เพ็ญสุภา สุขคตะ : นาค มกร กิเลน ปัญจรูป วิวัฒนาการ ของศิลปะทวารวดี ขอม ลังกา พุกาม จีน ในล้านนา (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ในสมัยล้านนา การสร้างประติมากรรมตกแต่งศาสนสถานของวัดประเภทรูปสัตว์น้ำในจินตนาการกึ่งเลื้อยคลานมีให้เห็น 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

1. มกรคายนาคหลายเศียร

2. มกรคายลิ้นตัวเอง

3. หางวัน (มกรลดรูป)

4. กิเลนกึ่งมังกรแทนที่ตำแหน่งของมกร

5. มกรคายนาคเศียรเดียว (ฮุ้งก้าบนาค-ปัญจรูป)

ฉบับนี้จักได้นำเสนอรูปแบบที่ 2-5 เนื่องจากรูปแบบที่ 1 ได้กล่าวถึงไปแล้วอย่างละเอียดในคอลัมน์นี้ฉบับก่อน

 

มกรคายลิ้นตัวเอง
จากลังกาสู่เวียงกุมกาม

รูปแบบมกร (สัตว์ครึ่งช้างครึ่งจระเข้) คายลิ้นตัวเองที่แลบออกมายาวมากตรงราวบันไดทางขึ้นศาสนสถาน แล้วม้วนตวัดกลมเป็นก้นหอยนั้น พบครั้งแรกในงานศิลปะลังกาตั้งแต่สมัยอนุราธปุระ ถึงโปลนนารุวะ

อันเป็นพัฒนาการขั้นที่สองของการทำรูปมกรในงานพุทธศิลป์ กล่าวคือ ขั้นแรกในอินเดียเป็นรูปมกรตัวกลมป้อมคล้ายปลา ชูงวงช้างของตัวเอง ไม่มีสัตว์หรือสิ่งอื่นใดที่โผล่ออกจากปาก มีแค่ลิ้นของมกรเอง

เป็นครั้งแรกที่ศิลปะลังกาจับตัวมกรมาอ้าปากกว้าง โดยให้หัวอยู่ตอนบนสุดของราวบันได 2 ข้าง แล้วอ้าปากเป็นแผ่นลิ้นทอดยาวของตัวมกรเอง ปลายลิ้นนี้สิ้นสุดด้วยการตวัดม้วนเป็นวงกลมก้นหอย

ในล้านนาพบรูปแบบมกรเช่นนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือที่ซากโบราณสถานร้างวัดอีก้าง ในเวียงกุมกาม เชียงใหม่ ดังภาพประกอบที่เห็น แต่น่าเสียดายที่หัวมกรตอนบน ทำท่าอ้าปากแลบลิ้นนั้นได้หักพังไปหมดแล้ว เหลือเพียงส่วนลิ้นกลมตอนปลายสุดที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีใต้ชั้นดินลึก ราว 20 ปีก่อน

หลักฐานนี้สะท้อนว่า บทบาทของพระภิกษุสายลังกาวงศ์ได้ปรากฏจริงอย่างเป็นรูปธรรมในการนำรูปแบบมกรคายลิ้นตัวเองมาสถาปนาในล้านนา ไม่ว่าผู้ออกแบบก่อสร้างจะเป็นพระภิกษุล้านนาที่ไปเล่าเรียนไปดูไปรู้ไปเห็นที่ลังกา หรืออาจเป็นพระภิกษุชาวลังกาสายตรงที่เข้ามาจำพรรษาในล้านนาแล้วให้คำแนะนำก็ตาม

 

ต้นกำเนิด “หางวัน”

คู่ขนานไปกับการทำมกรคายลิ้นตัวเองประดับที่ราวบันไดในแหล่งโบราณสถานที่เวียงกุมกามนี้ ไม่ไกลจากเจดีย์วัดอีก้าง พบราวบันไดพิเศษอีกประเภทหนึ่ง เป็นรูปมกร 2 ตัว ช่วยกันคาบนาคไว้ตรงกลาง

มกรตัวแรกอยู่ด้านล่างทอดเลื้อยลงมาจากราวบันไดตอนบน อ้าปากคายนาค 1 เศียร นาคตัวนี้อ้าปากแลบลิ้นสองแฉกคล้ายลักษณะของมังกรในศิลปะจีน แต่เหนือตัวนาคนี้กลับถูกประกบด้วยมกรอีกตัวหนึ่งนอนคว่ำหันหน้างับนาคตัวเดิม ชูช่วงหางม้วนตวัดขึ้นปิดปลายกรอบบันได

