ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : สื่อยุคใหม่ (4) ศิลปินหน้าใหม่มาแรงในวงการศิลปะร่วมสมัยโลก นักตั้งคำถามกับโลกรอบตัวด้วยงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Painting With History In A Room Filled With People With Funny Names, 2015 หอศิลป์ Palais de Tokyo, ปารีส ภาพจาก http://goo.gl/ae4L6d

ผลงานชิ้นที่สอง ของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ในไทย “2556” เป็นการตั้งคำถามต่อความหมายของศิลปะและการตระหนักรู้ถึงความเป็นตัวตนของเขา โดยศิลปินได้ดึงเอาคำพูดของ อ.ศิลป์ พีระศรี จากหน้าเฟซบุ๊ก ผนวกกับคลิปวิดีโอการแสดงบอดี้ เพนติ้ง ของ ดวงใจ จันทร์สระน้อย จากรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์อื้อฉาวในสังคมวงกว้าง ที่ต่อมาได้นำไปสู่การสนทนาระหว่าง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กับพิธีกรชื่อดังในเรื่องความหมายของศิลปะ

และผลงาน 2557 “วาดภาพกับประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 2” (Painting with history in a room filled with men funny names 2)

กรกฤตทำลายพื้นที่สองขั้ว คือตะวันออกและตะวันตก โลกของความเป็นศิลปะชั้นสูงและชั้นต่ำ โลกทางโลกและทางธรรม

รวมทั้งตั้งคำถามต่อความหมายของประสบการณ์ที่จริงแท้ (Authentic experience)

ด้วยการนำเสนอการเดินทางของตัวศิลปินและฝาแฝดของเขา กรพัฒน์ ในเส้นทางระหว่างวัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์และจิตวิญญาณ โดยใช้การไปเที่ยววัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เป็นตัวเดินเรื่อง

ศิลปินถ่ายทำงานชิ้นนี้ออกมาเหมือนมิวสิกวิดีโอ และนำเอาผลงานการแสดงสด บอดี้ เพนติ้ง ที่เลียนแบบคลิปของรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ใส่เข้าไปในงานชิ้นนี้เพื่อเป็นการตั้งคำถามว่า

“หากพุทธศาสนาเปรียบเป็นจิตใต้สำนึกของเมืองไทย และอุตสาหกรรมทางเพศเปรียบเหมือนกับจิตไร้สำนึก หากจะนำเอาสำนึกทั้งสองส่วนมาเจอกันโดยใช้ผลงานจิตรกรรมเป็นพื้นที่ตรงกลาง”

 

“เหตุผลที่ผมใช้งานวิดีโอที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ผมไม่ได้ต่อต้านงานศิลปะแบบประเพณีนิยมอย่างงานจิตรกรรมหรือประติมากรรม อย่างวิดีโอที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการไปวัดร่องขุ่น

คือผมสนใจในฐานะที่มันมีความเป็นวัดจริงๆ แต่ว่ามันก็เป็นที่สร้างเศรษฐกิจของชุมชน เป็นตัวแทนของความเป็นชาติ เป็นอะไรหลายๆ อย่าง ในขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทุกอย่างที่รวมกันผมว่ามันน่าสนใจมากเลย หรือการให้สัมภาษณ์ของอาจารย์เฉลิมชัยทางโทรทัศน์มันก็แสดงออกมาอย่างเต็มที่ทุกอย่างจริงๆ มันน่าสนใจ

เวลาเราอยู่เมืองไทยทุกอย่างมันขาวดำมาก ทุกอย่างมันไม่มีตรงกลาง แต่เราไม่รู้ตัวเลยว่าทุกอย่างมันตลก มันเหลวไหล และน่าสนใจแค่ไหน

อย่างตอนรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ที่ทุกคนตื่นตระหนกกันมากที่สุดตอนที่ผู้หญิงขึ้นไปเปลือยอกทำบอดี้เพนต์

