ขอแสดงความนับถือ ฉบับประจำวันที่ 27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

คอลัมน์ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

ว่าด้วย

“ต้นข้าวในทุ่งนา

ถูกฆ่าด้วยเคียวเกี่ยวข้าว”

อ่านดูแล้ว เหมือนจะเหี้ยมโหด

เคียวฆ่าข้าว!!

 

กระนั้น หากลงไปในเนื้อหา

ที่สุจิตต์ วงษ์เทศ สรุปเรียบเรียงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของเสฐียรโกเศศ พิมพ์ในศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 4 เล่มที่ 1 (มิถุนายน 2492)

มาให้อ่านใหม่

กลับมากด้วยความไพเราะ

รู้สึกถึงการ “ฆ่า” อันงดงาม

 

“…เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวออกจากรวงแรก

ตอนนั้นขวัญของข้าวหนีไปสิงอยู่ในรวงที่สองซึ่งยังไม่ถูกเกี่ยว

แต่เมื่อรวงข้าวที่สองถูกเกี่ยวอีก

เมื่อนั้นขวัญข้าวหนีไปสิงรวงที่สาม

เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไป ฯลฯ

ในที่สุดหนีไปจนมุมอยู่รวงสุดท้าย

แต่แล้วรวงสุดท้ายก็ถูกชาวนาเกี่ยวไปจนหมด

ทำให้ขวัญข้าวหนีไปสิงอยู่รวงข้าวตก ที่รอดจากถูกเกี่ยวขาด

ชาวนาเลยพร้อมใจกันยกย่องรวงข้าวตกเป็นแม่ข้าว”

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ เสริมไว้ในบทความที่หน้า 83 ว่า

การเกี่ยวข้าวของชาวนา

เท่ากับชาวนาฆ่าแม่ข้าว

หรือทำให้แม่ข้าวตาย

เพื่อเอาเลือดกับเนื้อแม่ข้าวคลุกเป็นเนื้อดินท้องนาเป็นอาหารต้นข้าว

เมื่อเพาะปลูกปีต่อไปต้นข้าวจะได้จำเริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ เพราะได้รับการหล่อเลี้ยงเอี้ยงดูจากเลือดและเนื้อของแม่ข้าว

ขณะเดียวกันขวัญของแม่ข้าวจะสิงสู่อยู่ในต้นข้าวที่ปลูกใหม่ ครั้นถึงฤดูเก็บเกี่ยวแม่ข้าวจะถูกทำให้ตายเหมือนปีก่อนๆ

จึงต้องมีพิธี (ทำขวัญข้าว) ทุกปี

“ขวัญข้าวหนีเคียวเกี่ยวข้าว” ซึ่งต่อมาถูกเรียกสั้นๆ ว่า “ข้าวหนีเคียว” ยังมีความทรงจำสืบเนื่องความเชื่ออยู่ในถ้อยคำทำขวัญข้าว (จากหนังสือ ประชุมเชิญขวัญ รวบรวมโดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ในงานปลงศพฯ พ.ศ.2474 หน้า 63)

ความมีตอนหนึ่งว่า

“ขวัญเอ่ยอย่าเลยหนีไปห่างไกล

ขวัญแม่อย่าตกใจให้ฉุนเฉียว

เมื่อเวลาเขาตรงลงเคียวเกี่ยวกระหวัด แล้วมัดควบรวบรัดผูกเป็นกำ”

 

เคียวฆ่าข้าว จึงเป็นการฆ่าที่งดงาม และอ่านไพเราะ ด้วยประการฉะนี้

ซึ่งก็ต้องหมายเหตุไว้ชัด-ชัด ว่า

การฆ่าอันดีงาม ก็คงเป็นเฉพาะกรณีข้างต้นนี้เท่านั้น

ส่วนการ “ฆ่า” อื่นๆ

ล้วนมิใช่สิ่งที่พึงประสงค์

โดยเฉพาะการฆ่าทางการเมือง อันสืบเนื่องมาจากการบิดเบือน ปลุกปั่น ปลุกระดม ให้กระทำต่อผู้เห็นต่าง

ยิ่งหากเป็นการฆ่า ทำร้ายเยาวชน ที่ลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ดีต่ออนาคตของตัวเองด้วยแล้ว เพื่อเป็นข้ออ้าง “รัฐประหาร”

ย่อมเป็นเรื่องอันเหี้ยมโหด

ไม่มีทางยอมรับได้ และต้องช่วยกันสกัดไม่ให้เกิด

 

อนึ่ง เมื่อกล่าวถึงข้าวและทุ่งนาแล้ว

ย่อมไม่อาจเลี่ยงการพูดถึง “ควาย” ได้

“ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

ภูมิใจนำเสนอ

“เจ้าบุญเลิศ 2”–ควายไร้เขาแห่งท้องทุ่งเมืองมีนบุรี

และเจ้า “บอย”–หมาแห่งวัดห้วยขวาง

เจ้าบอย : “กดชัตเตอร์ไม่ลงจริงๆ ลูกเพ่ มองมุมไหนก็ไม่หล่อ นั่งก็ไม่หล่อ ยืนก็ไม่หล่อ ถามจริงๆ เถอะ พระเดชพระคุณ ไปเจออะไรมา (เขา) ถึงได้เป็นแบบนี้”

บุญเลิศ 2 : “ไปขวิดกับบักโควิด-19 มาน่ะ จนบนกระหม่อมเหลือเท่านี้ที่เห็นนี้แหละ เสร็จจากศึกโควิด-19 แล้ว เขาจะให้ไปสู้กับเศรษฐกิจ 2021 อีก สงสัยจะไม่ไหว เขากุดหมดแล้ว จะเอาอีหยังไปขวิดสู้เขาล่ะพระเดชพระคุณ”

ตากล้อง : อีตาปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

ขอบคุณ “ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) ที่มาเติมอารมณ์ขันในเคียวฆ่าข้าว