วิเคราะห์สถานการณ์ กับ อดีต สมช. ชี้ทางออกเดียว “ประยุทธ์” ต้องลาออก ยังไม่มีสัญญาณรัฐประหาร

“เป้าหมายและทางออกในบ้านเมืองตอนนี้มีอยู่อย่างเดียวคือต้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกไปแล้วปัญหาทุกอย่างจะจบ ถ้าไม่ออก ปัญหาไม่มีทางจบ เพราะนายกฯ คือรากแก้วของปัญหา ที่คุณเห็นชัดเจนว่าถ้าออกไปแล้วทุกอย่างจะคลี่คลายลง” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีต สมช. มองถึงทางออกปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน

พล.ท.ภราดรวิเคราะห์แนวโน้มและพัฒนาการชุมนุมของนักศึกษาตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ที่พอจะมองออกได้ว่า หากย้อนถอยไปตั้งแต่ชุมนุมใหญ่ 19-20 กันยายน ก็มีความชัดเจนว่าการชุมนุมจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

โมเดลที่ใช้ก็ไม่เหมือนในอดีต เช่น จะต้องมีแกนนำหลัก ทำให้มวลชนหรือม็อบสามารถเคลื่อนไปได้

ข้อเท็จจริงใน พ.ศ.นี้ เมื่อผู้ชุมนุมมองเห็นร่วมกันว่ารากของปัญหาเกิดขึ้นมาจากกระบวนการยึดอำนาจสืบทอดอำนาจ บวกกับทุกคนมีความกล้าหาญ กล้าแสดงออกมากขึ้นในการที่จะเรียกร้องนั้น มันก็ไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะต้องอาศัยแกนนำแบบดั้งเดิม

พอสถานการณ์มาถึงวันที่ 14 ตุลาคมเป็นต้นมาที่มีการชุมนุมใหญ่อีกหนเราก็จะเห็นรูปการณ์ที่ชัดเจนว่ามีการเคลื่อนไหวแนวใหม่ การขึ้นเวทีก็เปลี่ยนแปลงได้เพราะผู้คนจากหลากหลายกลุ่ม ไม่ได้จำกัดเพียงแค่กลุ่มเดิมกลุ่มเดียวอีกต่อไป

ส่วนปรากฏการณ์ไล่จับแกนนำ-ผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนพี่น้องประชาชนที่มาชุมนุม ต่อให้จับเป็นพันคนก็จับไม่หมด

ยุทธวิธีตำรวจจริงๆ จึงเหลือเพียงแค่ทางเดียวที่จะดำเนินการคือการบันทึกข้อมูลต่างๆ ไว้ก่อน แต่สุดท้ายก็จะหมดแรงทั้งคนจับและถูกจับ เพราะการดำเนินการมันจะติดขัดหลายขั้นตอน อะไรๆ ก็จะทำได้ลำบากไม่เหมือนเก่า

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ต้องเรียนรู้ว่ามันแตกต่างจากอดีตในการทำแบบเดิมๆ จะได้ผลยากขึ้น

ขณะที่ท่าทีของนายกรัฐมนตรี ที่ดูเหมือนไม่ถอยหรือผ่อนปรนเท่าไหร่ ต้องมองไปที่ 2 ปัจจัย คือ 1.ตัวของเขา 2.ปัจจัยสภาวะแวดล้อมของเขาองคาพยพของผู้มีอำนาจ ถ้าตัวผู้มีอำนาจไม่ยอมถอย แต่ถ้าปัจจัยสภาพแวดล้อมถอยเขาก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าเขาไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเองอีกแล้ว

ดังนั้น ถ้านายกฯ คนนี้ตั้งสมาธิตั้งจิตให้ดีจะเห็นแสงสว่างเองนั่นคือ “ตัวเอง” ต้องลดละลดความเห็นแก่ตัว มีความเป็นลูกผู้ชาย ตระหนักตัวเองด้วยว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะยุติปัญหา สั้นๆ ก็คือ ตัวเองต้องออกจากตำแหน่งเพราะข้อเรียกร้องหลักคือจุดนี้

แต่ถ้าตัวนายกฯ ยังคงติดกับดักตัวเอง ก็ต้องไปมองที่สภาวะแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เขายังอยู่ในตำแหน่งนั่นคือพรรคร่วมรัฐบาล, วุฒิสมาชิก สิ่งเหล่านี้มันจะเป็นตัวบังคับวิถีเองจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ

ถ้าสุดท้ายแล้ว ส.ส.พรรคร่วม บอกว่าท่านมันไปไม่ได้แล้ว ขอถอนตัวออก ทุกอย่างก็จบ

ปัจจัยแวดล้อมต้องมองให้ออกว่าหากขืนยังปล่อยให้นายกรัฐมนตรีคนนี้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ประเทศไทยจะเกิดวิกฤตและเสียหายยิ่งกว่าเดิม

การที่นายกฯ พยายามจะบอกตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด มันอ้างไม่ได้แล้ว คนไม่เชื่อมั่นไม่เชื่อถือแล้ว ถอยกลับไป 6 ปี มันชัดเจนมากว่าผู้นำคนนี้ไม่สามารถนำพาประเทศไปได้

เอาแค่ในยามภาวะปกติไม่ต้องให้เกิดภาวะวิกฤตก็ชัดเจนว่าขีดความสามารถเขาไปไม่ได้ ยิ่งมาเจอปัญหาวิกฤตอีก เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ถ้านับ 6 ปี คือหลายคนก็เรียนมัธยมปลายก็จนจบมหาวิทยาลัย เขาก็มองออกว่าทำไมต้องทนอยู่ในสภาพนี้

เขาเห็นชัดเลยว่า นายกฯ คนนี้ไม่ได้สร้างอนาคตอะไรให้กับประเทศหรือให้กับตัวเขาเลย จึงไม่แปลกที่มีเยาวชนจำนวนมากออกมา

มองไปที่การ “จัดตั้งมวลชน” ฝั่งตรงข้ามมาเผชิญหน้าคู่ขนานกับม็อบเยาวชน อดีต สมช.ผู้นี้มองว่าเป็นเรื่องปกติที่การต่อสู้ที่จะต้องทำให้มีฝ่ายตรงข้าม เป็นความพยายามทำรูปแบบเดิมๆ ทำม็อบฝั่งตรงข้ามมาเป็นปรปักษ์กัน

ซึ่งถ้าเหตุผลที่มาจัดตั้งนั้นไม่ชัดเจนและไม่ตอบโจทย์พอ ฝ่ายนั้นก็จะเดินต่อไม่ได้เอง ดังจะเห็นภาพชัดเจน เช่น การชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ตุลาคม เห็นว่าต้องไปเกณฑ์เจ้าหน้าที่มาร่วมอยู่กับฝ่ายชุมนุมที่อยู่ตรงข้ามนักศึกษา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่น่ามีความกังวล เพราะว่าปริมาณมันต่างกันมาก ถ้ามันสูสีกันก็อาจจะมีปัญหา แต่ในข้อเท็จจริง คือคนแค่หลักร้อยหลักพัน จะไปเผชิญกับคนหลักหมื่นหลักแสน ยังไงมันก็เดินต่อไม่ได้ ทำได้แค่ปรากฏกายในเชิงสัญลักษณ์ว่าโผล่มาได้แต่ก็ต้องถอยออกไป

รัฐบาลที่ยืนอยู่ในปัจจุบันนี้ที่มาจากรากฐานการยึดอำนาจมาจากเผด็จการ ก็ใช้น้ำหนักของการใช้อำนาจเป็นหลักเกณฑ์เจ้าหน้าที่มา มีสภาพของการบังคับ จะไปบังคับประชาชนก็ยาก

ก็เลยต้องบังคับข้าราชการภายใต้อำนาจหน้าที่ที่สามารถสั่งการได้

สําหรับความกังวลที่หลายคนห่วงการปูทางไปสู่การยึดอำนาจอีกรอบนั้น อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่าตอนนี้หลักๆ มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก ทหารก็ไม่ได้เข้ามาเป็นบทบาทนำ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มหรือกระบวนการที่มาจากการยึดอำนาจ ยังมีตรรกะความคิดแบบนี้อยู่ตลอด ลบล้างไม่ได้

ถามว่าพวกเขาคิดอยู่หรือไม่ ก็อาจเป็นไปได้ แต่เมื่อดูจากสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว จนมาถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีกลิ่นหรือส่งสัญญาณรัฐประหารมา

ก็คงมีแค่การควบคุมสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้น แต่คงยังไม่ถึงทำรัฐประหาร

การที่จะไปเลิกหรือห้ามคนที่คิดจะทำคงทำไม่ได้ แต่ พ.ศ.นี้สถานการณ์แบบนี้ ใครคิดจะทำก็คงทำได้ แต่จะไม่ได้รับชัยชนะอีกแล้ว ทำได้แค่ 3 วันก็อยู่ต่อไม่ได้

