ท่าอากาศยานต่างความคิด : การปฏิรูปทางศาสนา – มาร์ติน ลูเธอร์

ชีวิตาในโลกใหม่ (26) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

ในขณะที่โรคร้ายนานากำลังแผ่ขยายอำนาจของมันในดินแดนโลกใหม่นั้น

ในฟากฝั่งของโลกเก่าภาคพื้นยุโรปนั้น สิ่งหนึ่งได้วางรากฐานลงอย่างช้าๆ แต่มั่นคง

นั่นคือการก่อกำเนิดของศาสนาโปรแตสแตนต์ หรือ Protestant Reformation

การปฏิรูปทางศาสนาที่ว่านี้เริ่มต้นในต้นศตวรรษที่สิบหกและแผ่ขยายไปตามที่ต่างๆ

การปฏิรูปศาสนาที่ว่าส่งผลอย่างมากทั้งทางการค้า ความเชื่อ และการจัดระเบียบสังคมในเวลาต่อมา

ผู้ที่มีส่วนร่วมในการปฏิรูปศาสนาในช่วงนั้นมีหลากหลายบุคคลด้วยกัน

แต่บุคคลสำคัญที่สุดนั้นมีนามว่า มาร์ติน ลูเธอร์-Martin Luther

มาร์ติน ลูเธอร์ เกิดในปี 1483 (เก้าปีก่อนการเดินทางไปยังโลกใหม่ของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส) ที่ไอเซิลเบน แคว้นแซกโซนี ซึ่งอยู่ในการปกครองของอาณาจักรโรมันศักดิสิทธิ์

เขาเป็นบุตรของ ฮันส์ ลูเธอร์ และ มาร์การเร็ต ลูเธอร์

เขาได้รับศีลมหาสนิทภายใต้อาณัติแห่งนักบุญมาติน แห่งตูร์

ในปีถัดมาครอบครัวของเขาโยกย้ายไปยังเมืองแมนส์เฟล โดยบิดาของเขาได้งานทำในเหมืองทองแดงที่นั่น

ส่วนมารดาของเขานั้นประกอบอาชีพจิปาถะเยี่ยงกรรมกรโดยรับทำงานทุกอย่าง

และเป็นเหตุที่ทำให้พวกต่อต้านเขาในช่วงหลังอ้างว่ามารดาของเขาประกอบอาชีพแม้กระทั่งโสเภณีด้วยซ้ำไป

ฮันส์ ลูเธอร์ นั้นมีความปรารถนาให้บุตรชายของเขาได้เป็นนักกฎหมายอันเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมั่นคง

หากแต่ มาร์ติน ลูเธอร์ ไม่ประสงค์เช่นนั้น แม้ว่าเขาจะได้รับการศึกษาในโรงเรียนสอนภาษาละตินที่แมนส์เฟล

การร่ำเรียนในโรงเรียนที่ว่าทำให้มาร์ตินมีความเชี่ยวชาญทั้งไวยากรณ์ โวหารและการใช้เหตุผลในภาษาละตินซึ่งมันมีส่วนช่วยเขาอย่างมากในยามที่เขาต้องรับมือกับการต่อต้านจากศาสนจักร

อย่างไรก็ตาม มาร์ตินมักเล่าว่าการเล่าเรียนดังกล่าวทำให้เขาไม่ต่างจากการเดินทางอยู่ในนรกของดังเต้ มหากวีชาวอิตาเลียน อันเป็นงานเขียนที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นเลยทีเดียว

เมื่ออายุได้สิบเก้าปี มาร์ตินเข้าศึกษาด้านเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยเออร์เฟิร์ต

ซึ่งเขากล่าวว่าในยามนั้นมันช่างไม่ต่างจากโรงเบียร์และแหล่งซ่องสุมคนเสเพลมากกว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา

กระนั้นเขาใช้เวลาเพียงสี่ปีก่อนจะสำเร็จการศึกษาในระดับมหาบัณฑิตเป็นการต่อมา

ช่วงเวลาตอนนั้นเขาพยายามเอาใจผู้เป็นบิดาด้วยการเข้าศึกษาในคณะกฎหมายด้วย

หากแต่เขากลับรู้สึกว่ามันเป็นวิชาแห่งความสับปลับ ยอกย้อน เต็มไปด้วยการหาผลประโยชน์

ทำให้เขาลาออกในเวลาต่อมาอันทำให้บิดาของเขาผิดหวังเป็นคำรบสอง

ในปี 1516 โจนาธาน เทเซล นักบวชนิกายโดมิงนิกัน ถูกส่งมายังเยอรมนีโดยศาสนจักรเพื่อทำการขายใบไถ่บาปอันเป็นกิจการที่เฟื่องฟูมากในขณะนั้นสำหรับผู้ที่เชื่อว่าตนเองมีบาปติดตัว

การซื้อใบไถ่บาปเป็นหนทางลัดที่สุดสำหรับผู้มีอันจะกินที่จะฟอกตัวให้บริสุทธิ์

การขายใบไถ่บาปครั้งนั้นของบาทหลวงโจนาธาน เพื่อหาเงินไปซ่อมอาสนวิหารที่บาซิลลิก้าในโรม ซึ่ง มาร์ติน ลูเธอร์ เห็นว่าการขายใบไถ่บาปที่ว่าเป็นเพียงการบังหน้าจากศาสนจักรที่จะหาผลประโยชน์เข้าตนเองโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้คนทั่วไป

