เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ว่าด้วยความรู้อันแตกฉาน (พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (6) ผู้สอน : คุณสมบัติที่พึงประสงค์ ตอนที่ 5

ย้อนอ่านตอนที่ผ่านมา 4  3  2  1

ข. ปฏิสัมภิทา

ตามศัพท์แปลว่าปัญญาแตกฉาน

พอได้ยินคำแปลว่า “แตกฉาน” มันทำให้เกิดภาพกระจ่างขึ้นมาทันที

จะต้องเป็นความรู้ที่กระจายไปวงกว้าง

ความรู้ที่กว้างขวางดุจดินฟ้ามหาสมุทร

ความรู้เล็กๆ น้อยๆ รู้งูๆ ปลาๆ ไม่นับเป็นความรู้แตกฉาน

ความรู้แตกฉานมี 8 ประการคือ

(1)อรรถปฏิสัมภิทา (แตกฉานในอรรถ) อรรถะ มีความหมาย 2 ประการคือ

– เนื้อความ หรือความหมายของหัวข้อธรรมหรือเรื่องราวต่างๆ เช่น พอเห็นคำปุ๊บก็รู้ความหมาย สามารถแยกแยะอธิบายได้เป็นฉากๆ ไม่ว่าจะอธิบายโดยรากศัพท์ที่ไปที่มาทางไวยากรณ์ ว่าคำคำนี้เป็นรากศัพท์มาจากธาตุอะไร ปัจจัยอะไร เป็นคำประเภทใดในทางไวยากรณ์ หรือไม่ว่าจะในด้านการตีความ อธิบายความว่า ถ้าแปลตามคำศัพท์แล้วแปลอย่างนี้ แต่ถ้าแปลเอาความหมายที่แท้จริงหมายถึงอย่างนี้ หรือไม่ว่าในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคำว่าคำนี้ เดิมที่ใช้ในความหมายอะไร ปัจจุบันนิยมใช้ในความหมายอะไรบ้าง ฯลฯ อะไรเป็นต้นเหล่านี้ รู้หมด เรียกว่า มีความแตกฉานในอรรถ ในความหมายหนึ่ง

ขอยกตัวอย่างเมื่อเห็นคำว่า นาค คำเดียว ผู้ที่แตกฉานในอรรถก็จะบอกทันทีว่าในแง่นิรุกติศาสตร์ คำว่านาค

– แปลว่า เหมือนภูเขา (ใหญ่ หรือมั่นคงดุจภูเขา)

– แปลว่า ไม่ไป ไม่เคลื่อนไหว หรือมั่นคง

– แปลว่า ไม่มีใครประเสริฐเท่า หรือผู้ประเสริฐ

และรู้ในแง่ที่เป็นความหมายทั่วไป คำว่า นาค แปลว่างูใหญ่ก็ได้ แปลว่าช้างก็ได้ แปลว่าผู้ประเสริฐก็ได้ (ความหมายหลังนี้คือ พระอรหันต์) โดยรู้วิธีอธิบายความหมาย หรือขยายความให้คนเข้าใจแจ่มแจ้ง เช่น สิ่งใดที่ใหญ่ๆ เรียกว่านาคได้ เพราะฉะนั้น งูใหญ่ที่สุดก็เรียกว่านาค ช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดก็เรียกว่านาค สิ่งใดใหญ่มักจะมั่นคง ไม่เคลื่อนไหว ถ้าเป็นคุณสมบัติของจิต ผู้ใดมีจิตไม่หวั่นไหว มีจิตมั่นคง ผู้นั้นก็เรียกว่านาค เป็นคนประเสริฐที่สุดที่พึงหาได้

พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วเท่านั้นจึงจะนับว่าเป็นคนมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวจริงๆ คนอื่นนอกจากนี้จิตย่อมหวั่นไหววอกแวกได้เป็นครั้งคราวหรือบ่อยๆ เพราะเหตุนั้นคำว่า นาคจึงหมายถึงพระอรหันต์ในอีกความหมายหนึ่งได้

อย่างนี้เรียกว่าแตกฉานในการอธิบายความ จากนั้นก็อาจจะโยงให้เห็นความเป็นมาของคำในแง่ประวัติเช่น มีนาค (งูใหญ่ที่มีฤทธิ์) ตัวหนึ่งเกิดความเลื่อมใสพระพุทธศาสนา อยากบวช จึงปลอมเป็นมนุษย์มาบวช

ครั้นต่อมาความลับถูกเปิดเผย พระพุทธองค์ตรัสห้ามสัตว์เดียรัจฉานบวช

ในธรรมเนียมการบวชพระ จึงมีคำถามผู้มาขอบวชว่า ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า

