คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / ปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง (3) : แยกศาสนาออกจากรัฐ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ปีพุทธศักราช 2477 มีพระหนุ่มเณรน้อยจำนวนหนึ่งไปรวมตัวกันในชื่อ “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา”

เหตุที่ใช้คำว่า “ปฏิสังขรณ์” ก็เพราะดูไม่ค่อยรุนแรงเท่าคำว่า ปฏิรูป ปฏิวัติ ฯลฯ

ข้อเรียกร้องส่วนหนึ่งของกลุ่มคือการปรับเปลี่ยนกฎหมายคณะสงฆ์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างพระฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต

เพราะพระธรรมยุตได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักทั้งๆ ที่มีจำนวนน้อยกว่าพระฝ่ายมหานิกายมาก (ลองไล่ดูสมเด็จพระสังฆราชก็ได้ครับว่ามีธรรมยุตเท่าใด มหานิกายเท่าใด และพระราชวงศ์ล้วนผนวชในฝ่ายธรรมยุต)

แม้ผลของคณะปฏิสังขรณ์ในเวลานั้นจะไม่สำเร็จ และจากการเมืองระหว่างฝ่ายอำนาจกับคณะสงฆ์ทำให้สภาพปัญหาเช่นนี้ยังดำรงอยู่

แต่ในปี พ.ศ.2563 นี้ พร้อมๆ กับการขยายตัวของการประท้วงที่นำโดยบรรดานักเรียน-นักศึกษา ได้ก่อกำเนิด “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่” ขึ้นมาอีกครั้ง

ผมคิดเอาเองว่า ท่านผู้ก่อตั้งคงอยากให้ล้อไปกับขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่ใช้ว่า “คณะราษฎร” เพราะคณะปฏิสังขรณ์ฯ ที่จริงก็เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลาเดียวกันด้วย

ดังนั้น ขบวนการใหม่ทั้งสองนี้คือการสืบทอดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนหน้ามาปรับใช้กับสังคมปัจจุบันนั่นเอง

ข้อเรียกร้องของคณะปฏิสังขรณ์ฯ ในพุทธศักราชนี้มีความน่าสนใจกว่าเดิม เพราะไม่ได้คิดแค่จะปรับเปลี่ยนเฉพาะเรื่องพุทธศาสนา แต่มีข้อเรียกร้องเพื่อทุกศาสนาด้วย ซึ่งผมขอยกมาจากเพจของเขาเลย ดังนี้

ข้อแรก เพื่อความสมานฉันท์ สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของทุกศาสนา รวมถึงผู้ไม่นับถือศาสนา ต้องแยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐและราชการ (Secular state)

ข้อสอง หยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกเกลียดชัง

และข้อสาม หยุดใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda)

ส่วนข้อเรียกร้องเพื่อพุทธศาสนาโดยเฉพาะได้แก่

หนึ่ง ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจสงฆ์ และร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ขึ้นใหม่ ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย

และสอง สิทธิพลเมืองของพระภิกษุ-สามเณร ตามวิถีประชาธิปไตย

 

วันนี้ผมจึงจะขอกล่าวถึงข้อเรียกร้องแรก คือข้อเรียกร้องเรื่อง “การแยกศาสนาออกจากรัฐ” (separation religious institutions from state institutions)

หรือเราอาจเรียกว่า “การทำให้เป็นฆราวาสวิสัย” (secularization) เพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้น

ที่จริงคำที่เกี่ยวกับแนวคิดนี้มีหลายคำ คำพื้นฐานสุดคือ secular ที่แปลว่า ฆราวาสวิสัย หรือโลกๆ

คือเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา

หากเป็นแนวคิดก็ใช้คำว่า secularism ผมเข้าใจว่า เนื่องจากยังไม่มีศัพท์บัญญัติ จึงจะเรียกว่าแนวคิดฆราวาสนิยม หรือโลกนิยม ก็ตามแต่จะถนัด

ส่วนคำที่คณะปฏิสังขรณ์ฯ ใช้ในข้อเรียกร้อง คือคำว่า Secular state ที่จริงแปลว่า รัฐฆราวาสวิสัยหรือรัฐโลกวิสัย หมายถึงรัฐที่มีความเป็นกลางทางศาสนา

กล่าวคือ รัฐไม่ได้สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ

ไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการปกครอง

ไม่ใช้ความเชื่อทางศาสนาหรือข้อปฏิบัติมาเป็นกฎหมายและแนวนโยบายของรัฐ ฯลฯ

รัฐแบบประชาธิปไตยเกือบทั้งหมดเป็นรัฐฆราวาสวิสัยนี่แหละครับ แต่รัฐแบบฆราวาสวิสัยในหลายประเทศมีความแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

เช่น รัฐฆราวาสวิสัยแบบฝรั่งเศสกับฆราวาสวิสัยแบบอินเดียก็ไม่เหมือนกัน

แนวคิดฆราวาสนิยม (secularism) เริ่มเกิดขึ้นในยุโรป เนื่องจากในยุคกลางอิทธิพลของคริสต์ศาสนาครอบงำทั้งความเชื่อของผู้คนและระบบการเมืองการปกครองเป็นอย่างมาก

เมื่อถึงยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) พัฒนาการของวิทยาศาสตร์และการใช้เหตุผลทำให้มีนักคิดที่ตั้งคำถามกับการครอบงำของคริสตจักร และแนวคิดนี้ค่อยๆ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐต่างๆ

 

