อนุช อาภาภิรม : ท่าที-ทิศทางประชาคมระหว่างประเทศต่อโควิด-19

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (32)
โควิด-19 กับการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ครอบคลุมกิจกรรมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ-การค้า สังคม วัฒนธรรม จนถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงชาติพันธุ์ ชนส่วนน้อย ผู้มีความเสี่ยงทางสังคม ได้แก่ สตรี และเด็ก เป็นต้น

เป็นผู้สร้างความรู้ นโยบาย ยุทธศาสตร์และการปฏิบัติแก่ประเทศทั้งหลาย

เป็นแกนความสัมพันธ์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ องค์กร หน่วยงาน และประเทศต่างๆ เพื่อการเจรจา ทำสนธิสัญญาข้อตกลงทั้งหลาย

เป็นความหวังของมนุษยชาติในการสร้างโลกที่สันติสุข มีสิทธิมนุษยชน เป็นแบบพหุภาคี เจริญรุ่งเรืองอย่างทั่วถึง และยั่งยืน

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของสหประชาชาติ ได้ประสบความสำเร็จจำนวนมาก คุ้มค่าสำหรับการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทางทหาร

แต่สหประชาชาติก็มีปัญหาใหญ่ 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง เป็นความไม่พอใจของประเทศต่างๆ ในช่วงแรกเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่รู้สึกว่า องค์การนี้ถูกครอบงำโดยมหาอำนาจมากเกินไป และดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิทธิผลประโยชน์ของตนอย่างต่อเนื่อง

ในระยะหลังเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว มีสหรัฐเป็นต้น ที่รู้สึกว่าตนควบคุมองค์การนี้ไม่ได้เหมือนเดิมทั้งที่เป็นผู้บริจาคเงินก้อนใหญ่

ขณะนี้สหประชาชาติเป็นเหมือนพื้นที่ “กระสุนตก” รองรับความไม่พอใจและการต้องการปฏิรูปจากหลายฝ่าย

กล่าวได้ว่าคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงไป ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายมักมองข้ามคำตัดสินจากหน่วยงานในองค์การนี้

ปัญหาใหญ่อีกด้านหนึ่งของสหประชาชาติ ได้แก่ การขยายกิจกรรมมาก ทำให้องค์การมีขนาดใหญ่เทอะทะ ใช้เงินงบประมาณสูง ผู้สนับสนุนก็ไม่ค่อยยอมควักกระเป๋า ทำให้ต้องลดงบประมาณรายจ่ายและการปฏิบัติงาน

ความยากลำบากของสหประชาชาติ เพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19

ดูได้จากการประชุมสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติปี 2020 นี้ ที่สหประชาชาติมีอายุครบ 75 ปี ควรจะได้จัดงานใหญ่เพื่อเฉลิมฉลอง

แต่จากสถานการณ์โควิด-19 การประชุมส่วนใหญ่จึงเป็นแบบเสมือนจริง สมัชชาใหญ่ที่เคยเป็นเวทีให้แก่ผู้นำโลกในการปราศรัย แสดง ทัศนะและท่าทีในการจัดระเบียบโลก การประชุมส่วนใหญ่จำต้องกระทำแบบเสมือนจริง

นั่นคือบรรดาผู้นำที่จะขึ้นปราศรัย ได้ส่งสำเนาการปราศรัยที่ได้ทำไว้แล้วส่งให้มาเปิดในที่ประชุมตามกำหนดการประชุม

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เวทีใหญ่ที่สุดของโลกกร่อยลงไปถนัดใจ เข้าสู่ขาลง

องค์การอนามัยโลกที่ควรจะได้รับการสนับสนุน ถูกสหรัฐโจมตีและถอนตัวจากการเป็นสมาชิก

ยังดีที่ว่าองค์การอาหารและการเกษตร ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้

องค์การนี้มีบทบาทใหญ่ในการรับมือกับผลกระทบของโรคระบาดในด้านอาหาร และได้ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศอื่นในการหาทางยับยั้งสงครามกับไวรัส