เพื่อให้แน่ใจว่ามิใช่สัตว์เดียรัจฉานผู้มีสัมฤทธิ์ปลอมมาบวชและรู้ประวัติสืบต่อไป

ต่อมานักปราชญ์ไทยได้แต่งเพิ่มเติมว่า นาคนั้นเสียใจมากที่ต้องออกจากพระศาสนา จึงกราบทูลขอพระพุทธเจ้าว่า ถ้าต่อไปภายหน้า ใครมาขอบวชขอให้เรียกผู้นั้นว่า “นาค” เถิด พระพุทธองค์ก็ทรงประทานอนุญาต ตั้งแต่นั้นมาผู้กำลังจะบวชเรียกชื่อว่า “นาค” กันทุกคน

อย่างนี้เรียกว่ารู้ความเป็นมาของคำว่านาค ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน

เล่าขานกันมานานว่า ครูที่แตกฉานจริงๆ คนหนึ่งคือ พระยาอนุมานราชธน ท่านเป็นพหูสูตรู้แทบทุกเรื่อง เวลาเข้าสอน ท่านจะสอนแบบจุดประกายความคิดแก่ศิษย์ ท่านจะถามว่า วันนี้ใครสงสัยอะไร เมื่อใครสักคนยกคำถามขึ้นมาสักคำถามหนึ่ง ท่านก็จะอธิบายเชื่อมโยงไปยังเรื่องต่างๆ ฟังเพลินและได้ความรู้ความเข้าใจ นี่คือตัวอย่างของผู้สอนที่แตกฉานในอรรถ

– ผล เช่น มองเห็นเหตุอะไรบางอย่างแล้วสามารถบอกได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ มโหสถบัณฑิต สมัยยังเด็กในหมู่บ้านที่มโหสถอยู่ มีเหยี่ยวโฉบเอาเนื้อที่ชาวบ้านตากไว้เสมอ ชาวบ้านวิ่งไล่เหยี่ยวสะดุดตอไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง ล้มได้รับบาดเจ็บไปตามๆ กัน และไม่สามารถไล่ทันเหยี่ยวมันด้วย

มโหสถเห็นผลที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านหัวร้างข้างแตก ถูกหนามตำเท้า จึงโยงไปหาเหตุที่แท้จริงว่ามันมาจากไหน ในที่สุดก็รู้ว่า เหตุที่แท้จริงคือ ชาวบ้านไม่ได้ดูทางที่วิ่งไป มัวแต่แหงนดูเหยี่ยวบนท้องฟ้า มันก็ต้องสะดุดตอไม้ล้มเป็นธรรมดา

วันต่อมาเมื่อเหยี่ยวโฉบเอาเนื้ออีก มโหสถจึงวิ่งไล่ โดยมองตามเงาเหยี่ยวบนพื้นดิน ไม่แหงนหน้าขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อไล่ทันเงาเหยี่ยวแล้ว ก็หยุดแหงนหน้าขึ้นตะโกนไล่ด้วยเสียงดัง เหยี่ยวตกใจ เผลอปล่อยชิ้นเนื้อลงสู่พื้นดิน ชาวบ้านก็ได้ชิ้นเนื้อคืน

เพราะการรู้ผลเชื่อมโยงไปหาเหตุของมโหสถ ด้วยประการฉะนี้

(2)ธัมมปฏิสัมภิทา (แตกฉานในธรรม) โดยมีความหมาย 2 ประการ คือ

– ธรรมะ หรือหลักการหรือคำสอนต่างๆ ก็รู้กันจนแตกฉาน ยกตัวอย่าง เช่น ครูมีหน้าที่สอนคนจะรู้ว่า ธรรมะประเภทใดควรสอนใคร เช่น เวลาให้กรรมฐานแก่ศิษย์ไปปฏิบัติก็ต้องดูว่า ศิษย์คนไหนมีราคจริตมาก คนไหนมีวิตกจริตมาก คนไหนมีศรัทธาจริตมาก ธรรมะใดหรือกรรมฐานประเภทใดควรให้แก่ศิษย์ประเภทใด อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าแตกฉานในธรรมเหมือนกัน

– เหตุ เช่น เมื่อเห็นเหตุแล้วสามารถพยากรณ์ผลทันที ว่าจะเกิดผลอย่างไร เช่น เห็นเด็กนักเรียนหนีโรงเรียนเที่ยวตามศูนย์การค้า ตามผับตามบาร์ไม่สนใจเรียน ชอบคบเพื่อนเกเร ชอบยกพวกตีกัน ก็มองทะลุถึงผลเลยว่า เด็กเหล่านี้อนาคตจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา (แตกฉานในเหตุ) เช่นเดียวกัน

ความแตกฉานทั้งในเหตุและผลนี้ เป็นคุณสมบัติทางปัญญาที่ครูพึงมีอย่างยิ่ง

(3)นิรุตติปฏิสัมภิทา (แตกฉานในภาษา) มีความหมาย 2 นัย คือ

– มีความรู้ในภาษาต่างๆ ที่จำเป็นในการค้นคว้า หรือถ่ายทอด อาทิ รู้ภาษาบาลี สันสกฤต อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น ครูที่รู้หลายภาษาและแตกฉานด้วยเป็นครูที่เก่งคนหนึ่ง

– รู้เพียงภาษาเดียวหรือสองภาษา แต่รู้ถึงแก่น มีเทคนิควิธีในการอธิบายด้วยการใช้คำที่เหมาะเจาะแจ่มแจ้ง ทำให้ผู้เรียนเข้าใจดี

อย่างนี้เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา เช่นกัน

(4)ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ ปฏิภาณมี 2 ประการคือ พูดจาโต้ตอบได้ฉับพลัน เรียกว่าปฏิภาณ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีก็เรียกว่า ปฏิภาณเหมือนกัน ครูจะต้องมีปฏิภาณ

ทั้ง 2 ประการนี้ จึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ

1. ด้านความบริสุทธิ์

คุณธรรมสำคัญประการหนึ่งของครูผู้สอนคือความบริสุทธิ์ คำนี้แปลได้หลายนัย

– บริสุทธิ์ หมายถึง จิตใจผุดผ่อง ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ หรือมีกิเลสเหล่านี้น้อย ความบริสุทธิ์ในแง่นี้หมายเอาจิตใจสะอาด จิตใจสูงส่ง

บริสุทธิ์ หมายถึง ทำได้ตามที่สอนเขา เช่น สอนเขาไม่สูบบุหรี่ ตนก็ไม่สูบบุหรี่ด้วย สอนเขาให้เสียสละ ตนก็เป็นคนเสียสละด้วย

– บริสุทธิ์ หมายถึง ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนจากการสอน ไม่ใช่สอนเพราะอยากได้เงินค่าสอนมากๆ หรือสอนศิษย์คนนี้เพราะเป็นลูกคนสำคัญ คนใหญ่คนโต ตนอาจได้อาศัยใบบุญ หรือผลประโยชน์อะไรบางอย่างได้บ้าง

ถ้าผู้สอนมีความบริสุทธิ์ 3 ประการนี้ การสอนของเขาก็ประสบความสำเร็จ

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้สอนที่ทำไม่ได้ตามสอน หรือที่ดีแต่สอนคนอื่น “หลวงตาแพรเยื่อไม้” ผู้เป็นนักเขียนเรื่องสั้นชื่อดัง เขียนนิยายอิงธรรมะเรื่องหนึ่งยกเอาหลวงตาพระนักเทศน์เป็นตัวเอก พระนักเทศน์เอกรูปนี้มีความภูมิใจในการเทศน์ของตนมาก เนื่องจากเป็นพระมีคารมคมคาย ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมตามไปฟังเต็มศาลาวัดทุกคราว

คราวหนึ่ง ขณะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เห็นญาติโยมแน่นศาลาวัด หัวใจก็พองโตด้วยปีติที่แฟนๆ มามากหน้าหลายตา หลวงตาขึ้นเทศน์ด้วยความสุข มีความรู้สึกว่าวันนั้นเทศน์ได้ดีเป็นพิเศษ ไม่มีใครแสดงอาการว่าง่วงเหงาหาวนอนเลย

ลงจากธรรมาสน์มารับกัณฑ์เทศน์ สายตาก็เหลือบไปเห็นขวานเล่มหนึ่งวางอยู่บนถาดปนกับเครื่องไทยทานอื่นๆ จึงเอ่ยถามว่า “กัณฑ์เทศน์มีขวานด้วยหรือ โยม”

โยมอาวุโสคนหนึ่งกล่าวตอบว่า “ครับ ขวานนี้คมนะครับ ถากอะไรได้ทุกอย่าง นิมนต์เอาไปใช้ในวัด แต่เสียอย่างเดียว…” โยมหยุดแค่นั้น

“เสียอย่างเดียวอะไร โยม”

“มันถากด้ามของมันไม่ได้ ครับ”

ว่าพลางยกถาดกัณฑ์เทศน์ขึ้นถวาย

หลวงตานักเทศน์นั่งรถกลับวัด ครุ่นคิดถึงคำพูดของโยมอยู่นาน “ขวานคม ถากได้สารพัด เสียอย่างเดียว มันถากด้ามของมันไม่ได้ เอ มันว่ากูหรือเปล่าหนอ”

พลันพระนักเทศน์เอกก็สะดุ้งไปทั้งตัว

ช่างด่าได้ล้ำลึกและเจ็บแสบอะไรเช่นนั้น!

พระพุทธองค์ประทานจีวรของพระองค์เองแก่พระมหากัสสปะเถระ ภาพจาก http://www.sookjai.com