เพลงที่ประกอบมันเป็นเพลงเต้นอะโกโก้ ซึ่งทุกคนก็จำได้ มันเหมือนเป็นรากเหง้าอันหนึ่งของเรา

แต่ในขณะเดียวกันเราก็เกลียดรากเหง้าอันนี้ของตัวเอง คือ ณ จุดนี้ประเทศไทยควรจะเริ่มคุยกันเรื่องการพัฒนาเกี่ยวกับสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัยกับผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ

แต่เรากลับต่อต้านและทำให้มันหายไป เพราะมันเป็นส่วนที่เราไม่ยอมรับว่ามีอยู่ เหมือนจิตไร้สำนึก

ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยการถ่ายทอดการไปเที่ยววัดร่องขุ่น ในแง่มุมให้เหมือนกับเป็นนักท่องเที่ยว แล้วทำออกมาเหมือนเป็นหนังล้อเลียน อินดี้ โรดทริป เราไม่ได้จะจะโจมตีอะไรบางอย่าง เราไม่ได้ดูถูกเขา

คือเรารู้สึกว่ามันมีขนบอย่างหนึ่งของศิลปินไทยที่มักจะทำงานเกี่ยวกับพุทธศาสนา แล้วก็จะมีวิธีปฏิบัติกับศาสนาพุทธในแบบหนึ่งที่คล้ายๆ กับจะเป็นมาตรฐานของมัน

อย่างการวาดลายไทย เหมือนกับวิธีที่คนปฏิบัติกับพญานาค มันน่าสนใจ

เพราะสำหรับผม พญานาคเป็นการอุปมาที่คนสร้างขึ้นมาเพื่อเข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติ มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเป็นๆ ที่เราพยายามจะหาเพื่อจะไหว้ขออะไร แต่มันเป็นการแสดงธรรมชาติที่แท้จริงของบางสิ่งบางอย่าง

ผมว่าการที่ผมทำวิดีโอผมกับฝาแฝดไปเที่ยววัดร่องขุ่นมันอาจจะแสดงธรรมชาติอะไรบางอย่าง อย่างความสัมพันธ์ของคนไทยกับการไปวัด กับพุทธศาสนา

ที่ผมว่าอย่างน้อยมันอาจจะ “จริง” กว่าการที่ผมไปวาดภาพลายไทย มีพระพุทธเจ้า เป็นศิลปะไทยประยุกต์อะไรแบบนี้”

 

“ตอนที่ผมเริ่มต้นทำวิดีโอตัวที่สอง มันเกิดจากการที่ผมเห็นรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ แล้วมันมีคำถามว่า ศิลปะคืออะไร แล้วคุณเฉลิมชัยก็ออกมาเป็นคนตอบ

พูดจริงๆ ตอนนั้นความรู้สึกของผมค่อนข้างต่อต้าน ด้วยความที่ผมยังเด็ก ยังไม่เข้าใจสังคมศิลปะของเมืองไทย ผมแค่รู้สึกว่าผมเป็นแค่เด็กที่ชอบศิลปะ แล้วมีคนมาบอกผมว่า ศิลปะที่ดีมันต้องเป็นศิลปะแบบรูปแบบนิยม (Formalism) ต้องเป็นศิลปะของคนตะวันตกเท่านั้น คือเขาพูดว่าอะไรแบบนี้ถ้าเป็นคนต่างชาติทำกันมันไม่ผิด

ผมฟังแล้วก็โกรธความคิดแบบนี้ แต่พอโกรธผมก็อยากทำความเข้าใจ ผมก็เริ่มหาข้อมูล ถามคน สุดท้ายก็ไปวัดร่องขุ่นเองเลย