 

การยับยั้งสงครามกับไวรัส
ที่ไม่สำเร็จในขณะนี้

การยังยั้งสงครามกับไวรัสกระทำได้ในสามแบบใหญ่ ได้แก่

ก) การป้องกัน มีการป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่จะให้เชื้อไวรัสระบาดสู่มนุษย์ เป็นเบื้องต้น ไปจนถึงการสร้างวัคซีนในบั้นปลาย

ข) การรักษา มีการทดสอบ ติดตาม การพัฒนายาและวิธีรักษา ไปจนถึงการระดมสรรพกำลังในการตอบสนองต่อการระบาด

ค) ลดผลกระทบของการระบาด ในด้านเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม ไม่ให้สุขภาพและความอยู่ดีกินดีของประชาชนย่ำแย่เกินไป

เห็นได้ว่าในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 ได้เกิดโรคอุบัติใหม่จากไวรัสหลายโรคต่อเนื่องกัน ทำให้เห็นว่าเชื้อโรคที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน สามารถอุบัติจากแหล่งในสัตว์ป่าขึ้นในเวลาใด สถานที่ใดก็ได้โดยไม่มีการเตือนมาก่อน ระบาดคุกคามต่อสุขภาพและการอยู่ดีของประชาชนและเศรษฐกิจของทุกสังคมของโลก ได้มีการเสนอแนวคิด หลักการ ยุทธศาสตร์ และกำหนดการ โรดแม็ปในการปฏิบัติ เพื่อแก้ไขและป้องกันผลกระทบจากโรคเหล่านี้อย่างเอางานเอาการ เรียกว่า “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health)

ความคิดเรื่องสุขภาพหนึ่งเดียวนี้ ไม่ใช่ของใหม่ มีการเสนอแนวคิด “เวชศาสตร์หนึ่งเดียว” (One Medicine) โดยนายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์บางคนมานานราวสองร้อยปีแล้ว

ที่ควรกล่าวถึงได้แก่ รูดอล์ฟ เวอร์โชว์ (1821-1902) นายแพทย์นักพยาธิวิทยาชาวเยอรมัน ผลงานสำคัญของเขาเป็นด้านพยาธิวิทยาเซลล์ ชี้ว่าโรคติดเชื้อทั้งหลายเกิดขึ้นในเซลล์ เวอร์โชว์ได้ศึกษาการระบาดของโรคไข้รากสาดใหญ่ และได้กล่าวคำที่เป็นที่จดจำจนทุกวันนี้ว่า

“เวชศาสตร์เป็นวิชาสังคมศาสตร์แขนงหนึ่ง และการเมืองก็ไม่ใช่อื่นนอกจากเป็นเวชศาสตร์ขนาดใหญ่”

เขาได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งพยาธิวิทยาสมัยใหม่” และ “สันตะปาปาแห่งเวชศาสตร์”

 

มาถึงกลางศตวรรษที่ 20 ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างการเคลื่อนไหว “เวชศาสตร์หนึ่งเดียว” ได้แก่ สัตวแพทย์ชาวอเมริกันคือ แคลวิน ชวาเบ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960

เขาได้ชี้ว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างโรคคนกับโรคสัตว์

ความรู้จากการแพทย์ทั้งสองสาขานี้สามารถช่วยพัฒนาการแพทย์ของแต่ละสาขาได้ เขาได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาโรคระบาด-สัตว์สมัยใหม่”

ในต้นศตวรรษที่ 21 มีการเคลื่อนไหวสำคัญ 2 ครั้งที่ทำให้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