มกรคายนาคแบบพิเศษนี้พบที่วัดร้างกู่ป้าด้อม ในเวียงกุมกาม ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของราวบันไดนาคอีกประเภทหนึ่งในล้านนา

นั่นคือราวบันไดลดรูป ไม่มีการทำรูปหัวมกรหรือนาคอ้าปากแลบลิ้น แค่ทำราวบันไดเรียบๆ แล้วปิดปลายสุดด้วยรูปทรงกรวยแหลมเอนคล้ายกรอบกระหนก ชาวล้านนาเรียกว่า “หางวัน”

หางวันตัวนี้ จึงเป็นตัวแทนทั้งหางของมกร และหัวของนาคที่ประกบกัน

 

มกรหาย กิเลนร่ายบนซุ้มหน้าบัน

มกรคายนาคในรูปแบบที่เคยประดับกรอบซุ้มจระนำ (ซุ้มทิศบนเจดีย์ที่มีพระพุทธรูปภายใน) เช่นฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงเจดีย์เชียงยัน วัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดป่าสัก เชียงแสนนั้น ต่อมารูปแบบเช่นนี้ได้หายไปในสมัยล้านนาตอนกลาง

แต่กลับพบรูปแบบการใช้ “ตัวกิเลน” เข้ามาแทนที่ กิเลนนี้มีลักษณะคล้ายมังกรของจีน แต่ลำตัวสั้นกว่า ยังไม่ใช่มังกรเต็มรูปแบบ ชาวจีนเรียกกิเลนว่า “จี้หลิน” นิยมใช้ประดับหลังคาศาสนสถานเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของผู้ให้น้ำ ป้องกันไฟไหม้

ตัวอย่างตัวกิเลนในล้านนาคือ กิเลนช่อหางโต (เนื่องจากส่วนหางตกแต่งด้วยลายกระหนกพันธุ์พฤกษาอย่างอลังการ) ประดับปลายกรอบซุ้มจระนำสองข้างของพระเจดีย์ประธานวัดเกาะกลาง ป่าซาง ลำพูน

เห็นได้ว่ากิเลนตัวนี้ มีลักษณะที่คล้ายกับกิเลนแกะสลักจากอิฐเผาของศิลปะพุกาม ดังภาพประกอบที่นำมาให้ดูเปรียบเทียบ กิเลนในล้านนาจึงไม่ใช่การรับอิทธิพลจากจีนโดยตรง แต่เป็นอิทธิพลของศิลปะจีนที่ผ่านเข้ามาทางอาณาจักรพุกามก่อนแล้วชั้นหนึ่ง เนื่องจากมอญหริภุญไชยมีสัมพันธ์อันดีกับมอญหงสา มอญสะเทิม และอารยธรรมพุกาม

พบตัวอย่างไม่มากนักในงานศิลปกรรมล้านนาที่นำเอากิเลนช่อหางโตมาประดับที่กรอบซุ้มจระนำ อย่างไรก็ดี รูปแบบกิเลนที่เห็นนี้ ต่อมาได้ถูกพัฒนามาเป็น “พญาลวง” หรือนาคเศียรเดียว ที่พบอย่างกว้างขวางทั่วล้านนา

 

พญาลวง รุ้งคาบนาค

รูปแบบนาคหรือบันไดนาคที่พบมากที่สุดในล้านนา คือการทำมกรที่ราวบันไดเอามือยึดตัวนาคไว้ นาคมีลักษณะพิเศษ ไม่ใช่นาคหลายเศียร หรือนาคแผ่พังพานสวมกระบังหน้าสูงแบบอิทธิพลขอมอีกต่อไป

แต่กลายเป็นนาคชูคอยาว เศียรเดียว มีลักษณะผสมของสัตว์หลายชนิดคล้ายกับตัวมังกรของจีน ได้แก่ มีเครายาวใต้คางเหมือนกิเลน ชูงวงยาวเหมือนช้าง (หรือบางตัวอาจมีนอแรดแทนงวงช้าง) มีเขากวางประดับบนหัว (ส่วนใหญ่หักหาย) มีปีกเป็นหงส์ และมีลำตัวเป็นพญานาค