ตอนที่ผมสร้างศิลปินตัวนี้ขึ้นมา อาจารย์ฤกษ์ฤทธิ์ก็บอกว่าคนไทยไม่เข้าใจหรอก ตอนนั้นผมคิดแล้วว่าคนไทยที่ผมอยากให้เข้าใจคือคนอย่างเพื่อนผมที่เขาคงไม่ว่า ดูชองป์ หรือ วอร์ฮอล คือใคร แต่เขารู้ว่า อ.เฉลิมชัยคือใคร หรือมันเกิดอะไรขึ้นในรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์

ประกอบกับในเมืองไทยมีศิลปินที่เขาทำงานในแบบหลังคอนเซ็ปชวล (Post Conceptual Art) ที่น่าตื่นเต้นหลายคน ที่เขาทำงานยากๆ เจ๋งสุดๆ ไปแล้ว

ผมก็อยากจะลองเป็นตัวเลือกใหม่ในมุมมองของผม ที่เชื่อมโยงกับมวลชนกระแสหลักอะไรบางอย่างในเมืองไทย

การเชื่อมโยงกับเพื่อนหลายๆ คนที่อาจจะไม่ได้มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลป์ลึกซึ้งอะไร

เราถึงได้เริ่มต้นที่การยกคำพูดของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งเป็นจุดที่เป็นพื้นฐานมากๆ ของการทำงานของศิลปินที่อยู่ตรงกลางระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ แล้วก็ตามด้วย ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ การเต้นอะโกโก้ อาจารย์เฉลิมชัยมาสร้างเป็นงานขึ้นมา

ตอนนั้นจริงๆ ผมจะไปหาผู้หญิงคนที่แสดงบอดี้เพนต์ในรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ จริงๆ มาทำงานกับผม จ้างนักสืบด้วยนะ ผมติดต่อทางเวิร์คพอยท์ ติดต่ออะไรต่างๆ พยายามที่จะหาเธอตลอดฤดูร้อน แต่ก็หาไม่เจอ เพราะมีมูลนิธิมารับเขาเข้าไป

และสุดท้ายก็เข้าใจว่าผู้หญิงคนนี้คงไม่ได้อยากเป็นศิลปินหรอก

และตอนนี้เขาก็คงอยากให้เรื่องนี้มันเงียบไป ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้มันก็เลยต้องยุติไป”

 

“จริงๆ ที่ดึงอาจารย์เฉลิมชัยมา เหตุผลนึงคือประเด็นเกี่ยวกับพุทธศาสนา และที่ดึงไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์มาก็คือประเด็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางเพศ สิ่งที่อยากจะพูดก็คือ ศาสนาพุทธมันคือตัวตน คือจิตสำนึก (conscious) ของเรา ส่วนอุตสาหกรรมทางเพศก็เหมือนกับจิตไร้สำนึก (unconscious) แล้วสิ่งที่มันต่างกันขนาดนี้มาอยู่ด้วยกันในที่เดียว มันทำให้ถ้าประเทศไทยเป็นคน ก็จะเป็นคนที่มีความขัดแย้ง ความลักลั่น และความดัดจริตเสแสร้งมากๆ น่ะ เหมือนกับเป็นคนสองขั้วในร่างเดียวกัน

คือถ้าจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกของเรามันใกล้เคียงกัน เราอาจจะเป็นคนที่รู้สบายใจกับตัวเอง เราอาจจะมีประสิทธิภาพในการทำอะไรได้มากกว่านี้ เพราะการยอมรับในธรรมชาติตัวเองมันก็เป็นสิ่งสำคัญในการก้าวหน้าต่อไป

ปัญหามันก็คือการที่พุทธศาสนากลายเป็นสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของวิถีชีวิตทั้งหมด

แต่มันกลับกลายเป็นสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ เพราะพอไปพูดถึงปุ๊บ ก็กลายเป็นการลบหลู่

แล้วมันจะเป็นสังคมประชาธิปไตยได้ยังไงในเมื่อศูนย์กลางของวิถีชีวิตเป็นสิ่งที่เราถกเถียงโต้แย้งไม่ได้น่ะ”