ครั้งแรกเป็นการประชุมทางวิชาการของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกที่นครนิวยอร์ก เดือนกันยายน 2004 ภายใต้หัวข้อว่า “โลกหนึ่งเดียว สุขภาพหนึ่งเดียว” เสนอหลักการเกี่ยวกับสุขภาพหนึ่งเดียวไว้ 12 ข้อ เรียกว่า “หลักการแมนฮัตตัน” เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจแบบองค์รวม ในการป้องกันโรคระบาดหรือโรคระบาดจากสัตว์ การรักษาบูรณภาพของระบบนิเวศเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ สัตว์เลี้ยงของพวกเขา และพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพที่หล่อเลี้ยงมนุษย์และระบบนิเวศ

ยกตัวอย่างหลักการแมนฮัตตัน 3 ข้อแรกได้แก่

ก) สำนึกถึงความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์เลี้ยงและชีวิตในธรรมชาติ และการคุกคามของโรคระบาดที่มีต่อประชาชน การสนองอาหาร และเศรษฐกิจของมนุษย์ และความหลายหลายทางธรรมชาติ เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการรักษาสุขภาพของสิ่งแวดล้อม และการทำงานของระบบนิเวศที่เราได้ใช้ประโยชน์

ข) สำนึกว่าการติดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ดินและน้ำ มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงในความคงทนของระบบนิเวศ และรูปแบบและการระบาดของโรคอุบัติใหม่ แสดงถึงความล้มเหลวของสำนึกของมนุษย์ต่อความสัมพันธ์เหล่านี้

ค) จะต้องรับเอาวิทยาศาสตร์ทางสุขภาพของชีวิตในธรรมชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญในการป้องกัน การสอดส่อง ติดตาม ควบคุมและลดผลกระทบของโรคระบาดในระดับโลก

(ดูเอกสารชื่อ Manhattan Principles on “One World, One Health” ใน cfr.org 29/09/2004)

 

การเคลื่อนไหวใหญ่ต่อมา เป็นการเคลื่อนไหวของหลายหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ องค์การอาหารและการเกษตร องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ คณะกรรมการประสานงานด้านไข้หวัดใหญ่สหประชาติ

นอกจากนี้ มีธนาคารโลก และกระทรวงสาธารณสุขจากหลายชาติ เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีการสร้างยุทธศาสตร์ใหญ่ 6 ข้อเพื่อการปฏิบัติทั่วโลก เช่น

ก) พัฒนาความสามารถในการสอดส่อง และการใช้เครื่องมือและวิธีการติดตามในมาตรฐานระหว่างประเทศ ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก

ข) ประกันความสามารถในการรักษาสุขภาพของสาธารณชนและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งยุทธศาสตร์ในการสื่อสาร เพื่อการป้องกัน ตรวจสอบและตอบโต้ต่อการระบาดของโรคทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและโลก

ค) ประกันความสามารถในระดับชาติ ในภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งความสามารถในการช่วยเหลือระดับโลกเพื่อการตอบโต้อย่างฉับพลัน

จากนี้มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องในหลายระดับ ในประเทศพัฒนาแล้ว มีการเดินหน้าไปมาก ในสหรัฐ ซึ่งมีศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อเป็นแม่งาน และยังมีการก่อตั้งคณะกรรมการสุขภาพหนึ่งเดียว (เป็นเอ็นจีโอ ก่อตั้ง 2009) เคลื่อนไหวเหมือนเป็นผู้เชื่อมโยงความร่วมมือขององค์การต่างๆ ทั่วโลก สร้างสรรค์โอกาส

และให้การศึกษาแก่สาธารณชนทั่วโลก

 

พิจารณาจากเหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้น เห็นได้ว่ามนุษย์ได้สะสมความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สัตว์เลี้ยงและสิ่งแวดล้อมมานาน

เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ที่แพร่มาจากสัตว์ ก็มีความตื่นตัว จัดการประชุมปรึกษาหารือ จัดตั้งองค์การ สร้างเครือข่ายความร่วมมือหลายระดับในการตอบโต้รับสถานการณ์อย่างครอบคลุม

แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดจริง ปรากฏว่าที่เตรียมการมาทั้งความสำนึก ยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติ และอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว กลับไม่ได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่

