คนของโลก : มิเชล ฟลัวร์นอย ว่าที่ รมต.กลาโหมคนใหม่

ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับการคาดหมายว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการแต่งตั้งมิเชล ฟลัวร์นอย อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมหญิงมากประสบการณ์วัย 59 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

การแต่งตั้งฟลัวร์นอยจะเป็นการทำลายเพดานแก้วหนึ่งในไม่กี่กระทรวงในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่เคยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งมาก่อนลง

ฟลัวร์นอยได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาที่ “เพนตากอน” มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ไปแล้วถึง 5 คนในช่วงเวลา 4 ปี

โดยคนล่าสุดคือ มาร์ก เอสเปอร์ คนที่ทรัมป์เพิ่งจะไล่ออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

พรรคเดโมแครตพยายามมานานที่จะแต่งตั้งผู้หญิงขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม กระทรวงที่เพิ่งเปิดกว้างให้ผู้หญิงเข้าทำงานในทุกๆ ตำแหน่งเมื่อ 5 ปีก่อน

โดยฟลัวร์นอยเคยเป็นตัวเต็งที่จะได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งนี้มาแล้วหากฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2016

 

ลูกสาวของช่างกล้องภาพยนตร์ชื่อดังอย่างจอร์จ ฟลัวร์นอย เรียนจบจากโรงเรียนมัธยมเบเวอร์รี่ฮิลส์ ในแคลิฟอร์เนีย

จบปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

จบปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

และเคยเป็นนักวิจัยด้านโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่วิทยาลัยรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระหว่างปี 1989-1993

ฟลัวร์นอยที่มีแนวคิดสนับสนุนความร่วมมือทางการทหารในต่างประเทศ เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐ เริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 90 เคยเป็นผู้ช่วยรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านกลยุทธ์ในยุคประธานาธิบดี บิล คลินตัน เคยดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา และเคยนั่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหมอย่างโรเบิร์ตเกตส์ และเลออน พาเนตตา ระหว่างปี 2009-2012

นอกจากนี้ ฟลัวร์นอยยังเคยนั่งเป็นบอร์ดบริหารของบริษัท บูซอัลเลนฮามิลตัน บริษัทสัญญาจ้างของกระทรวงกลาโหมด้วย

ฟลัวร์นอยเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศและกลาโหมอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะในช่วงหลายปีหลัง แสดงให้เห็นถึงแนวคิดสนับสนุนความร่วมมือทางการทหารระดับนานาชาติที่ใกล้ชิดขึ้น หลังจากนโยบาย “อเมริกันต้องมาก่อน” ของทรัมป์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐอเมริกาถูกลดความน่าเชื่อถือลงไป

แนวคิดทางการเมืองสายกลางทำให้ฟลัวร์นอยได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการลงมติรับรองจากสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐที่รีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากเอาไว้ได้ด้วย

“ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์สมัยที่ 2 หรือประธานาธิบดีไบเดน ไม่ว่าจะเป็นใคร หนึ่งในวาระอันดับต้นๆ ที่ต้องพยายามทำก็คือการเปลี่ยนภาพลักษณ์สหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้อีกต่อไปเสียใหม่” ฟลัวร์นอยระบุเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ฟลัวร์นอยยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันทีนั้นไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหา โดยเตือนว่า การตั้งธงว่าสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้าทำมาทั้งหมดเป็นสิ่งผิดนั้นจะเป็นการเดินผิดทาง

 

คุณแม่ลูกสาม ที่มีสามีเป็นนายทหารกองทัพเรือ อดีตรองประธานบริษัทไอบีเอ็ม ก่อนจะได้นั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยกิจการทหารผ่านศึก มองว่าจีนยังคงเป็นคู่แข่งที่ท้าทายในเวทีโลก และยอมรับว่าสหรัฐอเมริกามีเทคโนโลยีทางการทหารที่ถูกจีนแซงหน้าไปหลายเรื่อง

ฟลัวร์นอยสนับสนุนให้กองทัพสหรัฐคงบทบาทในตะวันออกกลางต่อไป แต่จำกัดกำลังลงและเน้นไปที่การต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย

เรื่องเกาหลีเหนือ ฟลัวร์นอยมองว่า เป้าหมายสูงสุดยังคงเป็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือลง แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเห็นคิม จอง อึน จะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์

เนื่องจากนั่นเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่รัฐบาลเกาหลีเหนือจะอยู่รอดต่อไปได้นั่นเอง