท่าใดนัก

แน่นอน ย่อมสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง อย่างสูง

และเมื่อเผชิญกับแรงกดดัน “แบบไม่มีอะไรจะเสีย” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย่อมนำไปสู่ประเด็นและเงื่อนไขอันละเอียดอ่อนและแหลมคม

อันทำให้ปรากฏการณ์ #เฮลิคอปเตอร์ อันสื่อความหมายถึง การรัฐประหาร

ยังเป็นสิ่งที่หวาดระแวง และถูกตั้งคำถามครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะเกิดหรือไม่

            ท่ามกลางความเชื่อ โอกาสรัฐประหารยังคงมีอยู่!