ดังนั้น ลักษณะผสมของสัตว์มากมายหลายชนิดเช่นนี้ ศัพท์ทางโบราณคดีจึงเรียกว่าตัว “ปัญจรูป” เรียกตามสัตว์ 5 ประเภทขึ้นไปผสมกัน แต่ชาวล้านนาเรียกง่ายๆ ว่า “ตัวลวง” หรือ “พญาลวง”

คำว่า “มกรคายนาค” ชาวล้านนาไม่รู้จักคำนี้ แต่เรียกว่า “รุ้งคาบนาค” (อ่าน “ฮุ้งก้าบนาค”) อันที่จริง “รุ้ง” หมายถึงตัว “ลวง” อยู่แล้ว ซึ่ง “ลวง” ก็คือ “พญานาค” อีกเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า “ตัวมกร” ตามคติดั้งเดิมของอินเดียที่มางับหรือคายตัวนาคนั้น อยู่ห่างไกลจากการรับรู้ของสังคมล้านนาเป็นอย่างยิ่ง

ฉะนั้น เมื่อเห็นสัตว์เลื้อยคลานสองตัวคาบกันอยู่ จึงเข้าใจว่าเป็นพญาลวง (รุ้ง) หรือ พญานาคทั้งคู่ จึงบัญญัติศัพท์เป็นคำสองคำซ้อนกันแต่มีความหมายเหมือนกันว่า “รุ้งคาบนาค”

การเข้ามาของ “พญาลวง” หรือ “ปัญจรูป” ในศิลปะล้านนา เห็นได้ว่า ค่อยๆ เข้ามาผ่านตัวกิเลนหรือจี้หลินบนซุ้มจระนำก่อน โดยรับอิทธิพลผ่านมาทางมอญ-พม่า จากนั้น จึงค่อยๆ นำตัวปัญจรูป (มีบางส่วนของกิเลน) เข้ามาแทนที่นาคหลายเศียรสวมกระบังหน้าแบบขอมอย่างเบ็ดเสร็จ

ลวง-ปัญจรูป-นาค แบบเศียรเดียว ชูงวงยื่นยาว มีเครายาว (ส่วนมากเขากวางมักหักหาย) ถือเป็นรูปแบบของบันไดนาคในช่วง 400 ปีลงมาที่พบทั่วล้านนามากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ (ไม่นับล้านนายุคคลาสสิคเมื่อ 500 ปีก่อน ซึ่งเหลือหลักฐานเรื่องบันไดมกรคายนาคน้อยมาก และส่วนใหญ่เท่าที่พบก็ล้วนแค่เป็นบันไดแบบมกรคายนาคหลายเศียร)

อีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือทำเป็นบันไดแบบหางวัน และนานๆ ทีจึงจะพบบันไดนาคแบบอลังการ คือทำมกร 2 ตัวซ้อน คายกันเองก่อน แล้วปลายสุดจึงคายนาคอีกที เช่นพบที่วัดต้นเกว๋น เชียงใหม่

ในวัฒนธรรมล้านนามีความเชื่อว่านาค 2 ตัว ตัวหนึ่งคือวิชชา และอีกตัวคืออวิชชา มีวัดโบราณหลายแห่งนิยมทำบันไดนาคสองข้างไม่เหมือนกัน คือด้านหนึ่งมีเกล็ด อีกด้านหนึ่งเปิดผิวเปลือยไม่มีเกล็ด เช่นที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

 

สรุป

กล่าวโดยสรุปเรื่องพัฒนาการของมกรและนาคในงานศิลปกรรม สามารถเห็นเส้นการเดินทางกว่าจะเข้ามาสู่ล้านนาได้ดังนี้

1 ในอินเดีย มกรกับนาคไม่มีความสัมพันธ์กัน ต่างอยู่แยกจากกันเป็นเอกเทศ มกรตัวกลมป้อมคล้ายปลาผูกริบบิ้น ชูงวงม้วนกลมไม่ดุร้าย

ส่วนนาคในอินเดียเป็นสัญลักษณ์ที่ตีคู่กันมาทั้งสองศาสนา ศาสนาพุทธใช้อธิบายเรื่องราวตอนพญามุจลินทร์แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าในสัปดาห์ที่ 6 หลังการตรัสรู้ธรรม ส่วนศาสนาฮินดู ลัทธิไวณษพนิกาย ใช้นาคประดับตอนพระวิษณุอนันตศายินหรือนารายณ์บรรทมสินธุ์