ในบางด้านเป็นตรงข้าม นั่นคือแทนที่จะมีความสำนึก กลับเกิดการปฏิเสธ ปฏิเสธว่าโควิด-19 ไม่ร้ายแรงกว่าไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดธรรมดา มันจะหายไปเอง ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และอื่นๆ

เรื่องคล้ายกับที่เวอร์โชว์กล่าวไว้กว่าร้อยปีแล้วว่า นโยบายทางการเมือง สำคัญยิ่งกว่าเวชศาสตร์ และการป้องกันรักษาทางการแพทย์

ในที่นี้จะกล่าวถึงนโยบายของทรัมป์เป็นตัวอย่าง (ผู้นำอื่นในตะวันตก และหลายประเทศรวมทั้งรัสเซีย ก็มีทัศนะและท่าทีคล้ายทรัมป์)

สหรัฐมีนโยบายทางเศรษฐกิจ-การเมืองอยู่ชุดหนึ่ง ได้แก่ ลัทธิชาตินิยมผิวขาว ประกอบด้วยคำขวัญหลักว่า “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” และ “อเมริกาอยู่เหนือชาติใด”

นโยบายชุดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความเข้มแข็ง แต่เกิดขึ้นเพื่อยับยั้งความเสื่อมถอยรอบด้านของสหรัฐ

ใจกลางของนโยบายชุดนี้คือ การทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

ถือเศรษฐกิจและเงินเป็นใหญ่

 

เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว มีปฏิบัติการที่สำคัญ ได้แก่

ก) การลดภาษีครั้งใหญ่ ที่สำคัญให้แก่บรรษัท เพื่อจูงใจให้กลับมาเปิดงานในประเทศ ขณะเดียวกันพยายามรักษาอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำสุด เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค

ข) การสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ แหล่งน้ำมันหินดินดานและถ่านหิน เพื่อให้มีต้นทุนพลังงานราคาถูก ลดการพึ่งพาน้ำมันจากภายนอก ในนี้รวมถึงการถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กล่าวโดยรวมคือนำเอาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมาเป็นเครื่องเซ่นความเจริญ

ค) ต่อต้านแรงงานอพยพอย่างแข็งขัน เพื่อให้ชาวอเมริกันมีงานทำและมีรายได้ (นำแรงงานอพยพเป็นเครื่องเซ่น)

ง) การทำสงครามการค้ากับจีน รวมทั้งพันธมิตรของตน เพื่อลดการเสียเปรียบดุลการค้า

การปฏิบัติทั้งสี่ประการได้ผลในระดับหนึ่ง

ทรัมป์กล่าวอ้างเป็นผลงานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐดีเยี่ยม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์วอลสตรีตพุ่งสูงเป็นประวัติการ อัตราการว่างงานลดลง ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่ามีเงินใช้สอยมากขึ้น

แต่ผลได้นี้มีค่าใช้จ่ายสูงหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การปฏิเสธหลักการและยุทธศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียวที่ได้วางรากฐานกันมานาน

โควิด-19 ได้โจมตีระบอบและลัทธิทรัมป์อย่างรุนแรง เห็นกันว่าการพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีของทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่สำคัญเป็นเพราะโควิด-19 ที่ทำลายผลได้ทางเศรษฐกิจที่คนงานโดยเฉพาะผิวขาวได้รับมาจนหมด

การทอดทิ้งเครื่องมือในการยับยั้งสงครามกับไวรัสจึงมีความเสียหายรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง หัวหน้าเสนาธิการทหารของอังกฤษมีทัศนะด้านลบถึงขนาดกล่าวว่า อาจก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สามได้ (ดูรายงานข่าวโดย Andrew Woodcock ชื่อ Coronavirus : Military chief warns of Third World War risk as pandemic brings “uncertain and anxious times ใน independent.co.uk 08/11/2020)

ฉบับต่อไปเป็นตอนจบ ว่าด้วยโลกหลังโควิด-19