ดังนั้น ในปี 1517 มาร์ติน ลูเธอร์ ได้เขียนจดหมายถึงบิชอปท่านหนึ่งที่มีนามว่า อัลเเบรต์แห่งไมนซ์ แสดงเจตจำนงที่จะต่อต้านการหาผลประโยชน์เช่นนี้

พร้อมกับจดหมายฉบับนี้เขาได้สอดหนังสือแสดงการต่อต้านภายใต้ชื่อ “ข้อโต้แย้งของ มาร์ติน ลูเธอร์ ต่ออำนาจและการกล่าวอ้างว่าด้วยการหาผลประโยชน์จากการไถ่บาป”

ข้อโต้แย้งที่ว่านี้ภายหลังได้พัฒนาเป็นข้อโต้แย้งเก้าสิบห้าข้อ หรือ Ninety Five Theses อันเลื่องชื่อของเขา

นักประวัติศาสตร์ยุคหลังเชื่อว่าแต่แรกนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ หาได้มีเจตนาจะทำการปฏิรูปศาสนาไม่

เขาเห็นว่าข้อโต้แย้งนั้นเป็นเพียงประเด็นถกเถียงทางวิชาการด้วยซ้ำไป

ตัวบทของข้อโต้แย้งนั้นเน้นไปที่การนำเสนอ แทนที่จะเป็นการประกาศศาสนาหรือความเชื่อใหม่แม้ว่าในข้อโต้แย้งที่แปดสิบหกจะมีความก้าวร้าวต่อศาสนจักรอยู่ก็ตามทีที่ว่า

“ที่ว่าทำไมองค์สันตะปาปาผู้มั่งคั่งจึงไม่ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทำการซ่อมแซมหรือก่อสร้างศาสนวิหารนั้นเอง แทนที่จะออกหาเงินจากประชาชนผู้ยากไร้ทั่วไป”

เพื่อให้ข้อโต้แย้งของเขาได้ประจักษ์

มาร์ตินตัดสินใจติดประกาศข้อโต้แย้งของเขาที่ประตูโบสถ์ในเมืองวิตเตนเบิร์ก

ก่อนที่มันจะได้รับการตีพิมพ์ให้เผยแพร่ทั่วไปในเยอรมนี (ด้วยคุณูปการจากการพิมพ์ของ โจฮันส์ กูเตนเบิร์ก ในศตวรรษก่อนหน้าที่คิดค้นการพิมพ์)

เพียงเวลาสองสัปดาห์เท่านั้นข้อโต้แย้งนี้ก็ถูกอ่านกันทั่วเยอรมนี

และเพียงสองเดือนข้อโต้แย้งนี้ก็ถูกอ่านทั่วยุโรป

ผู้คนหลั่งไหลมาเมืองวิตเตนเบิร์กเพื่อฟังปาฐกถาของ มาร์ติน ลูเธอร์ ซึ่งมีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

และเมื่อถึงปี 1520 มาร์ติน ลูเธอร์ ก็ได้ผลิตงานสำคัญสามชิ้นที่เป็นรากฐานในการปฏิรูปศาสนาออกมาอันได้แก่ ความศักดิ์สิทธิ์แห่งการเป็นคริสเตียนของชาวเยอรมัน To the Christian Nobility of the German Nation, ความคร่ำครึของศาสนจักร On the Babylonian Captivity of the Church

และจิตวิญญาณอิสระของคริสเตียน-On the Freedom of a Christian

การเติบโตของความคิดและผู้ศรัทธาในตัวของ มาร์ติน ลูเธอร์ ทำให้ศาสนจักรไม่อาจอยู่เฉย สันตะปาปาลีโอที่สิบ ขอให้เขาล้มเลิกข้อโต้แย้งนี้

หากแต่เขาไม่ยินยอม

ศาสนจักรหันไปพึ่งพาฝ่ายอาณาจักรที่มีพระเจ้าชาร์ลที่ห้า (กษัตริย์ชาวสเปนผู้มีที่ดินมากที่สุดในโลกขณะนั้น) มีการจัดตั้งสภาการไต่สวนขึ้นที่เมืองเวิร์ม-Worms เพื่อขอให้ มาร์ติน ลูเธอร์ ถอนข้อโต้แย้งหรือญัตติเก้าสิบห้าข้อของเขาเสีย

การไต่สวนนั้นกินเวลาถึงห้าวันก่อนจะจบลงที่การปฏิเสธของ มาร์ติน ลูเธอร์ ที่จะทำตาม

และแล้วในวันที่ 25 พฤษภาคม 1521 ที่เมืองเวิร์ม สภาการไต่สวนก็ได้ประกาศให้ มาร์ติน ลูเธอร์ เป็นคนนอกศาสนา

เขาถูกปัพพาชนียกรรม และใครผู้ใดก็ตามที่พบเห็นเขามีสิทธิสังหารเขาโดยไม่ผิดกฎหมาย

ทว่า มาร์ติน ลูเธอร์ ไม่ได้ประสบชะตากรรมเช่นนั้น

ในระหว่างทางที่เขาเดินทางกลับบ้านที่วิตเตนเบิร์ก เขาถูกชายคลุมหน้าชุดหนึ่งลักพาตัวไป เขาหายสาบสูญไป ก่อนจะพบว่าตนเองได้ตกอยู่ที่ปราสาทวอร์สเบิร์ก ในแคว้นไอเซนนาทภายใต้การอารักขาของเจ้าชายเฟเดอริกที่สาม-Prince Federick III ผู้ปกครองแคว้นแซกซัน

และที่ปราสาทแห่งนั้นเอง งานปฏิรูปศาสนาอย่างเป็นระบบได้เริ่มต้นขึ้น