2 ในลังกา นำมกรมาประดับราวบันไดทางขึ้นศาสนสถาน ให้มกรอ้าปากคายลิ้นตัวเองที่ม้วนตอนปลาย รูปแบบนี้ส่งอิทธิพลมาที่กู่ร้างวัดอีก้าง เวียงกุมกาม 1 แห่ง

ส่วนนาคมักปรากฏในรูปแบบของ “มนุษยนาค” คือบุรุษที่ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่มีเศียรนาคแผ่พังพานด้านหลัง บุรุษผู้นี้ยืนถือหม้อปูรณะฆฏะ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากราวบันไดมกรคายลิ้นม้วน ทางขึ้นศาสนสถาน

3 ในชวา ประเทศอินโดนีเซีย ยุคที่ยังนับถือศาสนาพุทธและฮินดู ตามเทวาลัยและพุทธสถาน เช่น บุโรพุทโธ นำมกรมาประดับที่ด้านล่างปลายสุดของราวบันได 2 ข้าง ทำเป็นรูปมกรชูงวงช้างคายพวงอุบะมาลัยเป็นช่อโต ลักษณะเช่นนี้ แพร่กระจายไปสู่ศิลปะจามปา ขอม และหริภุญไชย

4 ในกัมพูชา พบรูปมกรเก่าสุดบนแผ่นทับหลังที่ใช้ประดับเหนือกรอบประตูทางเข้าเทวาลัย เป็นรูปมกรตัวกลมป้อมคล้ายปลา หันหน้าเข้าหากัน คายวงโค้งหลายวงที่คั่นด้วยรูปวงรูปไข่ตอนกลางมีเทวดายืนขี่สัตว์พาหนะ มกรสมัยแรกของขอมคล้ายศิลปะอินเดียยุคคุปตะ ไม่ดุร้าย

ต่อมาเมื่อกัมพูชามีการติดต่อกับชวา จึงรับเอาลักษณะการทำมกรหันหัวออกคายพวงอุบะมาประดับที่ปลายกรอบทับหลังและหน้าบัน ซึ่งรูปแบบของมกรคายพวงอุบะที่ปราสาทบันทายสรีนี้เอง ละม้ายกับมกรคายพวงอุบะที่วัดจามเทวีเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ใช้เส้นกรีดคมลึก มกรโผล่แต่หัวไม่แสดงลำตัว ตาพองโปน แยกเขี้ยวดุร้าย

ส่วนนาค ในวัฒนธรรมเขมรทำรูปนาคอย่างหลากหลายทั้งพุทธ ฮินดู เน้นนาคหลายเศียรแผ่พังพานสวมกระบังหน้าสูง ต่อมาปลายกรอบหน้าบันและทับหลังยุคบาปวน นครวัด เริ่มนำตัวมกรมาคายนาคแทนการคายพวงอุบะ อันเป็นรูปแบบที่ส่งอิทธิพลให้ศิลปะหริภุญไชยตอนปลายและล้านนาตอนต้น เช่น ที่เจดีย์เชียงยัน

5 ในพุกาม พบการทำรูปมกรคล้ายอินเดียตั้งแต่ศิลปะพยู่รุ่นโบราณ ครั้นพอสู่ยุคพุกาม เริ่มมีการนำนาคไปประดับตามใบฝักเพการอบกรอบซุ้มจระนำของวิหารจัตุรมุข ปะปนกับการนำกิเลน คล้ายมังกรของจีนเข้ามาใช้

ดังนั้น ในล้านนา นับตั้งแต่ยุคหริภุญไชยจนถึงยุคอาณาจักรล้านนา (ยุคทอง) ก่อนเสียเมืองให้พม่า จนมาถึงยุคที่พม่าปกครอง 200 กว่าปี และยุคที่ล้านนาฟื้นเมืองจากพม่าจนมากลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

งานศิลปกรรมจึงมีพัฒนาการเรื่อง นาค มกร กิเลน ตัวลวง อย่างค่อนข้างซับซ้อนซ่อนเงื่อน ตามที่พรรณนามาแล้วอย่างละเอียดทั้งสองตอน