วรศักดิ์ มหัทธโนบล : กรอบทัศน์ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยยุคการพัฒนา

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (7)
วิธีการศึกษา
เรื่องชาวจีนอพยพใหม่ในไทย (ต่อ)

ที่ว่าสายสัมพันธ์ดังกล่าวมีความสำคัญก็เพราะว่า สายสัมพันธ์เป็นพื้นฐานที่ดีที่นำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ สายสัมพันธ์นี้อาจเป็นทางการ (เช่น ต้องทำการค้าหรือทำงานร่วมกัน ซึ่งมีข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับอย่างเป็นทางการเพื่อให้ภารกิจที่ร่วมกันนั้นบรรลุผล)

หรือไม่เป็นทางการ (เช่น ระหว่างที่ทำการค้าหรือทำงานร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายอาจให้ความช่วยเหลือ ให้สิ่งของหรือของกำนัล ให้ความเอื้ออาทรหรือมีน้ำใจให้แก่กันและกัน ซึ่งมิได้อยู่ในข้อตกลงที่เป็นทางการทั้งสิ้น) ก็ได้

เมื่อสายสัมพันธ์พัฒนาไปจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว ภารกิจทั้งที่ร่วมกันแต่เดิมหรือภารกิจที่มีขึ้นภายหลังก็จักดำเนินไปได้ด้วยดี

จากเหตุนี้ จึงมีผู้กล่าวว่า วัฒนธรรมคือระบบความสัมพันธ์ในอีกแง่หนึ่ง

กรณีงานศึกษานี้จึงใช้ความพยายามอย่างมากในการเข้าถึงสายสัมพันธ์ที่ว่า และสิ่งที่ช่วยลดอุปสรรคไปได้ในระดับหนึ่งก็คือ การที่นักวิจัยในโครงการนี้แทบทุกคนสามารถใช้ภาษาจีนในการสื่อสารกับชาวจีนได้ดี และมีความเข้าใจในวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ดังกล่าวในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์บุคคลดังกล่าวจะแยกไปเป็นสี่ภาคคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แต่ละภาคจะมีนักวิจัยรับผิดชอบเฉพาะคน ซึ่งหมายความว่า นักวิจัยหนึ่งคนจะรับผิดชอบในการศึกษาวิจัยหนึ่งภาค

ส่วนการศึกษาในที่นี้จะเป็นการประมวลข้อมูลของทั้งสี่ภาคมาอธิบายในเชิงวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ อันเป็นการศึกษาที่แยกต่างหากออกมาเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้ให้ภาพสรุป หากหมายมุ่งจะให้เห็นภาพอื่นๆ ของจีนที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนอพยพใหม่

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาวจีนอพยพใหม่มิใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดเพียงเพราะมีแรงจูงใจในอันที่จะอพยพเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นผลพวงจากพัฒนาการอันยาวนานของสังคมจีนเองอีกด้วย ในแง่นี้จึงทำให้จำต้องฉายภาพพัฒนาการดังกล่าวไปด้วย

เพื่อให้เกิดความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนที่มีต่อสังคมจีนเอง และต่อสังคมโลกในแต่ละช่วงเวลาท่ามกลางพัฒนาการนั้นๆ

 

ปัญหาต่อจากการสัมภาษณ์บุคคลคือ การให้ชาวจีนอพยพใหม่ตอบแบบสอบถาม ในกรณีนี้หากเป็นบุคคลที่ถูกสัมภาษณ์อยู่แล้วจะไม่มีปัญหา แต่จำนวนของบุคคลกลุ่มนี้ยังไม่เพียงพอต่อการคำนวณในเชิงสถิติที่ตั้งเอาไว้มากกว่า 300 คน

ในขณะที่จำนวนที่ว่านี้สามารถคำนวณได้แค่ตัวเลขประมาณการเท่านั้น

แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องเวลาและทรัพยากรจึงสามารถทำได้เพียงจำนวนที่ว่า ซึ่งแม้จะต้องการแบบสอบถามเพียงจำนวนที่ว่าก็ตาม แต่ก็ถือเป็นจำนวนที่มีอุปสรรคเช่นกัน ว่านักวิจัยจะหาชาวจีนที่จะตอบแบบสอบถามดังกล่าวได้จากที่ใด

ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการจริงแล้วนักวิจัยจึงได้กระจายแบบสอบถามไปสองทางด้วยกันคือ

ทางหนึ่ง นับเป็นเรื่องดีที่นักวิจัยได้รับการช่วยเหลือจากชาวจีนผู้ให้สัมภาษณ์ช่วยกระจายแบบสอบถามให้ ในทางนี้หมายความว่า ผู้ให้สัมภาษณ์มีชาวจีนอพยพใหม่ที่ตนรู้จักและ/หรือมีเครือข่ายที่จะเข้าถึงชาวจีนเหล่านี้ แล้วจึงกระจายแบบสอบถามในลักษณะขอความกรุณาให้ช่วยตอบแบบสอบถาม

อีกทางหนึ่งคือ ให้ผู้ช่วยวิจัยช่วยกระจายแบบสอบถามไปยังชาวจีนอพยพใหม่ ในทางนี้จะเริ่มจากต้องรู้แหล่งที่พำนักของชาวจีนเหล่านี้ก่อน จากนั้นจึงกระจายแบบสอบถามออกไป

จะเห็นได้ว่า การกระจายแบบสองถามทั้งสองทางข้างต้นล้วนต้องเริ่มจากสายสัมพันธ์ทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดในทางแรก เพราะเมื่อได้สัมภาษณ์ชาวจีนอพยพใหม่กลุ่มนี้จนเกิดความคุ้นเคยดีแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจจึงเกิดขึ้น และทำให้ชาวจีนกลุ่มนี้ยินดีที่จะช่วยกระจายแบบสอบถามให้

แต่ก็ควรกล่าวด้วยว่า ชาวจีนที่ให้การช่วยเหลือเช่นนี้ไม่ได้มีมากนัก เพราะมีอีกหลายคนหรือหลายกลุ่มที่ไม่มีเครือข่ายเช่นว่า

ส่วนในทางที่สองนั้นย่อมหมายความว่า ผู้ช่วยวิจัยจะต้องรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของโครงการให้แก่ชาวจีนที่จะตอบแบบสอบถาม ในทางนี้มีปัญหาอยู่ตรงที่ต้องใช้เวลาพอสมควรการหาชาวจีนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

และใช้เวลาในการสร้างสายสัมพันธ์ก่อนที่จะให้ช่วยตอบแบบสอบถาม

 

หลังจากที่ได้แบบสอบถามกลับมาแล้วก็พบว่า นักวิจัยได้แบบสอบถามกลับมาเกินจำนวนที่ตั้งเอาไว้พอสมควร ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการคำนวณ แต่เมื่อตรวจสอบแบบสอบถามโดยละเอียดแล้วก็พบว่า มีแบบสอบถามจำนวนหนึ่งที่ใช้ไม่ได้เพราะผู้ตอบมิได้เป็นชาวจีนอพยพใหม่

คือมิได้เป็นชาวจีนที่ตั้งใจพำนักในไทยยาวนานหรือถาวร แบบสอบถามเหล่านี้จึงถูกคัดออกไป แต่กระนั้น แบบสอบถามที่ได้กลับมาก็ยังคงเกินจำนวนที่ต้องการอยู่ดี ถึงแม้จะมิได้เกินไม่มากนักก็ตาม

สุดท้ายคือ วิธีการศึกษาผ่านเอกสาร การศึกษาวิธีนี้จะมีมากในบทนี้เมื่อเปรียบเทียบกับบทอื่นที่มุ่งเจาะจงไปที่ชาวจีนในแต่ละภาค ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการศึกษาในบทนี้นอกจากจะประมวลข้อมูลการสัมภาษณ์ชาวจีนทั้งสี่ภาคแล้ว ยังเป็นบทที่จะต้องกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่กำลังศึกษาอยู่