เหตุผลที่เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีก เสธ.แมวมองว่าเพราะตอนนี้เราดูจากสภาพแวดล้อม-ต่างประเทศ บวกกับเจอวิกฤตโควิด ใครทำจะยิ่งซ้ำเติมประเทศ ถ้าเราเกิดเหตุแบบนั้นอีกก็หมดกันแล้วซึ่งความเชื่อมั่น ผู้ลงทุน การค้าการลงทุนกับต่างประเทศจะหยุดไปเลยแน่นอน มันจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์อย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 6 ปีที่ผ่านมาทุกคนเห็นตรงกันว่า การทำรัฐประหารมันไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งของประเทศขึ้นมาเลย มีแต่ยิ่งทำให้ทุกอย่างส่งผลแย่มากขึ้น ใครจะทำก็ต้องคิดหนักแล้ว สถานการณ์ตอนนี้อย่าว่าแต่รัฐประหารเลย แค่คิดจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขึ้นมาควบคุมสถานการณ์อีกครั้ง ก็ยังยาก

คนที่มีสติมีปัญญา และมีสมาธิพอจะต้องเข้าใจว่ามันทำไม่ได้

ส่วนสิ่งที่อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ สำคัญที่สุดที่ต้องยึดถือคือ “เรื่องความชอบธรรม”

พวกเขาต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลา ว่าผู้บังคับบัญชาที่สั่งเราลงมา มีความชอบธรรมและเป็นที่พึงพอใจของพี่น้องประชาชนหรือไม่

ก็สามารถที่จะใช้วิจารณญาณเองได้อยู่แล้ว อะไรที่ไม่ชอบธรรมก็ไม่ควรปฏิบัติ ต้องฟังเสียงเรียกร้องประชาชน อะไรชะลอได้ต้องชะลอ หรือบรรเทาลงไป เจ้าหน้าที่ต้องมีสมาธิในการปฏิบัติหน้าที่ อย่าสร้างเงื่อนไขเพิ่ม เพื่อให้เกิดความรุนแรง

สุดท้าย เสธ.แมวฉายภาพการเมืองไทยว่าถ้าเรามองทางทฤษฎีและหลักการ ต้องยอมรับว่านี่คือพัฒนาการทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงของโลก ยุคโลกาภิวัตน์เปลี่ยนเป็นดิจิตอล

ประเทศเรามาถึงจุดที่วัฒนธรรมใหม่กับวัฒนธรรมเก่ามันมาเจอกัน ถ้าผู้นำมีความฉลาดเฉลียวมีความเข้าใจสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านตรงนี้มันก็จะเหมือนการวิ่งผลัดส่งไม้ต่อกัน

แต่ถ้าขาดความฉลาดมันจะกลายเป็นความปะทะกันทันที ซึ่งการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมเก่า-ใหม่ สุดท้ายมันต้องเป็นไปตามวัฒนธรรมใหม่ เพราะความใหม่คืออนาคต เก่าคือปัจจุบันและอดีต

ฉะนั้น บ้านเมืองเรากำลังมาถึงจุดนี้แล้ว แต่ผู้นำคนปัจจุบันเข้าใจก็ใช้วิธีการเปลี่ยนผ่านส่งไม้ต่อมันก็จะผ่านไปได้ นี่คือวัฒนธรรมใหม่รูปแบบ เคลื่อนตัวเร็ว สลายตัวเร็วไม่มีแกนนำมีความต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น สำคัญที่สุดคือความรับรู้ภายใน รับรู้ทั้งในและนอกประเทศ ฉะนั้น เมื่อเกิดการชุมนุมแล้วทันทีต่างประเทศก็รู้พร้อมกัน มันจะสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการค้าการลงทุน

ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยสำนึกต่อประชาชนสำนึกต่อประชาธิปไตยมันจะสูง เขาจะรู้แล้วว่าไปต่อไม่ได้ผู้นำก็จะถอยออกไป แต่พอดีตรงนี้เขามาจากรากฐานการยึดอำนาจเผด็จการ ตรรกะวิธีคิดของพวกเขาจึงยึดโยงกับแบบเดิมๆ

แต่สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า จากสภาวะแวดล้อมและเศรษฐกิจแบบนี้ สุดท้ายเสียงเรียกร้องมันจะลามไปถึงข้าราชการและนายทุนไปกดดันนายกฯ เองว่าหมดเวลาแล้ว ก่อนที่จะแย่ทุกกลุ่ม พังไปทั้งประเทศ

พล.ท.ภราดรทิ้งท้าย

ชมคลิป