ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : อโรคยศาล และบ้านมีไฟ การขยายพระบารมีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บนราชมรรคา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

จารึกปราสาทตาพรหม ในประเทศกัมพูชา ที่มีศักราชระบุในเนื้อความว่าสร้างขึ้นเมื่อเรือน พ.ศ.1729 ได้อ้างว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งเมืองพระนครหลวง หรือนครธม (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1724-1761) ได้สร้างอะไรที่ในจารึกหลักนี้เรียกว่า “อโรคยศาล” 102 แห่ง ขึ้นในเมืองต่างๆ ในราชอาณาจักรของพระองค์

“อโรคยศาล” แปลตรงตัวว่า “ศาลาไร้โรค” ฟังดูก็ชวนให้นึกถึงโรงพยาบาลนะครับ แต่รูปร่างหน้าตาก็คงจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ในอโรคยศาลเหล่านี้ยังมีการสร้าง “สุคตาลัย” ที่แปลตรงตัวเช่นกันว่า “ที่อยู่ของพระพุทธเจ้า” ขึ้นเพื่อศาสนสถานประจำอโรคยศาลแต่ละแห่ง แต่มักจะเข้าใจผิดและไปเรียก “ศาลพระภูมิ” ประจำศาลาไร้โรคกันว่าเป็นตัวอโรคยศาลเอง

ที่สำคัญก็คือการรักษาพยาบาลในสมัยนั้น เขาน่าจะทำกันในอาคารที่ปลูกขึ้นจากไม้ (ส่วนจะสร้างจากไม้ไผ่ หรือไม่อะไรนั่นก็อีกเรื่อง) มากกว่าที่พากันไปรักษาในปราสาทที่ก่อขึ้นจากศิลาแลง และอาคารเครื่องไม้เหล่านี้ก็คงจะสร้างอยู่รายรอบ หรือตั้งอยู่ใกล้กันกับสุคตาลัย ที่เป็นเหมือนอาคารประธาน ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม และมีหน้าที่เชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับบารมี หรือพระราชอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั่นเอง

และก็เป็นภายในศาลพระภูมิเหล่านี้นี่แหละ ที่มักจะพบศิลาจารึกซึ่งก็ช่วยให้เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับอะไรที่เรียกว่า “อโรคยศาล” และ “สุคตาลัย” มากขึ้นอีกพอดู

 

จารึกที่พบในสุคตาลัยแต่ละแห่งจะมีข้อความและรูปแบบการลำดับความซ้ำๆ กัน โดยเริ่มจาก

1) บทนมัสการพระพุทธเจ้าตรีกาย ได้แก่ พระธรรมกาย พระนิรมาณกาย และพระสัมโภคกาย

2) กล่าวถึงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุ พระโพธิสัตว์สูรยไวโรจนะ และพระโพธิสัตว์จันทรไวโรจนะ ว่าผู้ป่วยเพียงเอ่ยนามของพระองค์ก็หายจากโรคภัยได้

3) การปราบปรามโรคระบาดของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วยการระดมหมอผู้เชี่ยวชาญในการใช้ยา เช่นเดียวกับกองทัพที่ต้องใช้ทหารปราบข้าศึก พระองค์จึงสร้างอโรคยศาล และสุคตาลัย ไว้ใช้ประดิษฐานพระไภสัชยคุรุ และพระโพธิสัตว์ทั้ง 2 องค์ เพื่อบรรเทาทุกข์ภัยของประชาชน จากการศึกสงคราม และโรคระบาด โดยเปรียบเทียบว่าเป็นกลียุค ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เป็นผู้มาปราบยุคเข็ญ

4) ข้อความระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ในอโรคยศาล เช่น หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต้มยา เจ้าหน้าที่ประกอบพิธีบูชายัญ โหราจารย์ ฯลฯ ซึ่งจะมีจำนวนแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง โดยน่าจะขึ้นอยู่กับขนาดของอโรคยศาล ที่สัมพันธ์อยู่กับความสำคัญของพื้นที่บริเวณที่สร้างอโรคยศาลแห่งนั้นอีกทอดหนึ่ง

และ 5) รายชื่อสมุนไพร เครื่องยา เครื่องใช้ และสิ่งของต่างๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชทานให้ ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในจารึกแต่ละหลัก ตามแต่ความสำคัญของอโรคยศาลแต่ละแห่งเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า การสร้างอโรคยศาล และสุคตาลัยนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการสร้างเพื่อรักษาพยาบาลจริงๆ และประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ในศาสนาพุทธมหายาน แต่ทั้งหมดนี้ก็ถูกเปรียบเหมือนการทำศึกสงครามกับโรคระบาดในกลียุคที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้มาปราบ การสร้างทั้งอโรคยศาล และสุคตาลัย จึงเป็นทั้งการสั่งสมบุญบารมี และขยายพระบารมีของพระองค์ไปยังดินแดนต่างๆ พร้อมกันไปในตัว

 

ข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ที่สร้างขึ้นหลังจารึกปราสาทตาพรหมไม่นานนัก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจาก “อโรคยศาล” กับ “สุคตาลัย” แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังได้สร้าง “วหนิคฤหะ” คือ “บ้านที่มีไฟ” ไว้อีก 121 แห่งตามเส้นทางที่จารึกเรียกว่า “ราชมรรคา” คือ เส้นทางสายต่างๆ ที่มีเมืองพระนครหลวงเป็นศูนย์กลาง

