ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : สื่อยุคใหม่ (5) ศิลปินหน้าใหม่มาแรงในวงการศิลปะร่วมสมัยโลก นักตั้งคำถามกับโลกรอบตัวด้วยงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
วาดภาพกับประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 3"

ส่วนงานอีกชุดของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ในไทย ที่มีชื่อว่า “วาดภาพกับประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 3” (Painting with history in a room filled with men funny names 3) ณ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ซึ่งเป็นบทส่งท้ายของงานไตรภาควิดีโอชุดนี้

มันถูกทำขึ้นในฐานะบันทึกความคิด และอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินในช่วงนั้นๆ ราวกับเป็นเครื่องจักรสำหรับการเก็บรักษาและสร้างความทรงจำใหม่ๆ

ซึ่งรูปแบบและลักษณะเชิงรูปธรรมของเครื่องจักรนี้ มีความคล้ายกับเนื้อเยื่อบางๆ ที่เชื่อมทุกๆ คนเข้าด้วยกัน เนื้อเยื่อที่ว่านี้คือพื้นที่ซึ่งข้อมูล การสื่อสาร และการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น

“ในมุมๆ หนึ่งอาจพูดได้ว่า พื้นที่ตรงกลางทางสังคมในประเทศไทยของเรานั้น เต็มไปด้วยความเชื่อในเรื่องของผี วิญญาณ และโลกแห่งความจริงจากอดีต ที่เชื่อมต่อเราเข้าด้วยกันในวันนี้ อีกมุมหนึ่ง เราอาจมองเห็นโลกอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเชื่อมเราเข้าด้วยกัน นั่นคือโลกดิจิตอล อินเตอร์เน็ต และเครื่องมือในการเก็บและสร้างปัจจุบันที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่นี้ หากโลกทั้งสองนี้มารวมกันเป็นตัวตนตัวหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นความจริงที่อาจจะเริ่มเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันและมีความเป็นไปได้สูงในอนาคต”

“ผมตั้งชื่อให้สิ่งๆ นี้ว่า จันตรี”

 

ซึ่งในงานเปิดนิทรรศการในวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะมีการฉายภาพยนตร์ชุดสุดท้ายของไตรภาคชุดนี้แล้ว

ในวันนั้นยังมีศิลปะการแสดงสดของศิลปินและเหล่าเพื่อนฟ้องทั้งหลาย ที่เป็นการผสมผสานดนตรีฮิปฮอป หมอลำ และแสงสีเสียงอันตระการตาเข้าไว้ด้วยกัน

โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การแสดงอันสุดขีดคลั่งของศิลปินแสดงสด บอยไชลด์ (Boychild) ศิลปินเพศที่สามซึ่งทำงานร่วมกับกรกฤตมาหลายครั้ง

ซึ่งเป็นการตั้งคำถามถึงสภาวะหลังเพศวิถี (Post Gender)

รวมถึงตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์และสมองกลได้อย่างแหลมคมยิ่ง

น่าเสียดายที่การแสดงนี้มีขึ้นเพียงครั้งเดียวในวันเปิดงานที่ 3 เมษายนที่ผ่านมาเท่านั้น

Painting With History In A Room Filled With People With Funny Names, 2015 หอศิลป์ Palais de Tokyo, ปารีส ภาพจาก http://goo.gl/ae4L6d
Painting With History In A Room Filled With People With Funny Names, 2015 หอศิลป์ Palais de Tokyo, ปารีส ภาพจาก http://goo.gl/ae4L6d

“ศิลปะมันเปลี่ยนแปลงสังคมโดยตรงไม่ได้หรอก แต่มันเป็นการแสดงความคิดเห็นน่ะ ท้ายที่สุดแล้วมันเป็นเรื่องของการทำงานกับระบบ

ยกตัวอย่างเพื่อนของผมคนนึงที่เขาอยากจะสร้างสมองกล (AI) ขึ้นมาอันนึง เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นวิดีโอเกมที่มีพฤติกรรมต่างๆ แล้วปล่อยให้มันสร้างโลกของมันเองขึ้นมาแล้วดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เขาไม่อยากเป็นศิลปินหรอก เขาเรียนพฤติกรรมศาสตร์มา แต่สุดท้ายเขาก็รู้ว่า ระบบนึงในโลกนี้ที่เขาสามารถเข้ามาสร้างสิ่งนี้ได้ก็คือโลกศิลปะ นี่ทำให้คำถามว่า ศิลปะคืออะไร? ศิลปินคือใคร มันถึงยากที่จะตอบ แต่ก่อนผมเคยชอบเล่นดนตรี อยากเป็นนักดนตรี แต่พอจุดนึงผมเข้าใจว่า ความรู้สึกอย่างนึงที่ผมต้องการจากดนตรี มันก็หาได้จากศิลปะเช่นกัน”

“ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินอย่าง อ้าย เหว่ย เหว่ย เขาคงรู้ตัวเองอยู่แล้วว่าการจะเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจีนของเขา เขาต้องทำในบทบาทของศิลปินที่คนตะวันตกมองว่า “นี่คือตัวแทนของวงการศิลปะจีน” เขาถึงทำได้ทำอะไรที่เขาทำอยู่ได้”