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจพัฒนาการในด้านต่างๆ หรือแง่มุมต่างๆ ของจีนจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ความเข้าใจนี้จะทำให้เห็นภาพรวมว่า การที่เกิดปรากฏการณ์ชาวจีนอพยพใหม่นั้นใช่จะมีปัจจัยจากแรงจูงใจต่างๆ เท่านั้น หากแม้แต่ความรู้สึกนึกคิดที่ถูกสั่งสมมายาวนานจากพัฒนาการดังกล่าว ยังส่งผลให้ชาวจีนเหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ

แต่ละกลุ่มจะมองโลกกับชีวิตด้วยทัศนะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็คือมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่แตกต่างกันนั้นเอง

 

ชาวจีนภายใต้การพัฒนาสองกระแส

ภาพรวมนับแต่ ค.ศ.1949 ที่จีนตกอย่างภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองจีนจะแบ่งได้เป็นสองกระแสใหญ่ กระแสแรก จัดอยู่ในห้วง ค.ศ.1949 ถึง ค.ศ.1978 กระแสต่อมา จัดอยู่ในห้วง ค.ศ.1979 ถึงปัจจุบัน

ช่วงที่อยู่ในกระแสแรกจีนจะถือเคร่งในการยึดเอาลัทธิสังคมนิยมเป็นพื้นฐานในการพัฒนา และมีมุมมองต่อสถานการณ์ภายในและภายนอกในยุคสงครามเย็น มุมมองเช่นนี้ทำให้จีนมีความตื่นตัวต่อการพัฒนา ภัยคุกคาม และยึดมั่นถือมั่นในลัทธิสังคมนิยม

ความตื่นตัวดังกล่าวทำให้จีนในห้วงนี้ต้องกระตุ้นเตือนตัวเองให้ต้อง “ปฏิวัติ” อยู่เสมอ หากหยุดปฏิวัติหรือการปฏิวัติอ่อนแรงลงเมื่อไร จีนอาจถึงกาลล่มสลาย

ในห้วงนั้นพื้นที่สาธารณะของจีนจึงมีคำว่า “ปฏิวัติ” ปรากฏอยู่ในทุกที่ สื่อมวลชนทุกแขนงล้วนปลุกเร้าให้ชาวจีนปฏิวัติแทบทุกเมื่อเชื่อวัน

บางช่วงถึงกับเกิดการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อกระตุ้นเตือนชาวจีนในเรื่องนี้ กระแสพัฒนาการในช่วงนี้จึงจัดเป็น ยุคปฏิวัติ

กระแสต่อมา เกิดขึ้นหลังจากผู้นำที่ก่อให้เกิดกระแสแรกเสียชีวิตใน ค.ศ.1976 ครั้นถึงช่วงก่อนสิ้นปี ค.ศ.1978 จีนได้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ และพอขึ้นปีใหม่ ค.ศ.1979 นโยบายที่ว่าก็เริ่มขึ้นในทางปฏิบัติ

เวลานั้นโลกยังไม่ได้หลุดพ้นจากยุคสงครามเย็น แต่การตื่นตัวของชาวจีนที่มีต่อลัทธิสังคมนิยมเริ่มเปลี่ยนไป โดยกลายมาเป็นการตื่นตัวต่อการพัฒนาในทิศทางที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น ส่วนภัยคุกคามในยุคสงครามเย็นแม้จะยังคงอยู่ แต่ชาวจีนกลับเห็นความยากจนเป็นภัยคุกคามมากกว่า

และเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจนนี้ ชาวจีนจึงถูกกระตุ้นเตือนให้ต้อง “ปฏิรูป” อย่างจริงจัง

เวลานั้นพื้นที่สาธารณะและสื่อมวลชนจึงมีคำว่า “ปฏิรูป” ปรากฏเป็นปกติ และความตื่นตัวของชาวจีนจะรวมศูนย์อยู่ที่การสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง ซึ่งตรงข้ามกับความตื่นตัวในกระแสแรกจนเห็นได้ชัด

การปฏิรูปนี้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้คำว่าปฏิรูปในปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้มากเท่าในช่วงสองทศวรรษแรกก็ตาม

แต่กระแสพัฒนาการในช่วงนี้ก็ยังคงจัดเป็น ยุคปฏิรูป

————————————————————————————

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป