ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : สื่อยุคใหม่ (3) ศิลปินหน้าใหม่มาแรงในวงการศิลปะร่วมสมัยโลก นักตั้งคำถามกับโลกรอบตัวด้วยงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
จิตรกรรมผ้ายีนส์ สีอรีลิคบนผ้าเดนิม

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปดูงานศิลปะของศิลปินไทยผู้หนึ่ง ที่หากเอ่ยชื่อขึ้นมาแล้ว คนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะร่วมสมัยในระดับนานาชาติอาจส่ายหน้าไม่รู้จัก

แต่ถ้าหากไปถามคนในวงการศิลปะระดับสากล เขาผู้นี้เป็นศิลปินที่กำลังเป็นที่ถูกจับตามองในวงการศิลปะระดับโลก ในฐานะศิลปินรุ่นใหม่มาแรง

เขาเคยมีผลงานแสดงเดี่ยวที่ MoMA P.S.1 นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันศิลปะร่วมสมัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก รวมถึง Palais de Tokyo พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ประจำกรุงปารีส และ UCCA Ullens Center for Contemporary Art กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า กรกฤต อรุณานนท์ชัย

ศิลปินสัญชาติไทยผู้ถือกำเนิดที่กรุงเทพมหานคร

เรียนจบปริญญาตรีสาขาศิลปกรรมจากโรดไอส์แลนด์ สกูลออฟดีไซน์ เมื่อปี พ.ศ.2552

และจบปริญญาโทสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมื่อปี พ.ศ.2555

กรกฤตเคยแสดงผลงานเดี่ยวครั้งสำคัญที่หอศิลป์และสถาบันศิลปะหลายแห่ง อาทิ MoMA PS1 กรุงนิวยอร์ก ปี พ.ศ.2557 Palais de Tokyo กรุงปารีส ปี พ.ศ.2558 และ UCCA กรุงปักกิ่ง ในปีเดียวกัน

ผลงานของเขาเป็นการสังเคราะห์ข้อมูลหลายๆ ด้านจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้อาศัยอยู่ทั้งโลกฝั่งตะวันตกและตะวันออก การใช้เทคโนโลยี (โลกอินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย) รวมทั้งวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ ศาสนาพุทธ และลัทธิบูชาผี ด้วยการใช้เทคนิคและสื่อหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอ การแสดงสด จิตรกรรม หรือศิลปะจัดวาง

ผลงานของเขาเป็นการตั้งคำถามต่อความเป็นศิลปะ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับชีวิต ความจริงและเรื่องแต่ง รวมทั้งวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมกับอนาคตของเรา

แรกเริ่มเดิมที กรกฤต สร้างชื่อจากผลงานจิตรกรรม “ผ้ายีนส์” หรือผ้าเดนิม โดยเขาเชื่อว่า “ยีนส์” เป็นวัสดุที่มีความเป็นสากล เป็นผ้าสวมใส่ที่แพร่หลายในทั่วโลก ศิลปินทำงานจิตรกรรมโดยใช้ผ้ายีนส์ที่มีการฟอกขาวและการจุดไฟเผา

ในการเผาไหม้เปรียบเสมือนการเปลี่ยนแปลงวัตถุไปเป็นงานจิตรกรรม เขาเริ่มทำงานด้วยเดนิม (ผ้ายีนส์) และเรียกตัวเองว่าเป็น จิตรกรเดนิม (Denim painter)

จากความคิดที่ว่า หากผ้าใบวาดรูปซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากโลกตะวันตกเป็นรากฐานของประวัติศาสตร์ของการสร้างงานจิตรกรรม ผ้ายีนส์ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ขนานกับโลกาภิวัตน์ แรงงาน และอิทธิพลของตะวันตก

“ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง บางทีเรื่องเล่าของจิตรกรที่ทำงานกับยีนส์ ก็อาจทำให้ยีนส์กลายเป็นรากฐานประวัติศาสตร์ของเขาด้วยเช่นกัน”

โดยเขาทำงานจิตรกรรมควบคู่กับการใช้สื่อสมัยใหม่อย่างวิดีโอ ศิลปะการแสดงสด และดึงประเด็นต่างๆ ในโลกปัจจุบัน อาทิ ข่าวจากสื่อโทรทัศน์และโซเซียลมีเดียสอดแทรกขึ้นมาระหว่างการเล่าเรื่องที่ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นจากความสนใจในทฤษฎีต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหาความหมายในแบบของตัวเอง

ไม่เพียงแต่การสร้างงานศิลปะที่อยู่ตรงกลาง แต่ความต้องการของเขา คือ การสร้างสถานะระหว่างกลางทางจิตใจ ด้วยการคิด การไตร่ตรอง และการเชื่อ โดยก้าวข้ามทัศนคติด้านลบด้านใดด้านหนึ่งที่เคยมีในจิตใจไปสู่การสร้างทัศนคติใหม่ๆ

“จริงๆ ผมไม่อยากเรียกว่านี่เป็นสื่อสมัยใหม่หรืออะไร ในโลกศิลปะตอนนี้มันเป็นยุคหลังสื่อ (Post Media) ไปแล้ว ผมรู้สึกจริงๆ ว่าสื่ออย่างเดียวที่มันยังคงถูกรักษาไว้ในโลกของมันเองคืองานจิตรกรรม คนถึงคุยกันตลอดว่า จิตรกรรมตายหรือยัง? เพราะมันมีประวัติศาสตร์มาเยอะแยะยาวนาน รวมถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจด้วย อย่างศิลปะการแสดงสด (Performance) เป็นสื่อสมัยใหม่เหรอ? ถ้าคุณมองศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของโลก ศิลปะการแสดงมันก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมานานแล้ว คนไทยเองก็มีนาฏศิลป์มีการรำมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราควรจะมองให้มันเปิดกว้างมากกว่า”

“ผมรู้สึกว่าผมทำวิดีโอเนี่ย สื่อที่ผมใช้มันไม่ใช่ใหม่อะไรเลย มันค่อนข้างพื้นฐานมาก ในจุดที่ผมสามารถหาเงินมาซื้อวิดีโอ มีโปรแกรมไฟนอลคัต มีคอมพิวเตอร์ที่เร็วพอตัดต่อได้ มันก็มีหลายๆ ที่อาจจะไม่ใช่ศิลปินแนวเดียวกับผม หรือไม่ได้เป็นแม้แต่ศิลปินเขาก็ทำเหมือนกัน ทักษะที่ผมใช้ตัดต่อวิดีโอของผมมันก็ไม่ได้ซับซ้อนหรือแต่งต่างไปกว่าคนที่ตัดต่อวิดีโองานแต่งงานหรือทำวิดีโอให้แฟนน่ะ มันน่าสนใจว่าทำไมวงการศิลปะเรายังติดอยู่กับอารมณ์แบบยุคสมัยใหม่ ต้องแบ่งเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง คอมเซ็ปช่วลอาร์ต โพสต์คอมเซ็ปช่วลอาร์ต ซึ่งคนอื่นเขาไม่มองกันแบบนี้แล้ว สำหรับงานของผม ดูเหมือนผมพยายามจะดึงสื่อใหม่ๆ เข้ามา อาจจะพูดได้ว่ามันเป็นมุมมองที่มองสื่อต่างๆ ว่าทุกอย่างมันคือเครื่องมือ แล้วเราจะพยายามสื่อสารอะไรให้คนในวงกว้าง”

“อย่างนึงที่ผมอาจจะหลงใหลชื่นชอบในวิดีโอเพราะทุกคนมีกล้องเป็นของตัวเอง ทุกคนมีไอโฟน บางคลิปผมก็ใช้ไอโฟนถ่าย ตอนที่โอโฟน 4s ออกมา กล้องมันดีมากจนเราเอาไปตัดเป็นวิดีโอ เอาไปทำอะไรได้เยอะเยอะ ซึ่งทุกคนก็มีพลังอำนาจนี้อยู่ในมือเหมือนกัน มันเป็นอะไรที่ทำง่ายมากๆ คุณอัพโหลด ไปตัดต่อในไอมูฟวี่ก็ได้ คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพพอ มันเป็นอะไรที่ทุกๆ คนทำให้เหมือนกันน่ะ”

“แล้วอีกอย่างคือการเผยแพร่ ตอนนี้คุณสามารถโพสต์ลงอินเตอร์เน็ต ทุกอย่างมันพร้อมสรรพ สมมุติผมเอาวิดีโออัพขึ้นออนไลน์แล้วแชร์ลงเฟซบุ๊ก แล้วคนก็มาดู ประสบการณ์ของการดูมันอาจจะไม่เท่ากับมานั่งดูจอใหญ่ๆ อยู่บนหมอนในห้องนิทรรศการของผม แต่มันก็เป็นการสื่อสารบางอย่าง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับงานจิตรกรรมเหมือนกัน”

 

ถ้ามันเป็นสื่อที่ใครๆ ก็ทำได้ งั้นอะไรล่ะที่ทำให้งานของเขาถูกคัดเลือกไปแสดงในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีชั้นนำต่างๆ ในอเมริกาเล่า?

“ถ้าผมเป็นนักทำเนื้อหา เป็นนักผลิตงานสื่อ มันก็อยู่ที่ว่าผมเผยแพร่วัฒนธรรมยังไง ผมสร้างการเล่าเรื่อง สร้างความสัมพันธ์ในงานศิลปะกับประวัติศาสตร์แบบไหนออกมา มันพูดยากน่ะ มันไม่ใช่ว่าผมทำอะไรอย่างนึง มันไม่ใช่การที่ผมคิดว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ ผมเลยทำงานเรื่องเทคโนโลยี ทำไมฤกษ์ฤทธิ์ถึงสำคัญล่ะ มันไม่ใช่เพราะเขาทำผัดไทยในแกลเลอรีในยุคที่อยู่ดีๆ เศรษฐกิจของโลกมันดีๆ อยู่แล้วตกต่ำเท่านั้น แต่มันเป็นลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ศิลปะ ถ้าจะให้ผมบอกว่าทำไมงานผมถึงถูกคนคิดว่ามันสำคัญและเอาไปแสดง ผมก็พูดยาก เพราะผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ศิลปะ มันอาจจะพูดได้ว่าอาจเป็นเพราะผมเป็นคนที่อยู่ในหลากหลายวัฒนธรรม เป็นคนไทย ไปอยู่ในอเมริกา มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่คนสนใจ”

“แต่ผมก็หวังว่าคนจะไม่ได้มาดูเพียงเพราะว่า ศิลปินคนนี้เคยแสดงที่ MoMA PS 1 เท่านั้น ผมหวังว่ามันคงมีอย่างอื่นในตัวงาน ซึ่งเราก็เพิ่งแสดงในเมืองไทยเต็มรูปแบบครั้งแรกด้วย และเท่าที่ผมเอางานชุดนี้ไปแสดงในหลายๆ ที่มา คนส่วนใหญ่เขาก็รู้สึกเชื่อมโยงกับงาน ยกเว้นว่าเขาจะหลอกผมน่ะนะ (หัวเราะ) ทุกคนก็เข้ามาคุยหลังงานจบ ทุกคนมีความรู้สึกร่วมกับตัวงาน อย่างน้อยๆ มันก็เป็นการใช้เวลาที่มีคุณค่าของเขาน่ะ”

“ซึ่งศิลปะถ้ามันทำได้แค่นั้น สำหรับผมก็มีความสุขแล้ว”

 

ผลงานของกรกฤตถูกนำมาแสดงในบ้านเราสองชุดในสถานที่ คือ 2012-2555, 2556, 2557 ที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ผลงานวิดีโอจัดวาง (Video Installation) และผลงานศิลปะการแสดงสดและวิดีโอที่ใช้เวลาในการผลิต 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2557 ผลงานแต่ละภาคตั้งชื่อตามปีที่ผลิตผลงาน ซึ่งมีช่วงเวลาในการผลิตแต่ละชิ้นห่างกันประมาณหนึ่งปี เป็นการนำเสนอพื้นที่ตรงกลางระหว่างวัฒนธรรมสองขั้วทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกที่ศิลปินมีสถานะเกี่ยวข้องด้วยท่ามกลางยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ในผลงานชุด 2012-2555 เป็นการรวมประสบการณ์ชีวิตของศิลปินหลายๆ ส่วนที่มีความซับซ้อน และหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งครอบครัว การทำงาน เพื่อน และการใช้ชีวิตระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา

ผลงานจึงสะท้อนลักษณะเฉพาะของตัวศิลปินที่เติบโตมาในวัฒนธรรมที่ผสมปนเปที่มีความลุ่มหลงในแฟชั่นยีนส์และความปรารถนาที่จะเป็นจิตรกร ความชื่นชอบในการบันทึกภาพด้วยอุปกรณ์ดิจิตอล

รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อการตีความเชิงพุทธศาสนาในประเทศไทยท่ามกลางบริบทโลกความเป็นวิทยาศาสตร์และลัทธินับถือผี

ทุกอย่างถูกร้อยเรียงเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องการจะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ อีกหลายสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน

ความชื่นชอบเกี่ยวกับผ้ายีนส์ ผนวกกับความต้องการที่จะเป็นจิตรกร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้กรกฤตเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ศิลปะขึ้นมาใหม่ในแบบฉบับของตนเอง