“อย่างตอนนี้ผมรู้สึกว่าผมต้องเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับประเด็นเรื่องโลกร้อน ในฐานะที่เป็นพลเมืองของโลก แต่ในขณะเดียวกัน ความสวยงามของศิลปะอย่างนึงก็คือ ศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบศีลธรรมก็ได้”

“ศิลปะไม่จำเป็นต้องสวยงาม ไม่จำเป็นต้องทำให้โลกดีขึ้นก็ได้”

“แต่ถึงคุณจะทำงานศิลปะที่ผิดศีลธรรม คนก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ดี”

“อย่างคุณบอกว่าคุณอยากฆ่าคนเป็นงานศิลปะ คุณก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎของการเป็นมนุษย์ คุณต้องรับโทษไปตามกฎหมายอยู่ดี ส่วนจะเป็นงานศิลปะที่ดีหรือเปล่า มันก็อีกเรื่องนึง”

“ผมว่าจริงๆ ถ้าดูงานของผมมันมีความเป็นไทยเยอะนะ คือในเนื้อหาของงานผมมันเป็นตัวแทนของความรู้สึกของการใช้ชีวิตร่วมสมัยทุกวันนี้ ที่ไม่ใช่แค่เมืองไทย เพราะตอนนี้เราต่างก็เชื่อมโยงกันขนาดนี้ ชีวิตร่วมสมัยเราทับซ้อนกันระหว่างเมืองไทย นิวยอร์ก ฟินแลนด์ หรือบางประเทศในแอฟริกา”

“แต่ในอีกส่วนหนึ่ง หลายๆ อย่างในดีเอ็นเอของมัน มันก็มีความเป็นไทยแบบตรงๆ เลยน่ะ มันแสดงถึงความเป็นไทยหลายๆ อย่าง ทั้ง อาจารย์เฉลิมชัย ทั้งวัด ศาสนาพุทธ มันเยอะมาก แล้วมันไม่ได้หายไปน่ะ ยิ่งถ่ายในเมืองไทยด้วยแล้ว”

“พูดง่ายๆ ขนาดภาษาที่พูดในงานก็เป็นภาษาไทยน่ะ การโอบอุ้มความเป็นไทยมันอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ถ้าคนมาดูแล้วเขาไม่นึกถึงเมืองไทย ไม่นึกถึงความเป็นไทย ไม่ได้สัมผัสหรือจับต้องความไทยไปเลย ผมคิดว่าเขาอาจจะไม่ได้ดูงานด้วยซ้ำ เพราะมันเยอะมาก”

“แล้ววิดีโอจริงๆ น่ะ สร้างขึ้นมาจากคำบรรยาย (subtitled) กระดูกของวิดีโอที่ผมทำทุกตัวสร้างขึ้นมาจากการใช้วิดีโอเป็นเครื่องเตือนความจำแล้วเชื่อมโยงด้วยตัวหนังสือ ตัวหนังสือคือตัวที่บ่งบอกความหมาย”

“ตอนที่เขียนตอนแรกส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะอย่างหนึ่งคือภาษาไทยมันยากสำหรับผม แต่ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจตรงที่พอทำภาษาอังกฤษออกมา แล้วถ้าเราสามารถเขียนภาษาไทยลงไปด้วยแล้วให้มันเป็นระบบบรรยายสองภาษา ถ้าดูในวิดีโอจะเห็นว่าคำบรรยายที่เขียนกำกับเสียงที่พูดหลายๆ ทีมันไม่ได้ตรงกัน แล้วมันน่าสนใจสำหรับบางคนที่เป็นสองภาษา ฟังอย่างนึง แล้วอ่านอย่างนึง ซึ่งมันเน้นย้ำคุณภาพของภาษาที่แต่ละภาษาสร้างจิตสำนึกต่างกัน คนไทยดูวิดีโอตัวเดียวกับกับฝรั่งดูมันอาจได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน”

กรกฤต กล่าวทิ้งท้าย

 

ดูผลงานของเขาแล้วทำให้เราอดรู้สึกไม่ได้ว่า บางทีงานศิลปะอาจไม่ใช่การตอบคำถาม หากแต่อาจจะเป็นการตั้งคำถามก็เป็นได้

นิทรรศการ 2012-2555, 2556, 2557 จัดแสดงที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 10 กันยายน 2559 เปิดให้ชมฟรีทุกวัน เวลา 09.00-20.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ โทร. 0-2612-6741 อี-เมล [email protected] เฟซบุ๊ก The Jim Thompson Art Center และเว็บไซต์ www.jimthompsonartcenter.org

ส่วนนิทรรศการ วาดภาพกับประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 3 จัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ระหว่างวันที่ 3 เมษายน – 5 มิถุนายน 2559 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-3087-2725 / อี-เมล [email protected] lwww.bangkokcitycity.com / facebook.com/bangkokcitycity

มิตรรักแฟนศิลปะก็อย่าได้พลาดที่จะหาโอกาสไปดูชมกัน งานศิลปะระดับโลกแบบนี้ไม่ได้มีให้ชมกันบ่อยๆ นะครับท่านผู้อ่าน