จรัญ มะลูลีม : อุมมะฮ์ยกระดับสู่ระหว่างประเทศ

จรัญ มะลูลีม

ข้อจำกัดในทางปฏิบัติของกลุ่มก้อนทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมุสลิมมีอยู่นั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะนำไปสู่ความยากลำบากในการทำให้รัฐหนึ่งรัฐใดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การคมนาคมและการขนส่งในสมัยกลางที่มีอยู่

แต่ทั้งๆ ที่มีการแบ่งแยกอยู่ในภาคปฏิบัติของโลกมุสลิม หรือยังมีเรื่องของอารมณ์ร่วมที่ผสานกลมกลืนของเอกภาพทางการเมืองที่คลุมเครืออยู่ก็ตาม ความรู้สึกร่วมกันในความใกล้ชิดและความเป็นหนึ่งเดียวนี้จะพบได้ในหมู่มุสลิมที่มาจากคำสอนของอัล-กุรอานและได้รับการเพิ่มเติมโดยแนวทางของศาสดามุฮัมมัดที่เน้นย้ำถึงเอกภาพของความคล้ายคลึงกันและการพึ่งพาซึ่งกันและกันในสมาชิกของชุมชนมุสลิม

ดังตัวอย่างของอัล-กุรอานที่กล่าวว่า “ผู้ศรัทธามิใช่อื่นใดนอกจากเป็นพี่น้องกัน (ดูกุรอาน S.XLI : 10) และจงยึดถือสายเชือกของอัลลอฮ์โดยพร้อมเพรียงกัน และจงอย่าแตกแยกกันในหมู่พวกเจ้า (ดูกุรอาน SIII : 103-105)

นอกจากนี้ ยังมีคำสอนของศาสดามุฮัมมัดของอิสลามที่ย้ำเตือนความรู้สึกของศรัทธาชนในความเป็นพี่น้องและความรู้สึกถึงความเป็นเอกภาพในหมู่มุสลิม คำสอนจากคำพูดบางคำพูดของท่านศาสดา (หะดีษ) มีดังนี้

ในการมีความสัมพันธ์ต่อกัน มุสลิมเปรียบเหมือนอาคารหนึ่งที่ทุกๆ ส่วนเสริมกันและกัน

บุคอรีรายงานว่าอนัศบุตรของมาลิกกล่าวว่า ท่านศาสดาได้กล่าวว่าไม่มีคนใดในหมู่พวกท่านจะเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง ถ้าเขาไม่มีความปรารถนาต่อพี่น้องมุสลิมของเขาเหมือนที่เขามีความปรารถนาต่อตัวของเขาเอง (Bukhari, Book 2, Bab 9, No.14)

อิบนุ อิสฮาก รายงานว่า ท่านศาสดาได้กล่าวในการประกอบพิธีฮัจญ์เพื่อเป็นการลาจากว่า จงรู้เถิดว่ามุสลิมทุกๆ คนนั้นเป็นพี่น้องของมุสลิม และมุสลิมนั้นเป็นพี่น้องกัน เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะนำเอาสิ่งใดจากพี่น้องที่เขามอบให้ด้วยความเต็มใจ เป็นเรื่องผิดกฎหมายหากมันมิได้เป็นของพวกท่าน โอ้พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ไม่ได้บอกพวกเขาเช่นนั้นดอกหรือ

(ดู Noor Ahmad Baba, Organization of Islamic Conference, Theory and Practice of Pan-Islamic Cooperation, New Delhi : Sterling Publishers Private Limited, 1994, p.6)

 

กฎบัตรขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) หรือ OIC ก็เช่นกัน ได้อ้างถึงความจริงนี้ในข้อความต้นๆ ที่ว่าความเชื่อร่วมกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้มแข็งสำหรับการบรรลุข้อตกลงและความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม (ดูกฎบัตรของ OIC)

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยอมรับตำแหน่งแห่งความผูกพันของอิสลามใน OIC ซึ่งมาจากความรู้สึกของความใกล้ชิดของมุสลิมและรูปแบบของการถวิลหาที่เกี่ยวข้องอยู่ในส่วนของเอกภาพของพวกเขานั้น

จำเป็นจะต้องกล่าวว่าลักษณะของนานาชาติและองค์การพร้อมด้วยความใกล้ชิดทางการทูตนั้นเป็นผลิตผลของสมัยใหม่เป็นองค์การระหว่างประเทศของรัฐอธิปไตย ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม

ปัจจุบันมีรัฐมุสลิมที่มีอธิปไตยมากกว่าห้าสิบรัฐ ซึ่งมีความแตกต่างในทางวัฒนธรรม ภาษา เผ่าพันธุ์และความขัดแย้งในผลประโยชน์แห่งชาติ คำว่าอุมมะฮ์ดูเหมือนจะยังไม่เปลี่ยนแปลงเช่นเคยและในความคิดเรื่องอุมมะฮ์นั้นเราสามารถย้อนกลับไปสู่ศักยภาพที่น่าสนใจขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้

OIC ได้กลายมาเป็นองค์การที่มีความหลากหลายอยู่มากที่สุดภายใต้ความเป็นเนื้อเดียวกัน โดยอาศัยภววิทยาอิสลามแบบคลาสสิคที่การพิจารณาถึงความเป็น “อุมมะฮ์” ครองความเหนือกว่าและอำนาจอธิปไตยยังคงผูกพันสัญญากับอัลลอฮ์

(Sheikh S.Nawed S. Politic of Islam : Pan-Islamic Foreign Policy in a World of State, London : Routledge Curzon, 2003, p.40 อ้างถึงในอนุสรณ์ ชัยอักษรเวช “อุมมะฮ์” ในฐานะ “Cosmopolitanism” : “ความเป็นเนื้อเดียวกัน” หรือ “ความหลายหลาก” บทความนำเสนอในโครงการสัมมนาทางวิชาการระดับบัณฑิตศึกษาเรื่อง “ลักษณะข้ามชาติ” (Trannationalism) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 30 พฤศจิกายน 2549,หน้า 13)

 

ความเป็นอุมมะฮ์หรือประชาชาติอิสลามในภาคปฏิบัติจึงอาจถือเอาองค์การความร่วมมืออิสลาม The Organization of Islamic Cooperation) หรือ OIC ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1969 เป็นตัวอย่างของความเป็นอุมมะฮ์ได้ OIC จึงนับได้ว่าเป็นองค์การระหว่างประเทศเพียงองค์การเดียวที่ประกอบไปด้วย “รัฐมุสลิม” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ “ศาสนาอิสลาม” ในเวทีระหว่างประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 57 ประเทศที่ตั้งอยู่ใน 4 ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา ด้วยเหตุนี้ OIC จึงเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน

OIC เป็นองค์กรระหว่างประเทศของรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วย “รัฐมุสลิม” และเป็นตัวแทน “อิสลาม” ในระดับระหว่างประเทศ

การปฏิบัติงานของ OIC นั้นขึ้นอยู่กับกฎบัตรที่ถูกนำมาใช้ใน ค.ศ.1972 และได้รับการแก้ไขครั้งล่าสุดใน ค.ศ.2008

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว OIC เป็นองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดประกอบขึ้นจากรัฐสมาชิก 57 ประเทศ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก 57 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ OIC แล้วก็มีประเทศ องค์การและหน่วยงานต่างๆ อีกจำนวนมากที่ได้รับสถานะสังเกตการณ์ รวมทั้งรัฐที่มีอธิปไตยและรัฐที่ไม่มีอธิปไตย

แม้ว่า OIC จะเป็นองค์กรทางศาสนา แต่การก่อตั้ง OIC นั้นขึ้นอยู่กับแนวความคิดของระบบรัฐชาติที่มีอธิปไตยด้วยเช่นกัน ในทางทฤษฎี OIC วางอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดดั้งเดิมของอิสลาม คืออุมมะฮ์ และความคิดสมัยใหม่ว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ OIC ก่อตั้งขึ้นมาใน ค.ศ.1969 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการก่อรูปของกฎบัตร และวางโครงสร้างอย่างเป็นทางการในตอนต้นทศวรรษ 1970 แล้ว องค์การก้าวหน้าไปมาก

ไม่เฉพาะในเรื่องการทำงานเท่านั้น แต่ยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรสนับสนุนและสถาบันอื่นๆ เพื่อเข้าไปประสานกิจการต่างๆ กับรัฐสมาชิกในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยผ่านการประชุมอย่างสม่ำเสมอของ OIC

OIC มีองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมอยู่ในสถานะของผู้สังเกตการณ์ (Observer status) เช่น สหประชาชาติ องค์การเอกภาพแห่งแอฟริกา (Organization of African Unity) ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) เป็นต้น

ทำให้ OIC เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่กับการมีปฏิสัมพันธ์ด้านสังคม-การเมือง และการทูตในหมู่สมาชิกของชุมชนโลกและในหมู่รัฐสมาชิกอย่างกว้างขวาง

ดังนั้น เมื่องมองผ่านแนวคิดอุมมะฮ์องค์การความร่วมมืออิสลาม OIC จึงเป็นองค์การระหว่างประเทศองค์การเดียว ซึ่งประกอบขึ้นมาจาก “รัฐมุสลิม” และเป็นตัวแทนของ “อิสลาม” ในระดับระหว่างประเทศ

OIC เป็นกลไกในระดับสถาบันของรัฐมุสลิมที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกมาตั้งแต่ ค.ศ.1969 จนถึงปัจจุบัน