ส่วนบ้านที่มีไฟนั้นนักอ่านจารึกโบราณเขาสันนิษฐานกันว่าคือ “ที่พักสำหรับคนเดินทาง” อย่างที่ในอินเดียเรียกกันว่า “ธรรมศาลา”

แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า? ยังไม่มีหลักฐานพอที่จะสรุปได้ เพราะอะไรที่ในจารึกเรียกว่า วหนิคฤหะ ที่ว่านี้ก็เป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลง มีรูปเคารพประดิษฐานอยู่ภายใน ถ้าใครจะพักค้างแรม ก็ควรจะมีอาคารที่อยู่รายรอบ โดยมีบ้านที่มีไฟนี้เป็นจุดหมายตาสำคัญเสียมากกว่า

ไม่ว่า “บ้านที่มีไฟ” จะหมายถึงอะไรก็ตาม แต่เจ้าสิ่งปลูกสร้างชนิดนี้ก็สร้างขึ้นตามเส้นทางเดียวกัน กับ “อโรคยศาล” และ “สุคตาลัย” ดังนั้น การสร้างสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ย่อมเป็นการสร้างพระบารมี ผ่านทางเส้นทางราชมรรคาไปยังดินแดนส่วนต่างๆ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วย

 

ที่น่าสนใจก็คือ ในจารึกปราสาทพระขรรค์ยังบอกอีกด้วยว่า ระหว่างเส้นทางจากเมืองพระนครหลวง มายังเมืองพิมายนั้น พระเจ้าชัยวรมันได้สร้างบ้านที่มีไฟไว้ถึง 17 แห่ง

จำนวนบ้านที่มีไฟจากเมืองพระนครหลวงถึงพิมาย แม้จะไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบ้านที่มีไฟซึ่งพระองค์สร้างระหว่างเส้นทางจาก เมืองพระนครหลวงไปยังราชธานีของพวกจามปาคือเมืองวิชัย (ปัจจุบันอยู่ในเมืองบิญดิ่ญ ประเทศเวียดนาม) ที่มีมากถึง 57 แห่ง

แต่ก็นับว่ามากกว่าเส้นทางสายอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเส้นทางสายนี้

(ก่อนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จะเสด็จขึ้นครองราชย์ พวกจามได้เข้ามาตี และยึดเมืองพระนครได้ 4 ปีต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงสามารถขับไล่พวกจามออกไป จากนั้นจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ และสถาปนาเมืองพระนครหลวง หรือนครธมขึ้นใหม่ ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่พระองค์จะให้ความสำคัญกับเส้นทางไปยังเมืองวิชัย และนี่ยังไม่นับว่า เส้นทางจากเมืองพระนครหลวงไปยังเมืองวิชัยนั้นไกลกว่าเส้นทางที่จะมายังเมืองพิมายมากอีกด้วย)

ข้อความในจารึกปราสาทตาพรหม และจารึกปราสาทพระขรรค์ ได้อ้างว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สืบสายมาจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1623-1650) ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งเมืองพระนคร ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์แห่งเมืองมหิธรปุระ (ที่มักจะเรียกกันว่า ราชวงศ์มหิธรปุระ)

โดยข้อความในจารึกได้พาดพิงถึงเมืองนี้อย่างชัดเจน

 

จารึกทั้งหลายในดินแดนเขมรต่ำคือ ประเทศกัมพูชาปัจจุบันนั้นมักจะระบุว่า มหิธรวรมัน หรือมหิธรปุระ อยู่ทางตอนเหนือของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้น นักวิชาการจึงมักจะสันนิษฐานตรงกันว่า สายราชวงศ์ที่มีฐานกำลังอยู่แถบลุ่มน้ำมูน

สำหรับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งทรงมีศักดิ์เป็นพระราชภาดา (ลูกพี่ลูกน้องผู้ชาย) ของพระปัยกา (ปู่ทวด) ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น มีจารึกที่ ศ.ยอร์ช เซเดส์ กำหนดอายุไว้ว่าจารขึ้นเมื่อ พ.ศ.1625 (ซึ่งเป็นหลักที่เก่าที่สุดของพระองค์) สลักอยู่ที่เสาประดับกรอบประตูของปราสาทพนมวัน จ.นครราชสีมา ว่าทรงเป็นผู้ทำนุบำรุงพระศาสนาที่ “รัตนปุระ” ซึ่งก็คือปราสาทพนมวันนั่นแหละครับ

ปราสาทพนมวันนั้นอยู่ห่างจากเมืองพิมายไม่ถึง 50 กิโลเมตร จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของราชวงศ์มหิธรปุระกับกลุ่มเมืองดังกล่าวและแม่น้ำมูนได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน ปราสาทพนมวันก็อยู่ห่างจากกลุ่มปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองเก่า คือเมืองโคราชเก่า หรือที่มีผู้สันนิษฐานว่าคือเมืองราด ประมาณ 50 กิโลเมตร

โดยตั้งอยู่ระหว่างกลางของเมืองพิมาย และเมืองโคราชเก่าพอดี

จึงแสดงให้เห็นถึงเส้นทางการเดินทางในอดีต และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเมืองโบราณ ที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมขอมเหล่านี้ และอิทธิพลของราชวงศ์มหิธรปุระในบริเวณดังกล่าว

เครือข่ายของมหิธรปุระนี่เอง ที่ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงให้ความสำคัญกับเส้นทางบนราชมรรคาสายนี้ เพราะนี่คือดินแดนแห่งขุมกำลังอำนาจเชื้อสายราชวงศ์ของพระองค์เอง