George Jacob Holyoake (1817-1905) นักคิดและนักปฏิรูปชาวอังกฤษ เสนอแนวคิดให้คนเชื่อมั่นในเหตุผลและวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนักคิดยุคก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังเสนอให้ใช้ศีลธรรมที่ไม่ใช่แบบศาสนาในฐานะปรัชญาและศีลธรรมส่วนบุคคล เขาเป็นคนที่เริ่มใช้คำว่า secularism เพื่ออธิบายวิธีการเหล่านี้ของตน

แม้จะมีการนิยามความหมายของคำนี้ต่างกันออกไป แต่มีนิยามที่น่าสนใจของนักคิดร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาศาสนาคือ Jean Baube?rot (1941-) ที่เสนอว่าแนวคิดฆราวาสนิยมมีส่วนที่สำคัญสามส่วน กล่าวคือ

หนึ่ง การแยกสถาบันศาสนาออกจากสถาบันรัฐ และไม่มีอำนาจเหนือกว่าของสถาบันศาสนาในบรรยากาศทางการเมือง

สอง เสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและการนับถือศาสนา ซึ่งทุกๆ คนมีเสรีภาพที่จะเปลี่ยนหรือแสดงให้ปรากฏซึ่งความเชื่อของตนเอง ภายใต้ข้อจำกัดแห่งระเบียบของสาธารณะและสิทธิของผู้อื่น

สาม ไม่มีการแบ่งแยกหรือต่อต้านของรัฐต่อบุคคลใดก็ตาม จากพื้นภูมิความคิดทางศาสนาหรือไม่ใช่ศาสนาของเขา ทุกๆ คนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

แนวคิดฆราวาสนิยมตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ว่ามนุษย์นั้นต่างมีคุณค่าในตัวเอง และต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนๆ กันโดยรัฐ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีศาสนาหรือไม่ก็ตาม

 

การแยกสถาบันศาสนาจากสถาบันรัฐ ในทางรูปธรรม คือ รัฐไม่ตั้งองค์กรทางศาสนา หรือทำให้องค์กรทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ หรือระบบใดที่รัฐช่วงใช้ได้ ดังนั้น องค์กรหรือสถาบันทางศาสนาทั้งหมดจะอยู่ในรูปขององค์กรเอกชน ซึ่งสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองโดยไม่ถูกรัฐแทรกแซง เช่น ในรูปสมาคมหรือมูลนิธิ

เมื่อองค์กรทางศาสนาอยู่ในฐานะเอกชน ย่อมมีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ในการเผยแผ่คำสอนและทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ขัดกับกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ในแง่นี้ความหลากหลายทางศาสนาจะงอกเงยขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ ผมมองว่าสิ่งนี้ช่วยให้ศาสนาเจริญขึ้นมากกว่าที่กลัวๆ กัน

ในกรณีที่เกิดความเห็นต่างหรือข้อพิพาท ก็จะมีการตรวจสอบหรือโต้แย้งกันเองจากสำนักนิกายอื่นๆ ที่เป็นเอกชนด้วยกัน หากละเมิดกฎหมายหรือสิทธิของบุคคลจึงค่อยถูกดำเนินการโดยรัฐ

ดังนั้น องค์กรทางศาสนาจะโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

รวมทั้งจะไม่มีอำนาจองค์กรทางศาสนาที่เหนือกว่ามาสั่งให้ยุบ สึก หรือทำลายล้างโดยปราศจากเหตุผลอย่างที่เราเคยเห็น

สอง รัฐต้องไม่สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ หรือในกรณีอินเดีย หากรัฐจะอุดหนุนศาสนาต้องกระทำอย่างเท่าเทียมกัน (อันนี้ต่างกับฆราวาสนิยมในยุโรป) ไม่ว่าประชากรที่นับถือศาสนานั้นจะมากน้อยอย่างไรก็ตาม

สาม รัฐจะต้องไม่นำเอาความเชื่อ ข้อปฏิบัติ หรือคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นแนวนโยบายหรือกฎหมายของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความไม่ยุติธรรม และการปฏิบัติที่แบ่งแยกกัน

สมมุติว่า เกิดผมเป็นชาวพุทธที่อยู่ในรัฐอิสลามที่ใช้กฎหมายแบบอิสลามกับทุกคน หรือผมเป็นอิสลามที่อยู่ในรัฐที่ใช้กฎหมายแบบพุทธ แบบฮินดู แบบคริสต์ ฯลฯ แล้วลองคิดเล่นๆ ต่อว่า ชาวพุทธกับอิสลามมีบทบัญญัติไม่ให้กินเหล้า แต่ชาวคริสต์เขาไม่ได้ห้าม, ชาวฮินดูไม่กินวัว ชาวมุสลิมไม่กินหมู ชาวพุทธมหายานกินเจ, ชาวฮินดูไหว้รูปเคารพ ชาวมุสลิมกับยิวไม่, ชาวมุสลิมมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนได้ แต่ชาวคริสต์มีได้คนเดียว ฯลฯ

หากเอาเรื่องพวกนี้มาเป็นกฎหมายและนโยบายจะวุ่นวายและลำบากกันแค่ไหน

นี่เอาแค่เรื่องกินเรื่องอยู่ หากเอาความเชื่อหรือข้อปฏิบัติของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นกฎหมายกับทั้งรัฐ ซึ่งแม้จะมีคนส่วนใหญ่นับถือศาสนานั้นๆ ก็เท่ากับได้ละเมิดสิทธิของคนส่วนน้อยในสังคมนั้นๆ ด้วย

ผมยังเชื่อว่า การแยกศาสนาออกจากรัฐยังเป็นคำตอบ ไม่ใช่สำหรับผู้ไม่นับถือศาสนาและผู้เชื่อมั่นในประชาธิปไตยเท่านั้น

แต่สำหรับศาสนาเองด้วย